Subway แซนด์วิชยอดนิยมจากอเมริกาไม่ยอมแพ้! “โกลัค” บริษัทย่อยภายใต้อาณาจักร “พีทีจี เอ็นเนอยี” ขอไปต่อ เตรียมลงทุน 2,300-2,500 ล้าน ปูพรมเปิดอีก 500 สาขาใน 10 ปี หวังขึ้นแท่น TOP 3 ตลาด QSR ไทย ภายใน 3 ปี
“ซับเวย์” (Subway) เข้ามาทำตลาดในเมืองไทยตั้งแต่ปี 2546 โดยผ่านการลงทุนของ Individual Investorsและมีการเปลี่ยนมาสเตอร์แฟรนไชส์หลายครั้ง ก่อนที่ล่าสุด สิทธิ์มาสเตอร์แฟรนไชส์ของซับเวย์จะตกมาอยู่ในมือของ บริษัท โกลัค จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทย่อยของ บริษัท พีทีจี เอ็นเนอยี จำกัด (มหาชน) หรือ พีทีจี แต่เพียงผู้เดียวในประเทศไทย ตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2567 เป็นต้นไป สำหรับการขยายสาขาของซับเวย์ในเมืองไทยจะดำเนินการโดย บริษัท โกซับเวย์ จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทย่อยของโกลัคเท่านั้น
บริษัท โกลัค จำกัด ถือหุ้น 70% โดยกลุ่มพีทีจี และอีก 30% ถือโดยเพชรัตน์ อุทัยสาง ซึ่งอยู่ในแวดวง QSR เมืองไทยมากว่า 20 ปี ประมาณ 5% และ 25% ถือโดยบริษัท ไลฟ์สไตล์ฟู้ดส์ จำกัด
“เราตัดสินใจมาทำธุรกิจนี้ เพราะซับเวย์ทำธุรกิจภายใต้คอนเซ็ปต์ eat fresh, feel good ซึ่งมีมุมคล้ายๆ กับคอนเซ็ปต์ธุรกิจของพีทีจี และ F&B เป็น 1 ใน 8 ธุรกิจหลักที่ PTG ตั้งเป้าที่จะเข้าลงทุนตามแผน Diversify Portfolio เพื่อขยายกลุ่มธุรกิจ Non-Oil ให้เติบโตมากขึ้น
“โดย โกลัค จะเป็นตัวเร่งการเติบโตของบริษัทฯ รวมถึงต่อยอดและขยายธุรกิจกลุ่ม F&B ของ PTG ที่มีอยู่เดิมให้เติบโตอย่างยั่งยืน” พิทักษ์ รัชกิจประการ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท พีทีจี เอ็นเนอยี จำกัด (มหาชน) กล่าว
พิทักษ์ระบุอีกว่า นอกจากซับเวย์แล้ว โกลัคยังมีแผนขยายธุรกิจอาหารและเครื่องดื่มแบรนด์อื่นๆ ที่เป็นที่รู้จักทั้งในและต่างประเทศในอนาคต รวมทั้งการซื้อกิจการที่มีอยู่แล้วด้วย
แม้การวิจัยพบว่า การสั่งซับเวย์ค่อนข้างซับซ้อน และใช้เวลาค่อนข้างนาน ทำให้ผู้บริโภคไม่กล้าสั่ง และทำให้การเติบโตและการขยายตัวของซับเวย์ทำได้ช้ากว่า QSR ประเภทอื่นๆ ในอดีต
แต่ด้วยเหตุผลที่ว่าซับเวย์เป็นอาหารที่มีความ healthy เพราะอบขนมปังสดใหม่ในร้านทุกวัน อาจจะเป็นทางเลือกที่ตอบโจทย์ความต้องการของคนรุ่นใหม่ที่กำลังมองหาทางเลือกด้านสุขภาพ ประกอบกับการฟื้นตัวของการท่องเที่ยว ความมั่นใจในการกลับมารับประทานอาหารนอกบ้านมากขึ้น และการเติบโตของจีดีพีที่อยู่ราว 3.2%
เพชรัตน์ อุทัยสาง กรรมการผู้จัดการ บริษัท โกลัค จำกัด ซึ่งเป็นผู้ดำเนินการ “มาสเตอร์แฟรนไชส์ซับเวย์” ในประเทศไทยแต่เพียงผู้เดียว มั่นใจว่าซับเวย์ยังมีอนาคตที่สดใส และเป็นตลาด blue ocean เพราะแตกต่างจาก QSR อื่นๆ
ดังนั้น บริษัทจึงเตรียมลงทุนอีกประมาณ 2,300-2,500 ล้านบาท เปิดสาขาใหม่ของซับเวย์อีกกว่า 500 สาขาภายในอีก 10 ปีข้างหน้า เพื่อเดินหน้าสร้างการเติบโตอย่างยั่งยืนของซับเวย์ ซึ่งเป็นธุรกิจประเภทร้านอาหารบริการด่วน (QSR) ในเมืองไทย ซึ่งคาดว่าจะมีมูลค่าการตลาดถึง 47,700 ล้านบาทในปี 2567 เติบโตขึ้นจาก 45,900 ล้านบาท และ 43,500 ล้านบาท ในปี 2566 และ 2565 ตามลำดับ
“เราตั้งเป้าขึ้นแท่น TOP 3 ตลาด QSR ในไทยภายใน 3 ปี จากปัจจุบันอยู่ลำดับที่ 5 หรือ 6 ของตลาด ทั้งในเชิงยอดขายและจำนวนสาขา” เพชรัตน์บอก และคาดการณ์รายได้ 5,000 ล้านในอีก 10 ปี
กลยุทธ์ที่จะบรรลุเป้าหมายดังกล่าว ได้แก่ การสร้างการรับรู้ของแบรนด์ให้ลูกค้าลองและมีประสบการณ์กับสินค้า ด้วยการทำ Value Campaign เพื่อขยายฐานลูกค้า และเพิ่มการกลับมาซื้อซ้ำ โดยการมีขาย combo set รวมทั้งโปรโมชั่นต่างๆ เพิ่มความหลากหลายของเมนู Snack และ Finger Food
นอกจากนี้ การขยายสาขาให้เข้าถึงได้ง่ายขึ้น ด้วยแพลตฟอร์มต่างๆ เช่น คีออส เวนดิ้งแมชชีน และเปิดในทำเลใหม่ๆ เช่น โรงพยาบาล สนามบิน เป็นต้น รวมทั้งมีสินค้าที่เข้าถึงง่ายด้วยเมนูที่ต่ำกว่า 100 บาท หรือการปรับเมนูที่เข้าถึงง่ายกว่าแต่ก่อน และมีการใช้ดิจิทัลแพลตฟอร์ม เพิ่มช่องทาง Online, Mobile Application, Self-Ordering Kiosk, QR Ordering, Order and Pick Up, E-Wallet และ CRM ต่างๆ เพื่อเพิ่มความสะดวกรวดเร็วแก่ลูกค้าที่มาใช้บริการ
โดยการใช้ Max World Ecosystem ที่แข็งแกร่งของ PTG ในเรื่องจำนวนสาขา และจำนวนสมาชิก ถือเป็นกำลังหลักในการทำให้ได้รู้จักลูกค้ามากขึ้น รวดเร็วขึ้น ผ่านระบบ CRM จากฐานลูกค้าผ่านสมาชิกบัตร PT Max Card ที่มีมากกว่า 21 ล้านสมาชิก
ปัจจุบันซับเวย์มีสาขาอยู่ในเมืองไทยทั้งสิ้น 148 สาขา เป็นต่างจังหวัด 8 สาขา ที่เหลืออยู่ในกรุงเทพฯ และปริมณฑล โดยการเปิดสาขาใหม่ของซับเวย์ยังคงเน้นในกรุงเทพฯ ปริมณฑล แหล่งท่องเที่ยว รวมไปถึงหัวเมืองหลักทั่วประเทศ ซึ่งจะโฟกัสไปที่ห้างสรรพสินค้า คอมมูนิตี้มอลล์ ออฟฟิศ สนามบิน โรงพยาบาล รวมไปถึงรูปแบบ Stand Alone เพื่อเป็นการขยายฐานลูกค้า และสร้างการเข้าถึงร้านซับเวย์ไปยังกลุ่มเป้าหมายหลัก คือ วัยรุ่น คนทำงาน และกลุ่มครอบครัว เพื่อเสริม Max World ให้แข็งแกร่งมากขึ้น
นอกจากการขยายสาขาใหม่แล้ว ล่าสุด เตรียมเปิดร้านซับเวย์ภายใต้คอนเซ็ปต์ใหม่ “Fresh Forward 2.0” แห่งแรกในเอเชียในเมืองไทยเดือนมิถุนายนปีนี้ ภายใต้แนวคิดการออกแบบ “Fresh Forward 2.0” โดยจะมีการนำวัฒนธรรมไทย มาผสมผสานในการออกแบบให้ลงตัวมากยิ่งขึ้น
นอกจากนี้ยังได้นำรูปแบบ “ไดร์ฟทรู” มาใช้ด้วยเช่นกัน โดยทางบริษัทฯ จะเปิดไดร์ฟทรูสาขาแรกในประเทศไทย ภายในสถานีบริการน้ำมันเรือธงของ PT ที่ อ.นครชัยศรี จ.นครปฐม ภายในไตรมาสสุดท้ายของปีนี้ เพื่อให้สอดคล้องกับความต้องการที่หลากหลายของผู้บริโภคในปัจจุบัน โดยเน้นเน้นทำเลที่สะดวกเข้าถึงง่าย และมองเห็นเด่นชัด
“เราเชื่อว่าแบรนด์อาหารระดับโลกอย่างซับเวย์ จะเข้ามาเติมเต็มธุรกิจ F&B ของบริษัทฯ สร้างความอยู่ดีมีสุขให้กับลูกค้าทั้งภายในและภายนอกสถานีบริการได้ นับเป็นการต่อยอดประสิทธิภาพของระบบนิเวศทางธุรกิจของ PTG และแบรนด์ PTG และเชื่อว่า Subway จะเข้ามาเติมเต็มธุรกิจ F&B ของบริษัทฯ และสามารถสร้างกำไรได้เป็นสัดส่วน 50% ของธุรกิจทั้งหมดในอนาคต”
เรื่องราวอื่นๆ ที่น่าสนใจ : KFC Thailand ครบรอบ 40 ปี เปิดตัว “แบมแบม กันต์พิมุกต์” Friend of KFC คนแรกของไทย
ไม่พลาดบทความและเรื่องราวน่าสนใจอื่นๆ ติดตามเราได้ที่เฟซบุ๊ก Forbes Thailand Magazine