รายงานพิเศษ: เจาะลึก บมจ.สหพัฒนพิบูล - Forbes Thailand

รายงานพิเศษ: เจาะลึก บมจ.สหพัฒนพิบูล

FORBES THAILAND / ADMIN
27 Mar 2017 | 02:46 PM
READ 10152
ปัจจุบันบริษัท สหพัฒนพิบูล จำกัด(มหาชน) หรือ SPC เป็นบริษัทตัวแทนจำหน่ายที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย ด้วยระบบโลจิสติกส์ที่ทันสมัย ครอบคลุมทุกช่องทางการขายและมีเครือข่ายกว้างขวางที่สุดในประเทศ รับผิดชอบในการกระจายสินค้ากว่า600 รายการ ภายใต้ 90 แบรนด์ ที่แจกแจงได้เป็นกลุ่มต่างๆ ดังนี้ 1. ผลิตภัณฑ์อาหาร 2. ผลิตภัณฑ์เครื่องดื่ม 3. ผลิตภัณฑ์เครื่องใช้ในครัวเรือน 4. ผลิตภัณฑ์เครื่องใช้ส่วนบุคคล เช่นผงซักฟอกเปา น้ำยาล้างจานไลปอนเอฟ มาม่า บะหมี่ โจ๊ก ลอตเต้ เป็นต้น ทั้งนี้เมื่อเทียบศักยภาพของ SPC กับคู่แข่งที่เป็นบริษัทมหาชนด้วยกันนั้นพบว่า บริษัทเบอร์ลี่ ยุคเกอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ BJC น่าจะเป็นบริษัทที่มีลักษณะธุรกิจที่ใกล้เคียงกับ SPC มากที่สุด โดย BJC เป็นผู้ผลิตและจัดจำหน่ายสินค้าอุปโภคและบริโภค สินค้าเครื่องใช้ในครัวเรือน รวมถึงการทำการตลาดและจัดจำหน่ายทว่า ข้อเสียเปรียบของ SPC เมื่อเทียบกับ BJC นั้นคือช่องทางในการจัดจำหน่ายสินค้าเนื่องจาก BJC มีช่องทางในการจัดจำหน่ายสินค้าของตัวเองคือศูนย์การค้าบิ๊กซี ซูเปอร์เซ็นเตอร์ (Big C) แต่ในขณะที่ SPC นั้นจะต้องพึ่งพาช่องทางในการจัดจำหน่ายผ่าน modern trade หรือร้านโชห่วยเท่านั้น  

จุดอ่อน vs จุดแข็งของ SPC

จุดแข็ง: บริษัทมีระบบโลจิสติกส์ที่ครอบคลุมทุกช่องทางจัดจำหน่าย และครอบคลุมทั่วประเทศไทย อีกทั้งบริษัทมีสินค้าอุปโภคและบริโภคซึ่งถือได้ว่าปัจจัย 4 พื้นฐาน จุดอ่อน: สินค้าอุปโภคบริโภคที่บริษัทจัดจำหน่ายนั้น นับว่ายังไม่มีจุดเด่นที่แตกต่างกับคู่แข่งนัก ทำให้ผู้บริโภคไม่มีความรู้สึกถึงความแตกต่างของสินค้าบริษัท จึงสามารถปรับเปลี่ยนการใช้สินค้าหรือแบรนด์ได้ตลอดเวลา หรือไม่มีความภักดีในตราสินค้าของบริษัท (brand loyalty)  

ปัจจัยหนุนการเติบโต

ปัจจัยสำคัญที่ส่งผลโดยตรงต่อการเติบโตของกลุ่มธุรกิจอุปโภคบริโภค คือ กำลังซื้อของผู้บริโภคซึ่งมาจาก 1. ค่าครองชีพของประชากร 2. หนี้สินภาคครัวเรือน เพราะค่าครองชีพบ่งบอกถึงความสามารถในการบริโภค ในขณะที่หนี้สินบ่งบอกถึงภาระที่ผู้บริโภคจะต้องใช้จ่ายก่อนที่จะเกิดการบริโภคทิศทางที่ต้องจับตาจากพื้นฐานที่ธุรกิจสินค้าอุปโภคบริโภคเน้นการบริโภคในประเทศเป็นสำคัญ ทำให้ธุรกิจนี้มีความผันผวนตามเศรษฐกิจในประเทศ หรือมีอัตราการเติบโตที่ใกล้เคียงกับผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) ด้วยเหตุนี้ ผู้ประกอบธุรกิจอุปโภคบริโภคจึงควรขยายธุรกิจไปยังแถบประเทศเพื่อนบ้านอย่างเช่น เมียนมา สปป.ลาว หรือกัมพูชาที่เริ่มมีการขยายตัวทางเศรษฐกิจที่สูงกว่าในประเทศไทย และพฤติกรรมการบริโภคหรือซื้อสินค้าอุปโภคบริโภคนั้นมีความคล้ายคลึงกับประเทศไทย จากรายงานฉบับเดือนเมษายน 2559 ของธนาคารกสิกรไทยระบุว่า สินค้าอุปโภคบริโภคนั้นเป็น 1 ใน 4 สินค้าไทยที่ได้รับความนิยมมากที่สุดในเมียนมา จากความน่าเชื่อถือของคุณภาพและมาตรฐานการผลิตสินค้า เรื่อง: ฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บริษัทหลักทรัพย์ ทรีนิตี้ จำกัด อ่านเพิ่มเติม: บุณยสิทธิ์ โชควัฒนา ตำนานสารพัดค้าสู่อาณาจักรสหพัฒน์ อ่านเพิ่มเติม: สหพัฒนพิบูล-ไอ.ซี.ซี. สองเสาหลักแห่งเครือสหพัฒน์
คลิกอ่านฉบับเต็ม "บุณยสิทธิ์ โชควัฒนา ตำนานสารพัดค้าสู่อาณาจักรสหพัฒน์" ได้ที่ Forbes Thailand Magazine ฉบับ มกราคม 2560