พิธาน องค์โฆษิต ซื้อกิจการ "มอส เบอร์เกอร์" ในไทย ปูพรมบุก 90 สาขาท้าชิงเจ้าตลาด - Forbes Thailand

พิธาน องค์โฆษิต ซื้อกิจการ "มอส เบอร์เกอร์" ในไทย ปูพรมบุก 90 สาขาท้าชิงเจ้าตลาด

พิธาน องค์โฆษิต ลงทุนส่วนตัวใน มอส เบอร์เกอร์ ประเทศไทย ร่วมทุนญี่ปุ่นเจ้าของแฟรนไชส์ ทุ่ม 200 ล้านบาท บุกขยาย 90 สาขาใน 8 ปี ดันมาร์เก็ตแชร์ในตลาดร้านเบอร์เกอร์เป็น 10% เชื่อครองใจตลาดแมสพรีเมียมได้

พิธาน องค์โฆษิต ประธาน บริษัท มอส ฟูดส์ เซอร์วิสเซส (ประเทศไทย) จำกัด เปิดเผยว่า หลังจากเจรจากันมากว่า 6 เดือน ตนได้เข้าร่วมลงทุนในบริษัท มอส ฟูดส์ฯ โดยเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ 75% จากเดิมที่บริษัทแม่จากญี่ปุ่นเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ โดยมีการเพิ่มทุนจดทะเบียน จาก 6 ล้านบาทเป็น 206 ล้านบาท เพื่อให้เห็นภาพชัดเจนว่าบริษัทมีความตั้งใจในการลงทุนในอนาคต โดยขณะนี้ ร้านมอส เบอร์เกอร์ มีเพียง 8 สาขาเฉพาะในกรุงเทพฯ ได้แก่ สาขาเซ็นทรัลเวิลด์, แฟชั่นไอส์แลนด์, เซ็นจูรี่ฯ อ่อนนุช, เซ็นทรัลฯ บางนา, เซ็นทรัลฯ พระราม 3, เอ็มโพเรียม, ฟิวเจอร์ พาร์ค รังสิต และเทอร์มินอล 21 อโศก แผนงานต่อจากนี้จะบุกเพิ่มจำนวนสาขาทั่วกรุงเทพฯ และต่างจังหวัดในหัวเมืองท่องเที่ยว เช่น พัทยา ภูเก็ต เชียงใหม่ ภายในปีนี้ มอส เบอร์เกอร์ จะขยายเพิ่มอีก 6 สาขา และตั้งเป้าจะขยายอีกปีละ 9 สาขาในช่วง 5-6 ปีข้างหน้า ก่อนจะเพิ่มเป็นปีละ 12 สาขาในปีถัดๆ ไป ซึ่งพิธานคาดว่า ภายใน 8 ปี ร้านมอส เบอร์เกอร์จะขยายครบ 90 สาขาและมีส่วนแบ่งทางการตลาด 10% ในตลาดร้านเบอร์เกอร์มูลค่า 1 หมื่นล้านบาทของไทย จากปัจจุบันที่มีส่วนแบ่งไม่ถึง 1%
ร้านมอส เบอร์เกอร์
สำหรับเป้าหมายรายได้ พิธานกล่าวว่าปีที่ผ่านมามอส เบอร์เกอร์มีรายได้ 80 ล้านบาท ปี 2562 ตั้งเป้าเติบโตเป็น 100 ล้านบาท ปี 2563 เชื่อว่าจะเพิ่มขึ้นเท่าตัวเป็น 200 ล้านบาท และปี 2565 เพิ่มเป็น 500 ล้านบาท ทั้งนี้ ผู้นำในตลาดร้านเบอร์เกอร์ปัจจุบันคือ แมคโดนัลล์ ซึ่งมีจำนวนสาขา 252 สาขา (ณ สิ้นปี 2560) ตามด้วยเบอร์เกอร์คิงซึ่งบริหารโดยเครือไมเนอร์ มีจำนวน 86 สาขา (ณ ปี 2561) เฉพาะสองแบรนด์นี้มีมาร์เก็ตแชร์รวมกันประมาณ 90% ของตลาด  

ส่งเบอร์เกอร์ญี่ปุ่นเจาะตลาดแมสพรีเมียม

พิธานกล่าวว่า สาเหตุที่สนใจลงทุนในมอส เบอร์เกอร์เพราะเชื่อในศักยภาพของแบรนด์ ซึ่งมีความแตกต่างกับแบรนด์หลักในตลาดคือเป็นเบอร์เกอร์สัญชาติญี่ปุ่น ทำให้รสชาติและขนาดเบอร์เกอร์เหมาะสมกับชาวเอเชียมากกว่า รวมถึงเป็นร้านกึ่งฟาสต์ฟู้ด การทำอาหารจะทำสดทุกชิ้น ไม่มีการทำเตรียมค้างไว้ และใช้วัตถุดิบคุณภาพดี 70% เป็นวัตถุดิบโดยตรงจากญี่ปุ่น “เราได้รับการแนะนำให้รู้จักกันผ่านคนกลาง ส่วนตัวผมชอบรสชาติอาหารและจุดเด่นการมี open kitchen ในร้านอยู่แล้ว จึงตกลงร่วม JV กัน” พิธานกล่าว “ส่วนทางญี่ปุ่นเคยมีพาร์ทเนอร์ในไทยมาก่อนโดยเป็นบริษัทญี่ปุ่น แนวทางการทำงานของเขาจะไม่ aggressive การทำตลาดเบาบางมากและไม่ค่อยขยายสาขา แต่ทางบริษัทแม่ที่ญี่ปุ่นต้องการเติบโตในไทยให้มากกว่านี้ ทำให้เราเซ็นสัญญากันระยะยาว 18 ปี
(จากซ้าย) Jun Takifuka ผู้จัดการทั่วไปฝ่ายต่างประเทศ Mos Food Services Inc. , Atsushi Sakurada ประธานกรรมการบริษัทและตัวแทน Mos Food Services Inc. , พิธาน องค์โฆษิต ประธาน บริษัท มอส ฟูดส์ เซอร์วิสเซส (ประเทศไทย) จำกัด
พิธานมองว่ามอส เบอร์เกอร์เป็นแบรนด์ที่สามารถเติบโตในระดับแมสได้ โดยมีราคาเบอร์เกอร์ชิ้นละ 49-139 บาท ลูกค้าใช้จ่ายต่อบิล 180 บาท อยู่ระหว่างกลางของสองแบรนด์หลัก คือพรีเมียมกว่าแมคโดนัลด์ แต่ยังราคาต่ำกว่าเบอร์เกอร์คิงประมาณ 20-25 บาทต่อบิล ที่ผ่านมามอส เบอร์เกอร์อาศัยการจับกลุ่มลูกค้าเก่าเป็นฐาน ทำให้การเติบโตไม่สูง ประมาณ 0.5% ต่อสาขาต่อปี “แม้ไม่ได้ทำมาร์เก็ตติ้ง แต่ลูกค้ายังเข้าร้าน แสดงว่าแบรนด์นี้เราขยับนิดเดียวก็น่าจะไปได้” ดังนั้น ทิศทางใหม่ของมอส เบอร์เกอร์จะจัดงบการตลาด 7-10% ของยอดขายต่อปีเพื่อสร้างฐานลูกค้าใหม่ไปพร้อมกับการขยายสาขา รวมถึงมีการออกเมนูใหม่ทุก 1-2 เดือนเพื่อกระตุ้นตลาดให้จดจำแบรนด์ได้ นอกจากนี้จะผลักดันยอดขายเดลิเวอรี่ด้วย จากขณะนี้มีสัดส่วนยอดขายจากเดลิเวอรี่เพียง 13-15% ตั้งเป้าผลักดันเป็น 40% ในอนาคต “กลุ่มเป้าหมายคือวัยรุ่นถึงวัยทำงาน อายุ 15-45 ปี เป็นคนที่ชอบรับประทานเบอร์เกอร์หรืออาหารญี่ปุ่น และเป็นคนที่ต้องการอาหารคุณภาพดีขึ้นกว่าเดิม” พิธานกล่าว ทั้งนี้ มอส เบอร์เกอร์ เป็นร้านที่ก่อตั้งในญี่ปุ่นเมื่อ 48 ปีก่อน ปัจจุบันขยายไปใน 10 ประเทศ คือ ไต้หวัน ไทย สิงคโปร์ ฮ่องกง จีน เกาหลี อินโดนีเซีย ออสเตรเลีย มาเลเซีย และเวียดนาม มีสาขารวมทั้งหมดมากกว่า 1,700 สาขา และเป็นร้านเบอร์เกอร์อันดับ 2 ของญี่ปุ่นรองจากแมคโดนัลด์ โดยนอกเหนือจากญี่ปุ่น ไต้หวันคือประเทศที่มอส เบอร์เกอร์เปิดสาขามากที่สุดจำนวน 260 สาขา   Forbes Facts
  • พิธาน องค์โฆษิต ทำธุรกิจหลักคือ บริษัท เคซีอี อิเลคโทรนิคส์ จำกัด (มหาชน) นั่งตำแหน่งซีอีโอและกรรมการผู้จัดการ
  • เขายังมีธุรกิจส่วนตัวอีกสองแห่งคือ บริษัท ทีเอฟเอส (ไทยแลนด์) จำกัด เจ้าของแฟรนไชส์ The Face Shop ในไทย ปัจจุบันมี 88 สาขา และ “M2Spop” ร้านเสื้อผ้าแบบ multi-brand ที่เปิดตัวเมื่อปลายปีก่อน
  • “MOS” ในชื่อมอส เบอร์เกอร์ มาจากคำว่า Mountain, Ocean, Sea หมายถึงการเลือกใช้วัตถุดิบจากธรรมชาติ