เป็นปีที่โหดหินสำหรับ "บิวตี้ บุฟเฟต์" หลังจีนสกัด “แม่ค้าหิ้ว” ทำลูกค้าหด 30% ปั้นกลยุทธ์ใหม่เปิดหน้าร้านรับแบรนด์นอกบริษัทวางจำหน่ายเป็นครั้งแรก หวังเก็บรายได้ค่าจีพี ปี 2562 ตั้งเป้าต่ำ 2.2 พันล้านบาท รับธุรกิจติดลบหนักสุดในรอบ 22 ปี เชื่อปีหน้าฟื้นตัวกลับมาโต 20% หลังตั้งตัวแทนจำหน่าย 15 ประเทศ
ดร.พีระพงษ์ กิติเวชโภคาวัฒน์ รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร
บริษัท บิวตี้ คอมมูนิตี้ จำกัด (มหาชน) หรือ
BEAUTY เปิดเผยว่า บริษัทได้ตัดสินใจปรับกลยุทธ์ใหม่ในช่องทางการขายหน้าร้าน จากเดิม BEAUTY จะวางจำหน่ายเฉพาะสินค้าที่บริษัทพัฒนาสูตรและสั่งผลิตเอง (Private Label) เช่น Gino McCray, Scentio, The Bakery
ปีนี้ร้านบิวตี้ บุฟเฟต์จะมีวางจำหน่ายสินค้าแบรนด์พันธมิตรอื่นๆ ด้วย
โดยมีการจับมือกับพันธมิตรทั้งหมด 14 แบรนด์ เช่น Karmart, Snail White, Smith Her Highness ที่เริ่มเข้ามาวางขายแล้วตั้งแต่เดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา และบริษัทจะทยอยปรับเชลฟ์วางสินค้าแบรนด์พันธมิตรให้ครบ 120 สาขาภายในปีนี้
ดร.พีระพงษ์กล่าวว่า ปัจจุบันบริษัทมีร้านค้าออฟไลน์ทั้งหมด 328 สาขา แบ่งเป็นร้านบิวตี้ บุฟเฟต์ที่ขายสินค้าแบบมัลติแบรนด์ 259 สาขา ร้านบิวตี้ คอตเทจซึ่งขายเฉพาะแบรนด์บิวตี้ คอตเทจ 68 สาขา และร้านบิวตี้ มาร์เก็ต 1 สาขา
“สินค้าแบรนด์พันธมิตรจะลงเฉพาะร้าน บิวตี้ บุฟเฟต์ แต่คงไม่ครบทุกสาขา เพราะบางสาขาเล็กเกินไป ร้านที่ลงได้จะเป็นสาขาขนาดประมาณ 30 ตารางเมตร และบางสาขาในต่างจังหวัดที่สินค้าเรายังขายดีอยู่ก็จะยังไม่เปิดเชลฟ์ของพันธมิตร” ดร.พีระพงษ์กล่าว
กลยุทธ์การขายสินค้าจากนอกบริษัทนี้ถือเป็นครั้งแรกที่เกิดขึ้น การปรับครั้งนี้บริษัทเชื่อว่าจะทำให้ได้รายได้เพิ่มขึ้นจากค่าแรกเข้า ค่าบริหารจัดการกระจายสินค้า และเปอร์เซ็นต์จากยอดขาย (ค่าจีพี)
วางเป้าปี 2562 เก็บรายได้จากแบรนด์พันธมิตร 18-20 ล้านบาท
ส่วนความแตกต่างของร้านบิวตี้ บุฟเฟต์จากร้านเครื่องสำอางมัลติแบรนด์อื่นๆ ดร.พีระพงษ์กล่าวว่าจะมาจาก หนึ่ง ขนาดร้านค้าที่เล็กกว่า เน้นผู้ซื้อที่มีสินค้าในใจแล้ว ไม่ต้องการ window shopping และ สอง คือ
การวางขายเฉพาะแบรนด์คนไทย (local brand) เท่านั้น เพื่อคงภาพลักษณ์ของบิวตี้ บุฟเฟต์ที่เป็นแบรนด์จากประเทศไทยต่อไป
การคัดเลือกแบรนด์ไทยเข้าร้านนั้น นอกจากเป็นสินค้าราคาระดับกลาง (สูงสุดไม่เกิน 1,000 กว่าบาทต่อชิ้น) เหมือนกับแบรนด์อื่นของบิวตี้ฯ แล้ว
แบรนด์นั้นๆ จะต้องมีการจดทะเบียนบริษัทที่เชื่อถือได้และดำเนินธุรกิจมาอย่างมั่นคง มีภาพลักษณ์แบรนด์ที่แข็งแรง รวมถึงพร้อมทำการตลาดร่วมกับร้านบิวตี้ บุฟเฟต์
นอกจากการเพิ่มรายได้ให้กับบริษัทแล้ว ดร.พีระพงษ์ยังหวังว่าการเปิดรับแบรนด์อื่นๆ จะทำให้ได้ลูกค้ารายใหม่มากขึ้น และวางเป้าปี 2563 จะเพิ่มแบรนด์พันธมิตรขึ้นเป็น 20 แบรนด์
อาการโคม่า ติดลบหนักสุดในรอบ 22 ปี
ผลประกอบการโดยรวมของบิวตี้ คอมมูนิตี้นั้นมีอาการย่ำแย่มาตั้งแต่ปีก่อน และปีนี้ยิ่งติดลบหนักขึ้น
โดยบริษัทรายงานผลประกอบการครึ่งปีแรก 2562 ในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ทำรายได้ที่ 1,080 ล้านบาทซึ่งลดลงจากช่วงเดียวกันปีก่อนถึง 38.7% ขณะที่กำไรสุทธิอยู่ที่ 116 ล้านบาท ลดลงจากช่วงเดียวกันปีก่อน 78.4% หรือคิดเป็นอัตรากำไรสุทธิที่ 10.7% เทียบกับอัตรากำไรสุทธิตลอดปี 2561 ซึ่งอยู่ที่ 28.3% เหล่านี้ล้วนเป็นตัวเลขอันน่าใจหายต่อผู้ถือหุ้น และวันนี้หุ้น BEAUTY ยังเคลื่อนไหวในกรอบ 2.98-3.06 บาทต่อหุ้น ทั้งที่ยุคหนึ่งหุ้น BEAUTY เคยตีราคาขึ้นไปถึง 23 บาทต่อหุ้น
ดร.พีระพงษ์อธิบายว่า
ปีนี้สถานการณ์ตลาดปีนี้ ‘โหดร้าย’ สำหรับบิวตี้ฯ และน่าจะหนักที่สุดในรอบ 22 ปีตั้งแต่บริษัทเริ่มเปิดร้านขายเครื่องสำอางสาขาแรกที่มาบุญครอง สาเหตุหลักเกิดจากรัฐบาลจีนเข้มงวดกับการเก็บภาษีสินค้าขายออนไลน์ โดยพ่อค้าแม่ค้าที่ขายของบนอี-คอมเมิร์ซจะต้องจดทะเบียนบริษัทและเสียภาษี ทำให้ร้านค้าออนไลน์ที่เคยหิ้วสินค้าของบิวตี้ฯ เข้าไปขายในจีนลดฮวบ 96% ทันทีตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2562 โดยยอดขายจากลูกค้ากลุ่ม Non-Official Merchants เหล่านี้ถือเป็นรายได้หลักถึง 30% ของบริษัท
นอกจากนี้ ตลาดเครื่องสำอางโดยรวมมูลค่า 1.8 แสนล้านบาทยังเติบโตชะลอลงแต่มีคู่แข่งเป็นแบรนด์หน้าใหม่เกิดขึ้นมหาศาล โดยดร.พีระพงษ์ประเมินว่า
ตลอดปีนี้ตลาดจะโตเพียง 2-4% จากปกติตลาดเครื่องสำอางจะเติบโต 7-8% อย่างสม่ำเสมอ เป็นผลทั้งจากกำลังซื้อของคนในประเทศ และจำนวนนักท่องเที่ยวที่ลดลง
เร่งแก้เกมลุยส่งออกเอง 15 ประเทศ
สำหรับการแก้อาการโคม่าของบิวตี้ฯ นอกจากจะพลิกมาขายมัลติแบรนด์แล้ว บริษัทยังกำลังปั้นยอดขายตลาดต่างประเทศให้กลับมา แต่ครั้งนี้เป็นการส่งออกไปขายอย่างเป็นทางการผ่านการเซ็นสัญญาตัวแทนจำหน่าย โดยมีการเซ็นสัญญาไปแล้ว 13 ประเทศ มีจีนเป็นตลาดใหญ่ที่สุดโดยมีดีลเลอร์ 4 ราย (อยู่ระหว่างเซ็นสัญญาเพิ่มอีก 1 ราย) ส่วนประเทศอื่น เช่น อินเดีย ญี่ปุ่น บรูไน และบิวตี้ฯ ยังอยู่ระหว่างเจรจากับตัวแทนจำหน่ายในอีก 4 ประเทศ ได้แก่ กัมพูชา รัสเซีย แคนาดา และ UAE เชื่อว่าภายในสิ้นปีนี้จะมีตัวแทนจำหน่ายครบ 15 ประเทศ
“ภายในปีนี้รายได้จากการส่งออกแบบ General Trade เหล่านี้คงยังไม่ครอบคลุมรายได้ที่หายไปจาก Non-Official Merchants เพราะต้องส่งสินค้าไปขอรับรองคุณภาพที่จีนซึ่งกระบวนการค่อนข้างช้า ใช้เวลาถึง 1 ปีครึ่ง แต่ตอนนี้เราได้รับรองมาแล้ว 8 ตัว และกระบวนการก็เริ่มเร็วขึ้นเหลือ 3-4 เดือนเท่านั้น ปีหน้าจึงน่าจะดีขึ้น มองว่ารายได้จะกลับมาเติบโต 20% จากปีนี้ที่ตั้งเป้าไว้ 2.2 พันล้านบาท” ดร.พีระพงษ์กล่าว
เป้ารายได้ 2.2 พันล้านนั้นยังต่ำกว่ารายได้รวมปี 2561 ถึง 37% และแม้ว่าปีหน้า BEAUTY จะกลับมาโต 20% ก็เรียกได้ว่าพวกเขาอาจจะยังอยู่ในระยะ ‘ฟื้นไข้’ อย่างไรก็ตาม รองซีอีโอของ BEAUTY มองว่าบริษัทไม่ได้ทำผลงานเลวร้ายอย่างหนักแม้รายได้จะติดลบ เพราะยังคงมีกำไร
“เรามองว่าสถานการณ์เราช่วงนี้คือการกลับมาเป็น normal mode จากเมื่อก่อนที่เราขายดีกว่าปกติไปมาก” ดร.พีระพงษ์กล่าวปิดท้าย