ปี 2562 วัตสัน ยังคงเดินหน้าขยายสาขาดึงลูกค้า โดยเปิดกลยุทธ์ปรับเปลี่ยนลูกเล่นภายในร้าน ใช้เทคโนโลยีบริการเลือกเครื่องสำอาง ผสานกับการรุกช่องทางขายออนไลน์
ตลาดร้านค้าเครื่องสำอางแบบมัลติแบรนด์มีเจ้าใหญ่ครองตลาดคือ วัตสัน ซึ่งเปิดไปมากกว่า 500 สาขาในปีที่ผ่านมา และยังคงไม่หยุดเติบโต
พสิษฐ์ มั่นคงขันติวงษ์ ผู้จัดการทั่วไป
วัตสัน ประเทศไทย เปิดเผยว่าปีนี้วัตสันจะมีการลงทุน 630 ล้านบาท งบลงทุนส่วนใหญ่จะยังคงใช้ในการขยายสาขาเป็นแกนหลักในการเพิ่มยอดขายอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้เป็นการปรับปรุงสาขาเดิม และลงทุนด้านอี-คอมเมิร์ซที่วัตสันเริ่มบริการมากว่า 1 ปี
จากปีก่อนที่โต 2 ดิจิต ปีนี้วัตสันยังตั้งเป้าโต 2 ดิจิต เนื่องจากเชื่อว่ากำลังซื้อของกลุ่มตลาดความงามและสุขภาพจะยังโตสม่ำเสมอ
โดยปีนี้
วัตสันจะเปิดตัวเพิ่ม 50 สาขา แบ่งเป็น 60% ในต่างจังหวัด และ 40% ในกรุงเทพฯ ปริมณฑล และภาคกลาง และจะปรับปรุงสาขาเก่าอีก 75 สาขาตามรอบการปรับปรุงสาขาที่จะปรับทุกๆ 3-4 ปี
พสิษฐ์กล่าวว่า ร้านค้าของบริษัทจะเป็นเจนเนอเรชั่นที่ 8 หรือ G8 ซึ่งจุดเด่นคือใช้เทคโนโลยีเข้ามาบริการลูกค้ามากขึ้น ทำให้ลูกค้าเลือกซื้อเครื่องสำอางได้สะดวกและง่าย
วัตสัน G8 ใช้ AR ทดลองสีสัน
ร้านรุ่นใหม่เต็มรูปแบบจะเปิดตัวก่อนใน 3 สาขาคือ สยามสแควร์ ไอคอนสยาม และเดอะ มอลล์ บางกะปิ ภายในร้านมีไฮไลต์คือเครื่อง
Style Me เป็นจอทัชสกรีนที่ใช้เทคโนโลยี AR (Augmented Reality) ให้ลูกค้าทดลองสีและรูปแบบเครื่องสำอางบนใบหน้าได้เสมือนจริง มีพื้นที่
Makeup Station ให้ทดลองสินค้าตัวอย่างพร้อมกระจก ไฟ เก้าอี้ และอุปกรณ์เช็ดทำความสะอาด ปิดท้ายที่
Try Me เป็นมุมสินค้าที่ติดตั้งเซ็นเซอร์ ทำให้โฆษณาที่ปรากฏบนจอตรงกับสินค้าที่ลูกค้ากำลังเลือกหยิบ
นอกจากนี้ ภายในร้านยังปรับจอโฆษณาทั้งหมดเป็นดิจิทัล ทำให้การปรับเปลี่ยนโฆษณาทำได้ง่ายและมีลูกเล่นมากกว่า ติดตั้ง wi-fi ในร้าน รวมถึงมีมุม Self-Check Out ช่วยบริการด้วย
พสิษฐ์กล่าวว่า
ร้านแบบใหม่จะลงทุนมากกว่าเดิมราว 2 ล้านบาทต่อสาขา แต่ละสาขาที่ลงทุนใหม่และที่ปรับปรุงจะมีการลงฟังก์ชันบริการไม่เท่ากัน แต่อย่างน้อยจะปรับจอโฆษณาทั้งหมดเป็นดิจิทัล
ด้าน
นวลพรรณ ชัยนาม ผู้อำนวยการฝ่ายการตลาด วัตสัน ประเทศไทย อธิบายว่าเครื่องมือเหล่านี้จะทำให้ลูกค้าตัดสินใจได้ง่ายขึ้น ลดเวลาการเลือกซื้อสินค้าลง มีโอกาสซื้อสูงขึ้น โดยมีการทดลองในต่างประเทศแล้วพบว่าช่วยเพิ่มยอดขายได้จริง
อี-คอมเมิร์ซล็อกลูกค้า
นอกจากร้านค้าออฟไลน์แล้ว วัตสันยังคงมุ่งทำตลาดออนไลน์ควบคู่ต่อเนื่องจากปีก่อน โดยปี 2561 มียอดขายเพิ่มขึ้น 248% เทียบกับปีก่อนหน้า อย่างไรก็ตาม นวลพรรณเปิดเผยว่ายังเป็นสัดส่วนที่น้อยมากเมื่อเทียบกับยอดขายรวมของบริษัท
“แต่ปีนี้เรามีแผนผลักดันอีกมาก มีการลงทุนด้านดิจิทัล มีสินค้า exclusive ที่ต่างจากในร้านออฟไลน์และสินค้า Own Brand ลงขายมากกว่า 3,000 รายการ มีแผนโปรโมชัน เราให้ความสำคัญอย่างมากกับอี-คอมเมิร์ซ” นวลพรรณกล่าว
พสิษฐ์เสริมด้วยว่า
เชื่อว่าอี-คอมเมิร์ซของวัตสันจะมีจุดเด่นที่สินค้าในร้านการันตีแล้วว่าเชื่อถือได้ มีโปรโมชันให้สม่ำเสมอ และสามารถใช้ระบบ click & collect มารับสินค้าเองได้ที่วัตสันทุกสาขา
สำหรับแผนด้านอื่นของวัตสัน ยังวางเป้าการเติบโตของยอดสมาชิกสม่ำเสมอซึ่งปกติจะเติบโต 15-18% ทุกปีตามการเปิดสาขาใหม่ โดยปีนี้วัตสันมีสมาชิกแล้ว 5 ล้านราย และลูกค้าระดับอีลีท 2 แสนราย (เป็นลูกค้าที่ใช้จ่ายกับวัตสันมากกว่า 14,000 บาทต่อปี)
พสิษฐ์กล่าวว่า ด้านสินค้าภายในร้านจะมุ่งเน้น Own Brand ของวัตสันมากขึ้น จากปีก่อนพบว่าสินค้ากลุ่มนี้เติบโตถึง 20%
ปีนี้จึงจะเพิ่มจำนวนสินค้ากลุ่ม Own Brand จาก 750 SKUs เป็น 900 SKUs ภายในสิ้นปี เทียบกับสินค้ารวมทั้งร้านที่มีกว่า 5,000 SKUs และจะเน้นในกลุ่มสินค้าสไตล์ญี่ปุ่นและเกาหลี ชูจุดเด่น
“Mask Destination” มีมาส์กที่ตอบสนองความต้องการลูกค้าได้ครบ ทำให้ลูกค้าสามารถใช้มาส์กได้ทุกวัน
Forbes Facts
- พสิษฐ์เป็นคนไทยคนแรกที่ได้ดำรงตำแหน่งผู้จัดการทั่วไปของวัตสัน ประเทศไทย ก่อนหน้านี้เขาดำรงตำแหน่งประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายปฏิบัติการ (COO) ของบริษัท และร่วมงานกับวัตสันมานาน 14 ปี
- เขากล่าวว่า เทรนด์การบริการในร้านค้าทำให้แนวโน้มร้านวัตสันมีขนาดใหญ่ขึ้น จากปกติเฉลี่ย 250 ตร.ม.ต่อสาขา ปัจจุบันต้องการพื้นที่ 400-500 ตร.ม.ต่อสาขา (เฉพาะสาขาที่มีศักยภาพสูง)
- สินค้ามาแรงปี 2562 คาดว่าจะเป็นกลุ่มสกินแคร์โดยเฉพาะเดิร์มสกิน และกลุ่มผลิตภัณฑ์จากธรรมชาติ