มุมมอง Microsoft “AI ไม่ใช่แค่แชตบอต” แต่จะเปลี่ยนไทยจาก Made in Thailand เป็น Born in Thailand - Forbes Thailand

มุมมอง Microsoft “AI ไม่ใช่แค่แชตบอต” แต่จะเปลี่ยนไทยจาก Made in Thailand เป็น Born in Thailand

นอกจากการเปิดตัว AI ใหม่ๆ โดยเฉพาะกลุ่ม Generative AI การมาเยือนประเทศไทยเมื่อเดือน พ.ค. 2567 ที่ผ่านมาของ Satya Nadella พร้อมประกาศพันธสัญญาเพื่อขับเคลื่อนประเทศไทยสู่อนาคตในยุค AI และคลาวด์ น่าจะเป็นอีกเหตุการณ์ที่สร้างความตื่นเต้นให้กับคนไทยถึงการมาเยือนของ AI ซึ่งรวมถึง ‘ธนวัฒน์ สุธรรมพันธุ์’ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ไมโครซอฟท์ (ประเทศไทย) จำกัด ที่เขาบอกว่าตื่นเต้นมากจนรู้สึกเหมือนเริ่มต้นทำงานใหม่ ทั้งๆ ที่นั่งตำแหน่งนี้ในไทยมาครบ 7 ปีแล้ว


    สิ่งที่ทำให้ ธนวัฒน์ ตื่นเต้นจนเหมือนกับเริ่มต้นทำงานใหม่ คือการเข้ามาของเทคโนโลยี AI โดยเฉพาะ Generative AI ซึ่งเป็นเทคโนโลยีใหม่ที่คนทั้งโลกก็ตื่นเต้นเช่นกัน ซึ่งการมาของเทคโนโลยีนี้ ก็เป็นโอกาสให้ประเทศไทยเข้าสู่ AI ได้พร้อมกับคนทั่วโลก

    ความหมายของธนวัฒน์ก็คือ AI ที่สามารถใช้พร้อมกันได้ทั่วโลกนั้น เป็นเทคโนโลยีที่สามารถนำไปประยุกต์ใช้ได้กับหลายภาคส่วน ที่จะทำให้เกิดประสิทธิภาพและประสิทธิผลมากขึ้น ยิ่งถ้าเป็นการนำไปใช้ในภาคธุรกิจ เรียกได้ว่าเป็นการติดปีกให้ธุรกิจก็ว่าได้

    “เราต้องการเปลี่ยนประเทศไทยจาก Made in Thailand เป็น Born in Thailand คือผลิตได้เองแล้วส่งออกไปทั่วโลก จากที่ปกติรับมาผลิตแล้วก็ส่งออก ลองนึกดูว่า margin จะมหาศาลขนาดไหน และ AI จะครีเอทสิ่งนั้น” ธนวัฒน์ให้มุมมอง

    เขายกตัวอย่างการนำ AI ไปใช้ภาคส่วนที่สำคัญต่อเศรษฐกิจไทยอย่าง การท่องเที่ยว ที่เป็นภาคส่วนสำคัญของเศรษฐกิจไทย จะทำอย่างไรให้คนไทยสื่อสารกับนักท่องเที่ยวได้มากขึ้น ซึ่ง AI ของไมโครซอฟท์แปลได้มากกว่า 100 ภาษา ถ้าทำให้คนไทยใช้ AI เป็น ก็จะเข้าถึงนักท่องเที่ยวได้มากขึ้น

    หรืออีกตัวอย่างหนึ่งคืออาจทำเป็นแอปพลิเคชั่นที่รวบรวมข้อมูลสถานที่ท่องเที่ยวต่างๆ ที่ยังเป็น unseen แล้วให้ AI จัดทริปให้นักท่องเที่ยวได้ตามที่เขาต้องการ ก็จะเกิดการท่องเที่ยวที่กระจายตัวไปจังหวัดอื่นๆ รวมถึงนักท่องเที่ยวก็จะใช้เวลาอยู่ไทยมากขึ้น


    อีกภาคส่วนหนึ่งคือ การเกษตร ซึ่งใช้พื้นที่ราวครึ่งหนึ่งของประเทศไทย แต่สามารถสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจได้คิดเป็น 6% ของจีดีพีเท่านั้น ซึ่งถ้าเราสามารถนำ AI วิเคราะห์ว่าพื้นที่ไหนเหมาะสมกับการปลูกอะไร ตรงตามดีมานด์หรือไม่ แล้วแนะนำเกษตรกรให้ปลูกให้ตรงกับพื้นที่และดีมานด์ ก็จะเกิด productivity ที่ดีขึ้น เป็นการทำเกษตรโซนนิ่ง หรือเอา AI มาใช้วิเคราะห์เพื่อปลูกพืชที่ส่งให้เกิดมูลค่าสูงขึ้น

    ธนวัฒน์ ย้ำว่า AI ตอนนี้ไม่ใช่แค่แชตบอตอีกต่อไปแล้ว แต่สามารถใส่เข้าไปในแอปพลิเคชั่น ใส่ในธุรกิจได้มากขึ้น แต่ประเด็นคือจะเอา AI ไปแอพพลายอย่างไรกับ real sector ในไทย

    “Microsoft เห็นโอกาสที่ AI และคลาวด์จะเข้ามายกระดับและสร้างการเปลี่ยนแปลงเชิงบวกให้กับคนไทยและประเทศไทย ทั้งภาคการศึกษา การท่องเที่ยว เกษตร อุตสาหกรรม เป็นต้น พันธกิจที่เราได้ประกาศออกไปเกี่ยวกับการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน AI และคลาวด์ ดาต้าเซ็นเตอร์ เป็นกุญแจสำคัญที่เข้ามาสร้างโอกาสให้คนไทย บริษัทไทย และประเทศไทย ประสบความสำเร็จในเวทีโลก

    “จึงเป็นที่มาของการประกาศวิสัยทัศน์ “AI for All Thais” ด้วยเจตนารมณ์ที่จะมอบพลังและศักยภาพของ AI ให้คนไทย ผ่าน 3 กลยุทธ์หลัก คือ สร้างทักษะ AI, เสริมขีดความสามารถให้เกิดการนำ AI ไปใช้ในวงกว้าง และสานต่อความมั่นคงเพื่อให้ทุกคนใช้งานได้อย่างมั่นใจ รวมทั้งส่งเสริมอีโคซิสเท็มของ AI ที่ปลอดภัยและเชื่อถือได้”


    ซึ่งในรายละเอียดของทั้ง 3 กลยุทธ์ มีดังนี้

    1. สร้างทักษะ - เพื่อตอกย้ำความตั้งใจในการพัฒนาทักษะด้าน AI ให้กับคนไทยอย่างยั่งยืน ผ่านความร่วมมือกับพันธมิตรในภาคส่วนต่างๆ Microsoft เตรียมเปิดตัวโครงการ ‘AI National Skill Initiative’ ซึ่งมีเป้าหมายเพื่อสนับสนุนทักษะ AI ที่จำเป็นให้กับคนไทย 1 ล้านคนภายในปีหน้า (โดยปี Fiscal Year ของ Microsoft เริ่มวันที่ 1 ก.ค.) ผ่านหลากหลายหลักสูตรฝึกอบรมที่เป็นหลักสูตรภาษาไทยกว่า 80%

    โดยการสร้างทักษะจะโฟกัสไปที่คน 3 กลุ่ม คือ ดีเวลอปเปอร์, ยูสเซอร์ และกลุ่ม Underserved เช่น ผู้พิการและผู้เกษียณ โดยจะจัดการเรียนการสอนให้ มีการสอบหลังเรียนจบหลักสูตร ซึ่งถ้าสอบผ่านจะได้ใบรับรองจาก Microsoft รวมถึงได้เข้าไปอยู่ใน LinkedIn ของไมโครซอฟท์เพื่อส่งเสริมการจ้างงาน

ข้อมูลอันดับความสามารถในการแข่งขันทางดิจิทัลของโลก (World Digital Competitiveness Ranking) ซึ่งปี 2023 ไทยอยู่ในอันดับ 35 จาก 64 ประเทศ


    2. เสริมขีดความสามารถ – Microsoft มุ่งมั่นเสริมศักยภาพให้กับคนไทยและองค์กรไทยได้รับประโยชน์จากขุมพลังอันไร้ขีดจำกัดของ AI เพื่อนำไปประยุกต์ใช้งานในวงกว้างทั้งระดับบุคคลและองค์กร

    โดยในระดับบุคคล ไมโครซอฟท์ พร้อมขับเคลื่อนการใช้งาน AI ให้กับผู้ใช้ทุกกลุ่ม ไม่ว่าจะเป็น บุคคลทั่วไป นักเรียนนักศึกษา ครูอาจารย์ นักสร้างสรรค์คอนเทนต์ ข้าราชการ และอีกมากมาย โดยเปิดให้ผู้ใช้เข้าถึงเครื่องมือและประสิทธิภาพของเครื่องมือและบริการที่ขับเคลื่อนด้วย AI อันหลากหลาย เช่น Copilot บน Windows และ Edge, Microsoft Designer บนแอปพลิเคชันและผ่านเว็บ, Cocreator และ Paint บน Windows 11

    ฟีเจอร์ Reading progress ใน Microsoft Teams และ Reading immersive ใน Microsoft Words, GitHub Copilot รวมถึง Copilot+ PC ยุคใหม่ของพีซีที่มอบสมรรถนะสูงสุดและคุณสมบัติการใช้งานที่ชาญฉลาดที่สุดบนแพลตฟอร์ม Windows

    ในระดับองค์กร ไมโครซอฟท์ ขับเคลื่อนการนำศักยภาพของ AI ที่มีการพัฒนาไปอย่างก้าวกระโดดในระดับโลก จนกลายเป็นผู้ช่วยที่มีบทบาทสำคัญในการยกระดับการดำเนินงานให้กับองค์กรยุคใหม่ และช่วยรับมือความท้าทายต่างๆ ในปัจจุบันที่เกิดขึ้นรวดเร็วและคาดเดาได้ยาก ด้วยนวัตกรรมโซลูชันที่ช่วยเสริมประสิทธิภาพ ความคิดสร้างสรรค์ และความคล่องตัว เพื่อให้ทุกภารกิจสำเร็จได้อย่างราบรื่น โดยทำงานอย่างใกล้ชิดกับองค์กรทั้งภาครัฐและเอกชน และครอบคลุมในทุกอุตสาหกรรม

    3. สานต่อความมั่นคง - ไมโครซอฟท์ เชื่อว่าความปลอดภัยคือประเด็นสำคัญอันดับหนึ่งที่ทุกผลิตภัณฑ์ ทุกบริการด้านเทคโนโลยีจะต้องมี เพราะผู้ใช้ต้องเกิดความไว้วางใจก่อน จึงจะสามารถได้รับประโยชน์จากเทคโนโลยีนั้นๆ ซึ่งการทำงานด้านความปลอดภัยเป็นความรับผิดชอบร่วมกันของทุกภาคส่วน

    โดยไมโครซอฟท์จะขยายความร่วมมือกับภาครัฐและเอกชนอย่างต่อเนื่อง ทั้งเสริมสร้างความแข็งแกร่งด้านความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์ของประเทศ เสริมทักษะด้านการใช้ AI เพื่อความปลอดภัยไซเบอร์ และแนวทางการใช้งาน AI อย่างถูกต้อง ปลอดภัย และมีความรับผิดชอบ

    สำหรับกรณีการสร้างดาต้าเซ็นเตอร์ระดับภูมิภาคในประเทศไทย ธนวัฒน์อัพเดตเพิ่มเติมว่า ดาต้าเซ็นเตอร์ที่จะตั้งในประเทศไทย จะตั้งทั้งหมด 3 แห่งเป็นอย่างน้อย ซึ่งจะไม่ได้เป็นการสร้างเองอย่างในมาเลเซียและอินโดนีเซีย แต่จะเป็นการหาพาร์ทเนอร์ที่สามารถ provide ดาต้าเซ็นเตอร์ในสเปกที่ไมโครซอฟท์ต้องการ โดยขณะนี้ยังอยู่ระหว่างหาพาร์ทเนอร์อยู่ คาดว่าจะสามารถสรุปชื่อพาร์ทเนอร์ได้ในปีนี้



เรื่องราวอื่นๆ ที่น่าสนใจ : Microsoft ผนึก LinkedIn เผยผลสำรวจ ผู้บริหารไทย 74% ไม่ต้องการจ้างพนักงานที่ไม่มีทักษะด้าน AI

ไม่พลาดบทความและเรื่องราวน่าสนใจอื่นๆ ติดตามเราได้ที่เฟซบุ๊ก Forbes Thailand Magazine