YouTube เปิดตัว YouTube Shopping ในไทยแล้ว โปรแกรมแอฟฟิลิเอตร่วมกับ Shopee คนดูได้ช็อป-ครีเอเตอร์มีช่องทางหารายได้เพิ่ม เผยตอนนี้ครีเอเตอร์ได้ค่าคอมฯ 100%
ที่ผ่านมาเราเห็นการใช้โปรแกรม Affiliate ไปหลายแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดีย ไม่ว่าจะเป็นการปักตะกร้าบนวิดีโอใน TikTok หรือการแปะลิงก์บน Facebook ล่าสุด YouTube ก็เป็นอีกรายที่กระโดดเข้ามาสู่โปรแกรม Affiliate ด้วย โดยเปิดตัว YouTube Shopping ในไทยอย่างเป็นทางการ
โดยประเทศไทยนับเป็นประเทศที่ 4 ของโลกที่เปิดตัวโปรแกรมแอฟฟิลิเอต YouTube Shopping ต่อจากประเทศสหรัฐอเมริกา เกาหลี และอินโดนีเซีย ซึ่งไทยยังถือเป็นประเทศที่ 2 ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ด้วย
สำหรับครีเอเตอร์ที่จะสามารถลงทะเบียนเข้าร่วมโปรแกรมแอฟฟิลิเอตได้ จะต้องมีคุณสมบัติครบตามเกณฑ์เท่านั้น โดยครีเอเตอร์จะได้รับรายได้เป็นค่าคอมมิชชันจากการติดแท็กสินค้าที่วางจำหน่ายบน Shopee ในวิดีโอของครีเอเตอร์ ขณะที่คนดูก็จะได้ค้นพบและเลือกซื้อสินค้าที่ชอบได้อย่างง่ายดาย
ถามว่าทำไม YouTube ต้องกระโดดเข้ามาในสนามช็อปปิ้งด้วย?
มุกพิม อนันตชัย หัวหน้าฝ่ายพันธมิตรธุรกิจ YouTube ประเทศไทย กล่าวว่า ส่วนสำคัญมาจากแนวโน้มเศรษฐกิจดิจิทัลที่ยังคงเติบโตอย่างต่อเนื่อง ซึ่งมี ‘อีคอมเมิร์ซ’ เป็นเรื่องขับเคลื่อนสำคัญ คือคิดเป็น 61% ของมูลค่าสินค้ารวม (Gross Merchandise Value: GMV) ในปี 2566
นอกจากนี้ยังมีการประมาณการว่า ประเทศไทยมีเศรษฐกิจดิจิทัลใหญ่เป็นอันดับ 2 ของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รองจากอินโดนีเซีย โดยคาดว่ามูลค่าสินค้ารวมของเศรษฐกิจดิจิทัลไทยจะสูงถึง 5 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐภายในปี 2568 และคาดว่า ‘อีคอมเมิร์ซ’ จะเติบโตอย่างต่อเนื่องจนมีมูลค่าแตะ 3 หมื่นล้านเหรียญในปี 2568 ด้วย หรือเติบโต 16% จากปีก่อนหน้า และนั่นทำให้ YouTube พร้อมที่จะขับเคลื่อนการเติบโตของอีคอมเมิร์ซในไทย
“นอกจากนี้ ในแง่ของจำนวนของครีเอเตอร์แล้ว ณ สิ้นปี 2023 ช่อง YouTube ในไทยมีช่องที่ยอดผู้ติดตามมากกว่า 1 ล้านคน มากกว่า 1,000 ช่อง ขณะที่ช่องที่มีผู้ติดตามมากกว่า 1 แสนคน มีมากกว่า 11,000 ช่อง จำนวนชั่วโมงการดูช่องในไทย มาจากการดูจากนอกประเทศถึง 25%”
มุกพิมพ์ยังบอกอีกว่า YouTube ได้กลายเป็นบ้านอีกหลังหนึ่งของการช็อปปิ้งไปแล้ว โดย ณ สิ้นปี 2023 YouTube มีคลิปมากกว่า 350 ล้านคลิปที่เป็นคลิปเกี่ยวกับสินค้า เกิดการดูมากกว่า 3 หมื่นล้านชั่วโมง (ซึ่งมาจากทั้งวิดีโอยาว วิดีโอสั้น และไลฟ์) ซึ่งโตขึ้น 25% จากปีก่อนหน้า แสดงให้เห็นว่ามีความสัมพันธ์ที่เหนียวแน่นระหว่างคนดูและครีเอเตอร์ โดย 85% ของผู้ชมในไทยเห็นด้วยว่าครีเอเตอร์ในไทยผลิตคอนเทนต์ที่น่าเชื่อถือ
ตัวอย่างครีเอเตอร์ที่ทดลองใช้ฟีเจอร์นี้แล้วคือ ingck ครีเอเตอร์สายบิวตี้ซึ่งมีผู้ติดตามกว่า 7.31 แสนคน ซึ่งหลังจากทดลองเข้าร่วม YouTube Shopping มา 1 เดือน มีรายได้จาก YouTube เพิ่มขึ้น 115%
สำหรับรูปแบบคือระหว่างที่ผู้ชมกำลังรับชมวิดีโอของครีเอเตอร์ จะมีแท็กสินค้าขึ้นมาบนวิดีโอ ซึ่งผู้ชมสามารถคลิกที่ลิงก์ซึ่งจะพาออกไปที่แพลตฟอร์มของ Shopee โดยที่วิดีโอยังคงเล่นไปอย่างต่อเนื่อง
“ผู้ชมทุกวันนี้ต้องการความเรียลจากแบรนด์และครีเอเตอร์ ซึ่งแบรนด์สามารถใช้ครีเอเตอร์มาเล่าความเรียลจากสินค้าได้ โดยผลการสำรวจล่าสุดจาก Kantar เผยว่า ผู้ชมถึง 87% เห็นด้วยว่า YouTube ช่วยพวกเขาในการตัดสินใจซื้อสินค้า และ 93% ของผู้ตอบแบบสอบถามเห็นด้วยว่าข้อมูลบน YouTube ทำให้พวกเขารู้สึกมั่นใจในสินค้าที่ซื้อมากขึ้น”
ทั้งนี้ ครีเอเตอร์ที่สามารถลงทะเบียนเข้าร่วม YouTube Shopping ได้ จะต้องมีคุณสมบัติหลายอย่างที่อยู่ในกลุ่มของ YouTube Partner Program เช่น มียอดชั่วโมงการดูมากกว่า 4,000 ชั่วโมงในรอบ 1 ปีที่ผ่านมา มียอดผู้ติดตามมากกว่า 10,000 ผู้ติดตาม เป็นต้น โดยสามารถดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่นี่ ซึ่งสามารถติดแท็กสินค้าได้ทั้งวิดีโอใหม่และวิดีโอที่มีอยู่แล้ว แต่ครีเอเตอร์จะต้องมีการพูดถึงสินค้าบนวิดีโอนั้นๆ ด้วย
ขณะที่รายได้ที่เกิดขึ้นจะเข้ามาอยู่ในรายได้รวมที่ครีเอเตอร์มีรายได้จาก YouTube โดยค่าคอมมิชชันตอนนี้ครีเอเตอร์ได้เต็มจำนวน 100% โดยนโยบายนี้จะใช้เป็นระยะเวลา 6 เดือน หลังจากนั้นจะพิจารณาอีกครั้งว่าอาจจะมีแบ่งให้กับแพลตฟอร์มด้วย
ด้าน การัน อำบานี ผู้อำนวยการฝ่ายธุรกิจ ช้อปปี้ (ประเทศไทย) กล่าวว่า ที่ผ่านมาคอนเทนต์คอมเมิร์ซมีบทบาทสำคัญมากในอีคอมเมิร์ซ ซึ่งที่ผ่านมาช้อปปี้ได้เปิดตัว Shopee Live และ Shopee Video ซึ่งเป็นคอนเทนต์คอมเมิร์ซที่ส่งผลให้ยอดขายของผู้ขายเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ ซึ่งเราเชื่อมั่นว่าความร่วมมือครั้งนี้จะสร้างโอกาสใหม่ๆ ให้กับผู้ขายของเราได้อย่างแน่นอน
การัน ยังเผยเพิ่มเติมอีกว่า โปรแกรม Affiliate ยังถือเป็นอีกกลยุทธ์หนึ่งที่ช่วยสร้างรายได้ให้ครีเอเตอร์ได้เป็นอย่างดี โดยที่ผ่านมาค่าคอมฯ ที่ครีเอเตอร์เคยได้จากการร่วม Shopee Affiliate Program ที่ผ่านมานั้นสูงถึง 6.7 ล้านบาทต่อเดือน
สำหรับการร่วมมือกับ YouTube ในครั้งนี้ Shopee ได้สนับสนุนสำคัญในหลายด้าน ดังนี้
- ต่อที่ 1: Shopee จะมีการให้ค่าคอมมิชชั่นพื้นฐานสำหรับครีเอเตอร์ที่เข้าร่วมโปรแกรม และเอาสินค้าจากร้านค้าที่เข้าร่วมโปรแกรมฯ ไปปักตะกร้าและขายสินค้านั้นๆ ได้
- ต่อที่ 2: ผู้ขายสามารถเพิ่มค่าคอมมิชชั่นเพิ่มเติมจากขั้นต่ำ 7% ไปจนถึงสูงสุด 80% หากเข้าร่วมโปรแกรม "Extra Comm" หรือ "ค่าคอมพิเศษ" ผู้สร้างคอนเทนต์จะได้รับค่าคอมมิชชันรวมทั้งสองส่วน (ในกรณีที่ผู้ขายเพิ่มค่าคอมมิชชัน)
- โดยครีเอเตอร์ที่เข้าร่วม YouTube Shopping Program จะสามารถเลือกหยิบสินค้าจากร้านค้าที่ตั้งค่าคอมพิเศษเอาไว้ สูงสุดถึง 80% ได้เช่นกัน
เรื่องราวอื่นๆ ที่น่าสนใจ : ‘ลาซาด้า’ ไม่หวั่นอีคอมเมิร์ซจีน ติด 3 อาวุธลับ ดันธุรกิจโตยั่งยืนระยะยาว
ไม่พลาดบทความและเรื่องราวน่าสนใจอื่นๆ ติดตามเราได้ที่เฟซบุ๊ก Forbes Thailand Magazine