6 เทรนด์ยักษ์ "วงการเทคสตาร์ทอัพ" จากงาน Y Combinator Demo Day - Forbes Thailand

6 เทรนด์ยักษ์ "วงการเทคสตาร์ทอัพ" จากงาน Y Combinator Demo Day

งาน Y Combinator Demo Day ที่จัดขึ้นปีละ 2 ครั้ง ครั้งล่าสุดที่จัดขึ้นเมื่อช่วงต้นสัปดาห์ที่ผ่านมาได้อ้าแขนต้อนรับสตาร์ทอัพ 174 แห่งใน batch ใหม่ให้เข้ามานำเสนอ (pitch) โมเดลธุรกิจแก่นักลงทุนในเวลาเพียง 2 นาที และนี่คือ 6 เทรนด์ของสตาร์ทอัพปีนี้ที่ Forbes เล็งเห็น

แปลและเรียบเรียงจาก We Listened To 174 Startup Pitches In 2 Days - Here Are The Next Big Trends in Tech โดย Kenrick Cai และ Haley Kim จาก Forbes

สตาร์ทอัพยุคนี้กำลังเผชิญความท้าทายยิ่งกว่ารุ่นพี่อย่าง Airbnb และ Dropbox ที่ประสบความสำเร็จจากการเข้าโครงการเร่งการเติบโต (accelerator) กับ Y Combinator หรือ YC และตัวโครงการเองก็เพิ่งเผชิญความเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญเมื่อเดือนมีนาคม 2019 หลังจากประธาน Sam Altman ลาออกจากตำแหน่ง

จากการฟัง pitching ของสตาร์ทอัพ 174 แห่งตลอดวันที่ 19-20 สิงหาคม 2019 ทีมงาน Forbes พบเทรนด์สำคัญเหล่านี้

1.ตลาดประเทศเกิดใหม่กำลังสุกงอมได้ที่และเป็นโอกาสสำคัญ Michael Siebel ซีอีโอของ YC เริ่มต้น Demo Day โดยชี้ให้เห็นว่า 15% ของสตาร์ทอัพ batch นี้มุ่งเน้นในตลาดต่างประเทศ สตาร์ทอัพบางแห่งมีแท็กไลน์ให้ตัวเอง เช่นเข็มทิศสำหรับละตินอเมริกาหรือ “Robinhood แห่งอินเดีย

บางแห่งเช่น TradeID กล่าวอ้างว่าตนเองจะเป็นสตาร์ทอัพรายแรกที่ขายหุ้นสหรัฐฯ ให้ชาวอินโดนีเซีย หรือ Coco จะช่วยให้ผู้อพยพชาวเวเนซุเอลาสามารถส่งการสนับสนุนให้ครอบครัวด้วยอาหารแทนเงิน Breadfast สตาร์ทอัพจากอียิปต์ อบขนมปังเองและจัดส่งไปพร้อมกับอาหารเช้า

ขณะที่ Lezzoo ซึ่งเป็นแอพพลิเคชั่นจัดส่งอาหารและยาในอิรัก ต้องการขยายตัวเป็นซูเปอร์แอพฯในพื้นที่ตะวันออกกลางที่ทำได้หลายอย่างเหมือนกับ Grab หรือ WeChat

2.บริษัทสตาร์ทอัพที่สร้างขึ้นเพื่อคนในวงการเทคสตาร์ทอัพ Tilek Mamutov ผู้ร่วมก่อตั้ง Outtalent เคยได้รับรายได้เพียง 4,000 เหรียญสหรัฐฯ ต่อปีในประเทศบ้านเกิดของเขาที่คีร์กิซสถาน จนกระทั่ง Google เสนอตำแหน่งและเงินเดือนให้เขาซึ่งต่อมาขยับขึ้นไปถึง 140,000 เหรียญสหรัฐฯ ต่อปี

Image result for Outtalent Tilek Mamutov
(ซ้าย) Tilek Mamutov ผู้ร่วมก่อตั้ง Outtalent สตาร์ทอัพที่ช่วยให้คนในสายงานเทคโนโลยีจากประเทศกำลังพัฒนามีโอกาสเข้าทำงานกับบริษัทเทคฯ ยักษ์ใหญ่ (PHOTO CREDIT: Twitter@tilek)

แรงบันดาลใจนั้นทำให้ Mamutov ก่อตั้งสตาร์ทอัพที่ช่วยเหล่าทาเลนต์วงการเทคโนโลยีในประเทศกำลังพัฒนาให้ได้ทำงานกับบริษัทเทคฯ ยักษ์ใหญ่ในต่างประเทศ โดยขอรับส่วนแบ่งเงินเดือนจำนวนเล็กน้อยจากผู้รับบริการหากหางานให้ได้สำเร็จ

สตาร์ทอัพอื่นๆ ก็กำลังเล็งเป้าหมายไปที่ Silicon Valley เช่นกัน เช่น Compound ที่ปรึกษาความมั่งคั่งสำหรับพนักงานในสตาร์ทอัพระดับท็อป หรือ Elpha ชุมชนออนไลน์ของผู้หญิงวงการเทคฯ ให้พวกเธอได้แชท สร้างเครือข่าย และหางานทำ

3.วิกฤตอสังหาริมทรัพย์สร้างไอเดียธุรกิจใหม่ เมื่อต้องสร้างแหล่งที่อยู่อาศัยในราคาเข้าถึงได้ สตาร์ทอัพ 2 แห่งนี้เล็งเห็นที่ว่างในสวนหลังบ้าน Node ใช้กลยุทธ์เดียวกับ Ikea ในการสร้างกระท่อมที่ต่อประกอบได้เร็วสำหรับสร้างไว้ในสวนหลังบ้าน ขณะที่ Rent the Backyard สร้างสตูดิโอ อะพาร์ตเมนต์เล็กๆ ไว้ในสวนของคุณเพื่อเปิดให้เช่า

นอกจากนี้ Globe เป็นสตาร์ทอัพอีกแห่งที่สร้างแพลตฟอร์มในสไตล์ Airbnb แต่แยกการเช่าออกเป็นรายชั่วโมง เพื่อให้คนที่ต้องการสถานที่งีบหลับหรือโทรศัพท์อย่างเป็นส่วนตัวสามารถเข้ามาเช่าได้

4.ทำให้สินค้าแฟชั่นเป็นสินค้าเฉพาะบุคคล” (personalized) จากการสำรวจที่พบว่าผู้หญิงหลายคนคืนเสื้อผ้าที่สั่งซื้อออนไลน์เพราะไซส์ไม่พอดีตัว Fit to Form จึงใช้อัลกอริธึมเพื่อจับคู่การวัดตัวของลูกค้าเข้ากับนางแบบคนใดคนหนึ่งใน 100 คน เพื่อช่วยให้สาวๆ นักช็อปได้รับสินค้าที่พอดีตัวมากขึ้น

ขณะที่ The Custom Movement เปิดมาร์เกตเพลซให้กับศิลปินอิสระผู้ดีไซน์สนีกเกอร์รูปแบบเฉพาะในราคาเข้าถึงง่าย ส่วน Curtsy เป็นแอพฯ ขายสินค้าแฟชั่นมือสองเจาะกลุ่ม Gen Z จากแนวคิดว่า วัยรุ่นต้องการเปลี่ยนไอเทมในตู้เสื้อผ้าบ่อยครั้งเพื่อความทันสมัย

5.แอพฯ ที่ต้องการบอกความจริงที่ว่า ในตลาดมีแอพฯ เยอะเกินไปแล้ว ไม่ว่าองค์กรจะอยู่ในอุตสาหกรรมเทคโนโลยีหรือไม่ บริษัทนั้นก็มักจะใช้แอพฯ จำนวนมากในการปฏิบัติงาน และสตาร์ทอัพบางส่วนก็รู้ถึงปัญหานี้ อย่าง Gmelius ที่รวมเอาแอพฯ ทำงานจำนวนมากเข้ามาอยู่ใน Gmail

6.ทุกคนล้วนมองหารายได้เสริม สตาร์ทอัพตระหนักดีว่าผู้คนยุคนี้ต่างมองหารายได้เสริม และสร้างแพลตฟอร์มเพื่อโยงคนหางานเข้ากับงานฟรีแลนซ์ เช่น GitStart สร้างเครือข่ายเพื่อให้โปรแกรมเมอร์สามารถหางานโค้ดดิ้งเล็กๆ ทำนอกเวลาได้

ส่วน Beacons AI สร้างแพลตฟอร์มชำระเงินให้อินฟลูเอนเซอร์ที่ต้องการทำเงินเพิ่มจากการผลิตวิดีโอ custom-made เพื่อตอบกลับแฟนๆ ที่ติดตามอยู่ กระทั่งโอกาสหารายได้เสริมของคุณหมอก็มี ผ่านสตาร์ทอัพ DirectShifts เพื่อช่วยคุณหมอหางานแบบสัญญาจ้าง

ขณะที่สตาร์ทอัพหลายแห่ง pitch คอนเซปท์ที่ดีไซน์มาเพื่อแก้ปัญหาให้กับโลกการทำงาน ยังมีอีกหลายแห่งที่พยายามแก้ปัญหาความสุขส่วนบุคคล เช่น Stoic แอพฯ ที่ใช้ติดตามอารมณ์ความรู้สึก หรือ Monaru ผู้ช่วยส่วนตัวในความสัมพันธ์

ดังนั้นปัญหาต่างๆ จึงไม่เคยมีคำว่าเล็กเกินไปหรือใหญ่เกินไป สำหรับสตาร์ทอัพใน Y Combinator Demo Day ที่มักจะ pitch ไอเดียของตนเองสู่โลกใบนี้ด้วยแพสชันและความกระตือรือร้นอยู่เสมอ

 
ไม่พลาดเรื่องราวน่าสนใจอื่นๆ ของเรา ติดตามเราได้ที่ เพจเฟซบุ๊ก Forbes Thailand Magazine