Tencent เผยผลประกอบการไตรมาส 2/62 กำไรพุ่ง 35% หลังธุรกิจ เกมมือถือ ฟื้นชีพ แต่ธุรกิจโฆษณาเติบโตชะลอตัว ผลกระทบจากคู่แข่งเพิ่มจำนวน
Tencent ยักษ์ใหญ่แห่งวงการเทคโนโลยีจากประเทศจีน เปิดเผยถึงผลประกอบการไตรมาส 2/2562 ว่า หลังจากธุรกิจ เกมมือถือ ฟื้นคืนจากการถูกแช่แข็งจากภาครัฐ ส่งผลให้ผลประกอบการไตรมาสนี้กลับมาแข็งแกร่งอีกครั้ง อย่างไรก็ตาม บริษัทยังต้องเผชิญกับสิ่งแวดล้อมที่ท้าทายในช่วงครึ่งปีหลัง
บริษัทเทคโนโลยีจาก Shenzhen รายนี้รายงานว่า ไตรมาส 2 ของปี 2562 บริษัทมีกำไรสุทธิเพิ่มขึ้น 35% มาอยู่ที่ 2.41 หมื่นล้านหยวน (ราว 3.4 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ) ขณะที่รายได้ไตรมาสนี้อยู่ที่ 8.88 หมื่นล้านหยวน เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวปีก่อน 21%
“ในภาพรวม เรามีความสุขมากจากการฟื้นตัวของรายได้จาก เกมมือถือ” James Mitchell ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายกลยุทธ์ Tencent Holdings กล่าว
สำหรับรายได้จากเกมมือถือของ Tencent ในไตรมาส 2 เพิ่มขึ้น 26% มาสู่ 2.22 หมื่นล้านหยวน ซึ่งนับเป็นการเติบโตที่เร็วที่สุดตั้งแต่ต้นปีก่อน หลังจากบริษัทที่จดทะเบียนในฮ่องกงต่างได้รับผลกระทบอย่างหนักจากกฎระเบียบที่ทำให้การอนุมัติเกมใหม่ต้องล่าช้าไปถึง 9 เดือน โดย Tencent ต้องมาเปิดตัวเกมใหม่ถึง 10 เกมในไตรมาสสองที่ผ่านมา
ขณะที่เกมการแข่งขัน Peacekeeper Elite ของบริษัท ได้ดึงดูดผู้ใช้งานมากกว่า 50 ล้านคน/วัน นับตั้งแต่เปิดตัวในเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา และคาดว่าจะช่วยหนุนรายได้ให้กับ Tencent ในไตรมาสถัดไปได้
อย่างไรก็ตาม ธุรกิจโฆษณาออนไลน์ของ Tencent กลับมีการเติบโตที่ชะลอตัวลง โดยมีการเติบโต 16% ลดลงจากช่วงเดียวกันปีก่อนที่มีเติบโต 39%
ทั้งนี้ ตลาดโฆษณาออนไลน์ในประเทศจีนมีการเติบโตชะลอตัวลง โดย eMarketer คาดการณ์ว่าเม็ดเงินโฆษณาดิจิทัลในประเทศที่มีเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับสองของโลกอย่างจีนจะแตะ 7.982 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐฯ ในปี 2562 เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 22% แต่น้อยกว่าการเติบโตของปีก่อนที่อยู่ที่ 28%
ขณะที่ Tencent ระบุว่าเป็นผลมาจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจในวงกว้าง และสภาพแวดล้อมที่ยากลำบากต่อธุรกิจโฆษณา
“สถาพแวดล้อมระดับมหภาคที่ท้าทาย และจำนวนผู้ให้บริการวิดีโอสั้นที่เพิ่มขึ้น เราคาดว่าผลกระทบเชิงลบจากสภาพแวดล้อมของธุรกิจในปัจจุบัน จะยังส่งผลต่อเนื่องจนถึงครึ่งปีหลังของปี 2562” Tencent ระบุในจดหมายข่าวแถลงผลประกอบการ
ด้าน Mitchell ระบุว่า บริษัทคาดว่าสภาพแวดล้อมระดับมหภาคนั้นยังคงยากต่อธุรกิจในช่วงเวลาที่เหลือของปีนี้ และต่อเนื่องไปจนถึงปีหน้า
โดย Tencent กำลังเผชิญกับการแข่งขันที่เพิ่มขึ้นจากคู่แข่งอย่าง ByteDance และแอพพลิเคชั่นวิดีโอสั้นอย่าง TikTok และ Douyin ซึ่งเป็นที่ชื่นชอบของนักโฆษณาในจีนและเอเชีย ส่งผลกระทบต่อแอพพลิเคชั่นโซเชียลเน็ตเวิร์กของ Tencent อย่าง WeChat
Tencent ระบุว่า บริษัทได้ปรับโครงสร้างการดำเนินงานอย่างต่อเนื่องเพื่อพัฒนาแหล่งรายได้ใหม่ เนื่องจากธุรกิจเดิมที่มีอยู่ได้รับแรงกดดันจากการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศที่ชะลอตัว โดยให้ความสนใจไปที่ธุรกิจใหม่อย่างซอฟต์แวร์ระดับองค์กร, เทคโนโลยีด้านการเงิน, เทคโนโลยีด้านการศึกษา และเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพ
ทั้งนี้ บิ๊กวงการเทคโนโลยีบริษัทนี้ร่วมก่อตั้งขึ้นโดย Pony Ma Huateng ในปี 1998 ซึ่งปัจจุบันเขาถือเป็นมหาเศรษฐีที่มั่งคั่งที่สุดในประเทศจีนจากการจัดอันดับ Forbes Real-time Billionairs List โดยทรัพย์สินสุทธิของ Ma รวมแล้วมีมูลค่า 3.73 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ ขณะที่ Martin Lau ผู้ดำรงตำแหน่งประธานบริษัท Tencent มีมูลค่าทรัพย์สินรวม 1.8 พันล้านเหรียญสหรัฐ
ที่มา แปลและเรียบเรียงโดย กนกวรรณ มากเมฆ / Online Content Creator