เมื่อรัฐบาลจีนสั่งเหยียบเบรก นักพัฒนาเกมทั้งรายใหญ่รายย่อยในภาคธุรกิจระดับพรีเมียร์ของจีนจึงตกที่นั่งลำบาก
Jim Lee เป็นผู้คร่ำหวอดในวงการวิดีโอเกมของจีน ผู้ประกอบการวัย 40 ปีรายนี้เคยทำงานให้บริษัท Electronic Arts ของอเมริกา โดยเป็นผู้จัดการทั่วไปของส่วนงานในจีน จนกระทั่งเมื่อปี 2014 เขาก็ลาออกจากงานรายได้ดีที่ EA เพื่อมาเปิดสตูดิโอพัฒนาเกมของเขาเองใน Beijing และเมื่อตลาดเกมออนไลน์ของจีนเฟื่องฟู บริษัทของ Lee ซึ่งดำเนิน "ธุรกิจเกม" ก็ขยายตัวอย่างรวดเร็ว โดยมีรายได้เพิ่มขึ้น 100% ในปี 2017
แต่หลังจากจีนสั่งระงับการออกใบอนุญาตสำหรับเกมที่กำลังจะออกใหม่และเกมที่ออกจำหน่ายแล้วส่วนหนึ่งตั้งแต่เดือนมีนาคม ธุรกิจของ Lee ก็ต้องเจอกับสถานการณ์ยุ่งยาก
จีนซึ่งมีระบบการควบคุมดูแลธุรกิจคลุมเครือมาก สั่งระงับใบอนุญาตเกมโดยอ้างว่าเพื่อรอการปรับโครงสร้างองค์กรของหน่วยงานรัฐบาล 2 แห่งที่รับผิดชอบกระบวนการออกใบอนุญาต แต่นักวิเคราะห์กล่าวว่า เจตนาที่แท้จริงของรัฐบาลจีนคือ ต้องการลดจำนวนเงินและเวลาที่ชาวจีนใช้ไปกับเกมออนไลน์ โดยหน่วยงานรัฐกำลังร่างมาตรการควบคุมที่เข้มงวดขึ้นกว่าเดิมมาก
ทั้งนี้ วงการเกมของจีนมีขนาดใหญ่ที่สุดในโลก และคาดว่าจะสร้างรายได้ถึง 3.8 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐฯ จากยอดขายในประเทศภายในสิ้นปี
ทุกวันนี้ สตูดิโอเล็กๆ อย่างบริษัทของ Lee จึงต้องวิ่งวุ่นหาทางออก และบริษัทผู้พัฒนาเกมขนาดกลางต้องปลดพนักงานออกเพื่อชดเชยกับกำไรที่หายไป ส่วนมูลค่าหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ของบริษัทขนาดใหญ่อย่าง Tencent และ NetEase ก็หายไปหลายแสนล้านเหรียญ เนื่องจากมีสัญญาณเตือนว่าการเติบโตของธุรกิจจะช้าลงมาก
Tencent ซึ่งครั้งหนึ่งเคยได้ชื่อว่าเป็นแชมเปี้ยนด้านเทคโนโลยีของชาติ ตอนนี้กลับเหมือนถูกน้ำร้อนลวก เมื่อสื่อของรัฐเล็งเป้าเล่นงานเกมมือถือตัวเด่นของบริษัทอย่าง Honor of Kings ว่าเป็นตัวการทำให้เยาวชนเสพติดเกมออนไลน์ จนบริษัทต้องวางระบบเพื่อตรวจสอบตัวตนของผู้เล่นและจำกัดเวลาเล่นเกมของผู้เล่นที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะให้เหลือแค่วันละ 2 ชั่วโมง และเมื่อเดือนสิงหาคม หน่วยงานรัฐก็ยังประกาศเจตนาอีกว่าจะจำกัดจำนวนเกมออนไลน์ทั้งหมด โดยถือเป็นส่วนหนึ่งของแผนพัฒนาชาติ เพื่อต่อสู้กับปัญหาโรคสายตาสั้นที่เพิ่มขึ้น เนื่องจากการจ้องจอภาพมากเกินไป
แม้รัฐบาลไม่ได้อธิบายว่าจะมีวิธีการจำกัดจำนวนเกมอย่างไร แต่นักวิเคราะห์กล่าวว่า ในที่สุดจำนวนเกมที่หมุนเวียนอยู่ในตลาดอาจจะลดลงครึ่งหนึ่ง ทั้งนี้ Cui Chenyu นักวิเคราะห์ของบริษัทวิจัย IHS Markit กล่าวว่า ปัจจุบันยังมีเกมที่คั่งค้างรอการตรวจสอบตามข้อบังคับของรัฐอยู่อีกถึง 7,000 เกม
ธุรกิจเกม คิดเป็นประมาณครึ่งหนึ่งจากรายได้ทางเว็บทั้งหมดของ Tencent และบริษัทก็กำลังปรับปรุงระบบต่อต้านการเสพติดเกม โดยเมื่อปลายเดือนพฤศจิกายน บริษัทบังคับให้ผู้เล่นส่วนหนึ่งต้องเข้าระบบตรวจสอบใบหน้าก่อนจะล็อกอินเข้าเล่นเกม Honor of Kings ได้
Tencent ยังคงเดินหน้าทำธุรกิจเกมต่อไปด้วยการพัฒนาเกมในต่างประเทศ รวมถึงยังเค้นเอารายได้เพิ่มเติมมาจากสายธุรกิจใหม่ๆ เช่น วิดีโอสตรีมมิ่ง และการประมวลผลผ่านระบบคลาวด์ อย่างไรก็ตาม เงินลงทุนจำนวนมากที่ต้องใช้ในสายธุรกิจเหล่านี้อาจกดอัตรากำไรของบริษัทซึ่งครั้งหนึ่งเคยสูงมากให้ลดลง
ขณะเดียวกัน ความเสี่ยงก็ก่อตัวขึ้นกับคู่แข่งอย่าง NetEase ซึ่งทำธุรกิจเว็บในจีนเช่นกัน แต่ NetEase เน้นธุรกิจเกมยิ่งกว่า Tencent และเมื่อเดือนพฤศจิกายน บริษัทเพิ่งจะเซ็นสัญญากับ Blizzard Entertainment ซึ่งเป็นบริษัทพัฒนาเกมสัญชาติอเมริกัน เพื่อสร้างเกมเวอร์ชั่นมือถือสำหรับแฟรนไชส์ยอดฮิตบนเครื่องเดสก์ท็อปอย่าง Diablo
Wijman จาก Newzoo กล่าวว่า ถ้าจีนยังไม่กลับมาออกใบอนุญาตเกมต่อ เรื่องนี้ก็จะกลายเป็น “ปัญหาใหญ่มหึมา” สำหรับทั้งสองบริษัท เนื่องจากเกมมือถือคือเกมที่ออกแบบมาเพื่อตลาดจีนตั้งแต่แรก ช่วงที่ผ่านมาของปีนี้มูลค่าหุ้นในตลาดของ NetEase ตกไป 32% และบริษัทก็พยายามผลักดันธุรกิจอี-คอมเมิร์ซกับเปิดตัวเกมใหม่ๆ เพิ่มขึ้นในตลาดต่างประเทศเพื่อชดเชยมูลค่าส่วนที่หายไปผลเสียจากเรื่องนี้ลามไปถึงการหาเงินทุนของเหล่าสตาร์ทอัพด้วย โดย Song ผู้ประกอบการหนุ่มซึ่งยอมเปิดเผยเฉพาะนามสกุลและมีบริษัทซอฟท์แวร์ใน Shenzhen ที่พัฒนาเกมในฟอร์แมตอื่นเพื่อเสริมกับเกมตัวหลัก ให้สัมภาษณ์ว่า ที่ผ่านมารายได้ของบริษัทลดลงไป 1 ใน 3 และสตาร์ทอัพของเขาก็มีโปรเจกต์ให้ทำน้อยลงทุกที
ส่วน Hu Bin หุ้นส่วนของบริษัทเพื่อการลงทุนในจีน Qiming Venture Partners กล่าวว่า เขาต้องระมัดระวังมากขึ้นและลงทุนในภาคธุรกิจเกมน้อยลง
อย่างไรก็ตาม วงการนี้ยังเป็นสายงานของนักผจญภัย “ผมมั่นใจว่าคนในวงการหาทางออกกันได้” Lee จาก Elevation Point Entertainment กล่าว “อุตสาหกรรมเกมไม่โดนฆ่าทีเดียวทั้งวงการแน่ แต่ตอนนี้เป็นฤดูหนาวสำหรับเรา และบริษัทต่างๆ ก็จะ (ปรับตัว) อย่างดีที่สุดเพื่อให้อยู่รอด”
เรื่อง : Yue Wang เรียบเรียง : ธรรดร โสตถิอำรุงคลิกเพื่ออ่านฉบับเต็ม “เกมดับ” ได้ที่ นิตยสาร Forbes Thailand ฉบับ เมษายน 2562 ในรูปแบบ e-Magazine