ภาพฝัน "สมาร์ท ซิตี้" ของไทย ชีวิตในเมืองอัจฉริยะ - Forbes Thailand

ภาพฝัน "สมาร์ท ซิตี้" ของไทย ชีวิตในเมืองอัจฉริยะ

สารพัดคำใหม่ที่เราเริ่มได้ยินหนาหูในระยะหลัง หนึ่งในนั้นคือ ‘สมาร์ท ซิตี้’ หรือ‘เมืองอัจฉริยะ’ ที่ประเทศไทยประกาศนโยบายผลักดันให้เกิดขึ้นผ่านการตั้งคณะกรรมการขับเคลื่อนฯ เมื่อช่วงต้นปี 2561 แต่สมาร์ท ซิตี้ที่ว่านั้นเป็นอย่างไร และหลังจากขับเคลื่อนกันมาเกือบ 3 ไตรมาส เรามีอะไรที่คืบหน้าไปสู่เป้าหมายบ้าง

สมาร์ท ซิตี้ เป็นแนวทางพัฒนาเมืองที่หลายเมืองเริ่มต้นไปแล้วหลายปีก่อนหน้า โดยปี 2561 นี้มีสถาบันที่วัดดัชนีเกี่ยวกับความเป็นเมืองอัจฉริยะคือ IESE Business School ในสเปนทำการศึกษาปัจจัยที่เกี่ยวข้องและสรุปว่า New York สหรัฐอเมริกาคือเมืองอัจฉริยะที่ดีที่สุดในโลก เฉือนชนะ London ประเทศอังกฤษ แชมป์เก่าไปได้   

ชีวิตในเมืองอัจฉริยะรอบโลก

สิ่งที่ New York พุ่งเป้าพัฒนาอย่างเข้มข้นคือเรื่องของการประหยัดทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม ด้วยความเป็นเมืองใหญ่ที่มีประชากรกว่า 8.5 ล้านคน สิ่งเหล่านี้จึงเป็นเรื่องจำเป็น  New York Government ตัดสินใจปูพรมติดตั้งมิเตอร์น้ำอัจฉริยะที่รับส่งสัญญาณวิทยุได้ให้กับอสังหาฯ 8 แสนแห่ง ซึ่งอุปกรณ์นี้สามารถเชื่อมต่อกับแอพพลิเคชั่นบนมือถือของผู้อยู่อาศัยและตรวจสอบข้อมูลได้ 4 ครั้งต่อวัน ฟังดูเหมือนเกินความจำเป็น แต่จริงๆ แล้วอสังหาฯ นั้นมักจะมีปัญหาน้ำรั่วโดยไม่รู้ตัว แถม New York ยังออกข้อบังคับควบคุมอาคารให้นำน้ำฝนกลับมาใช้ใหม่ในอัตราที่กำหนดด้วย New York ยังใช้เทคโนโลยีกับการจัดการขยะ เมืองนี้มีถังขยะอัจฉริยะชื่อ The BigBelly ที่ติดตั้งเซ็นเซอร์ตรวจจับปริมาณขยะในถัง เพื่อนำข้อมูลมาบริหารจัดการรอบเวลาและเส้นทางการเก็บขยะอย่างมีประสิทธิภาพ ลดการออกรถไปเก็บขยะทั้งที่ขยะยังไม่เต็มถังซึ่งทำให้สิ้นเปลืองพลังงาน ขณะเดียวกันก็ไม่เก็บน้อยเกินไปจนทำให้ถังขยะล้น
The BigBelly ถังขยะติดตั้งเซ็นเซอร์แสดงปริมาณขยะที่ส่งข้อมูลออนไลน์ไปยังแพลตฟอร์มบริหารจัดการได้ (photo credit: greenwheaton.org)
ในขณะที่ สิงคโปร์ เมืองอัจฉริยะอันดับ 6 ของโลกโดย IESE Business School เน้นพัฒนาการขนส่งที่สะดวกสบาย ผ่านแอพพลิเคชั่น MyTransport.SG ที่บอกเส้นทางเดินรถและตารางเดินรถไว้ทั้งหมด ขนส่งมวลชนที่ตรงเวลาทำให้คนเมืองวางแผนชีวิตได้ง่ายและประหยัดเวลา ส่วนก้าวต่อไปของสิงคโปร์คือการใช้เทคโนโลยีรองรับสังคมผู้สูงอายุของประเทศ ด้วยแอพพลิเคชั่นที่เกี่ยวกับสุขภาพจำนวนมาก และมองไปถึงยานยนต์ไร้คนขับแล้วเพื่อให้ผู้สูงอายุเดินทางสะดวก อีกหนึ่งเมืองอัจฉริยะ Reykjavik เมืองหลวงของไอซ์แลนด์ กระโดดขึ้นมาเป็นอันดับ 5 ของทำเนียบ โดยรัฐได้สร้างโครงสร้างพื้นฐานของการติดต่อสื่อสารอย่างการวางสายไฟเบอร์โครงข่ายอินเทอร์เน็ตครอบคลุมครัวเรือน 100% ด้วยความเร็วสูงถึง 500 เมกะบิตต่อวินาที และมีนโยบายลดใช้พลังงานโดยกระตุ้นให้ประชาชนใช้รถเมล์มากขึ้น ผ่านแอพพลิเคชั่น Straeto ที่ช่วยคำนวณหาเส้นทางรถเมล์ที่ดีที่สุดที่ควรใช้ นอกจากนั้นยังร่วมมือกับบริษัท Zipcar และ ON Power เพื่อสนับสนุนแอพฯ ร่วมเดินทาง (Ride Sharing) ลดการใช้รถยนต์ส่วนตัวบนท้องถนน  

สมาร์ท ซิตี้ คืออะไรกันแน่?

จากตัวอย่างเมืองอัจฉริยะทั้งหมดจะเห็นได้ว่าแต่ละเมืองไม่ได้เดินตามแผนเดียวกันแบบก้าวต่อก้าว แต่ยังมีพื้นฐานบางอย่างที่คล้ายคลึงกัน โดย ผศ.ดร.นพพร ลีปรีชานนท์ หัวหน้าภาควิชาวิศวกรรมไฟฟ้าและคอมพิวเตอร์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวบนเวที Delta Future Industry Summit 2018 เมื่อวันที่ 18 ก.ย. 61 ว่า สมาร์ท ซิตี้คือเมืองที่ได้รับการบริหารจัดการด้วยนวัตกรรม นวัตกรรมที่นำมาปรับใช้กับเมืองอัจฉริยะจะทำให้เมืองมีประสิทธิภาพขึ้นทุกด้าน ทั้งทางสังคม เศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อม ผังเมืองและการจราจรเป็นหนึ่งในปัจจัยที่เมืองควรพัฒนาเพื่อให้เป็น สมาร์ท ซิตี้ที่มีประสิทธิภาพ ยกตัวอย่างการจัดการ เช่น Barcelona ประเทศสเปน อ่านเรื่องผังเมือง The Eixample ได้ใน Instragram@forbesthailand ด้านบน เมื่อลงลึกไปในการจัดการโครงสร้างพื้นฐานเพื่อให้เมืองมีประสิทธิภาพ รัฐจึงต้องจัดการวางโครงสร้างสาธารณูปโภคจำเป็นให้ครอบคลุมทั่วทั้งเมือง ไม่ว่าจะเป็นประปา ไฟฟ้า การจัดจราจร การจัดการขยะ ไฟทางสาธารณะ ระบบสื่อสาร ฯลฯ  และเมื่อต้องบริหารให้มีประสิทธิภาพก็จะต้องรู้ข้อมูลเพื่อนำมาวิเคราะห์ได้ทันท่วงที เป็นที่มาของเทคโนโลยี Big Data ที่มักจะนำมาปรับใช้กับเมืองอัจฉริยะ นำไปสู่การพัฒนาอุปกรณ์ IoT (Internet of Things) ใช้ในเมืองเพื่อเป็นจุดเชื่อมโยงส่งต่อข้อมูลให้ผู้บริหารเมือง  

ประเทศไทยอยู่ตรงไหนในทำเนียบเมืองอัจฉริยะ

แน่นอนว่าในทำเนียบ 50 อันดับสมาร์ท ซิตี้ของ IESE Business School นั้นยังไม่มีเมืองไหนของไทยที่ติดอันดับ แต่ไม่ใช่ว่าเรายังไม่ได้ทำอะไร เพราะประเทศไทยมีการจัดตั้งคณะกรรมการขับเคลื่อนการพัฒนาเมืองอัจฉริยะ มี พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง เป็นประธาน และให้นิยามของเมืองอัจฉริยะแบบไทยมาแล้วว่า เป็นเมืองที่ “ใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีดิจิทัลหรือนวัตกรรมที่ทันสมัยและชาญฉลาดในการเพิ่มประสิทธิภาพการให้บริการ การบริหารจัดการเมือง การลดค่าใช้จ่ายและการใช้ทรัพยากร” พันธ์ศักดิ์ ศิริรัชตพงษ์ ผู้ช่วยรัฐมนตรี กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม กล่าวบนเวที Delta Future Industry Summit 2018 ว่า โครงการเมืองอัจฉริยะเป็นโครงการหนึ่งในนโยบาย Thailand 4.0  โดยรัฐแบ่งการพัฒนาเมืองอัจฉริยะออกเป็น 6 ส่วน คือ ด้านเศรษฐกิจ ระบบขนส่งและสื่อสาร พลังงานและสิ่งแวดล้อม ระบบบริหารภาครัฐ พลเมือง และการดำรงชีวิต ซึ่งไม่จำเป็นว่าในเมืองต้องพัฒนา 6 ส่วนพร้อมกัน แต่ควรจะเลือกจุดสำคัญที่ต้องการพัฒนาก่อน โดยมาจากความเห็นของคนในชุมชน “คนในชุมชนต้องมีส่วนร่วม เขาต้องเป็นคนบอกว่าชุมชนเขาต้องการพัฒนาอะไรก่อน และในเรื่องการปฏิบัติ เราอยากเห็นบริษัทยักษ์ใหญ่ไปจนถึงสตาร์ทอัพมาช่วยกันพัฒนานวัตกรรมให้เกิดขึ้น” พันธ์ศักดิ์ชี้วิสัยทัศน์ของรัฐบาล  

เริ่มที่ 7 เมืองใหญ่ ปลายทางคือ 77 จังหวัด

ปัจจุบันรัฐได้ส่งเสริมจังหวัดนำร่องเมืองอัจฉริยะแห่งแรกที่ จ.ภูเก็ต ซึ่งจังหวัดนี้เลือกที่จะมุ่งเป้าพัฒนาไปที่การท่องเที่ยวอันเป็นหัวใจหลักของเศรษฐกิจก่อน  มนต์ทวี หงษ์หยก กรรมการบริหาร บริษัท ภูเก็ตพัฒนาเมือง จำกัด หนึ่งในหัวเรี่ยวหัวแรงจากภาคเอกชนที่มีส่วนร่วมกับโครงการเมืองอัจฉริยะของภูเก็ต กล่าวว่า ภูเก็ตมีความคืบหน้าไปมาก ผ่านการดำเนินการของสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (DEPA) ที่เร่งติดตั้ง Wi-Fi สาธารณะฟรีทั่วเมือง 1,000 จุดเรียบร้อยแล้ว  ส่วนภูเก็ตพัฒนาเมืองได้ผลักดันให้เกิด Phuket Smart Bus รถประจำทางเส้นทางวิ่งสนามบินภูเก็ต-หาดราไวย์ จำนวนรถ 10 คัน ซึ่งช่วยแก้ปัญหาให้นักท่องเที่ยวในการเดินทาง หลังจากดำเนินการมากว่า 7 เดือนได้รับผลตอบรับที่ดี และบริษัทกำลังพิจารณาจะเพิ่มเส้นทางใหม่ๆ 
ภูเก็ต สมาร์ท บัส เส้นทางวิ่งสนามบินภูเก็ต-หาดราไวย์ ติดตั้ง Wi-Fi ฟรี ช่อง USB สำหรับชาร์จอุปกรณ์ไฟฟ้า ชำระเงินด้วยบัตรแรบบิท การ์ด บริการทุก 30-45 นาที ตั้งแต่เวลา 06.00-20.00น. ค่าโดยสาร 50-170 บาท (photo credit: khaophuket.com)
นอกจากนี้บริษัทยังมีความร่วมมือกับ แรบบิท การ์ด เพื่อดึงดูดให้ร้านค้าในเมืองภูเก็ตติดตั้งเครื่องรับแรบบิท การ์ดในร้าน มีเป้าหมายเพื่อส่งเสริมการชำระเงินแบบไร้เงินสดในจังหวัด “เรายังกำลังจัดทำข้อมูลต่างๆ เพื่อจะเป็นฐานข้อมูลระดับ Big Data ใช้สำหรับวิเคราะห์ในอนาคต เช่น รวบรวมภาพถ่ายทางอากาศเพื่อศึกษาจัดทำ Master Plan ระบบขนส่งสาธารณะทั้งจังหวัด โดยเราร่วมกับพันธมิตรหลายฝ่ายมาก เช่น สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ มหาวิทยาลัยมหิดล เป็นต้น” มนต์ทวีกล่าว ผู้ช่วยรัฐมนตรี พันธ์ศักดิ์ ยังกล่าวด้วยว่า ล่าสุดโครงการเมืองอัจฉริยะนำร่องได้ขยายออกไปอีก 6 จังหวัด ได้แก่ เชียงใหม่ ขอนแก่น กรุงเทพฯ ฉะเชิงเทรา ชลบุรี และระยอง (3 เมืองหลังคือจังหวัดในโครงการระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก หรือ EEC) และยังประกาศว่ารัฐมีเป้าหมายจะให้ทั้ง 77 จังหวัดของไทยเป็สมาร์ท ซิตี้ภายใน 5 ปี นับเป็นเป้าหมายที่ท้าทายอย่างยิ่งที่จะรวมทุกองคาพยพให้ขับเคลื่อนไปในทิศทางของสมาร์ท ซิตี้ภายในกรอบระยะเวลาอันจำกัดเช่นนี้   ที่มา