ทำไมการมีผู้นำร่วม (Co-leader) จึงเป็นกลยุทธ์ใหม่เพื่อการเติบโตของบริษัท - Forbes Thailand

ทำไมการมีผู้นำร่วม (Co-leader) จึงเป็นกลยุทธ์ใหม่เพื่อการเติบโตของบริษัท

คู่หูที่เต็มไปด้วยพลังแฝงตัวอยู่ทุกๆ ที่ ในวัฒนธรรมร่วมสมัย ในประวัติศาสตร์ หรือบนจอภาพยนตร์ คู่หูบางคู่ อย่าง Batman กับ Robin มีศักยภาพพอที่จะเปลี่ยนโลก ขณะที่บางคู่ เช่น Jekyll กับ Hyde กลายเป็นส่วนผสมแห่งหายนะ สิ่งเหล่านี้ไม่ต่างกันเมื่ออยู่ในธุรกิจ พันธมิตรที่ผิดสามารถทำให้คุณล่มจม แต่คู่ที่ถูกต้องจะเหมือนกับมนตร์วิเศษ

(แปลและเรียบเรียงบางส่วนจากบทความโดย Brian Scudamore ผู้ก่อตั้งและซีอีโอบริษัท O2E Brands บริษัทแม่ของธุรกิจบริการเกี่ยวกับที่พักอาศัย เช่น กำจัดขยะ ทาสีบ้าน ขนย้าย ทำความสะอาดบ้าน ในแคนาดา)

หลังจากที่ผมก่อตั้งบริษัทมาแล้ว 4 แห่ง ผมได้เรียนรู้ว่ามันเป็นไปไม่ได้ที่จะทำทุกอย่างด้วยตนเอง (และยิ่งยากขึ้นไปอีกที่จะเก่งไปทุกเรื่อง) ความเป็นผู้นำที่แข็งแกร่งคือการตระหนักรู้และยอมรับจุดอ่อนของคุณเอง และหาใครสักคนมาเติมเต็มช่องว่างนั้น ทุกวันนี้ผมบริหารกิจการของตัวเองเคียงบ่าเคียงไหล่กับ Erik Church ซีโอโอของเรา แต่การบริหารของผมไม่ได้เป็นอย่างนี้มาตั้งแต่ต้น ตลอด 20 ปีที่ผ่านมา ผมเป็นผู้กุมอำนาจอยู่เสมอและกลัวที่จะเสียการควบคุม ผมเองเคยมีพันธมิตรร่วมบริหารที่ไม่ประสบความสำเร็จเท่าไหร่นักสองสามครั้ง และเป็นสิ่งที่ฉุดรั้งไม่ให้บริษัทดำเนินงานได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ เมื่อผมเริ่มมีภาวะวิตกกังวลจากการทำงานมากเกินไป ผมจำต้องยอมรับความจริงว่า ผมอยู่ในจุดที่หลังพิงฝาแล้ว และไม่อาจเพิกเฉยต่อข้อจำกัดของตัวเองได้อีกต่อไป การมีผู้นำร่วม (co-leading) ได้รับการพิสูจน์มาแล้วหลายครั้งว่าสามารถเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานได้จริง และยังลดการตัดสินใจที่ผิดพลาด รวมถึงลดความเครียดของผู้นำองค์กร โมเดลการบริหารโดยใช้คนสองคนร่วมกันยังทำให้ความคิดสร้างสรรค์และนวัตกรรมเพิ่มขึ้นเท่าตัวด้วย  

สองหัวดีกว่าหัวเดียวจริงหรือ?

ไม่ได้หมายความว่า ถ้าคุณทำงานด้วยตัวคนเดียวแล้วคุณจะต้องล้มเหลว การมีผู้นำสูงสุดคนเดียวประสบความสำเร็จมามากมายตลอดหลายศตวรรษ แต่ถ้าหากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับ Uber เมื่อเร็วๆ นี้เป็นตัวชี้วัดได้ละก็ เหตุการณ์นั้นกำลังบอกว่า การมีผู้นำคนเดียวจะทำให้โอกาสประสบความสำเร็จในระยะยาวลดน้อยลง
อ่านเพิ่มเติม: หรือซีอีโอ Uber จะโยนความเป็นผู้ประกอบการและ 'ระบบเศรษฐกิจแบ่งปัน' ทิ้งไปแล้ว?
Travis Kalanick ผู้ก่อตั้ง Uber เลือกที่จะบริหารงานอย่างโดดเดี่ยว ปฏิเสธการแบ่งอำนาจควบคุมให้ผู้อื่น และไม่จัดโครงสร้างการบริหาร เมื่อเขาไม่มีมือขวามาช่วย การตัดสินใจที่ผิดพลาดอย่างรุนแรงส่งให้เขาถึงขั้นถูกเตะออกจากบริษัทของตัวเอง หลายคนถามผมว่า ทำอย่างไรผมถึงค้นพบผู้นำร่วม (Co-leader) ที่สมบูรณ์แบบอย่าง Erik คำตอบหรือครับ? วิธีการนั้นคือ...ผมรู้สิ่งที่ผมต้องการอย่างชัดเจน ผมให้เวลากับการทำความเข้าใจจุดอ่อนและจุดแข็งของตนเองโดยการเขียนลิสต์ขึ้นมา 2 ชิ้น ลิสต์แรกคือสิ่งที่ผมเชี่ยวชาญ และลิสต์ที่สองคือสิ่งที่ผมต้องการความช่วยเหลือ จากนั้นผมจึงตามหาคนที่มีความสามารถมาเติมเต็มในส่วนที่ขาด แต่การตามหาหยินให้กับหยางก็ไม่ใช่เรื่องง่าย การหาผู้นำร่วมไม่ใช่แค่การว่าจ้างคนทำงานที่มีคุณสมบัติตรงตามมาตรฐาน คุณยังต้องตามหาคนที่มีบุคลิกภาพ คุณธรรม และวัฒนธรรมที่เข้ากับตัวคุณเหมือนคู่เต้นรำที่เข้าจังหวะกัน
อ่านเพิ่มเติม: แนวคิดการบริหารงานแบบ Sheryl Sandberg คู่หูของ Mark Zuckerberg ในสารานุกรมแนวคิดไอคอนธุรกิจผู้ยิ่งใหญ่ที่สุดในโลกปัจจุบัน
ลองนึกถึงเรื่องของ Mark Zuckerberg เขาไล่ Eduardo Saverin ผู้ร่วมก่อตั้ง Facebook ออกจากบริษัท เนื่องจาก Saverin มีการกระทำที่ก้าวร้าวและไม่ต้องการประสานงานกับผู้อื่น ทำให้ Zuckerberg ไม่มีทางเลือก ขณะที่ปัจจุบัน Zuckerberg บริหารบริษัทร่วมกับ Sheryl Sandberg ซีโอโอหญิงที่เขาเคยกล่าวว่า เป็นการตัดสินใจที่ฉลาดที่สุดหนึ่งเดียวที่เขาเคยทำสำหรับธุรกิจนี้  

ทีมเวิร์กก่อร่างเป็นงานในฝัน

ผมเป็นผู้ประกอบการที่มักจะมองหาโอกาสที่ใหญ่กว่าข้างหน้า ผมมีความฝันอันสดใสที่จะประสบความสำเร็จในสิ่งที่ดูเหมือนเป็นไปไม่ได้ แต่หลายต่อหลายครั้ง ผมมักจะไม่มั่นใจในวิธีการไปให้ถึงจุดนั้น Erik คือคนที่วางแผนขั้นตอนการทำงานแต่ละก้าวเพื่อไปให้ถึงความฝันอันบ้าบิ่นของผม เขาสามารถดึงแผนปฏิบัติงานออกมาจากอากาศและพามันลงมาสู่โลกความเป็นจริงได้ วิธีการเป็นผู้นำร่วมกันของเราสองคนสำเร็จได้เพราะเราสามารถแบ่งงานกันทำตามจุดอ่อนและจุดแข็งของแต่ละฝ่าย Erik ดูแลเรื่องกลยุทธ์และแผนปฏิบัติงาน ส่วนผมดูแลวิสัยทัศน์ ภาพใหญ่ขององค์กร และวัฒนธรรมการทำงาน หากเราสองคนขาดอีกคนหนึ่งไปงานเหล่านี้ก็ไม่มีทางสำเร็จ การมีผู้นำสองคนทำให้เรามีพลังสมองสองเท่าในการสร้างธุรกิจที่วิเศษ เมื่อคุณมีผู้นำร่วม คนๆ นั้นควรเป็นคนที่เห็นพ้องกับเป้าหมายของบริษัทอย่างเต็มตัว และคุณต้องเชื่อใจมุมมองของอีกฝ่าย แม้ว่าคุณจะไม่เห็นด้วยในบางเรื่องก็ตาม กรอบความคิดเรื่องทีมเวิร์กนี้ถูกถักทอลงไปในวัฒนธรรมองค์กรของเรา หนึ่งในหลักปฏิบัติของบริษัทคือ “ด้วยการร่วมมือกันเราจะสามารถสร้างสิ่งที่ใหญ่กว่าและดีกว่าการทำคนเดียว” สิ่งนี้เป็นคติประจำใจตั้งแต่ระดับผู้บริหารในสำนักงานใหญ่ไปจนถึงเจ้าหน้าที่ภาคสนาม โชคดีที่บริษัทจำนวนมากขึ้นๆ รับแนวคิดการบริหารร่วมกันไปใช้ในหลายรูปแบบ บางบริษัทมีผู้นำร่วมกันในฐานะซีอีโอกับซีโอโอ (เหมือนบริษัทของเรา) หรือในรูปแบบ “พลังสู่มวลชน” ตามปรัชญา Holacracy (หมายถึงวิธีการทำงานแบบกระจายอำนาจบริหาร จากเดิมที่เป็นลำดับขั้น ไปสู่การที่ทีมงานแต่ละทีมมีอำนาจตัดสินใจเอง – ผู้แปล) ตัวอย่างเช่น การบริหารของบริษัท Zappos ผู้คนเริ่มเห็นแล้วว่า การบริหารธุรกิจไม่สามารถทำได้ด้วยคนๆ เดียว