หรือซีอีโอ Uber จะโยนความเป็นผู้ประกอบการและ 'ระบบเศรษฐกิจแบ่งปัน' ทิ้งไปแล้ว? - Forbes Thailand

หรือซีอีโอ Uber จะโยนความเป็นผู้ประกอบการและ 'ระบบเศรษฐกิจแบ่งปัน' ทิ้งไปแล้ว?

ถ้าคุณอยากเดินทางอย่างรวดเร็วและสะดวกสบายภายในประเทศโซเวียตรัสเซีย คุณต้องใช้วิธีโบกรถขออาศัยโดยสารไปกับคนอื่น (hitchhike) คุณต้องเจรจาต่อรองจุดหมายปลายทางและค่าโดยสารที่จะให้กับคนแปลกหน้าก่อนจะติดรถไปด้วย ในยุคที่ยังไม่มีแท็กซี่สำหรับผู้โดยสาร และเจ้าของรถทั่วไปก็ต้องการเงิน มันจึงกลายเป็นหนทางทำกิจการที่ดีที่สุด และแม้ว่าจะผิดกฎหมาย แต่เจ้าหน้าที่มักจะเมินเฉยต่อการกระทำนี้

3 ทศวรรษผ่านไปอย่างรวดเร็ว ปัจจุบันเรามีธุรกิจอย่าง Uber ในทำนองเดียวกัน กิจการนี้เติมเต็มความต้องการทั้งสองฝ่ายแต่ทำผิดกติกา การปฏิวัติอุตสาหกรรมของ Uber ต้องเผชิญกับปฏิกิริยาโต้กลับที่รุนแรงจากคนขับรถแท็กซี่และกลุ่มผู้บริโภคบางส่วนที่ไม่ต้องการสนับสนุนบริษัทซึ่งพวกเขามองว่าถูกประเมินค่ามากเกินไปและยังดำเนินธุรกิจแบบไม่โปร่งใส แม้ว่าแอพพลิเคชั่น Uber จะได้รับการต้อนรับจากหน่วยงานรัฐในบางพื้นที่ เช่น London, Paris (ท่ามกลางการประท้วงอย่างรุนแรงของคนขับแท็กซี่ฝรั่งเศส) แต่ในอีกหลายเมือง Uber ต้องจ่ายค่าปรับและบางครั้งผู้บริหารระดับสูงของบริษัทถึงขั้นถูกจับกุม  

เมื่อความเป็นผู้ประกอบการของ Uber ถูกตั้งคำถาม

การไม่ยึดกฎกติกาและวัฒนธรรมองค์กรวัยรุ่นทำให้ความเป็นผู้ประกอบการของ Uber ถูกตั้งคำถามไปทั่วโลก ศาลยุติธรรรมสหภาพยุโรปที่ลักเซมเบิร์กจะตัดสินในฤดูร้อนนี้ว่า Uber ควรจะถูกกำหนดให้เป็นธุรกิจขนส่งหรือเป็นธุรกิจบริการด้านดิจิทัล ซึ่งถ้าหากศาลตัดสินให้ Uber เป็นธุรกิจขนส่ง บริษัทจะต้องปฏิบัติตามกฎหมายด้านความปลอดภัยในกลุ่มประเทศยุโรป และถูกบังคับควบคุมแบบเดียวกับแท็กซี่ปกติ
Travis Kalanick ผู้ก่อตั้งและซีอีโอของ Uber
ในห้วงเวลาเช่นนี้ ซีอีโอ Travis Kalanick ของ Uber เพิ่งประกาศ “หยุดพัก” การทำหน้าที่ในบริษัท ทำให้สาธารณชนในยุโรปวิพากษ์วิจารณ์การกระทำดังกล่าว (Travis Kalanick ประกาศพักการทำหน้าที่เมื่อวันที่ 14 มิ.ย.60 เนื่องจากความโศกเศร้าหลังคุณแม่เสียชีวิตเมื่อเดือนก่อน รวมถึงแรงกดดันเรื่องความเป็นผู้นำที่ดีของเขาและวัฒนธรรมองค์กรที่เหยียดเพศ – Forbes Thailand)  

Uber อาจไม่ใช่ระบบเศรษฐกิจแบ่งปัน?

Dr.Giana Eckhardt ศาสตราจารย์ด้านการตลาดที่ Royal Holloway, University of London School of Management พูดโดยไม่อ้อมค้อมถึงสถานการณ์ปัจจุบันของ Uber ว่า “ประเด็นที่ Uber ถูกวิพากษ์วิจารณ์อยู่ขณะนี้ทำให้เห็นชัดเจนว่าสตาร์ทอัพที่ต้องการสร้าง ระบบเศรษฐกิจแบ่งปัน (Sharing Economy) ส่วนใหญ่ กลายเป็นเพียงชมรมนักศึกษาชายที่ต้องการชื่อเสียงและความสนใจ” เธอกล่าว “Uber ถูกกระชากหน้ากากว่าเป็นบริษัทที่โหดเหี้ยม ไร้ความปรานี และเป็นบริษัทที่เพศชายเป็นใหญ่เหมือนๆ กับบริษัทอนุรักษนิยมดั้งเดิม เช่น ธนาคารเพื่อการลงทุน” เธอเชื่อด้วยว่าการสั่นคลอนภายในของ Uber มีแนวโน้มส่งผลเสียต่อธุรกิจแบบระบบเศรษฐกิจแบ่งปันเป็นวงกว้าง “บริษัทที่ใช้ระบบเศรษฐกิจแบ่งปันพยายามสร้างภาพมาตลอดว่า บริษัทของตนเกิดขึ้นเพื่อสร้างชุมชนที่แข็งแกร่งและพัฒนาประสิทธิภาพอย่างยั่งยืนมากกว่ามาเพื่อสร้างผลกำไร แต่ปัจจุบัน ภาพลวงตานี้ได้สิ้นสุดลงแล้ว”
ผู้ร่วมขับ Uber ในประเทศไทยพบเจอปัญหาการต่อต้านจากแท็กซี่ดั้งเดิมเช่นเดียวกับอีกหลายประเทศทั่วโลก ในภาพเป็นเหตุการณ์จากเมืองพัทยา เมื่อคนขับ Uber ถูกคนขับแท็กซี่ยืนขวางหน้ารถ (Photo Credit: Surasak Khukham/Bangkok Post)
ขณะที่ Benita Matofska ผู้เชี่ยวชาญและวิทยากรด้านระบบเศรษฐกิจแบ่งปัน ใน Brighton ประเทศอังกฤษ และผู้ก่อตั้งองค์กรรณรงค์ The People Who Share ตั้งคำถามว่า Uber ควรถูกจัดเป็นระบบเศรษฐกิจแบ่งปันจริงหรือ? “Uber ได้ให้บริการที่มีประสิทธิภาพกับผู้บริโภค แต่ถึงแม้บริษัทจะเติบโตได้ดีก็ไม่ได้หมายความว่าธุรกิจนี้จะสามารถปฏิบัติตัวอย่างไร้ศีลธรรมและขูดรีดผลประโยชน์ได้ แน่นอนว่าบริษัท Uber ไม่ได้เป็นตัวแทนคุณค่าของระบบเศรษฐกิจแบ่งปันซึ่งมีนิยาม คือ กิจการที่ยกผู้คนและโลกเป็นหัวใจของการดำเนินธุรกิจ เมื่อ Uber มีปัญหาการเหยียดเพศและขูดรีดผลประโยชน์ย่อมไม่มีข้อแก้ตัวใดๆ ฉันหวังว่าการหยุดพักทำหน้าที่ของ Travis Kalanick จะเป็นจุดเริ่มต้นของการยกเครื่องบริษัทใหม่” Matofska กล่าว Eckhardt กล่าวเสริมว่า พฤติกรรมเลวร้ายของบริษัทน่าจะมีผลต่อชื่อเสียงของแบรนด์ “หลังจากนี้ระบบเศรษฐกิจแบ่งปันจะไม่สามารถสื่อสารแบรนด์ได้แล้วว่า ตนเป็นแบรนด์เพื่อสิ่งแวดล้อมหรือการพัฒนาชุมชน เพราะผู้บริโภคมีข้อกังขามากเกินกว่าจะปักใจเชื่อ” ถึงแม้ Uber จะถูกแบนโดยสิ้นเชิงในหลายประเทศ เช่น อิตาลี ฮังการี เดนมาร์ก แต่ Uber ก็ยังได้รับความนิยมอย่างสูงใน London, Paris และ Moscow และยังไม่มีท่าทียอมแพ้แม้มีภาพลักษณ์ที่เลวร้ายเพียงใดต่อสาธารณะ และหากมองอีกมุมในทางบวก Uber คือผู้สร้างแรงกระเพื่อมให้เกิดความเปลี่ยนแปลงที่จำเป็นในแท็กซี่ปกติ ที่ Paris บริษัทแท็กซี่ประจำเมืองได้กำหนดราคาเหมาไป/กลับสนามบินในที่สุด และเริ่มต้นให้บริการลักษณะร่วมเดินทางบ้าง นอกจากนี้ Uber ยังตอกย้ำคำถามว่า "อะไรจะเกิดขึ้นเมื่อเราเข้าสู่ยุคปฏิวัติเทคโนโลยี?" ซึ่ง Matofska กล่าวอ้างว่านี่คือการเปลี่ยนแปลงครั้งยิ่งใหญ่ต่อสังคมนับตั้งแต่การปฏิวัติอุตสาหกรรม และกลายเป็นเทรนด์ปฏิวัติธุรกิจที่สำคัญที่สุดเท่าที่เคยเกิดขึ้นบนโลกใบนี้  

แปลและเรียบเรียงบางส่วนจาก Uber’s Problems: Has The CEO Just Trashed Entrepreneurship And The Sharing Economy? โดย Shellie Karabell