หลังจากปี 2018 อันแข็งแกร่งช่วยสร้าง เศรษฐีเกาหลีใต้ เพิ่มขึ้นถึง 45 คนในลิสต์ของเรา ปีนี้สถานการณ์กลับตาลปัตร เมื่อเกาหลีใต้ติดอยู่ระหว่างกลางของสนามรบทางการค้าจีน-สหรัฐฯ บริษัทเกาหลีใต้ที่พึ่งพิงการส่งออกต่างมียอดขายตกต่ำ และส่งผลให้ดัชนีตลาดหุ้นตกลงถึง 14%
จากการจัดอันดับเศรษฐีเกาหลีใต้ประจำปี 2019 ของ Forbes มีเศรษฐี 37 คนจากทั้งหมด 50 คนที่มูลค่าทรัพย์สินของพวกเขาหรือเธอลดลง หากนำสินทรัพย์ของคนรวยทั้ง 50 อันดับมารวมกันจะมีมูลค่ารวม 1.1 แสนล้านเหรียญสหรัฐฯ ซึ่งลดลง 17% จากปีก่อน
เหตุผลหลักมาจากการส่งออกเซมิคอนดัคเตอร์ที่มียอดขายตกต่ำลง โดยเซมิคอนดัคเตอร์เป็นผลิตภัณฑ์หลักที่มีสัดส่วนถึง 1 ใน 5 ของยอดการส่งออกทั้งหมดจากเกาหลีใต้
สถานการณ์นี้ทำให้ความร่ำรวยของมหาเศรษฐีระดับประเทศ 3 คนตกต่ำลง ได้แก่ Lee Kun-hee (อันดับ 1) และ Jay Y. Lee (อันดับ 4) สองพ่อลูกแห่ง Samsung Electronics รวมถึง Chey Tae-won (อันดับ 9) แห่ง SK Hynix
อย่างไรก็ตาม คนที่ได้รับผลกระทบสูงสุดของรอบปีนี้คือ Suh Kyung-bae (อันดับ 6) เจ้าของบริษัท AmorePacific บริษัทเครื่องสำอางที่ใหญ่ที่สุดของเกาหลีใต้ (ผู้ผลิตแบรนด์ที่คนไทยรู้จักดี เช่น Laneige, Innisfree, Etude House, Sulwhasoo เป็นต้น) ยอดขายที่ตกต่ำในประเทศจีนทำให้สินทรัพย์ของ Kyung-bae ดิ่งเหวลงเกือบครึ่งหนึ่ง โดยปีนี้เขามีมูลค่าสินทรัพย์อยู่ 3.5 พันล้านเหรียญ
ในทางกลับกัน เศรษฐีบางคนสามารถหลีกเลี่ยงสถานการณ์ย่ำแย่ไปได้ เช่น Park Yeon-cha (อันดับ 7) แห่ง Taekwang Industrial ซัพพลายเออร์ผู้ผลิตรองเท้ารายใหญ่ให้แบรนด์ Nike มีกำไรสุทธิเพิ่มขึ้นถึง 20% จากอานิสงส์ยอดขายของรองเท้า Nike ที่เพิ่มขึ้น ผนวกกับการตัดสินใจของบริษัทที่เข้าไปลงทุนโรงงานในเวียดนามซึ่งค่าแรงต่ำกว่า
ทั้งนี้ Forbes Thailand ขอนำเสนอทำเนียบ 10 อันดับ เศรษฐีเกาหลีใต้ ประจำปี 2019 ดังนี้
อันดับ 1 Lee Kun-hee บริษัท: Samsung Electronics ประเภทธุรกิจ: หลากหลาย มูลค่าสินทรัพย์: 1.68 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐฯ
ประธานแห่งเครือบริษัทที่ทำธุรกิจหลากหลาย Samsung Group โดยแผนกที่เป็นที่รู้จักมากที่สุดคือธุรกิจเครื่องใช้ไฟฟ้า แต่นอกจากนั้นแล้ว Samsung ยังทำธุรกิจอื่นๆ ด้วย เช่น เสื้อผ้าแฟชั่น สวนสนุก ประกัน
Lee Kun-hee ปัจจุบันอายุ 77 ปี เป็นทายาทรุ่น 2 ของ Lee Byung-Chull ผู้ก่อตั้งบริษัทที่เริ่มต้นสร้างเนื้อสร้างตัวจากการทำธุรกิจเทรดดิ้งและสะสมที่ดิน ทั้งนี้ Kun-hee ประสบภาวะหัวใจวายตั้งแต่ปี 2014 และยังคงอยู่ระหว่างรักษาตัวจนถึงปัจจุบัน
อันดับ 2 Seo Jung-jin บริษัท: Celltrion ประเภทธุรกิจ: ยา มูลค่าสินทรัพย์: 6.5 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ
เขาร่วมก่อตั้งบริษัทนี้เมื่อปี 2002 โดยบริษัทยา Celltrion มุ่งมั่นการผลิตยาสำหรับรักษาโรคมะเร็ง ไข้หวัดใหญ่ รูมาตอยด์ ฯลฯ และนับเป็นหนึ่งในบริษัทที่นักลงทุนตลาดหุ้นเกาหลีใต้จับตามอง
อย่างไรก็ตาม ปีที่ผ่านมาไม่สวยงามนักสำหรับ Seo Jung-jin เนื่องจากการพัฒนายาตัวใหม่ล่าช้าทำให้กำไรสุทธิของบริษัทตกลง ส่งผลต่อเนื่องถึงสินทรัพย์ของเขาที่ลดลงไป 1 ใน 3
อันดับ 3 Kim Jung-ju บริษัท: Nexon ประเภทธุรกิจ: เกมออนไลน์ มูลค่าสินทรัพย์: 6.3 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ
เขาเป็นผู้ก่อตั้งบริษัทเกมออนไลน์ Nexon ผู้พัฒนาเกมดัง เช่น MapleStory ปัจจุบันเขานั่งตำแหน่งประธานกรรมการบริษัท NXC ซึ่งเป็นโฮลดิ้งที่ถือหุ้นใน Nexon และช่วงที่ผ่านมา NXC ยังมีการแตกไลน์ธุรกิจ โดยเข้าถือหุ้น 83% ในบริษัท Korbit ตัวกลางแลกเปลี่ยนเงินตราสกุลเงินคริปโตในเกาหลีใต้
เมื่อปี 2016 Kim Jung-ju เคยถูกข้อกล่าวหาติดสินบนเจ้าหน้าที่รัฐซึ่งทำให้เขาลาออกจากตำแหน่งผู้อำนวยการของ Nexon แต่ในเวลาต่อมา ข้อกล่าวหานั้นถูกถอนไปเนื่องจากไม่มีหลักฐานเพียงพอ
อันดับ 4 Jay Y. Lee บริษัท: Samsung Electronics ประเภทธุรกิจ: หลากหลาย มูลค่าสินทรัพย์: 6.1 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ
เขาเป็นรองประธานและทายาทบริษัทที่ใหญ่ที่สุดแห่งเกาหลีใต้อย่าง Samsung ซึ่งทำธุรกิจหลากหลาย
อย่างไรก็ตาม คุณธรรมในการทำธุรกิจของเขาก็น่ากังขา เมื่อ Jay Y. Lee ถูกสั่งจำคุกด้วยข้อหาติดสินบนเจ้าหน้าที่รัฐซึ่งเกี่ยวพันกับอดีตประธานาธิบดี Park Geun-hye แต่เขาได้รับทัณฑ์บนและปล่อยตัวออกจากเรือนจำเมื่อปี 2018 และเขายังปฏิเสธทุกข้อหา รวมถึงอยู่ระหว่างยื่นสู้คดีในชั้นศาลฎีกาด้วย
เมื่อเดือนกันยายน 2018 Jay Y. Lee ยังได้ร่วมเดินทางไปเกาหลีเหนือกับ Moon Jae-in ประธานาธิบดีเกาหลีใต้คนปัจจุบัน ในฐานะหนึ่งในคณะผู้แทนจากภาคธุรกิจเอกชน
อันดับ 5 Chung Mong-koo บริษัท: Hyundai Motor ประเภทธุรกิจ: ยานยนต์ มูลค่าสินทรัพย์: 4.3 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ
ผู้อาวุโสวัย 81 ปีเป็นประธานของ Hyundai Motor ผู้ผลิตรถยนต์ที่ใหญ่ที่สุดในเกาหลีใต้ เขาเป็นลูกชายคนที่ 2 ของ Chung Ju-yung ชาวนาผู้พลิกชีวิตสู่การก่อตั้งบริษัท Hyundai โดย Chung Mong-koo มีลูกชายคนเดียวคือ Chung Eui-sun ซึ่งดำรงตำแหน่งรองประธานบริษัทในปัจจุบันและเป็นว่าที่ทายาทรุ่น 3
อย่างไรก็ตาม ช่วงหลายปีที่ผ่านมา Hyundai และ Kia ซึ่งเป็นอีกหนึ่งแบรนด์ในเครือเริ่มเสียส่วนแบ่งตลาดอย่างต่อเนื่องทั้งในประเทศและนอกประเทศ เนื่องมาจากการแข่งขันที่สูงขึ้นและไม่มีผลิตภัณฑ์รถยนต์ SUVs ที่ตอบโจทย์ตลาดได้เพียงพอ
อันดับ 6 Suh Kyung-bae บริษัท: AmorePacific ประเภทธุรกิจ: เครื่องสำอาง มูลค่าสินทรัพย์: 3.5 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ
ประธานบริษัท AmorePacific บริษัทผู้ผลิตเครื่องสำอางและสกินแคร์ที่ใหญ่ที่สุดของเกาหลีใต้ เขาสร้างบริษัทนี้ขึ้นได้โดยจับกระแส “Hallyu Wave” หรือคลื่นความนิยมในวัฒนธรรมป๊อปเกาหลีที่สาดซัดไปทั่วเอเชียและกำลังเคลื่อนสู่แผ่นดินสหรัฐฯ จากการใช้เซเลปเหล่านี้เป็นแรงกระตุ้น ทำให้ผลิตภัณฑ์ของเขาขายดี
AmorePacific ยังเป็นผู้นำเทคโนโลยี โดยผลิตรองพื้นแบบ “คุชชั่น” ออกมาเป็นรายแรก ซึ่งทำให้ยักษ์ใหญ่วงการเครื่องสำอางอย่าง L’Oreal หรือ Christian Dior ต้องเร่งผลิตตามอย่างบ้าง
ทว่า เมื่อปีที่ผ่านมาเป็นปีที่เจ็บหนักของ Suh Kyung-bae เพราะยอดขายในจีนของบริษัทตกต่ำมากตามสภาวะตลาด ทำให้สินทรัพย์ของเขาลดลงไปกว่าครึ่ง และอันดับ เศรษฐีเกาหลีใต้ ของ Suh ก็ตกลงมาจากอันดับ 4
อันดับ 7 Park Yeon-cha บริษัท: Taekwang Industrial ประเภทธุรกิจ: ผลิตรองเท้า มูลค่าสินทรัพย์: 3.2 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ
บริษัทนี้ก่อตั้งเมื่อปี 1971 และได้เริ่มเป็นซัพพลายเออร์ผลิตรองเท้าให้ Nike ตั้งแต่ยุคทศวรรษ 1980s ปัจจุบันบริษัทยังขยายโรงงานไปในเวียดนาม อินโดนีเซีย และจีน โดยมีพนักงานรวมทั้งองค์กรกว่า 7 หมื่นคน Taekwang ถือเป็นหนึ่งในซัพพลายเออร์หลักของ Nike โดยผลิตรองเท้าให้แบรนด์นี้ถึง 60 ล้านคู่ต่อปี
Park Yeon-cha คือผู้ก่อตั้งบริษัทและยังคงเป็นประธาน ในปี 2011 เขาเคยถูกจำคุกนาน 30 เดือนจากคดีหลบเลี่ยงภาษีและติดสินบน ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งในข่าวฉาวของอดีตประธานาธิบดีเกาหลีใต้ Roh Moo-hyun
อันดับ 8 Kwon Hyuk-bin บริษัท: Smilegate Holdings ประเภทธุรกิจ: เกมออนไลน์ มูลค่าสินทรัพย์: 2.9 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ
Kwon Hyuk-bin ก่อตั้ง Smilegate ในปี 2002 ขณะนั้นเขามีอายุเพียง 28 ปีเท่านั้น และปัจจุบัน Smilegate กลายเป็นหนึ่งในบริษัทที่ประสบความสำเร็จสูงสุดของวงการธุรกิจเกมเกาหลี โดยที่ตัวเขาเองยังถือหุ้น 100% ของบริษัทไว้
ส่วนหนึ่งของความสำเร็จนี้มาจากการร่วมเป็นพันธมิตรกับ Tencent ในปี 2008 เพื่อผลิตเกม CrossFire ที่ต่อมา เป็นเกมที่ได้รับความนิยมสูงสุดของบริษัท
อันดับ 9 Chey Tae-won บริษัท: SK Group ประเภทธุรกิจ: เซมิคอนดัคเตอร์และน้ำมัน มูลค่าสินทรัพย์: 2.8 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ
Chey Tae-won คือประธานคนปัจจุบันของ SK Group ซึ่งทำธุรกิจหลากหลายตั้งแต่การผลิตเซมิคอนดัคเตอร์ พลังงาน เคมีภัณฑ์ ไปจนถึงโทรคมนาคม เขาเป็นหลานชายของผู้ก่อตั้ง SK คือ Chey Jong-gun ผู้เริ่มต้นอาณาจักรธุรกิจนี้จากบริษัทสิ่งทอ
ทั้งนี้ SK Telecom คือบริษัทเครือข่ายสัญญาณมือถือที่ใหญ่ที่สุดในเกาหลีใต้ ขณะที่ SK Hynix เป็นผู้ผลิตชิปอันดับ 2 ของประเทศ
อันดับ 10 Kim Beom-su บริษัท: Kakao ประเภทธุรกิจ: บริการออนไลน์ มูลค่าสินทรัพย์: 2.7 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ
ผู้ก่อตั้งและประธานบริษัท Kakao ผู้พัฒนาแอพฯ แชตยอดนิยมแห่งเกาหลีใต้ โดย 90% ของสมาร์ทโฟนของชาวเกาหลีจะต้องมีแอพฯ นี้ติดตั้ง พวกเขายังใช้ Kakao เพื่อเล่นเกมและช็อปปิ้งอีกด้วย
ในปี 2014 Kakao เข้าซื้อหุ้นบริษัท Daum ผู้ให้บริการ search engine อันดับ 2 ของประเทศ ด้วยเม็ดเงินลงทุนถึง 3.3 พันล้านเหรียญ ทำให้ Kakao ได้เข้าสู่ตลาดหุ้นทันทีด้วยวิธี back door listing ในปีเดียวกันนั้นเอง รัฐบาลเกาหลีใต้จัดประเภท Kakao ให้อยู่ในกลุ่มบริษัทขนาดใหญ่ นับเป็นบริษัทเทคสตาร์ทอัพรายแรกของประเทศที่ได้เข้าไปอยู่ในกลุ่มนี้
วิธีคำนวณของ Forbes: รวบรวมจากข้อมูลในตลาดหุ้น นักวิเคราะห์ ข้อมูลส่วนบุคคล หน่วยงานรัฐ และอื่นๆ มูลค่าทรัพย์สินสุทธิที่ได้จากตลาดหุ้นจะคำนวณจากราคาปิดตลาด ณ วันที่ 21 มิถุนายน 2019 หากเป็นบริษัทที่ไม่ได้จดทะเบียนในตลาดหุ้น เราคำนวณมูลค่าบริษัทจากการประเมินมูลค่าเทียบกับบริษัทอื่นๆ ในกลุ่มธุรกิจเดียวกันซึ่งจดทะเบียนในตลาดฯ การคำนวณของบางรายได้รวมทรัพย์สินของสามีหรือภรรยาไว้ด้วย ทั้งนี้ สามารถอ่านรายชื่อเศรษฐีเกาหลีใต้ 2019 ทั้ง 50 อันดับได้ที่นี่ แปลโดย: พัฐรัศมิ์ ว่องไชยกุล อ่านเพิ่มเติม- เศรษฐีหน้าใหม่ อันดับที่ 47 "ผู้สร้าง เกม PUBG "Chang Byung-Gyu” หนึ่งในเศรษฐีที่รวยที่สุดของเกาหลีใต้"
- อีกหนึ่งเศรษฐีจากเกมออนไลน์ในอันดับที่ 13 "Netmarble เซียนธุรกิจ “เกมมือถือ”
- ปีที่แล้วเขาเพิ่งติดลิสต์เศรษฐีเป็นครั้งแรกในอันดับที่ 36 แต่ยอดขายที่ตกต่ำในจีนและเวียดนามทำให้เขาร่วงจากทำเนียบในปี 2019 "Kenny Park ผู้ผลิตกระเป๋าแบรนด์หรู แห่งเกาหลีใต้"