การบินไทย มั่นใจกลางปี 68 ออกจากแผนฟื้นฟู-นำหุ้นกลับมาเทรดใน SET ตั้งเป้าภายใน 5 ปี มาร์เก็ตแชร์แตะ 35% - Forbes Thailand

การบินไทย มั่นใจกลางปี 68 ออกจากแผนฟื้นฟู-นำหุ้นกลับมาเทรดใน SET ตั้งเป้าภายใน 5 ปี มาร์เก็ตแชร์แตะ 35%

การบินไทย หลังจากเข้าแผนฟื้นฟูกิจการมาหลายปี ล่าสุด ได้เข้าสู่การแปลงหนี้เป็นทุนตามแผนฟื้นฟูกิจการซึ่งมีเจ้าหนี้แสดงเจตนาแปลงหนี้เป็นทุนเพิ่มเติมเป็นจำนวนมาก จึงเริ่มเดินหน้าเข้าสู่กระบวนการเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนกันต่อไป โดยตั้งเป้าหมายว่าส่วนผู้ถือหุ้นจะพลิกเป็นบวกในปลายปี 2567 ขณะที่ภายในไตรมาส 2 ปี 2568 จะสามารถออกจากแผนฟื้นฟูฯ และนำหุ้นกลับเข้ามาซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ฯ ได้ และหลังการปรับโครงสร้างครั้งใหญ่นี้ การบินไทยยังตั้งเป้าหมายว่าภายใน 5 ปีจะมีมาร์เก็ตแชร์แตะ 35% จากปัจจุบันที่อยู่ราว 26%


     ดร.ปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์ ประธานคณะผู้บริหารแผนฟื้นฟูกิจการ บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) หรือ THAI กล่าวว่า การบินไทยยังคงเป้าหมายเดิมว่าภายในไตรมาส 2 ปี 2568 จะสามารถออกจากแผนฟื้นฟูกิจการ (ผ่านการยื่นคำร้องต่อศาลล้มละลายกลางเพื่อยกเลิกการฟื้นฟูกิจการ) และนำหุ้นกลับเข้ามาซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET) ได้

    ขณะเดียวกัน การบินไทยคาดว่าจะสามารถจัดประชุมผู้ถือหุ้นสามัญประจำปี (AGM) เพื่อพิจารณาอนุมัติแต่งตั้งคณะกรรมการบริษัทชุดใหม่ตามเงื่อนไขในแผนฟื้นฟูกิจการได้ภายในช่วงเดือน เม.ย.68 ซึ่งผู้เสนอจำนวนกรรมการและรายชื่อกรรมการ คือ ผู้ที่เสนอทำแผน

ดร.ปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์ ประธานคณะผู้บริหารแผนฟื้นฟูกิจการ THAI 


    อย่างไรก็ตาม หนึ่งในเงื่อนไขสำคัญในการออกจากแผนฟื้นฟูคือ ส่วนของผู้ถือหุ้นในงบการเงินของการบินไทยจะกลายเป็นบวกคาดว่าจะเกิดขึ้นภายในสิ้นปีนี้ โดยช่วงที่ผ่านมาเริ่มกระบวนการแปลงหนี้เป็นทุน ซึ่งคิดเป็นภาระหนี้ตามแผนฟื้นฟูกิจการรวมมูลค่า 53,453.2 ล้านบาท เป็นหุ้นสามัญเพิ่มทุน จำนวน 20,989.4 ล้านหุ้น ที่ราคา 2.5452 บาทต่อหุ้น และได้รับการตอบรับจากเจ้าหนี้ที่มีการแสดงเจตนากว่า 3 เท่าของจำนวนหุ้นที่มีรองรับตามแผนฟื้นฟูกิจการ โดยการดำเนินการนี้จะทำให้ส่วนผู้ถือหุ้นของบริษัทจะเป็นบวกกว่า 18,000 ล้านบาท (ไม่รวมกับการเพิ่มทุนให้กับผู้ถือหุ้นเดิมและพนักงานของบริษัท)

    หลังจากนี้ การบินไทย พร้อมเข้าสู่กระบวนการเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนในจำนวนไม่เกิน 9,822.5 ล้านหุ้น ให้แก่ผู้ถือหุ้นเดิม พนักงานของการบินไทย และบุคคลในวงจำกัด (Private Placement) คิดเป็นมูลค่าไม่เกิน 44,004.7 ล้านบาท ที่ราคาเสนอขาย 4.48 บาทต่อหุ้น ระหว่างวันที่ 6 - 12 ธ.ค. 67 ผ่านช่องทางจัดจำหน่ายของผู้จัดการการจัดจำหน่ายหลักทรัพย์ และตัวแทนจำหน่ายหลักทรัพย์ที่กำหนด (สามารถจองเกินสิทธิที่ระบุไว้) ทั้งนี้ หากมีหุ้นสามัญคงเหลือจากการจัดสรรหุ้นให้แก่ผู้ถือหุ้นเดิมก่อนการปรับโครงสร้างทุน และพนักงานของบริษัทฯ ตามลำดับ และจะดำเนินการเสนอขายให้แก่ Private Placement ที่ราคาเสนอขายเดียวกัน


    นายชาย เอี่ยมศิริ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) หรือ THAI กล่าวว่า หลังจากการปรับโครงสร้างครั้งใหญ่ของการบินไทย จึงได้ตั้งเป้าหมายว่าภายใน 5 ปี หรือปี 2572 จะมีส่วนแบ่งทางการตลาด (มาร์เก็ตแชร์) เพิ่มสู่ระดับ 35% จากปัจจุบันที่อยู่ราว 26% ซึ่งถือว่าต่ำกว่าค่าเฉลี่ยในอดีตที่อยู่ราว 44% ทั้งนี้ การเพิ่มมาร์เก็ตแชร์ถือเป็นส่วนสำคัญในการสร้างรายได้ และส่งผลต่อการวางกลยุทธ์ของการบินไทย โดยเฉพาะการจัดหาและปรับปรุงฝูงบินให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้นซึ่งเป็นต้นทุนหลักของธุรกิจการบิน

    ทั้งนี้ ช่วงที่ผ่านมาการบินไทยปรับมาใช้กลยุทธ์เครือข่ายเส้นทางบิน ที่จะเพิ่มรายได้จากการใช้จุดเด่นเชื่อมต่อการเดินทางในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิค และภูมิภาคอื่นๆ จากเดิมที่เป็นลักษณะจุดต่อจุด นอกจากนี้ยังมีเป้าหมายการลดแบบเครื่องบินในฝูงบินให้เหลือ 4 แบบ จากเดิมที่มีกว่า 8 แบบซึ่งทำให้ต้นทุนในการบริหารจัดการค่อนข้างสูง


    อย่างไรก็ตาม เพื่อการเพิ่มรายได้ผ่านการเพิ่มเครือข่ายการบิน จึงตั้งเป้าหมายว่าภายในปี 2576 จะมีเครื่องบิน 150 ลำ จากปัจจุบันที่ 79 ลำ โดยแผนการจัดหาฝูงบินทางการบินไทยจะติดต่อตรงกับผู้ผลิตเครื่องบิน อะไหล่ และพันธมิตรการซ่อม เพื่อลดปัญหาเดิมที่เคยเกิดขึ้น

    ขณะที่ การโหวตแผนฟื้นฟูกิจการในวันที่ 29 พ.ย. 2567 เพื่อพิจารณาแก้ไขแผนฟื้นฟู 3 เรื่อง ได่แก่ 1. วาระขอลดมูลค่าหุ้นที่ตราไว้ (Par Value) 2.วาระขอพิจารณาชำระหนี้แก่เจ้าหนี้ตามแผนฟื้นฟู และ 3.วาระขอพิจารณาเพิ่มผู้บริหารแผนฟื้นฟู 2 รายจากฝั่งภาครัฐ มองว่าเป็นส่วนของเจ้าหนี้การบินไทยที่จะพิจารณาว่าจะเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบ โดยไม่ใช่ส่วนของผู้ถือหุ้น

    อย่างไรก็ตาม ผลประกอบธุรกิจของการบินไทยในงวด 9 เดือนของปี 2567 พบว่า มีจำนวนผู้โดยสารกว่า 11.62 ล้านคนเพิ่มขึ้น 14.7% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน (YoY) และมีปริมาณการผลิตด้านผู้โดยสาร (ASK) 47,778 ล้าน ASK เพิ่มขึ้น 19.2%YoY ในส่วนของกำไร (ขาดทุน) จากการดำเนินงานในงวด 9 เดือนของปี 2567 อยู่ที่ 24,191 ล้านบาท ซึ่งน้อยกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อน ที่มีกำไร 29,330 ล้านบาท และ EBITDA ของงวด 9 เดือน ปี 2567 อยู่ที่ 33,742 ล้านบาท ในขณะที่ช่วงเดียวกันของปีก่อนอยู่ที่ 37,590 ล้านบาท



ภาพ : การบินไทย



เรื่องราวอื่นๆ ที่น่าสนใจ : อัปเดตแผนฟื้นฟูกิจการ ‘การบินไทย’ มั่นใจครึ่งปีแรก 68 ออกจากแผนฯ ได้ เผยไตรมาส 3 ปีนี้กำไรฯ แตะ 12,483 ล้าน

ไม่พลาดบทความและเรื่องราวน่าสนใจอื่นๆ ติดตามเราได้ที่เฟซบุ๊ก Forbes Thailand Magazine