กลางเดือน ก.ย. นี้ถือเป็นอีกช่วงเปลี่ยนผ่านสำคัญของตลาดทุนไทยที่ ‘ภากร ปีตธวัชชัย’ กรรมการและผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET) คนที่ 13 กำลังจะครบวาระการทำงานพร้อมๆ กับการเกษียณอายุ ซึ่งจะส่งไม้ต่อไปยัง ‘อัสสเดช คงสิริ’ ที่จะรับตำแหน่งแทนในวันที่ 19 ก.ย. 2567 นี้
ภารกิจใหญ่: ตลาดทุนไทยต้อง ‘Work’ สำหรับทุกคน
ดร. ภากร ปีตธวัชชัย เป็นกรรมการและผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET) มาถึง 2 วาระ (ระหว่างปี 2561-2567) โดยเข้ารับตำแหน่งเมื่อ 1 มิ.ย. 2561 ได้เจอความท้าทายทั้งด้านบวกและลบ เช่น ตลาดหุ้นไทยมีสภาพคล่องสูงสุดในอาเซียน เงินทุนต่างชาติไหลออกเพราะหุ้นไทยน่าสนใจน้อยลง ประเด็น Program trading และ Short selling ไปจนถึงเคสใหญ่ที่เป็นปัญหาด้านธรรมาภิบาลของบริษัทจดทะเบียน (เช่น MORE, STARK) ฯลฯ
แต่ยิ่งเจอเคสมากขึ้นเท่าไร ‘การยกระดับ’ เพื่อพัฒนาตลาดทุนก็เกิดมากขึ้นตามไปด้วย ดร. ภากร เล่าว่า ในช่วงหลังจะเห็นว่า โลกมีการเจริญเติบโตอย่างรวดเร็วมีการเปลี่ยนแปลงทั้งด้านเทคโนโลยี, พฤติกรรมนักลงทุน และ Social Media ต่างๆ ซึ่งทำให้การทำงานด้านตลาดทุนต้องปรับตัว
“ช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมาจะเห็นการปรับวิธีการทำงาน และมีการปรับกฎเกณฑ์ต่างๆ ทั้งตลาดหลักทรัพย์ฯเพื่อกำกับดูแล ซึ่งผมเชื่อว่าสิ่งที่ทำมาในช่วงหลัง จะทำให้ตลาดทุนไทยสามารถพัฒนาต่อไปได้อย่างต่อเนื่องไปอีกหลายๆ ปีอย่างยั่งยืน” ดร.ภากร กล่าว
เมื่อสรุปถึงช่วงเวลาที่ผ่านมา พบว่าตลาดหลักทรัพย์ฯ ได้เดินหน้าพัฒนาใน 3 ด้านหลัก ได้แก่
1) เชื่อมโยงโอกาสทุกภาคส่วน โดยทำเรื่องการให้บริการเรื่องตลาดทุน ไม่ว่าจะเป็นด้านการระดมทุนหรือการลงทุน ซึ่งจะเห็นว่า SET พยายามทำประสิทธิภาพในการทำธุรกิจประเภทนี้ให้ดีขึ้นให้แข่งขันได้กับตลาดโลก
2) ลงทุนและพัฒนาในโครงสร้างพื้นฐาน เช่น ลดการลงทุนที่ซ้ำซ้อน และหาแนวทางให้ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องขยายธุรกิจได้ด้วยต้นทุนต่ำ
3) ส่งเสริมความยั่งยืนด้านการเงินเพื่อคนไทย เช่น Financial literacy การให้ความรู้ด้านการลงทุน หรือความรู้ต่างๆเรื่องการทำธุรกิจอย่างยั่งยืน
จากแผนงานทั้งหมดนี้ยังสะท้อนถึงวิสัยทัศน์ของตลาดหลักทรัพย์ฯ ที่ว่า “To Make the Capital Market ‘Work’ for Everyone”

ตลาดหุ้นไทย ‘ฟื้น’ แล้วแต่ยังต้องติดตามปัจจัยเสี่ยง
จากต้นเดือน ก.ย. 2567 นี้ ตลาดหุ้นไทยดูจะเป็นภาพบวกอย่างต่อเนื่อง เห็นได้จากดัชนีหุ้นไทยหรือ SET INDEX ที่กลับมาอยู่เหนือ 1,400 จุด ‘ภากร’ มองว่า บรรยากาศการลงทุนไทยที่กลับมาดีขึ้น เกิดจากหลายส่วนทั้งปัจจัยต่างประเทศ ที่เห็นแนวโน้มว่านโยบายดอกเบี้ยที่เริ่มจะลดลง ทำให้สภาพคล่องในตลาดโลกดีขึ้น รวมถึงเศรษฐกิจที่เริ่มมีการฟื้นตัวในหลายประเทศ ถึงแม้จะมีความขัดแย้งทางการเมืองอยู่บ้าง แต่ผลกระทบก็เริ่มลดลง
ขณะที่ปัจจัยภายในประเทศจะเห็นว่าเศรษฐกิจไทยเริ่มฟื้นตัวอย่างเห็นได้ชัด สะท้อนจากจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติเริ่มเยอะขึ้น และ ตัวเลขเศรษฐกิจต่างๆ เช่น การส่งออกในเดือน ก.ค. 67 เติบโตเกิน 15% อีกทั้งค่าเงินบาทที่ปรับตัวแข็งขึ้น 6% ในช่วง 2-3 สัปดาห์ที่ผ่านมา ไปจนถึงดัชนีของตลาดหุ้นไทยที่สะท้อนถึงบริษัทจดทะเบียนไทย (บจ.) มีกำไรสูงขึ้นโดยครึ่งแรกปี 67 โตขึ้นถึง 10% ถือว่าใกล้เคียงกับช่วงก่อนเกิด COVID-19 อีกทั้งยังเห็นกระแสเงินทุนต่างชาติที่ไหลเข้ามาในตลาดหุ้นไทยอย่างต่อเนื่อง
“ผมเชื่อว่าจากการที่รัฐบาลมีนโยบายที่ชัดเจน ไม่ว่าจะเป็นกองทุนวายุภักษ์ หรือกองทุนรวม Thai ESG น่าจะทำให้ Fund Flow ยังไหลกลับเข้ามาได้อย่างต่อเนื่อง แล้วถ้าเศรษฐกิจเราฟื้นตัวต่อ ผมว่าตรงนี้จะเป็นจุด Turning Point (จุดเปลี่ยน) ของตลาดหุ้นไทย” ดร.ภากร กล่าว
แต่สิ่งที่อยากจะฝากนักลงทุนคือ ยังต้องติดตามดูข้อมูลต่อไป เพราะยังมีปัจจัยทั้งในประเทศ และต่างประเทศที่อาจส่งผลกระทบได้

จาก ‘ภากร’ สู่ ‘อัสสเดช’ ตลาดทุนไทยต้องเร่งเครื่องด้านไหน
ภากร ย้ำว่าตลาดทุนไทยเป็นเหมือนเส้นเลือดของประเทศ ทั้งการระดมทุนและการสร้างประโยชน์ต่อทุกภาคส่วน แต่ยังมีความท้าทายจากเศรษฐกิจโลก และตลาดทุนโลกมีการเปลี่ยนแปลงไปมากและผลกระทบมักเกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว เพราะฉะนั้นท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงต่างๆ ในอนาคตยิ่งต้องใช้ ‘ข้อมูล’ ผ่านการติดตามและวิเคราะห์เป็นตัวออกกฎเกณฑ์ที่เหมาะสม
“ตลาดทุนที่เชื่อมต่อกันทั่วโลกทำให้การแข่งขันสูงขึ้น จะทำอย่างไรให้ตลาดหุ้นไทยสามารถเทียบเคียงกับตลาดต่างประเทศได้ และเป็นตลาดที่มีคนอย่างเข้ามาระดมทุน หรือมีนักลงทุนที่เหมาะสมครบถ้วน รวมถึงมีบาลานซ์ที่ดี ซึ่งเชื่อว่าอันนี้เป็นความท้าทาย และสิ่งที่ผู้จัดการคนใหม่คงจะต้องนำพาตลาดทุนไทยให้เจริญอย่างยั่งยืนต่อไป” ดร.ภากร กล่าว
ช่วงที่ผ่านมาเมื่อเกิดเหตุการณ์ต่างๆ ในไทย ล้วนส่งผลให้หน่วยงานกำกับดูแลได้ตระหนักว่าสิ่งที่เคยทำหรือที่เคยดี อาจไม่ดีพอในอนาคต จึงต้องมีการปรับวิธีการทำงาน และกฎเกณฑ์ต่างๆ ซึ่งเชื่อว่าตอนนี้ตลาดทุนไทยมีการปรับตัวและพร้อมรับการเปลี่ยนแปลงในอนาคตต่อไปได้ดีขึ้น
หลังจากนี้คงต้องติดตามกันว่า ‘อัสสเดช คงสิริ’ กรรมการและผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET) คนที่ 14 ซึ่งจะเริ่มงานในวันที่ 19 ก.ย. 2567 นี้จะมีแผนงานในการรับมือตลาดทุนไทยและโลกท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วกว่าอดีตที่ผ่านมาอย่างไร
เรื่องราวอื่นๆ ที่น่าสนใจ : เมื่อเงินบาทแข็งค่าสุดในรอบ 19 เดือน มาถึง 33.20 บาทต่อเหรียญสหรัฐ
ไม่พลาดบทความและเรื่องราวน่าสนใจอื่นๆ ติดตามเราได้ที่เฟซบุ๊ก Forbes Thailand Magazine