ธนาคารไทยพาณิชย์ ย้ำความยั่งยืนเป็นเรื่องที่ต้องเริ่มทำ เปิดแนวคิด “เริ่ม เพื่อ รอด” เร่งเอสเอ็มอีปรับตัว ชูสินเชื่อดอกเบี้ยพิเศษ 3.99% ต่อปี สำหรับกลุ่มสินเชื่อเพื่อความยั่งยืน โดยตั้งเป้าหมายหลังจากนี้จะให้สินเชื่อปีละ 2,000 - 3,000 ล้านบาทต่อปี ส่วนสถานการณ์หนี้เสียปรับตัวดีขึ้นส่วนของแบงก์มี NPL ที่ 2.9% ลดลงจากช่วงก่อนหน้าที่ 3.2% แต่ยังมีกลุ่มเปราะบางที่ต้องจับตามอง มูลค่าสินเชื่อราว 3,500 ล้านบาท
นางพิกุล ศรีมหันต์ รองผู้จัดการใหญ่อาวุโส ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มธุรกิจเอสเอ็มอี ธนาคารไทยพาณิชย์ กล่าวว่า ปัจจุบันเศรษฐกิจไทยยังมีความเปราะบาง ผันผวน และฟื้นไม่ทั่วถึง จึงส่งผลกระทบต่อทุกธุรกิจในไทย แต่สิ่งที่ต้องเริ่มปรับตัวคือ การเปลี่ยนผ่านสู่ความยั่งยืน เพราะในอนาคตอาจมีกฏเกณฑ์เพิ่มขึ้นซึ่งส่งผลต่อต้นทุน และการทำธุรกิจ การค้าต่างๆ
ทั้งนี้ จากจุดตั้งต้นของธนาคารไทยพาณิชย์ในแนวคิด “อยู่ อย่าง ยั่งยืน” จึงนำมาปรับใช้กับกลุ่มธุรกิจเอสเอ็มอี โดยประกาศแนวทาง “เริ่ม เพื่อ รอด” ให้แก่ลูกค้าเอสเอ็มอีสู่การเป็นธุรกิจสีเขียวอย่างยั่งยืน ผ่าน 2 ส่วนงาน ได้แก่
1. โครงการสินเชื่อเพื่อความยั่งยืน (Sustainable Financing) ดอกเบี้ยพิเศษ 3.99% ต่อปี ซึ่งหากทำได้ตามเกณฑ์คาร์บอนเครดิตจะได้รับการปรับลดอัตราดอกเบี้ยลง 1% นาน 1 ปี
2. โครงการที่ปรึกษาทางธุรกิจ SCB SME Mentor รุ่นที่ 4 Sustainability เป็นที่ปรึกษาให้ธุรกิจเอสเอ็มอีเรื่องการเปลี่ยนผ่านสู่ความยั่งยืน ซึ่งรวมมือกับภาครัฐ เช่น สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (หรือ NIA), และสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (depa) และสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.), ซึ่งจะมีแคมเปญสนับสนุนด้าน ESG แก่ เอสเอ็มอี อาทิ มีวงเงินช่วยเหลืออุดหนุนแบบไม่มีเงื่อนไขการชำระคืน (Grant) สูงสุดรายละไม่เกิน 200,000 บาทต่อปี (รวมทั้งหมด ไม่เกิน รายละ 500,000 บาทต่อนิติบุคคล) โดยมี SCB เป็นช่องทางหลักในการ ทำให้ผู้ประกอบการเข้าถึงการสนับสนุนดังกล่าว

นอกจากนี้ ทางธนาคารยังเตรียมทำ Transition plan (แผนการเปลี่ยนผ่านสู่ความยั่งยืน) โดยจะเริ่มที่กลุ่มโรงแรม เพราะไทยรองรับการท่องเที่ยวมาก ปัจจุบันคนให้ความสำคัญกับเรื่องความยั่งยืนมาก จึงเป็นภาคส่วนที่ควรเร่งปรับตัว ปัจจุบันมีสินเชื่อเอสเอ็มอีกลุ่มโรงแรมราว 20,000 ล้านบาท จากภาพรวมสินเชื่อของไทยพาณิชย์ที่ 134,000 ล้านบาท
ในภาพรวมไทยพาณิชย์ตั้งเป้าจำนวนลูกค้าเอสเอ็มอีเปลี่ยนผ่านสู่ความยั่งยืนไม่น้อยกว่า 1,000 กิจการ และสินเชื่อเพื่อความยั่งยืน ประมาณปีละ 2,000-3,000 ล้านบาท
ส่วนหนี้เสีย (NPL) ของกลุ่ม SME ภายใต้พอร์ตธนาคารไทยพาณิชย์อยู่ที่ 2.9% ซึ่งปรับลดลงจากช่วงก่อนหน้าที่อยู่ราว 3.2% ทั้งนี้ ปัญหาหนี้ครัวเรือนสูงที่เกิดขึ้นอาจส่งผลกระทบต่อบางเซคเตอร์ เช่นอสังหาริมทรัพย์ คอนซูมเมอร์ ฯลฯ ซึ่งยังต้องใช้ระยะเวลาหนึ่งเพื่อแก้ปัญหานี้ โดยมีกลุ่มที่เปราะบางอยู่ราว 3,500 ล้านบาท แต่ยังคาดว่าปี 2568 จะควบคุมหนี้เสียไว้ไม่ให้เกิน 3%

ทั้งนี้ ณ ไตรมาส 3/67 พอร์ตสินเชื่อเอสเอ็มอีของธนาคารอยู่ที่ 250,893 ล้านบาท โดยคาดว่าสิ้นปี 2567 นี้จะทรงตัวจากปีก่อน หรืออาจติดลบ 5,000 ล้านบาท เนื่องจากลูหนี้มีการชำระหนี้คืนตามกำหนดระยะเวลา แต่คนยังระมัดระวังในการขอสินเชื่อจึงอาจเห็นการขอสินเชื่อใหม่ยังไม่มากนัก อย่างไรก็ตามคาดว่า เป้าหมายปี 2567 สินเชื่อปล่อยใหม่ 40,000 ล้านบาท/ปี
ขณะที่ภาพรวมของปี 2568 ทุกฝ่ายน่าจะปรับตัวดีขึ้นจากมาตรการของรัฐ แต่ผู้ประกอบการต้องปรับตัวเพื่อให้สอดรับกับสถานการณ์ทางเศรษฐกิจในปัจจุบัน โดยมองว่าปัจจัยหลักที่ส่งผลต่อผลประกอบการของธุรกิจคือเรื่องการหารายได้ งบกำไรขาดทุน ส่วนภาระดอกเบี้ยยังเป็นส่วนเล็กๆ เท่านั้น ทั้งนี้ มีลูกค้าบางกลุ่มที่ยังกังวล จึงไม่ตัดสินใจที่จะขอความช่วยเหลือจากธนาคาร แต่ทางธนาคารยังคงแนะนำว่า ควรเข้าปรึกษาธนาคารก่อนที่จะเกิดผลกระทบเพิ่มเติมในอนาคต
ภาพ: ธนาคารไทยพาณิชย์
เรื่องราวอื่นๆ ที่น่าสนใจ : กรุงศรีจ่อเพิ่ม Climate Risk ในแผนธุรกิจ เล็งขยายสินเชื่อยั่งยืนทะลุแสนล้าน เดินหน้า ‘GO Sustainable with krungsri’
ไม่พลาดบทความและเรื่องราวน่าสนใจอื่นๆ ติดตามเราได้ที่เฟซบุ๊ก Forbes Thailand Magazine