ความยั่งยืนกลายเป็นเรื่องที่หลายธุรกิจให้ความสนใจ โดยเฉพาะธุรกิจธนาคารที่หลายฝ่ายคาดว่าจะปรับตัวได้เร็วกว่าอุตสาหกรรมอื่น เพราะมีทรัพยากรที่น้อยกว่า แต่การปรับเปลี่ยนวิถีการทำงานในองค์กรขนาดใหญ่ไม่ใช่เรื่องง่าย ล่าสุด กรุงศรี จึงประกาศแผน ‘GO Sustainable with krungsri’ เพื่อรุกสู่ความยั่งยืน
นายไพโรจน์ ชื่นครุฑ ประธานคณะเจ้าหน้าที่ด้านกลยุทธ์และวางแผนธุรกิจองค์กร ธนาคารกรุงศรีอยุธยา หรือ BAY กล่าวว่า ปัจจุบันผลกระทบของ Climate Change เกิดขึ้นทั่วโลก ส่งผลให้หลายภาคส่วนทั้งรัฐและเอกชนทั่วโลกต่างหันมาให้ความสำคัญกับความยั่งยืนมากขึ้น ซึ่งกรุงศรี ได้ปรับแผนธุรกิจเพื่อสร้างความยั่งยืนมาอย่างต่อเนื่องเช่นกัน และประกาศแผนระยะกลางฉบับใหม่ (ปี 2567-2569) ภายใต้แนวคิด “GO Sustainable with krungsri” เพื่อเดินหน้าสู่เส้นทางของความยั่งยืนร่วมกัน
“ภายใต้กลยุทธ์ในการขับเคลื่อนสู่เป้าหมาย ‘ธนาคารชั้นนำแห่งภูมิภาคเพื่อความยั่งยืน’ ตามแผนธุรกิจระยะกลางฉบับปัจจุบัน กรุงศรีให้ความสำคัญกับการขับเคลื่อนเพื่อความยั่งยืนใน 2 ด้านหลัก ด้านแรก คือ การเติบโตอย่างยั่งยืนและรักษาความเป็นผู้นำในธุรกิจหลัก (Sustainable Core Business) ซึ่งมุ่งนำดิจิทัลเทคโนโลยีเข้ามาเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินธุรกิจ พร้อมทั้งให้ความสำคัญด้านความร่วมมือกับพันธมิตรและการสร้างอีโคซิสเต็มส์ให้กับธุรกิจทั้งในประเทศและอาเซียน และด้านที่สอง คือ การขับเคลื่อนเพื่อการเปลี่ยนผ่านสู่สังคมและเศรษฐกิจที่ยั่งยืน (Sustainable Society) โดยให้การสนับสนุนลูกค้าเปลี่ยนผ่านสู่ความยั่งยืน และให้ความสำคัญกับการสร้างผลลัพธ์เชิงบวกต่อสังคมและเศรษฐกิจของประเทศไทยในภาพรวม” นาย ไพโรจน์ กล่าว
ทั้งนี้ นับจากปี 2564 กรุงศรีตั้งเป้าหมายจะปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ ลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์จากกระบวนการทางธุรกิจของธนาคารภายในปี 2573 จากปี 2566 ที่ผ่านมามีการปล่อยคาร์บอนอยู่ราว 51,633 ตันกิโลคาร์บอน ขณะที่ปี 2593 กรุงศรีมุ่งลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์จากการให้บริการทางการเงินทั้งหมด โดยจะทำผ่าน 2 ส่วนหลัก ได้แก่
1. การปรับการการดำเนินการภายในกรุงศรี เช่น สร้างความตระหนักรู้ในการใช้พลังงาน การติดตั้งแผงโซลาเซลล์ ฯลฯ
2. การเงินเพื่อความยั่งยืน (Sustainable Finance) ผ่านการสนับสนุนลูกค้าสู่การเปลี่ยนผ่านสู่ความยั่งยืน โดยตั้งเป้าหมายจะมีสินเชื่อเพื่อความยั่งยืน 100,000 ล้านบาท ภายในปี 2573 แต่จากปัจจุบันที่มีอยู่ราว 76,000 ล้านบาท ในช่วงต้นปี 2568 อาจมีการปรับเผนเพิ่มเป้าหมายขึ้น และในช่วงสิ้นปีหน้าจะมีการทำ Transition Plan ใน 2 อุตสาหกรรม คือ พลังงาน และ การขนส่ง ซึ่งมี Carbon footprint สูงมาก และสอดคล้องกับนโยบายของธนาคารแห่งประเทศไทยที่โฟกัสใน 2 กลุ่มนี้ เช่นกัน
ปัจจุบันกรุงศรีเป็นผู้นำในฐานะผู้ออกตราสารเพื่อความยั่งยืน (ESG Bond Underwriting) โดยมีส่วนแบ่งตลาดราว 20% และเป็นธนาคารพาณิชย์ไทยรายแรกที่ออกผลิตภัณฑ์ด้านความยั่งยืนใหม่ๆ สู่ตลาดอย่างต่อเนื่อง อาทิ สินเชื่อเพื่อส่งเสริมความยั่งยืน หุ้นกู้ส่งเสริมความยั่งยืน และเงินฝากเพื่อความยั่งยืน
นอกจากนี้ส่วนสำคัญคือ ภายในสิ้นปี 2567 นี้ กรุงศรีจะทำแผนธุรกิจโดยใส่เรื่อง Climate Risk เข้าไป เพื่อวิเคราะห์และรับมือผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นต่อคู่ค้า ลูกค้า และภาพส่วนต่างๆ (เช่น การศึกษาผลกระทบจากน้ำทะเลที่เพิ่มสูงขึ้น จะกระทบอุตสาหกรรมใด)
ภาพ: กรุงศรี
เรื่องราวอื่นๆ ที่น่าสนใจ : ttb ลุยสินเชื่อรถมือสอง ตั้งเป้าปี 68 Roddonjai มียอดขาย 5 หมื่นคัน ท่ามกลางตลาดรถใหม่ยังติดลบ
ไม่พลาดบทความและเรื่องราวน่าสนใจอื่นๆ ติดตามเราได้ที่เฟซบุ๊ก Forbes Thailand Magazine