PwC เผยผลการสำรวจซีอีโอทั่วโลกประจำปี ครั้งที่ 26 - Forbes Thailand

PwC เผยผลการสำรวจซีอีโอทั่วโลกประจำปี ครั้งที่ 26

PwC เผยผลสำรวจซีอีโอทั่วโลก 73% เชื่อเศรษฐกิจโลกโตลดลงในช่วง 12 เดือนข้างหน้า สะท้อนมุมมองลบมากที่สุดในรอบ 10 ปี


    PwC เผยผลการสำรวจซีอีโอทั่วโลกประจำปี ครั้งที่ 26 ซึ่งสำรวจความคิดเห็นของซีอีโอ 4,410 คน ใน 105 ประเทศและดินแดน ระหว่างเดือนตุลาคม-พฤศจิกายน 2565 พบว่า ซีอีโอเกือบสามในสี่ (73%) เชื่อว่า การเติบโตของเศรษฐกิจโลกจะลดลงในช่วง 12 เดือนข้างหน้า
    มุมมองดังกล่าวถือเป็นมุมมองในแง่ลบมากที่สุดของซีอีโอเกี่ยวกับการเติบโตของเศรษฐกิจโลก นับตั้งแต่เราเริ่มถามคำถามนี้เมื่อ 12 ปีก่อน และเป็นการเปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญจากมุมมองที่สดใสในปี 2564 และ 2565 ซึ่งในเวลานั้น ซีอีโอมากกว่าสามในสี่ (76% และ 77% ตามลำดับ) เชื่อว่าการเติบโตทางเศรษฐกิจจะดีขึ้น

    ซีอีโอเกือบ 40% คิดว่า องค์กรของตนจะไม่มีศักยภาพทางเศรษฐกิจในช่วงทศวรรษนี้ นอกจากสภาพแวดล้อมที่ท้าทายแล้ว ซีอีโอเกือบ 40 % ไม่คิดว่าองค์กรของตนจะมีศักยภาพทางเศรษฐกิจได้ในช่วงสิบปีนี้ หากยังคงดำเนินธุรกิจต่อไปในเส้นทางปัจจุบันซึ่งเป็นความคิดเห็นที่สอดคล้องกันในหลายภาคอุตสาหกรรม ได้แก่ โทรคมนาคม (46%) การผลิต (43%) การดูแลสุขภาพ (42%) และเทคโนโลยี (41%)

    นอกจากนี้ ความเชื่อมั่นของซีอีโอเกี่ยวกับแนวโน้มการเติบโตของบริษัทของตนเองยังลดลงอย่างมากตั้งแต่ปีที่แล้ว (-26%) ซึ่งเป็นการลดลงมากที่สุดนับตั้งแต่วิกฤตการเงินปี 2551-2552 ซึ่งในขณะนั้น ความเชื่อมั่นซีอีโอลดลงไป 58%

    เมื่อพิจารณาในระดับโลก พบว่า ความเชื่อมั่นของธุรกิจที่มีต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจนั้นแตกต่างกันไปอย่างสิ้นเชิง โดยประเทศในกลุ่มเศรษฐกิจ G7 อย่างฝรั่งเศส (70% เทียบกับ 63%) เยอรมนี (94% เทียบกับ 82%) และสหราชอาณาจักร (84% เทียบกับ 71%) ซึ่งล้วนถูกกดดันจากวิกฤตพลังงานที่กำลังดำเนินอยู่ มีทัศนคติในเชิงลบเกี่ยวกับแนวโน้มการเติบโตในประเทศมากกว่าการเติบโตทั่วโลก

    นอกจากนี้ ซีอีโอยังระบุถึงความท้าทายหลายประการที่ส่งผลโดยต่อความสามารถในการทำกำไรภายในอุตสาหกรรมของตนเองในช่วง 10 ปีข้างหน้า มากกว่าครึ่ง (56%) เชื่อว่าความต้องการ/ความชอบที่เปลี่ยนแปลงไปของลูกค้าจะส่งผลกระทบต่อความสามารถในการทำกำไร ตามด้วยการเปลี่ยนแปลงกฎระเบียบ (53%) การขาดแคลนแรงงาน/ทักษะ (52%) และเทคโนโลยีดิสรัปชัน (49%) เงินเฟ้อ ความผันผวนของเศรษฐกิจมหภาค และความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์เป็นประเด็นที่ซีอีโอกังวลมากที่สุด

    ในขณะที่ความเสี่ยงทางไซเบอร์และสุขภาพเป็นปัญหาอันดับหนึ่งในปีที่แล้ว ผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจตกต่ำเป็นสิ่งที่ซีอีโอกังวลใจมากที่สุดในปีนี้ โดยอัตราเงินเฟ้อ (40%) และความผันผวนของเศรษฐกิจมหภาค (31%) เป็นความเสี่ยงที่ซีอีโอกังวลมากที่สุดในระยะสั้น 12 เดือนข้างหน้า และในอีก 5 ปีข้างหน้า

    รองลงมาคือ 25% ของซีอีโอรู้สึกถึงความเสี่ยงทางการเงินอันเนื่องมาจากความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ ในขณะที่ความเสี่ยงทางไซเบอร์ (20%) และการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (14%) ลดลงเมื่อเทียบกันสงครามในยูเครนและความกังวลที่เพิ่มขึ้นเกี่ยวกับความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ในส่วนอื่นๆ ของโลก

    ทำให้ซีอีโอต้องคิดทบทวนใหม่เกี่ยวกับโมเดลธุรกิจในด้านต่างๆ โดยเกือบครึ่งหนึ่งของผู้ตอบแบบสอบถามที่เผชิญกับความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ได้รวมการหยุดชะงักในวงกว้างเป็นส่วนหนึ่งในการวางแผนสถานการณ์และรูปแบบการดำเนินงานขององค์กร

    ไม่ว่าจะด้วยการเพิ่มการลงทุนด้านความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์หรือความเป็นส่วนตัวของข้อมูล (48%) การปรับห่วงโซ่อุปทาน (46%) การประเมินสถานะตลาดใหม่ หรือขยายตลาดใหม่ๆ (46%) หรือการกระจายการนำเสนอสินค้า/บริการให้หลากหลาย (41%)


ซีอีโอกำลังลดต้นทุน แต่ไม่ลดจำนวนพนักงานหรือค่าตอบแทน


    เพื่อตอบสนองต่อสภาวะเศรษฐกิจในปัจจุบัน ซีอีโอกำลังมองหาวิธีลดต้นทุนและกระตุ้นการเติบโตของรายได้ 52% ของซีอีโอเลือกที่จะลดต้นทุนการดำเนินงาน ในขณะที่ 51% ใช้วิธีขึ้นราคา และ 48% นำเสนอสินค้าและบริการที่หลากหลายมากขึ้น

อย่างไรก็ตาม มากกว่าครึ่ง หรือ 60% กล่าวว่า พวกเขาไม่มีแผนที่จะลดขนาดพนักงานในช่วง 12 เดือนข้างหน้า ขณะที่ซีอีโอส่วนใหญ่ หรือ 80% ไม่ได้วางแผนที่จะลดค่าตอบแทนพนักงาน เพื่อรักษาบุคลากรที่มีความสามารถและลดอัตราการออกจากงานของพนักงาน


Bob Moritz ประธาน PwC โกลบอล กล่าวว่า "เศรษฐกิจที่ผันผวน อัตราเงินเฟ้อที่สูงมาหลายสิบปี และความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ เป็นปัจจัยที่ทำให้ซีอีโอมีมุมมองเชิงลบมากที่สุดในรอบสิบปี ด้วยเหตุนี้ ซีอีโอทั่วโลกจึงต้องประเมินใหม่เกี่ยวกับรูปแบบการดำเนินงานและการลดต้นทุน

    อย่างไรก็ตาม แม้จะมีแรงกดดันเหล่านี้ แต่พวกเขาก็ยังคงให้ความสำคัญกับพนักงานมากที่สุด ด้วยความพยายามที่จะรักษาบุคลากรที่มีความสามารถเอาไว้หลังจากที่เกิดกระแส 'การลาออกครั้งใหญ่' (Great Resignation) ในช่วงที่ผ่านมา โลกยังคงเปลี่ยนแปลงอย่างไม่หยุดยั้ง และความเสี่ยงที่องค์กร ผู้คน และโลกใบนี้ กำลังเผชิญอยู่มีแต่จะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ

    ทั้งนี้ องค์กรต่างๆ ต้องสร้างสมดุลอย่างระมัดระวังระหว่างความจำเป็นสองประการ คือการลดความเสี่ยงในระยะสั้น กับสิ่งที่ต้องดำเนินงานเพื่อวัตถุประสงค์ระยะยาว หากพวกเขาไม่เพียงต้องเติบโต แต่ยังต้องอยู่รอดในช่วงไม่กี่ปีข้างหน้าด้วย ธุรกิจที่ไม่เปลี่ยนแปลงจะไม่สามารถอยู่รอดได้"

    การจัดการความเสี่ยงด้านสภาพภูมิอากาศมีความสำคัญเพิ่มขึ้นสำหรับธุรกิจ แม้ว่าความเสี่ยงด้านสภาพภูมิอากาศจะไม่ได้เด่นชัดเท่ากับความเสี่ยงระยะสั้นในช่วง 12 เดือนข้างหน้า เมื่อเทียบกับความเสี่ยงอื่นๆ ทั่วโลก

    แต่ซีอีโอยังคงมองว่าความเสี่ยงด้านสภาพภูมิอากาศส่งผลกระทบต่อโครงสร้างต้นทุน (50%) ห่วงโซ่อุปทาน (42%) และสินทรัพย์ที่จับต้องได้ ( 24%) ตั้งแต่ระดับปานกลางถึงมาก ซีอีโอในจีนรู้สึกเสี่ยงมากเป็นพิเศษ โดย 65% มองเห็นความเป็นไปได้ที่ความเสี่ยงด้านสภาพภูมิอากาศจะส่งผลกระทบต่อโครงสร้างต้นทุนของพวกเขา

    ขณะที่ 71% คิดว่าจะกระทบต่อซัพพลายเชน และ 56% มองว่าจะส่งผลต่อสินทรัพย์ที่จับต้องได้ ด้วยความตระหนักถึงผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่จะมีต่อธุรกิจและสังคมในระยะยาว

    ซีอีโอส่วนใหญ่จึงได้ดำเนินการแล้ว หรืออยู่ในระหว่างการดำเนินแผนงานริเริ่มเพื่อลดการปล่อยมลพิษของบริษัท (65%) นอกเหนือไปจากคิดค้นผลิตภัณฑ์และกระบวนการใหม่ที่เป็นมิตรต่อสภาพภูมิอากาศ (61%) หรือพัฒนากลยุทธ์ระดับองค์กรที่ขับเคลื่อนด้วยข้อมูลเพื่อลดการปล่อยมลพิษและลดความเสี่ยงด้านสภาพภูมิอากาศ (58%)

    แม้ว่าปัจจุบันจะมีประเทศต่างๆ จำนวนมากขึ้นที่มีการกำหนดราคาคาร์บอนในบางรูปแบบ แต่ผู้ตอบแบบสอบถามส่วนใหญ่ (54%) ยังไม่มีแผนที่จะนำราคาคาร์บอนภายในองค์กรมาใช้ในการตัดสินใจ และมากกว่าหนึ่งในสาม (36%) ไม่ได้วางแผนที่จะดำเนินแผนงานริเริ่มเพื่อปกป้องสินทรัพย์ที่จับต้องได้ของบริษัทและ/หรือพนักงานจากผลกระทบของความเสี่ยงด้านสภาพภูมิอากาศ

    ความไว้วางใจและการเปลี่ยนแปลงในการสร้างคุณค่าระยะยาวยังคงมีความสำคัญอย่างต่อเนื่อง ซีอีโอระบุถึงความจำเป็นในการร่วมมือกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียที่หลากหลายเพื่อสร้างความไว้วางใจและส่งมอบผลลัพธ์ที่ยั่งยืน หากองค์กรต้องการสร้างคุณค่าทางสังคมในระยะยาว

    การสำรวจพบว่า องค์กรเป็นพันธมิตรกับหน่วยงานที่ไม่ใช่ธุรกิจ เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน (54%) เพื่อความหลากหลาย ความเสมอภาค และการไม่แบ่งแยก (49%) และเพื่อการศึกษา (49%)
นอกจากนี้ หากต้องการที่จะยังคงดำรงอยู่ต่อไปได้ในระยะใกล้และระยะยาว

    องค์กรจะต้องลงทุนในบุคลากรและการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีเพื่อเสริมศักยภาพให้กับพนักงาน ในส่วนของเทคโนโลยี องค์กรเกือบสามในสี่ (76%) ระบุว่ากำลังลงทุนในกระบวนการและระบบอัตโนมัติ การใช้ระบบเพื่ออัปสกิลให้กับพนักงานในด้านที่สำคัญ (72%) การใช้เทคโนโลยี เช่น คลาวด์ AI และเทคโนโลยีขั้นสูงอื่นๆ (69%)

    อย่างไรก็ตาม ซีอีโอหลายคนตั้งคำถามว่า องค์กรของตนมีเงื่อนไขเบื้องต้นที่จำเป็นสำหรับการเสริมอำนาจองค์กรและการเป็นผู้ประกอบการหรือไม่ เช่น การปรับให้สอดคล้องกับค่านิยมทางธุรกิจ และการส่งเสริมให้เกิดการคัดค้านและการถกเถียงของผู้บริหาร เพื่อจัดการกับความท้าทายที่ซับซ้อนมากขึ้นที่องค์กรต้องเผชิญ ตัวอย่างเช่น มีเพียง 23% ของซีอีโอที่กล่าวว่า ผู้บริหารในบริษัทตัดสินใจเกี่ยวกับส่วนงานของตนโดยไม่ปรึกษาซีอีโออยู่บ่อยครั้งหรือเป็นปกติ

    นอกจากนี้ มีซีอีโอเพียง 46% เท่านั้นที่กล่าวว่าผู้บริหารในบริษัททนต่อความล้มเหลวในระดับเล็กน้อยได้บ่อยครั้ง/เป็นปกติ อย่างไรก็ดี ในส่วนของมุมมองบวกพบว่า ผู้ตอบแบบสำรวจเกือบ 9 ใน 10 (85%) กล่าวว่าพฤติกรรมของพนักงานมีความสอดคล้องกับค่านิยมและทิศทางของบริษัทโดยส่วนมาก/เป็นปกติ

    เมื่อเลือกระหว่างความต้องการที่จะเปลี่ยนแปลงในระยะสั้นหรือระยะยาว ซีอีโอกล่าวว่าพวกเขากังวลกับการปรับปรุงประสิทธิภาพการดำเนินงานในปัจจุบัน (53%) มากกว่าการปรับเปลี่ยนธุรกิจและกลยุทธ์ของบริษัทเพื่อตอบสนองความต้องการในอนาคต (47%) อย่างไรก็ดี หากพวกเขาสามารถออกแบบตารางเวลาใหม่ได้ ซีอีโอกล่าวว่าพวกเขาจะใช้เวลามากขึ้นกับการพัฒนาธุรกิจและกลยุทธ์เพื่อตอบสนองความต้องการในอนาคต (57%)

    "ความเสี่ยงที่องค์กรและสังคมเผชิญอยู่ในปัจจุบันไม่สามารถแก้ไขได้โดยลำพังและโดดเดี่ยว ดังนั้น ซีอีโอจึงต้องร่วมมือกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียที่หลากหลายทั้งในภาครัฐและเอกชนอย่างต่อเนื่องเพื่อลดความเสี่ยงเหล่านั้นอย่างมีประสิทธิภาพ สร้างความไว้วางใจ และสร้างคุณค่าระยะยาวให้กับธุรกิจของพวกเขา ตลอดจนสังคม และโลกใบนี้" Bob Moritz ประธาน PwC โกลบอล กล่าวสรุป


อ่านเพิ่มเติม: SCB WEALTH ครองใจลูกค้ามั่งคั่ง คัดสรรผลิตภัณฑ์ให้ตอบโจทย์



ไม่พลาดบทความและเรื่องราวน่าสนใจอื่นๆ ติดตามเราได้ที่เฟซบุ๊ก Forbes Thailand Magazine