แม้ภาพรวมตลาดการลงทุนปีที่ผ่านมาเต็มไปด้วยความยากลำบาก แต่ SCB WEALTH ยังสามารถรับมือกับความท้าทายทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้น โดยคัดสรรและพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้สอดคล้องกับภาวะตลาดได้อย่างทันท่วงที ทำให้ผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ครองส่วนแบ่งการตลาดอันดับหนึ่ง ทั้ง KIKO, หุ้นกู้อนุพันธ์แฝงอ้างอิงดอกเบี้ย THOR และประกันชีวิตประเภท Unit-linked ผ่านช่องทางธนาคาร ด้าน Private Asset มียอดขายรวมเพิ่มขึ้น 153%
เมื่อเร็วๆ นี้ ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) จัดงาน SCB WEALTH : HOLISTIC EXPERTS ในหัวข้อ “2023 INVESTMENT STRATEGY FRAMING A FUTURE AFTER A PERFECT STORM” ยรรยง ไทยเจริญ รองผู้จัดการใหญ่อาวุโส ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มธุรกิจ Wholesale และรองผู้จัดการใหญ่อาวุโส ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มธุรกิจ Wealth ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) กล่าวถึงภาพรวมธุรกิจปีที่ผ่านมาว่า
ตลาดการลงทุนโลกและไทยมีปัจจัยที่ท้าทายและมีความผันผวนสูง ทำให้ภาพรวมธุรกิจ Wealth ในประเทศได้รับผลกระทบ มูลค่าสินทรัพย์ภายใต้การจัดการของธุรกิจบริษัทจัดการกองทุนรวม (Investment AUM) โดยรวมลดลงกว่า 10 %
อย่างไรก็ตามสินทรัพย์ภายใต้การบริหารของ SCB Wealth ลดลงในอัตราที่น้อยกว่าค่าเฉลี่ยของตลาด แต่จากการเฟ้นหาและพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้ตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้า สามารถสร้างผลตอบแทนที่ดี เพิ่มความมั่งคั่งให้กับพอร์ตการลงทุนของลูกค้า
โดยผลิตภัณฑ์ของ SCB Wealth ได้รับการตอบรับที่ดีจากลูกค้า เช่น ตราสารอนุพันธ์ที่อิงกับหุ้นสามัญ (KIKO) ยังคงครองอันดับ 1 ในตลาดและเติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยปี 2565 โตเพิ่ม 54% หุ้นกู้อนุพันธ์แฝงอ้างอิงดอกเบี้ย (THOR) ครองอันดับ 1 ในตลาด และ Private Asset มียอดรวมเพิ่มขึ้น 153% จากปีที่ผ่านมา
นอกจากนั้น ยังคงให้ความสำคัญกับการนำเสนอผลิตภัณฑ์การลงทุนและบริการในรูปแบบที่หลากหลายเพื่อกระจายความเสี่ยง เช่น สินเชื่อเพื่อการลงทุน Lombard และ Property-backed Loan หรือผลิตภัณฑ์ประกันควบการลงทุน Regular Unit-linked ที่ SCB ยังคงครองอันดับ 1 ในตลาด Banca Business (38% market share) ทำให้มีกระแสรายได้ของธุรกิจจากหลากหลายช่องทาง ผลักดันให้ Wealth Business เป็น Growth Engine และยังคงเป็นธุรกิจหลักในการสร้างรายได้ค่าธรรมเนียมให้กับธนาคารไทยพาณิชย์ต่อไป
“กลยุทธ์ในปี 2566 เรายังคงมุ่งเน้นการดูแลลูกค้าและให้คำแนะนำในการบริหารพอร์ตอย่างสม่ำเสมอตามสภาวะและจังหวะการลงทุน และสร้างความแตกต่างด้วยการยกระดับการให้บริการและคำปรึกษาผ่านช่องทาง Digital Wealth และยกระดับประสบการณ์ของลูกค้าในทุกช่องทางแบบไร้รอยต่อ รวมทั้งนำเสนอผลิตภัณฑ์แบบ open architecture ที่ตอบโจทย์ลูกค้าอย่างครบวงจร”
เผยกลยุทธ์และการลงทุนในต่างประเทศ
ศรชัย สุเนต์ตา ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสายงาน Investment Office and Product และผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารฝ่าย SCB Chief Investment Office (SCB CIO ) ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่าปีนี้โลกของการลงทุนเริ่มสดใสมากขึ้น มีปัจจัยบวกจากการเปิดเมืองของจีน
ส่วนปัจจัยลบที่ยังคงมีอยู่ เช่น ภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว อาจได้เห็นภาวะเศรษฐกิจถดถอยในบางประเทศ เช่น ยุโรป แต่ไม่รุนแรงนัก ส่วนอัตราดอกเบี้ยยังปรับขึ้นอีกเล็กน้อย เนื่องจากเงินเฟ้อทยอยปรับลดลงมาแล้วแต่ยังอยู่ในระดับสูง ทำให้ตลาดการเงินมีความผันผวนในช่วงครึ่งปีแรกและว่า
ในช่วงนี้แนะนำให้ทยอยลงทุนในตราสารหนี้ต่างประเทศ เพราะโอกาสที่อัตราผลตอบแทนตราสารหนี้จะปรับเพิ่มขึ้นในระดับสูงมีค่อนข้างจำกัด สอดคล้องกับที่คณะกรรมการธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยแบบค่อยเป็นค่อยไป เพื่อลดความเสี่ยงที่มีต่อเศรษฐกิจ รวมทั้งแนะนำให้เพิ่มอายุเฉลี่ยของตราสารหนี้
โดยทยอยเพิ่ม Duration ในพอร์ตการลงทุน เน้นหุ้นกู้ภาคเอกชนที่มีอันดับความน่าเชื่อถือสูง (Investment Grade) ทั้งของไทยและต่างประเทศ
ขณะเดียวกันก็เป็นโอกาสดีในการคัดเลือกสินทรัพย์ที่น่าสนใจในราคาไม่แพง โดยตลาดหุ้นเอเชียเป็นทางเลือกที่น่าสนใจ เพราะเงินสกุลดอลลาร์สหรัฐฯ มีแนวโน้มอ่อนค่าลง และยังเป็นตลาดที่มีแรงหนุนจากการเปิดเมืองของจีน โดยเฉพาะตลาดหุ้นจีน A-Share
เนื่องจากดัชนีหมีมีแนวโน้มได้รับแรงหนุนจากการออกมาตรการกระตุ้นการบริโภค การสนับสนุนการฟื้นตัวของภาคอสังหาริมทรัพย์ และการผ่อนคลายมาตรการควบคุมการแพร่ระบาด ขณะที่มูลค่ายังอยู่ในระดับต่ำกว่าค่าเฉลี่ย และมีแนวโน้มฟื้นตัว ส่วนตลาดหุ้นจีน H-Share ได้รับประโยชน์จากการเปิดเมืองของจีนเช่นกัน
สำหรับตลาดหุ้นไทยได้รับผลบวกจากเศรษฐกิจฟื้นตัวตามการท่องเที่ยว มีแรงหนุนจากมาตรการช้อปดีมีคืน และการใช้จ่ายช่วงก่อนเลือกตั้ง แนะนำให้ลงทุนโดยเน้นหุ้นกลุ่มพาณิชย์ ขนส่ง และสาธารณูปโภค ในช่วง 1 ปีก่อนที่จะมีการเลือกตั้งต้นปี 2567 รวมทั้งตลาดหุ้นอินโดนีเซียที่มีแรงหนุนจากการใช้จ่ายในประเทศที่เติบโต
ศรชัยกล่าวถึงการพัฒนาผลิตภัณฑ์การลงทุนในปีนี้ว่า ยังคงมุ่งมั่นนำเสนอผลิตภัณฑ์การลงทุนใหม่ๆ ที่ตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้าให้มากขึ้น เช่น ผลิตภัณฑ์ประเภทหุ้นกู้ที่มีอนุพันธ์แฝง หรือ Structured Note ซึ่งมีการป้องกันความเสี่ยงในช่วงขาลง และผลิตภัณฑ์การลงทุนประเภท Thematic ที่ใส่ใจเรื่องสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล (ESG)
รวมทั้งให้ความสำคัญกับการเสริมสภาพคล่องการลงทุนให้กับลูกค้า ผ่านผลิตภัณฑ์สินเชื่อเพื่อการลงทุนที่ใช้สินทรัพย์ทางการเงินเป็นหลักประกัน (Lombard Loan) หรืออสังหาริมทรัพย์เป็นหลักประกัน (Property-Backed Loan)
และคาดว่าไตรมาสที่ 3 จะมีบริการดิจิทัลที่มาช่วยให้ลูกค้าลงทุนได้สะดวกมากขึ้น เช่น บริการเตือนอัจฉริยะเมื่อตลาดเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว หรือหลักทรัพย์ที่ลงทุนไว้ครบกำหนดไถ่ถอน เป็นต้น
ด้าน สุกิจ อุดมศิริกุล กรรมการผู้จัดการ สายงานวิจัย บริษัทหลักทรัพย์ อินโนเวสท์ เอกซ์ จำกัด ให้มุมมองการลงทุนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยปี 2566 โดยกล่าวถึงแนวโน้มภาวะเศรษฐกิจและการลงทุนในไตรมาสที่ 1 ว่า
ความเสี่ยงด้านนโยบายการเงินตึงตัวมีแนวโน้มลดลง ความเสี่ยงด้านเศรษฐกิจและผลการดำเนินงานชะลอตัวกำลังเพิ่มขึ้น ส่วนการเปิดประเทศของจีนเป็นปัจจัยบวกที่ช่วยลดความเสี่ยงด้านเศรษฐกิจชะลอตัวได้บางส่วน และคาดว่าไตรมาสที่ 2 จะเห็นสัญญาณของเศรษฐกิจและกำไรผ่านจุดต่ำสุด
โดยปัจจัยสำคัญที่อาจกระตุ้นให้ตลาดถึงจุดต่ำสุดในไตรมาส 2 ได้แก่ นโยบายการเงินที่เริ่มลดระดับการตึงตัว และ Real yield กลับมาเป็นบวกและดอลล่าร์จะอ่อนค่าลง ซึ่งจะส่งผลดีต่อสินทรัพย์เสี่ยงโดยเฉพาะตลาด Emerging Market โดยจุดเข้าซื้อที่สำคัญอยู่ระหว่าง 1,550-1,600 จุด และคิดว่าตลาดหุ้นยังมี downside อีกมากหากเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอยในช่วงไตรมาส 2
ขณะที่ไตรมาส 3 ตลาดหุ้นไทยจะได้รับประโยชน์จากเศรษฐกิจในประเทศที่เติบโตได้ดีกว่าสหรัฐ ยุโรป รวมถึงมีเงินทุนต่างชาติไหลเข้าตลาดหุ้นเอเชีย ขณะที่ไตรมาส 4 ผลตอบแทนของตลาดฯ มีจำกัด เนื่องจากแนวโน้มการเติบโตของปี 2567 กลับสู่ภาวะปกติ หากตลาดหุ้นจีนฟื้นตัวตลาดหุ้นไทยจะได้รับผลดีในอุตสาหกรรม 4 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มพาณิชย์ ขนส่ง อาหารและเครื่องดื่ม และท่องเที่ยว
สุกิจมีความเห็นว่าแม้จะมีปัจจัยท้าทายจากภายนอกประเทศ แต่เศรษฐกิจไทยปี 2566 ยังอยู่ในทิศทางฟื้นตัวอย่างต่อเนื่อง โดยปัจจัยสนับสนุนสำคัญคือการเปิดประเทศของจีน ส่งผลให้การท่องเที่ยวฟื้นตัวได้ดีต่อเนื่องจากปี 2565 การบริโภคภายในประเทศยังแข็งแกร่ง ช่วยลดความเสี่ยงจากการส่งออกที่ชะลอตัว บริษัทจดทะเบียนไทยมีสถานะทางการเงินที่ดี นโยบายการเงินที่เป็นอย่างค่อยเป็นค่อยไป ทำให้ตลาดไม่ผันผวน
สิ่งที่คาดว่าจะเกิดขึ้นในปี 2566 คือจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติเพิ่มมากขึ้น ภาคบริการฟื้นตัว ค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้น และการเติบโตมีแนวโน้มชะลอตัวลงในไตรมาสที่ 2 ของปี สำหรับกลยุทธ์การลงทุนในปีนี้ แนะนำให้แบ่งหุ้นเป็น 2 พอร์ต โดย 70% เน้นหุ้นพื้นฐานดีที่ได้ประโยชน์จากเปิดเมืองของจีนและเศรษฐกิจในประเทศฟื้นตัว อีก 30% เป็นหุ้นเก็งกำไรที่คาดว่าผลการดำเนินงานจะ Turnaround
อ่านเพิ่มเติม: DBS เปิดแผนปี 66 เดินหน้าสร้างอาคารเรียน รับ 3 โอกาสธุรกิจการศึกษา
ไม่พลาดบทความและเรื่องราวน่าสนใจอื่นๆ ติดตามเราได้ที่เฟซบุ๊ก Forbes Thailand Magazine