เมื่อการ ‘สมรสเท่าเทียม’ กำลังเกิดขึ้นในหลายประเทศทั่วโลกรวมถึงประเทศไทย โดยจะช่วยให้คู่รักเพศเดียวกันเข้าถึงสิทธิขั้นพื้นฐาน และทรัพยากรต่างๆ ของรัฐได้อย่างเต็มที่ ถือเป็นการเปลี่ยนแปลงที่ทำให้การใช้ชีวิตของทุกคนดีขึ้น แต่ในอีกมุมคือการเปลี่ยนแปลงนี้ยังส่งผลดีต่อมิติเศรษฐกิจอีกด้วย
Forbes Thailand อยากชวนมาดูกรณีศึกษาในประเทศหลักอย่างสหรัฐ และผลกระทบด้านบวกต่อเศรษฐกิจไทยที่จะเกิดขึ้น
กรณีศึกษา ‘สมรสเท่าเทียม’ กระตุ้นเศรษฐกิจสหรัฐ 1.2 แสนล้านบาท
ในสหรัฐ หลังจากการบังคับใช้กฎหมายสมรสเท่าเทียมในช่วงปี 2558 - 2562 โดยผลการศึกษาของ The William Institute พบว่า กฎหมายสมรสเท่าเทียม สามารถช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจถึง 3,800 ล้านเหรียญสหรัฐ (ราว 129,093 ล้านบาท)* นอกจากนี้ยังสร้างการจ้างงานในธุรกิจที่เกี่ยวข้องเพิ่มขึ้นกว่า 45,000 ราย (เช่น ธุรกิจการจัดงานแต่งงาน ฯลฯ)
สาเหตุหลักที่ กฎหมายสมรสเท่าเทียมสามารถช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจได้นั้น มาจาก 75% ของกลุ่ม LGBT เป็นกลุ่มประชากรที่มีรายได้สูง และไม่มีลูก รวมถึงครอบครัว LGBT จะมีการซื้อสินค้าอุปโภคบริโภคสูงกว่าครัวเรือนทั่วไป
นอกจากนี้ ในมิติการรับเลี้ยงบุตรบุญธรรมและอุปถัมภ์เด็ก พบว่า คู่รักเพศเดียวกันที่แต่งงานแล้วมีการอุปถัมภ์เด็กในอัตราที่สูงกว่าคู่รักต่างเพศ โดยกรณีศึกษาในออสเตรเลีย ยังพบว่าเด็กที่เติบโตในครอบครัวที่ครอบครัวมีความหลากหลายทางเพศวิถีจะช่วยให้เด็กมีมุมมองที่เปิดกว้างยอมรับความหลากหลายทางสังคมและวัฒนธรรมได้ดีมากขึ้น

สมรสเท่าเทียมของไทยเป็นแบบไหน
หลังจาก ที่ประชุมวุฒิสภา มีมติเห็นชอบร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่..) พ.ศ. … หรือร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียม เมื่อ 18 มิ.ย. 2567 ทำให้ไทยกลายเป็นประเทศแรกในอาเซียนที่มีกฎหมายฯ นี้และทำให้คู่รักที่มีความหลากหลายทางเพศจะได้รับสิทธิตามกฎหมาย ได้แก่
1) สิทธิในการตั้งครอบครัว
2) สิทธิในการรับบุตรบุญธรรมร่วมกัน
3) สิทธิทางทรัพย์สินและมรดก
4) สิทธิในการดูแลระหว่างคู่ชีวิต
แน่นอนว่า เมื่อมีการปรับเปลี่ยนสถานะให้คู่รักทุกเพศ จะเชื่อมโยงถึงสิทธิตามกฎหมายอื่น เช่น สวัสดิการข้าราชการ (สิทธิเบิกค่ารักษาพยาบาล, รับเงินบำเหน็จตกทอด) ขณะที่ สวัสดิการลูกจ้างภาคเอกชน คู่สมรสซึ่งมีฐานะเป็นทายาทโดยธรรม มีสิทธิที่จะได้รับเงินบำเหน็จชราภาพ เงินสงเคราะห์จากกองทุนประกันสังคม และเงินค่าทำศพหากเป็นผู้ดำเนินการจัดการศพ รวมทั้งเป็นผู้รับประโยชน์จากการทำประกันชีวิตได้

สมรสเท่าเทียมจะส่งผลต่อเศรษฐกิจไทยอย่างไร
สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ หรือ สภาพัฒน์ เปิดเผยข้อมูลของ Ipsos ปี 2566 คาดว่า ไทยอาจมีประชากร LGBTQ+ วัยผู้ใหญ่ราว 4.4 ล้านคน (9% ของประชากร) หากมีการแต่งงานในอัตราเดียวกับการจดทะเบียนสมรสระหว่างชายหญิง อาจส่งผลให้ในแต่ละปีมีการจัดงานแต่งงานเพิ่มขึ้นประมาณ 12,000 งาน ส่งผลดีต่อธุรกิจที่เกี่ยวเนื่อง เช่นโรงแรม สตูดิโอถ่ายภาพ ฯลฯ หรือสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจได้ถึงปีละ 1,700 ล้านบาท
ที่สำคัญคือ กฎหมายนี้ จะช่วยเพิ่มโอกาสในการเข้าถึงสินเชื่อและการเป็นเจ้าของทรัพย์สิน เพราะสามารถกู้ร่วมได้ง่ายขึ้น ข้อมูลจากศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (REIC) ระบุว่าผู้ต้องการซื้อที่อยู่อาศัยในกลุ่ม LGBTQ+ อยู่ที่ 4.9%
ในด้านสังคมยังมีผลดีทั้งความสัมพันธ์ภายในครอบครัวมั่นคงขึ้นจากการมีหลักประกันของการใช้ชีวิตคู่ และการรับบุตรบุญธรรมอาจมีส่วนช่วยลดปัญหาเด็กโตนอกบ้านได้

แต่ไทยยังต้องเตรียมตัวอีกหลายด้านโดยสภาพัฒน์ มองใน 3 ส่วนหลักได้แก่
1) การทบทวนกฎหมายที่เกี่ยวข้อง และความพร้อมของภาครัฐ จากการแก้ไขที่ระบุให้บรรดาบทบัญญัติแห่งกฎหมาย กฎ ระเบียบ ข้อบังคับ ข้อกำหนด ข้อบัญญัติ ประกาศ คำสั่ง หรือมติคณะรัฐมนตรีต่าง ๆ ที่มีการอ้างถึงคำว่า “สามี” “ภริยา” ให้ถือว่าอ้างถึงคู่สมรสที่จดทะเบียนสมรสตามร่าง พ.ร.บ.ฯ ฉบับนี้ ซึ่งจะทำให้มีกฎหมาย 51 ฉบับ ที่ต้องได้รับการทบทวน อีกทั้ง รัฐจะต้องเตรียมความพร้อมด้านทะเบียน เอกสาร ใบสำคัญต่าง ๆ เกี่ยวข้อง
2) การเชื่อมโยงสิทธิต่างๆ ให้สอดคล้องกัน โดยเฉพาะกรณีบุตรบุญธรรม ที่ยังคงถูกจำกัดสิทธิที่ได้รับจากพ่อแม่ผู้ให้กำเนิด เช่น ค่ารักษาพยาบาล และค่าเล่าเรียน ซึ่งหากไม่สามารถติดตามตัวได้ ทำให้เด็กไม่ได้รับสิทธิ และเป็นภาระค่าใช้จ่ายของพ่อแม่บุญธรรม จึงอาจต้องพิจารณา เพื่อให้ผู้รับบุตรบุญธรรมสามารถให้สิทธิแก่บุตรบุญธรรมได้
3) ภาคธุรกิจต้องเตรียมรองรับกลุ่มคนเพศหลากหลาย ผ่านการศึกษาพฤติกรรมการบริโภค และกลยุทธ์ทางการตลาดที่ตอบโจทย์
*อัตราแลกเปลี่ยนที่ 33.97 บาทต่อเหรียญสหรัฐ
Photo by Mercedes Mehling, kazuend, Kristina Litvjak, Harli Marten on Unsplash
เรื่องราวอื่นๆ ที่น่าสนใจ : ก่อน ‘สมรสเท่าเทียม’ จะเริ่มบังคับใช้ ธนาคารไหนให้ คู่รัก LGBTQ+ กู้ซื้อบ้านร่วมกันได้บ้าง
ไม่พลาดบทความและเรื่องราวน่าสนใจอื่นๆ ติดตามเราได้ที่เฟซบุ๊ก Forbes Thailand Magazine