ก่อน ‘สมรสเท่าเทียม’ จะเริ่มบังคับใช้ ธนาคารไหนให้ คู่รัก LGBTQ+ กู้ซื้อบ้านร่วมกันได้บ้าง - Forbes Thailand

ก่อน ‘สมรสเท่าเทียม’ จะเริ่มบังคับใช้ ธนาคารไหนให้ คู่รัก LGBTQ+ กู้ซื้อบ้านร่วมกันได้บ้าง

ท่ามกลางความหลากหลายทางเพศที่เพิ่มขึ้น แต่กฎหมาย และเรื่องต่างๆ กลับไม่ได้ปรับเปลี่ยนเร็วเท่าทันการเปลี่ยนแปลงในสังคมและชีวิตของผู้คน ที่ผ่านมาจึงเห็นปัญหาที่คู่รัก LGBTQ+ ต่างต้องเผชิญ เช่น เมื่อไม่สามารถแต่งงานกันได้ตามกฎหมาย สิทธิ สวัสดิการ และ อื่นๆ ก็สามารถส่งผ่านไปสู่คนรักของตน ไปจนถึง การสร้างอนาคตร่วมกัน อย่างการกู้ร่วมขอสินเชื่อบ้านกลายเป็นเรื่องยากกว่าที่หลายคนคิด


    ล่าสุด เมื่อวานนี้ (18 มิ.ย.67) ร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... หรือ ร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียม ทางที่ประชุมวุฒิสภามีมติเห็นชอบ ร่างกฎหมายฯ นี้แล้ว โดยมีคะแนนเห็นชอบ 130 เสียง ถือเป็นข่าวดีสำหรับประชาชนทุกเพศจะมีสิทธิเกี่ยวกับการสมรสได้อย่างเท่าเทียมกัน

    แต่ร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียมนี้ยังไม่ได้มีผลบังคับใช้ทันที ต้องผ่านขั้นตอนอีกบางส่วน และจะบังคับใช้ทันทีหลังการประกาศในราชกิจจานุเบกษา 120 วัน ซึ่งหลายฝ่ายคาดว่าจะได้เห็นกันในปี 2567 นี้

    ดังนั้น หากคู่รัก LGBTQ+ ต้องการสร้างอนาคต สร้างครอบครัวไปด้วยกัน ทางด้านธนาคารจะมีความพร้อมแค่ไหน และมีธนาคารใดสามารถขอสินเชื่อบ้านได้บ้าง Forbes Thailand รวบรวบข้อมูลไว้ที่นี่แล้ว

กรุงศรีฯ เผยรุกตลาดสินเชื่อบ้าน LGBTQ+ มาตั้งแต่ปี 2564

    ‘ดมิศา พิศิษฐวานิช’ ประธานคณะเจ้าหน้าที่ด้านผลิตภัณฑ์และการตลาดลูกค้ารายย่อย ธนาคารกรุงศรีอยุธยา หรือ BAY เปิดเผยกับ Forbes Thailand ว่า เราเห็นความสำคัญของคู่สมรสเท่าเทียม คู่ชีวิตเท่าเทียมมาตั้งแต่ปี 2564 ปัจจุบันธนาคารจึงมีการให้สินเชื่อทั้งวงเงินเพื่อซื้อบ้าน และการรีไฟแนนซ์ นอกจากนี้ยังมีโปรโมชั่น ฟรีค่าธรรมเนียมการสำรวจและประเมินหลักประกันให้กลุ่มลูกค้านี้อีกด้วย

    เมื่อคู่รัก LGBTQ+ ต้องขอสินเชื่อบ้านร่วมกัน นอกจากเอกสารรายได้ และอื่นๆ ธนาคารจะขอเอกสารเพิ่มเติมเพื่อยืนยันว่า ผู้กู้มีความสัมพันธ์หรือการอยู่ร่วมกัน อย่างใดอย่างหนึ่งเป็นระยะเวลาอย่างน้อย 1 ปี ตามที่ธนาคารกำหนด เช่น

    - ทะเบียนบ้านที่อยู่ด้วยกัน
    - บัญชีเงินฝากที่เปิดร่วมกัน
    - สัญญาเช่าบ้านหรือที่พักอาศัยที่ลงนามร่วมกัน
    - ทะเบียนสมรสจากต่างประเทศ
    - อื่นๆ
    (ข้อมูลเพิ่มเติม โดยปกติแล้วการขอสินเชื่อร่วมกัน ธนาคารจะขอเอกสารเพิ่มเติมเพื่อยืนยันความสัมพันธ์ระหว่างผู้กู้ร่วมอยู่แล้ว)

    ทั้งนี้ เงื่อนไขการขอสินเชื่อบ้าน“คู่เพื่อน” ยังมีรายละเอียด ได้แก่ 

    - อายุ 27 – 65 ปี
    - พนักงานประจำ อายุงานรวมที่ทำงานเดิมและปัจจุบันตั้งแต่ 2 ปี ขึ้นไป (งานปัจจุบันต้องผ่านการทดลองงานแล้ว)
    - ผู้ประกอบธุรกิจส่วนตัว ประกอบธุรกิจมาแล้ว ตั้งแต่ 2 ปี ขึ้นไป
    - ผู้กู้หลักต้องมีรายได้ 30,000 บาทต่อเดือนขึ้นไป และเมื่อรวมรายได้ของผู้กู้ร่วมแล้วต้องไม่น้อยกว่า 50,000 บาทต่อเดือน

ดมิศา พิศิษฐวานิช ประธานคณะเจ้าหน้าที่ด้านผลิตภัณฑ์และการตลาดลูกค้ารายย่อย ธนาคารกรุงศรีอยุธยา

ทหารไทยธนชาต พร้อมปล่อยกู้สินเชื่อบ้าน LGBTQ+

    ด้านธนาคารทหารไทยธนชาต หรือ ttb กล่าวว่า สำหรับคู่รัก LGBTQ+ ที่ต้องการกู้ซื้อบ้าน ซื้อคอนโดร่วมกัน สามารถขอสินเชื่อได้ทั้งกู้ซื้อบ้าน และรีไฟแนนซ์ โดยจะใช้หลักฐานแสดงความสัมพันธ์เพิ่มเติม เช่น รูปภาพเพื่อยืนยันว่าเป็นคู่รัก หรือเอกสารยืนยันว่าอาศัยอยู่ร่วมกัน อย่างทะเบียนบ้านที่มีชื่อทั้งสองคน หรือเอกสารในการกู้ซื้อทรัพย์สินร่วมกัน เช่น รถยนต์ ไปจนถึงอาจใช้เอกสารการทำธุรกิจร่วมกันก็ได้

    ส่วน เงื่อนไขในการพิจารณาสินเชื่อ ระบุว่า กรณีพนักงานประจำ ผู้กู้หลักต้องผ่านเกณฑ์อนุมัติ และกำหนดรายได้ขั้นต่ำต่อเดือนตั้งแต่ 30,000 บาทขึ้นไป และฐานเงินเดือนประจำ (Basic Salary) ตั้งแต่ 10,000 บาทขึ้นไป กรณีเจ้าของกิจการ ซึ่งเกณฑ์รายได้ตามปกติผู้กู้ร่วม ไม่นับรวมรายได้ต้องถือกรรมสิทธิร่วมกันทั้งผู้กู้หลักและผู้กู้ร่วมทุกกรณี


CIMBT คาดตลาดสินเชื่อบ้านไทยมีลูกค้ากลุ่ม LGBTQ+ 3 ล้านคน

    ฝั่งธนาคารซีไอเอ็มบีไทย หรือ CIMBT เปิดเผยว่า ตลาดสินเชื่อบ้านในประเทศไทยคาดว่าจะมีฐานกลุ่มลูกค้า LGBTQ+ ประมาณ 3 ล้านคน ซึ่งธนาคารมีผลิตภัณฑ์สินเชื่อบ้านในกลุ่มลูกค้าดังกล่าว ทั้งการกู้ซื้อบ้านมือ 1 มือ 2 สินเชื่อบ้านอเนกประสงค์ มอร์เกจพาวเวอร์ และรีไฟแนนซ์

    อย่างไรก็ตามเงื่อนให้ถือกรรมสิทธิ์ในหลักประกันร่วมกัน และผู้กู้เป็นพนักงานประจำ หรือเจ้าของกิจการ ที่มีรายได้ 30,000 บาทขึ้นไป นอกจากนี้ในแต่ละประเภทสินเชื่อยังมีโปรโมชัน เช่น อัตราดอกเบี้ยพิเศษ ฟรี ค่าประเมินราคาหลักทรัพย์ ฯลฯ


บางแบงก์แม้ไม่มีโปรดักส์เฉพาะทาง แต่กู้ร่วมสินเชื่อบ้านได้

    นอกจากนี้ ผู้เขียนได้สอบถามเพิ่มเติมไปยังธนาคารอื่นๆ พบว่า หลายธนาคารเคยมีการออกแคมเปญพิเศษในบางช่วงเวลา (ธนาคารอาคารสงเคราะห์) และบางธนาคารแม้จะไม่มีสินเชื่อบ้านสำหรับ LGBTQ+ แต่ยังสามารถขอสินเชื่อบ้านเพื่อพิจารณา การปล่อยกู้ได้เช่นกัน

    ธนาคารกสิกรไทยหรือ KBank ที่ระบุว่า ในปัจจุบันไม่มีสินเชื่อ LGBTQ+ โดยเฉพาะ แต่ลูกค้าสามารถขอวงเงินสินเชื่อบ้านในลักษณะการกู้ร่วมได้ ซึ่งรวมถึงความสัมพันธ์ในฐานะเป็นเพื่อน โดยธนาคารจะพิจารณาการให้สินเชื่อแก่ลูกค้าทุกกลุ่มอย่างเท่าเทียมและเป็นธรรม ตามคุณสมบัติที่เหมาะสมตามข้อกำหนดของธนาคาร

    สุดท้ายนี้ อาจต้องติดตามว่าหลังจาก ร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียม ฟากฝั่งธนาคารจะปรับปรุงนิยามของ ‘คู่สมรส’ ได้เลยหรือไม่ แต่โจทย์ใหญ่ของการขอสินเชื่อยังคงเป็นเรื่อง ความสามารถในการชำระหนี้ หรือผู้กู้มีรายได้เพียงพอที่จะจ่ายคืนสินเชื่อได้มากแค่ไหน



Image by chandlervid85 on FreepikPhoto by James A. Molnar on Unsplash



เรื่องราวอื่นๆ ที่น่าสนใจ : ​เจาะลึกเบื้องหลัง เมื่อเหล่าคนดังหันมาทำแบรนด์เครื่องสำอาง

ไม่พลาดบทความและเรื่องราวน่าสนใจอื่นๆ ติดตามเราได้ที่เฟซบุ๊ก Forbes Thailand Magazine