หลายคนคงคุ้นเคยกับร้านอาหาร “โอ้กะจู๋” ที่เริ่มต้นจากการเปิดร้านในเชียงใหม่ โดยมีจุดขายคือฟาร์มผลิตผักของตนเอง ต่อมาเริ่มขยายร้านมาสู่กรุงเทพจนมีสาขาในหลายจังหวัด จากนั้นยังมีข่าวใหญ่คือ OR หรือ บมจ. ปตท. น้ำมันและการค้าปลีก เข้ามาซื้อหุ้นของโอ้กะจู๋ และขยายธุรกิจผ่านเครือข่ายของ ปตท. ล่าสุดเตรียมเข้า IPO ในตลาดหลักทรัพย์ฯ แล้ว
เตรียม IPO! ประกาศยื่น Filing ต่อ ก.ล.ต.แล้ว
2 เม.ย.67 ที่ผ่านมา บริษัท ปลูกผักเพราะรักแม่ จำกัด (มหาชน) หรือ OKJ เจ้าของแบรนด์ โอ้กะจู๋ ได้ยื่นแบบคำขออนุญาตเสนอขายหลักทรัพย์และร่างแบบแสดงรายการข้อมูลการเสนอขายหลักทรัพย์ (Filing) ต่อสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) เพื่อออกและเสนอขายหุ้น IPO จำนวนไม่เกิน 159 ล้านหุ้น หรือคิดเป็นไม่เกิน 26.1% ของจำนวนหุ้นสามัญที่ออกและชำระแล้วทั้งหมดของบริษัทฯ
วัตถุประสงค์ในการระดมทุนครั้งนี้ เพื่อใช้ขยายสาขา เพิ่มศักยภาพในการดำเนินธุรกิจและขีดความสามารถในการแข่งขัน เพื่อต่อยอดการดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืน
โอ้กะจู๋ วางแผนธุรกิจไว้อย่างไร?
นายชลากร เอกชัยพัฒนกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ปลูกผักเพราะรักแม่ จำกัด (มหาชน) หรือ OKJ เล่าว่า ปัจจุบันมีแผนใน 3 ธุรกิจหลัก ได้แก่
1. ธุรกิจบริการและจำหน่ายอาหาร ภายใต้แบรนด์ “โอ้กะจู๋” โดยจำหน่ายอาหารและเครื่องดื่มเพื่อสุขภาพ โดยมี 4 ช่องทางการขายหลัก คือ
1.1 Full-service Restaurant ร้านอาหารที่ให้บริการเต็มรูปแบบ ที่จะขายอาหารปรุงสด, มีบริการ Drive Thru, บริการ Snack box และรองรับ Food Delivery ปัจจุบันมีจำนวน 30 สาขา ในเชียงใหม่ กรุงเทพฯ ปริมณฑล ระยอง และชลบุรี
1.2 Delivery and Kiosk ที่จะเน้น Delivery และ Grab & Go ปัจจุบันมีจำนวน4 สาขา ในกรุงเทพฯ
1.3 Cafe Amazon จำหน่ายอาหารว่างและอาหารเพื่อสุขภาพ เช่น แซนวิช สลัดผัก แร็พ สลัด ผ่านร้าน Cafe Amazon กว่า 300 สาขาในกรุงเทพฯ ปริมณฑล ภาคกลางและภาคตะวันออก และ
1.4 Supermarket ซึ่งเป็นการวางจำหน่ายผลผลิตการเกษตรอินทรีย์ ภายใต้แบรนด์ “โอ้กะจู๋” เช่น ผัก ผลไม้ สลัดพร้อมทาน เป็นต้น ผ่าน Rimping Supermarket และ Gourmet Market จำนวน 9 สาขา ในเชียงใหม่ และกรุงเทพฯ
2. ธุรกิจร้านอาหารประเภทจานด่วน ภายใต้แบรนด์ “Ohkajhu Wrap & Roll” จำหน่ายสลัด แร๊พสลัด แซนวิช เบอร์เกอร์ และเมนูสุขภาพพร้อมหยิบ (Grab & Go) เพื่อให้ตอบโจทย์ชีวิตที่เร่งรีบ
3. ธุรกิจร้านน้ำผักผลไม้เพื่อสุขภาพภายใต้แบรนด์ “Oh Juice” ได้แก่ น้ำผักออร์แกนิคและผลไม้ที่จำหน่ายในร้านโอ้กะจู๋ คาดว่าจะเปิดร้าน Ohkajhu Wrap & Roll และร้าน Oh Juice สาขาแรกไตรมาส 2 ปี 2567
นอกจากนี้ ปัจจุบัน OKJ ยังปลูกทั้งผักสลัด ผลไม้ และดอกไม้ทานได้ (แบบเกษตรอินทรีย์) ในจังหวัดเชียงใหม่มีพื้นที่ราว 380 ไร่ อีกทั้งยังรับซื้อผักผลไม้ออร์แกนิคจากเกษตรกรในเครือข่ายเพื่อนำมาเป็นวัตถุดิบและจำหน่ายในร้านโอ้กะจู๋ ภายใต้แบรนด์ “โอ้กาด”
เปิดรายได้ OKJ ปี 2564 ขาดทุน แต่ปี 2565-2566 พลิกกำไร
ในด้านรายได้ปี 2564-2566 จากข้อมูลจากเอกสาร Filing ของ ก.ล.ต. พบว่า
รายได้จากการขาย (ณ 31 ธ.ค.)
- ปี 2564 อยู่ที่ 797.86 ล้านบาท (ค่าใช้จ่ายรวม 336.89 ล้านบาท)
- ปี 2565 อยู่ที่ 1,210.41 ล้านบาท (ค่าใช้จ่ายรวม 462.23 ล้านบาท)
- ปี 2566 อยู่ที่ 1,712.83 ล้านบาท (ค่าใช้จ่ายรวม 585.99 ล้านบาท)
ขณะที่กำไรสุทธิ (ณ 31 ธ.ค.)
- ปี 2564 ขาดทุน 84.6 ล้านบาท (อัตรากำไรสุทธิ -10.5%)
- ปี 2565 มีกำไรสุทธิ 38.3 ล้านบาท (อัตรากำไรสุทธิ 3.2%)
- ปี 2566 มีกำไรสุทธิ 140.6 ล้านบาท (อัตรากำไรสุทธิ 8.2%)
ทั้งนี้ ณ สิ้นปี 2566 OKJ มีสินทรัพย์รวม 1,349.93 ล้านบาท ขณะที่มีหนี้สินรวม 772.01 ล้านบาท และมีส่วนของผู้ถือหุ้นรวม 577.92 ล้านบาท
เรื่องราวอื่นๆ ที่น่าสนใจ : หวั่นใจ 'ปิกอัพ-ยานยนต์ไทย' เสี่ยงถูกจีนกินรวบตลาด เสียเปรียบทั้งเรื่องราคา-กำลังผลิตรถ EV
ไม่พลาดบทความและเรื่องราวน่าสนใจอื่นๆ ติดตามเราได้ที่เฟซบุ๊ก Forbes Thailand Magazine