สภาพัฒน์ฯ มองเศรษฐกิจไทยปี 68 โตต่อเนื่อง ฝั่ง KTC คาด GDP โต 2.9% ช่วยหนุนพอร์ตสินเชื่อโต 4-5% - Forbes Thailand

สภาพัฒน์ฯ มองเศรษฐกิจไทยปี 68 โตต่อเนื่อง ฝั่ง KTC คาด GDP โต 2.9% ช่วยหนุนพอร์ตสินเชื่อโต 4-5%

สภาพัฒน์ฯ ประเมินเศรษฐกิจไทยปี 2568 ขยายตัวต่อเนื่องจากปี 67 โดยมีแรงส่งทั้ง ‘การส่งออก-ท่องเที่ยว-เงินอัดฉีดภาครัฐ-การลดดอกเบี้ยนโยบาย’ ฝั่ง KTC คาด GDP ปีหน้าโต 2.9% ช่วยหนุนพอร์ตสินเชื่อรวมขยายตัว 4-5%


    ดร. ศุภวุฒิ สายเชื้อ ประธานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ หรือ สภาพัฒน์ฯ เปิดเผยว่า ปี 2567 นี้ประเมินว่าเศรษฐกิจไทยจะขยายตัวที่ 2.7% โดยเฉพาะไตรมาส 4 จะขยายตัวถึง 4% เพราะมีแรงส่งจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล การท่องเที่ยวที่ฟื้นตัวต่อเนื่อง และการขยายตัวของการส่งออก

    ขณะที่ภาพรวมเศรษฐกิจปี 2568 ทาง IMF คาดการณ์ไว้ว่า GDP ไทยจะขยายตัว 2.9% ท่ามกลางความไม่แน่นอนสูงที่เกิดขึ้นทั่วโลกและความเสี่ยงของภูมิรัฐศาสตร์ หลังจากประธานาธิบดีทรัมป์ชนะการเลือกตั้งสหรัฐฯ แต่ยังมองว่าเศรษฐกิจไทยยังมีอีก 4 ปัจจัยในด้านบวก ได้แก่

    - การส่งออกสินค้าซึ่งคิดเป็นสัดส่วนประมาณ 50% ของจีดีพี โดยการส่งออกของไทยไปสหรัฐฯ เท่ากับเกือบ 10% ของจีดีพี จะมีความเสี่ยงที่เกี่ยวข้องกับโอกาสที่มีผลกระทบทางลบหรือความเสียหาย (downside risk) มาก และตลาดยุโรปกับจีนก็ดูจะไม่แข็งแรง

    - การท่องเที่ยวคงจะฟื้นตัวต่อไป คือจำนวนนักท่องเที่ยวต่างประเทศในปี 2568 น่าจะกลับไปที่ 40 ล้านคน เท่ากับปริมาณก่อนการระบาดของ COVID-19 แต่รายจ่ายต่อหัวจะยังต่ำกว่า

    - แรงกระตุ้นจากภาครัฐคงจะมีต่อเนื่องถึงประมาณกลางปี 2568 จากการแจกเงินก้อนสุดท้าย และการเร่งใช้งบลงทุน แต่การที่รัฐมนตรีคลังพูดถึงการเก็บภาษีเพิ่ม แปลว่า นโยบายการคลังน่าจะตึงตัวขึ้น

    - ด้านนโยบายการเงิน ตลาดคาดการณ์ว่าธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จะลดดอกเบี้ยนโยบายลง 2 ครั้งในปี 2568 เพราะเงินเฟ้อต่ำมาก แต่ในขณะเดียวกันธปท. ก็ยังคงจะส่งสัญญาณให้ธนาคารพาณิชย์เข้มงวดกับการปล่อยสินเชื่อใหม่ และธนาคารพาณิชย์เองก็คงจะต้องใช้เวลากับการแก้หนี้เสียที่ยังหลงเหลืออยู่ไม่น้อย ดังนั้น แนวโน้มของการลดลงของสัดส่วนหนี้สินต่อรายได้ (debt deleveraging) ก็จะยังดำเนินต่อไปในปี 2568 อย่างไรก็ตาม หากธปท.ผ่อนคลายนโยบายการเงินเชื่องช้าเกินไป ผลที่จะตามมาคือ กำลังซื้อในประเทศจะไม่แข็งแรงและเงินบาทจะแข็งค่าขึ้นไปอีกได้

ดร. ศุภวุฒิ สายเชื้อ ประธาน สภาพัฒน์ฯ


    นายอภิเชษฐ์ เกียรติวรคุณ ผู้อำนวยการ - การเงิน บริษัท บัตรกรุงไทย จำกัด (มหาชน) หรือ KTC กล่าวว่า ปี 2568 คาดว่าเศรษฐกิจไทยจะเติบโต 2.9% ซึ่งมีปัจจัยที่ต้องติดตาม คือ ความไม่แน่นอนของนโยบายการค้าโลก โดยเฉพาะประเด็นการขึ้นภาษีนำเข้าของสหรัฐฯ ที่อาจส่งผลกระทบต่อห่วงโซ่การผลิตและการส่งออกในภูมิภาค ซึ่งในระยะยาวอาจกระทบต่อไทยให้การแข่งขันรุนแรงยิ่งขึ้น

    ด้านนโยบายการเงิน ประเมินว่าปี 2568 จะเห็นการผ่อนคลายมากขึ้น โดยคาดว่า ธปท. จะปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายมาอยู่ที่ 1.50-2.00% สอดคล้องกับทิศทางทั่วโลก เนื่องจากเงินเฟ้อที่ชะลอตัวและราคาพลังงานที่คาดว่าจะปรับลดลง

    ทั้งนี้ ตลาดสินเชื่อผู้บริโภคมีโอกาสเติบโตจากเศรษฐกิจที่จะเร่งตัวขึ้น และต้นทุนทางการเงินที่ลดลง ซึ่งเอื้อให้สถาบันการเงินสามารถนำเสนอผลิตภัณฑ์ที่แข่งขันได้มากขึ้น แต่ความท้าทายหลักยังเป็นเรื่องหนี้ครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูง

นายอภิเชษฐ์ เกียรติวรคุณ ผู้อำนวยการ - การเงิน KTC


    ดังนั้น ในส่วนธุรกิจ KTC ปี 2568 ยังตั้งเป้ากำไรสุทธิที่เพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้า โดยพอร์ตสินเชื่อรวมคาดว่าจะเติบโตในอัตรา 4-5% พร้อมรักษาคุณภาพของพอร์ตสินเชื่อให้มีอัตราส่วนหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ หรือ NPL ไม่เกิน 2.0% อีกทั้ง คาดว่ายอดการใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิตจะเติบโตขึ้น 10% โดยใช้กลยุทธ์สร้างการมีส่วนร่วมกับลูกค้า และขยายผลิตภัณฑ์บัตรกดเงินสด KTC PROUD เติบโต 3% และยอดลูกหนี้ใหม่ของสินเชื่อ “เคทีซี พี่เบิ้ม รถแลกเงิน” เท่ากับ 3,000 ล้านบาท ด้วยโซลูชันการเงินเฉพาะบุคคลที่ตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภค

    นอกจากนี้ ทิศทางธุรกิจเคทีซีในปี 2568 จะนำพาองค์กรสู่องค์กรดิจิทัลอย่างยั่งยืนด้วย 3 องค์ประกอบ คน ระบบและเทคโนโลยี ผ่านการทำความเข้าใจแนวโน้มเศรษฐกิจในอนาคต และการวางแผนกลยุทธ์ที่รอบคอบ จะช่วยให้เคทีซีสามารถเติบโตได้อย่างยั่งยืน


หมายเหตุ:

    ผลการดำเนินงานในปี 2567 KTC ทำกำไรสุทธิ 5,549 ล้านบาทในช่วง 9 เดือนแรก และคาดว่าจะบรรลุเป้าหมายกำไรสุทธิ 7,295 ล้านบาทในสิ้นปี 2567



ภาพ: KTC



เรื่องราวอื่นๆ ที่น่าสนใจ : สรุป! มาตรการแก้หนี้ 'คุณสู้ เราช่วย' เมื่อคลัง-ธปท. เร่งช่วยกลุ่มค้างจ่าย มีหนี้เสียได้ลดค่างวด-พักดอก นาน 3 ปี

ไม่พลาดบทความและเรื่องราวน่าสนใจอื่นๆ ติดตามเราได้ที่เฟซบุ๊ก Forbes Thailand Magazine