‘วิจัยกสิกร’ เผยผลผลิตข้าวไทยปี 67 อาจลดลง 10% เหลือ 30.4 ล้านตัน เหตุเจอทั้ง ‘ภัยแล้ง - น้ำท่วม’ ในปีนี้ - Forbes Thailand

‘วิจัยกสิกร’ เผยผลผลิตข้าวไทยปี 67 อาจลดลง 10% เหลือ 30.4 ล้านตัน เหตุเจอทั้ง ‘ภัยแล้ง - น้ำท่วม’ ในปีนี้

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดปี 67 นี้ ผลผลิตข้าวของไทยในปี 2567 อาจลดลง 10% เหลือ 30.4 ล้านตัน จากปีก่อนที่อยู่ 33.6 ล้านตัน กระทบหนักภาคตะวันออกเฉียงเหนือ รองลงมา ภาคเหนือและภาคกลาง สาเหตุเพราะ Climate Change รวมถึงเอลนีโญและลานีญาที่ทำให้ปีนี้เกษตรกรไทยอาจต้องเจอทั้งภัยแล้งและน้ำท่วม


ผลผลิตข้าวไทยลด เหตุเจอ 'ภัยแล้ง-น้ำท่วม'

    ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดการณ์ว่าในปี 2567 นี้ ภาวะ Climate Change อาจรุนแรงขึ้นอีกจากทั้งปรากฏการณ์เอลนีโญ และลานีญาที่ทำให้เกิดน้ำแล้งและน้ำท่วมในปีเดียวกัน ส่งผลให้ทั้งปีนี้คาดว่าผลผลิตข้าวรวมทั้งประเทศอาจลดเหลือ 30.4 ล้านตัน ถือว่าลดลง 10% จากปี 66 ที่อยู่ระดับ 33.6 ล้านตัน

    ทั้งนี้ ผลผลิตข้าวรวมปี 67 ที่ 30.4 ล้านตัน เป็นปริมาณข้าวใกล้เคียงกับช่วงปี 2063-2565 ที่มีผลผลิตข้าวเฉลี่ย 31.1 ล้านตัน เนื่องจากคาดว่า ไทยอาจมีปริมาณฝนเฉลี่ยทั้งปี 2567 อยู่ที่ 1,620 มิลลิเมตร (คาดการณ์จากข้อมูลปริมาณฝนของกรมอุตุนิยมวิทยา) ซึ่งเป็นระดับปริมาณฝนที่ใกล้เคียงกับปี 2063-2565 ที่เฉลี่ยอยู่ที่ 1,607 มิลลิเมตร

    อย่างไรก็ตาม ในปี 2567 นี้ สภาพภูมิอากาศโลกจะมีความแปรปรวนมากขึ้น ทั้งการเผชิญทั้งเอลนีโญที่ทำให้เกิดภัยแล้งในราวครึ่งปีแรก ซึ่งคาดว่า เอลนีโญจะอ่อนกำลังลงในเดือน พ.ค.นี้ จนอาจถือได้ว่าเอลนีโญสิ้นสุดลงด้วย และคาดว่าในครึ่งปีหลังราวช่วงเดือน ก.ค. - ก.ย .มีโอกาสสูงถึง 69% ที่จะพัฒนาเกิดเป็นลานีญาที่ทำให้เกิดฝนตกชุก โดยเฉพาะในเดือน ส.ค. - ต.ค. ที่กรมอุตุนิยมวิทยาของไทย คาดการณ์ว่าไทยอาจได้รับอิทธิพลจากลมพายุหมุนเขตร้อน 1 - 2 ลูก ทำให้เกิดฝนตกหนัก/น้ำท่วมฉับพลันได้ในบางพื้นที่

    จากผลกระทบดังกล่าวคาดว่าจะส่งผลให้ผลผลิตข้าวของไทยทั้ง 3 ภาคอาจลดลงเมื่อเทียบกับปี 2566 ได้แก่
- ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ผลผลิตข้าวอาจลดลงมากที่สุดถึง 9%YoY จากข้าวนาปีที่เสียหายเป็นหลักจากลานีญาในครึ่งปีหลัง
- ภาคเหนือ อาจลดลง 8.6%YoY จากข้าวนาปรังเป็นหลักจากเอลนีโญในครึ่งปีแรก
- ภาคกลาง อาจลดลง 8.7%YoY จากข้าวนาปรังเป็นหลักจากเอลนีโญในครึ่งปีแรก

ข้าวไทยเริ่มเจอผลกระทบ Climate Change ตั้งแต่เมื่อไร

    ทั้งนี้ หากย้อนสถิติในอดีตจะพบว่า ในรายพืชเกษตรสำคัญอย่างข้าว มีพื้นที่ปลูกมากที่สุดกว่า 44% ของพื้นที่เกษตรทั้งประเทศ ซึ่งส่วนใหญ่อยู่นอกเขตชลประทานถึง 80% ของพื้นที่ปลูกข้าวทั้งประเทศ จึงพบว่า ผลผลิตข้าวเฉลี่ยต่อปีก็ลดลงด้วย จาก 34.6 ล้านตัน เป็น 31.5 ล้านตัน

    ดังนั้น เมื่อ Climate Change มีความรุนแรงชัดขึ้นตั้งแต่ปี 2559 สร้างความเสียหายต่อภาคเกษตรไทย โดยเฉพาะพืชเศรษฐกิจหลักอย่างข้าวให้มีผลผลิตลดลง โดยเมื่อเทียบ ‘ก่อน - หลัง’ ปี 2559 พบว่า การเกิดปรากฎการณ์เอลนีโญและลานีญาที่ยาวนานขึ้นต่อรอบ เช่น ระยะเวลาการเกิดเอลนีโญตั้งแต่ปี 2559 กินเวลายาวนานขึ้นอยู่ที่ 10-19 เดือนต่อรอบ จากเพียง 5-9 เดือนต่อรอบในช่วงก่อนปี 2559 ขณะที่การเปลี่ยนแปลงอุณหภูมิเฉลี่ยของโลกก็ปรับสูงขึ้นด้วยเป็น 1 องศาเซลเซียส จาก 0.7 องศาเซลเซียส

    ทั้งนี้ ยังมีผลกระทบและกดดันต่อภาพรวมผลผลิตสินค้าเกษตรให้ลดลง สะท้อนจากดัชนีผลผลิตสินค้าเกษตรที่ปรับตัวลดลงในปี 2559 - 2566 มาเฉลี่ยอยู่ที่ระดับ 108 จากเฉลี่ยที่ระดับ 117 ในปี 2551 - 2558

ภาคใดของไทยเจอผลกระทบหนักที่สุด

    ขณะที่หากพิจารณารายภาค พบว่า ข้าวในภาคตะวันออกเฉียงเหนือได้รับผลกระทบมากที่สุดจาก Climate Change ที่รุนแรงขึ้นเมื่อเทียบกับภาคอื่น โดยข้าวภาคตะวันออกเฉียงเหนือมีสัดส่วนสูงถึง 43% ของผลผลิตข้าวทั้งประเทศ ตามด้วยภาคเหนือ ภาคกลาง และภาคใต้

    ทั้งนี้ หากเทียบในช่วงเวลาก่อนและหลังปี 2559 พบว่า Climate Change ที่รุนแรงขึ้น ทำให้ผลผลิตข้าวในภาคตะวันออกเฉียงเหนือลดลงมากที่สุดเฉลี่ยถึง 1.5 ล้านตันต่อปี หรือลดลงกว่า 9.8% เนื่องจากพื้นที่ปลูกข้าวส่วนใหญ่อยู่นอกเขตชลประทานที่ปลูกข้าวนาปีเป็นหลัก จึงต้องพึ่งพาน้ำฝน ขณะที่ภาคเหนือและภาคกลางอาจได้รับผลกระทบรองลงมา เนื่องจากพื้นที่ปลูกข้าวส่วนใหญ่อยู่ในเขตชลประทานที่ปลูกข้าวนาปรัง ซึ่งยังสามารถพึ่งพาน้ำในเขื่อนได้ ทำให้ผลผลิตข้าวภาคเหนือลดลง 9.5% และภาคกลางลดลงที่ 8.4%



Photo by Boudewijn Huysmans on Unsplash



เรื่องราวอื่นๆ ที่น่าสนใจ : ‘สภาพัฒน์’ เผยแม้ Digital wallet อาจมาทันปลายปี แต่ยังหั่นเป้า GDP ปี 67 เหลือ 2 - 3%

ไม่พลาดบทความและเรื่องราวน่าสนใจอื่นๆ ติดตามเราได้ที่เฟซบุ๊ก Forbes Thailand Magazine