คนไทยมีหนี้มากแค่ไหน? ไตรมาส 1/67 หนี้เสียกลุ่มไหนเพิ่มขึ้นสูงสุด - Forbes Thailand

คนไทยมีหนี้มากแค่ไหน? ไตรมาส 1/67 หนี้เสียกลุ่มไหนเพิ่มขึ้นสูงสุด

สถานการณ์หนี้ครัวเรือนของไทยอยู่ในระดับสูงมาเนิ่นนาน แม้ส่วนหนึ่งจะเกิดจากผลกระทบ COVID-19 แต่แท้จริงแล้วยังเกิดจาก ปัจจัยพื้นฐาน ทั้งรายได้ที่ไม่เพิ่มขึ้น เศรษฐกิจชะลอการเติบโตมานานหลายปี จนทำให้ ข้อมูลล่าสุดพบว่า อยู่สูงถึง 91.3% แต่ตัวเลขเหล่านี้สะท้อนอะไร และสถานการณ์หนี้สินภาคครัวเรือนไทยเป็นอย่างไร?


    ทั้งนี้ อัตราหนี้ครัวเรือนไทยต่อ GDP ที่อยู่ระดับสูงกว่า 91.3% นั้นมาจากฐานยอดหนี้ครัวเรือนไทยที่ 16.3 ล้านล้านบาท ยิ่งการเติบโตทางเศรษฐกิจชะลอตัวลงก็ทำให้อัตราหนี้ครัวเรือนไทยฯ เพิ่มสูงขึ้นไปด้วย

    ขณะเดียวกันหากต้องการดูว่าคนไทยมีหนี้ หรือมีสินเชื่อมากแค่ไหน เราอาจดูจาก ‘หนี้สินในระบบ’ ที่ส่วนใหญ่จะมีการรายงานไปที่เครดิตบูโร โดยจะเรียกว่าหนี้ภาคครัวเรือนซึ่งมีอยู่ราว 13.64 ล้านล้านบาท นอกจากนี้ยังมี หนี้สินที่อยู่ภายใต้สหกรณ์ออมทรัพย์อีกราว 2.3 ล้านล้านบาท (ส่วนสหกรณ์ฯ และ หนี้กยศ. ไม่อยู่ในระบบเครดิตบูโร)

คนไทยมีหนี้ประเภทไหนมากที่สุด

    อ้างอิงข้อมูลจาก บริษัท ข้อมูลเครดิตแห่งชาติ จำกัด (เครดิตบูโร) พบว่า ยอดสินเชื่อคงค้าง ไตรมาส 1 ปี 2567 (ที่รายงานเครดิตบูโร) รวมอยู่ที่ 13.64 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้นที่ 2.9% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน (YoY) โดยสัดส่วนใหญ่ยังคงเป็นสินเชื่อบ้านที่ 36.7% หรือยอดคงค้างที่ 5 ล้านล้านบาท
    ทั้งนี้ ประเภทสินเชื่อที่ยังมีการเพิ่มขึ้น ได้แก่
    - สินเชื่อบ้าน มียอดคงค้าง 5 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้น 3.8%YoY
    - สินเชื่อส่วนบุคคล มียอดคงค้าง 2.59 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้น 2.8%YoY
    - สินเชื่ออื่นๆ มียอดคงค้าง 1.11 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้น 33.2%YoY
    - สินเชื่อบัตรเครดิต มียอดคงค้าง 5.5 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้น 3.2%YoY
    ขณะที่ ประเภทสินเชื่อที่มีการปรับตัวลดลงเพิ่มขึ้น ได้แก่
    - สินเชื่อรถยนต์ มียอดคงค้าง 2.56 ล้านล้านบาท ลดลง 1.5 %YoY
    - สินเชื่อเพื่อการเกษตร มียอดคงค้าง 8.2 แสนล้านบาท ลดลง 8.3%YoY
    - สินเชื่อธุรกิจ มียอดคงค้าง 6.6 แสนล้านบาท ลดลง 5.7%YoY
    - สินเชื่อ OD มียอดคงค้าง 3.2 แสนล้านบาท ลดลง 5.0%YoY

    ด้านนายสุรพล โอภาสเสถียร ผู้จัดการใหญ่ เครดิตบูโร เปิดเผยมุมมองว่า ส่วนที่น่ากังวลคือ หนี้สำหรับธุรกิจกับหนี้ OD ที่ติดลบ 5.7% และ 5%YoY ขณะที่ สินเชื่ออื่นๆ ยังเติบโตมาจากการส่งข้อมูลบัญชีดอกเบี้ยที่แขวนไว้จากการปรับโครงสร้างหนี้เป็นหลัก

    นอกจากนี้ “28% ของหนี้ครัวเรือนไทยที่ 16.3 ล้านล้านบาท เป็นการกู้ไปกินไปใช้ที่เรียกว่า บริโภค ซึ่งมันต้องเอารายได้ในอนาคตมาผ่อนจ่าย คำถามคือถ้ารายได้ไม่มาตามนัด เพราะมีโรคระบาดคั่น ไอ้สิ่งที่คิดว่าจะจ่ายได้แน่ มันก็ไม่แน่ แถมดอกเบี้ยก็ทับถม และแพงพอควร มันจึงเป็นปัญหามีหนี้สะสมเกินศักยภาพในวันนี้ เพราะวันนั้นคิดว่ามันอยู่ในศักยภาพ ตรงนี้เรียกว่าติดกับดักการเป็นหนี้ชัดเจน” นายสุรพล กล่าว


ไตรมาส 1 ปี 67 หนี้เสียไทยยังพุ่ง

    จากข้อมูลยังพบว่า หนี้เสียของไทยในไตรมาส 1 ปี 2567 นี้อยู่ที่ 1.09 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้น 14.9%YoY โดย 3 ประเภทสินเชื่อที่มีหนี้เสียเพิ่มสูง ได้แก่
    - หนี้รถยนต์          เติบโต 32%yoy
    - หนี้บ้าน             เติบโต 18%yoy
    - หนี้สินเชื่อส่วนบุคคล เติบโต 12%yoy
    - หนี้บัตรเครดิต       เติบโต 14.6%YoY

    นอกจากนี้ นายสุรพล ยังชี้ถึงข้อมูลที่น่าติดตามว่า หนี้ที่ค้างชำระ 30-90 วัน (SM) หรือที่เรียกว่า หนี้เสี่ยงจะเสียในระยะใกล้ในภาพรวมเติบโต 7.3%YoY โดยมีข้อสังเกตว่า สำหรับ SM หนี้บัตรเครดิตที่เพิ่มขึ้น 32.4%YoY นี้ มาพร้อมกับช่วงที่มีการปรับเพิ่มขั้นต่ำในการชำระหนี้บัตรเครดิตจากเดิมที่ 5% เป็น 8%

(ข้อมูลเพิ่มเติม ธนาคารแห่งประเทศไทยได้สั่งให้ปรับ ขั้นต่ำในการชำระหนี้ลงช่วง COVID-19 การทยอยปรับขึ้นนี้จึงเป็นส่วนหนึ่งในการปรับกลับสู่ภาวะปกติ)

    ข้อมูลทั้งหมดนี้ยังสะท้อนว่า สถานการณ์หนี้ของไทยยังต้องติดตามอย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะช่วงการเปลี่ยนผ่านจาก การมีมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้ต่างๆ ในช่วง COVID-19 กำลังทยอยสิ้นสุดลง และปรับเข้าสู่ช่วงปกติ แต่ขณะเดียวกันเศรษฐกิจไทยที่ยังชะลอตัวต่อเนื่องมามากกว่า 8 ปี ยังคงเป็นโจทย์หลักที่ทุกภาคส่วนต้องให้ความสนใจ และติดตามว่ามาตรการของภาครัฐ และเม็ดเงินงบประมาณที่อั้นอยู่หากเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจแล้วจะส่งผลต่อ กระเป๋าเงินของคนไทยในระยะยาวได้มากแค่ไหน



Image by benzoix on Freepik



เรื่องราวอื่นๆ ที่น่าสนใจ : กู้บ้านยากแค่ไหน? เครดิตบูโร เผยสถิติ ‘บัญชีใหม่สินเชื่อบ้าน’ แผ่วลง ย้ำ Gen Y ยังมีสินเชื่อ-หนี้เสียบ้านสูงสุด

ไม่พลาดบทความและเรื่องราวน่าสนใจอื่นๆ ติดตามเราได้ที่เฟซบุ๊ก Forbes Thailand