เมื่อโรคใหม่ๆ รวมถึงค่ารักษาของโรงพยาบาลเพิ่มสูงขึ้นอย่างมหาศาล ส่งผลให้เบี้ยประกันสุขภาพเด็กต้องปรับเพิ่มตามอัตราการเคลมที่สูงขึ้นเรื่อยๆ จนช่วงที่ผ่านมาหลายบริษัทประกันฯ พักการขายเพื่อปรับตัวกันพักใหญ่ ดังนั้นโจทย์คือหากจะกลับมาขาย ธุรกิจประกันชีวิตต้องปรับตัวอย่างไร
ดร. สมโพชน์ เกียรติไกรวัล ประธานที่ปรึกษาสำนักกรรมการผู้จัดการและสายงานตัวแทน บมจ. โตเกียวมารีนประกันชีวิต เล่าว่า ในช่วง 2 เดือนที่ผ่านมา สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) ได้เรียกประชุมบริษัทประกันภัยต่างๆ ว่า ประชาชนมีความต้องการประกันสุขภาพเด็กสูงมาก อยากให้กลับมาขายมากขึ้น แต่ที่ผ่านมาทุกคนต่างรู้ดีว่าประกันเด็กฯ ก็อาจขาดทุนสูงตามไปด้วย
สำหรับประกันสุขภาพเด็กของโตเกียวมารีนที่ผ่านมา ส่งผลให้มีเคลมไปกว่า 2,000 ล้านบาท (ในปี 2565) เพราะมีอัตราค่าสินไหมทดแทน (เคลม) สูงมาก โดยเฉพาะการเคลมหมวดค่ารักษาในโรงพยาบาลจากกรณีการเจ็บป่วยเล็กน้อย (Simple diseases หรือการเจ็บป่วยที่ไม่จำเป็นต้องพักรักษาตัวในโรงพยาบาล) เฉลี่ยราว 30,000 บาทขึ้นไปต่อเคส (ช่วงม.ค.-มี.ค. 2568) สำหรับประกันสุขภาพเด็กในอดีตมีการเคลมจาก Simple diseases ในสัดส่วนเกือบ 70% แต่ปัจจุบันเนื่องจากหยุดการขายประกันเด็กฯ ทำให้สัดส่วนลดลงเหลือประมาณ 60%
ทั้งนี้การรักษาพยาบาลมองว่าเป็นสิ่งจำเป็น แต่ขอให้มีมาตรฐานการรักษา ที่เป็นธรรมต่อผู้เอาประกันภัย ไม่ใช่ว่าการมีประกันแล้วจะแพงกว่าไม่มีประกัน ซึ่งที่ผ่านมา บริษัทประกันชีวิตได้เรียกประชุมสมาคมโรงพยาบาลแล้วยังไม่มีทางออกสำหรับค่ารักษาพยาบาลที่เป็นมาตรฐาน เพราะขึ้นอยู่กับแต่ละโรงพยาบาลจะเรียกเก็บเท่าใด
จากปัญหาเคลมค่ารักษาพยาบาลที่พุ่งสูงขึ้นนี้ส่งผลให้ที่ผ่านมา หากขาดทุนจะมีการแจ้งไปที่คปภ. เพื่อขอปรับเบี้ยฯ ขึ้น แต่หลังจากนั้นต้องแจ้งผู้เอาประกันในบางเคสถึงการขึ้นเบี้ยประกันฯ ซึ่งไม่ใช่สิ่งที่ผู้เอาประกันต้องการ
อย่างไรก็ตาม หากจะกลับมาขายแบบประกันสุขภาพเด็ก ยังมองว่าทางออกเบื้องต้นคือการทำแบบประกันที่มีความรับผิดส่วนแรก (Deductible) เช่น อาจมีจ่ายส่วนแรก 10,000, 20,000 หรือ 30,000 บาท ทั้งนี้ คาดว่าถ้ามีการปรับแบบประกันแล้วอาจออกมาขายได้เร็วที่สุดในช่วงไตรมาส 3 ปี 2568
ขณะที่ทางออกระยะยาวมองว่า บริษัทประกันจะขึ้นเบี้ยประกันภัยอย่างเดียวไม่ได้ แต่ต้องร่วมมือกันสร้างค่ารักษาพยาบาลที่มีมาตรฐานไม่ใช่ต่างต่อรองในปัจจุบัน เชื่อว่าจะช่วยให้ภาพรวมต้นทุนการรักษาพยาบาลที่สูงขึ้นต่อเนื่องที่ประชาชนต้องเผชิญอาจปรับตัวดีขึ้น
ในส่วนของภาพรวมธุรกิจประกันชีวิต ครึ่งปีหลัง 2568 ด้านยอดขายอาจเจอการเผาจริงยิ่งกว่าเดิม เพราะช่วงไตรมาส 1/68 ยังมีผลดีจากประกันสุขภาพส่วนร่วมจ่าย หรือ Copayment (Copay) ที่ทำให้ยอดขายเพิ่มขึ้นมาก
ส่วนของโตเกียวมารีนฯ เชื่อว่าปี 2568 จะทำได้ตามเป้าหมาย โดยช่องทางตัวแทนคาดว่าจะมีเบี้ยประกันชีวิตปีแรก 1,100 ล้านบาท และเบี้ยรับรวมทุกช่องทางคาดว่าจะใกล้ 10,016 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้า โดยมีผลิตภัณฑ์ประกันชีวิตควบการลงทุน (Unit Linked) Tokio Beyond เป็นตัวเด่นในปี 68 คาดว่าจะมีสัดส่วน 10% ยอดเบี้ยปีแรก นอกจากนี้ยังมีแบบประกันสะสมทรัพย์ทั่วไป แบบประกันบำนาญ และประกันสุขภาพที่คาดว่าจะเติบโตต่อเนื่อง
ทั้งนี้ 4 เดือนแรกปี 2568 ช่องทางตัวแทนมีเบี้ยรับปีแรกที่ 283 ล้านบาท มีเบี้ยปีต่ออายุที่ 1,649 ล้านบาท รวม 1,932 ล้านบาท ขณะที่ภาพรวมบริษัท ม.ค.-เม.ย. ปี 2568 มีเบี้ยรับปีแรกที่ 739 ล้านบาท มีเบี้ยปีต่ออายุที่ 2,800 ล้านบาท รวม 3,540 ล้านบาท โดยเบี้ยรับรวมของบริษัททุกช่องทางเติบโต 11.2%
ภาพ: โตเกียวมารีนฯ, ออกแบบภาพปกโดย ธัญวดี นิรุติศาสตร์
เรื่องราวอื่นๆ ที่น่าสนใจ : ประกันสุขภาพในไทย 'เคลมสูง' แค่ไหน จนต้องเริ่มใช้เกณฑ์ใหม่ Copay ให้ร่วมจ่ายค่ารักษาฯ ในปีถัดไป
ไม่พลาดบทความและเรื่องราวน่าสนใจอื่นๆ ติดตามเราได้ที่เฟซบุ๊ก Forbes Thailand Magazine