อ่านแผนงาน KBank Private Banking ภายใต้ผู้นำทัพคนใหม่ ‘อดิศร เสริมชัยวงศ์’ - Forbes Thailand

อ่านแผนงาน KBank Private Banking ภายใต้ผู้นำทัพคนใหม่ ‘อดิศร เสริมชัยวงศ์’

แม้เศรษฐกิจไทยจะชะลอตัว แต่ธุรกิจดูแลทรัพย์สินของเศรษฐียังคงเร่งเครื่องต่อเนื่อง ล่าสุด KBank Private Banking ได้เสริมทัพด้วยการแต่งตั้งผู้นำคนใหม่ ‘อดิศร เสริมชัยวงศ์’ ขึ้นเป็นประธานกรรมการบริหารธุรกิจ ของกลุ่มฯ ซึ่งเข้ามาปรับกลยุทธ์เพื่อรับมือตลาดลงทุนที่ผันผวน รวมถึงออกแบบบริการที่ตอบโจทย์กลุ่มลูกค้านอกเหนือจาก ‘เรื่องเงิน’


ขยายฐานลูกค้าเดิม ชิง Share-wallet เพิ่ม

    อดิศร เสริมชัยวงศ์ Executive Chairman, Private Banking Group ธนาคารกสิกรไทย เล่าให้ฟังว่า ปีนี้ KBank Private Banking จะเห็นการปรับเปลี่ยนหลายอย่าง แต่จะปรับและต่อยอดจากจุดแข็งที่มีอยู่เดิมคือ ในกลุ่มลูกค้า Wealth ของไทยเราเข้าถึงได้กว่า 90% ของทั้งตลาดแล้ว แต่อาจมีทรัพย์สินอยู่กับเราไม่มากเท่ากับแหล่งอื่นๆ ดังนั้นเพื่อสร้าง Share-wallet เพิ่มจึงจะใช้กลยุทธ์หลักคือ

    (1) การกลับมา Re-engage กับลูกค้า เพื่อปรับมุมมองและความสัมพันธ์จากเดิมที่เน้นรายผลิตภัณฑ์ จะให้เน้นการเป็นที่ปรึกษามากขึ้น ไม่ใช่แค่ด้านการลงทุน แต่เป็นที่ปรึกษาในทุกเรื่อง เช่น เรื่องการบริหารภาษี การจัดการที่ดิน วางแผนเพื่อส่งต่อมรดกและธุรกิจ ฯลฯ

    (2) ปรับพอร์ตให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน ผ่านกลยุทธ์ Core & Satellite ซึ่งจะเป็นการกระจายการลงทุนให้มากขึ้น

    ช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ผู้ลงทุนหลายคนยังเจ็บตัวจากการเปลี่ยนผ่านและการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว ดังนั้น KBank Private Banking จะเข้าไปแนะนำให้ปรับพอร์ตการลงทุน ผ่านกลยุทธ์การกระจายความเสี่ยงที่จะช่วยให้บริหารสภาพคล่องและเงินทุนตามเป้าหมายของลูกค้าได้ง่ายขึ้น

    นอกจากนี้ยังมีกลยุทธ์ที่จะขยายส่วนงาน Non-Investment เช่น ที่ปรึกษาด้านภาษี การส่งต่อภายในครอบครัว ฯลฯให้มากขึ้น เนื่องจากปัจจุบัน KBank Private Banking ยังคงมีกลุ่มลูกค้าที่ Conservative ค่อนข้างมาก (เน้นทรัพย์สินที่เป็นเงินฝากในสัดส่วนสูง) รวมถึงต้องการวางแผนส่งต่อมรดกไปสู่รุ่นถัดไป ดังนั้นการขยายให้คำปรึกษาด้านต่างๆ จะช่วยให้ลูกค้าวางแผนการเงินได้ครบทุกมิติ


เศรษฐีแห่ขายที่ดิน ‘ลดเสี่ยง’ ภาษีเกินมูลค่าปัจจุบัน

    จากต้นปี 2567 ที่ผ่านมา ที่เริ่มใช้ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างอย่างเต็มรูปแบบ และเห็นแนวโน้มที่ลูกค้าจะขายที่ดินมากขึ้น เช่น พื้นที่แถบชะอำจะเห็นประกาศขายค่อนข้างมาก บางส่วนยังตั้งราคาขายต่ำกว่าราคาประเมินของทางราชการ หรืออาจเพราะประเมินว่าการบริหารจัดการที่ดินอาจมีต้นทุนสูง (เช่น ภาษี, การเพาะปลูก ฯลฯ) จึงหันมาขายออกเพื่อเป็นสภาพคล้องและบริหารผ่านผลิตภัณฑ์ทางการเงินแทน

    ในช่วงเดือน ม.ค. 2567 ที่ผ่านมาทางทีม KBank Private Banking จัดทำรายงานเพื่อให้ลูกค้าเปรียบเทียบค่าใช้จ่ายในการบริหารที่ดิน เช่น หากปล่อยที่ดินรกร้างไว้ 25 ปีหลังจากนี้ ภาษีฯ ที่ต้องจ่ายอาจสูงกว่ามูลค่าที่ดินในปัจจุบัน หรือหากปรับเป็นพื้นที่เกษตรอาจมีต้นทุนด้านอื่นๆ เพิ่ม ดังนั้นจึงต้องวางแผนอย่างรอบด้าน ขณะที่หากปรับมาใช้สินเชื่อเพื่อเงินลงทุน (Land Loan) อาจเป็นทางเลือกสำหรับการสร้างผลตอบแทนจากที่ดินที่มีอยู่

    ปัจจุบันฐานลูกค้าของ KBank Private Banking มีที่ดินกว่า 20,000 แปลง (10% ขอสินเชื่อ Land Loan) และมียอดสินเชื่อคงค้าง Land Loan ที่ราว 13,000 ล้านบาท โดยมีที่ดินที่อยู่ระหว่างการพูดคุยกับลูกค้ามูลค่า 5,000-6,000 ล้านบาท และคาดว่ากลางปี 2568 จะมียอดสินเชื่อคงค้างเพิ่มขึ้นเป็น 18,000 ล้านบาท

    ในด้านการลงทุนแม้ลูกค้าบางส่วนยัง Conservative แต่เชื่อว่าการขยายบริการ Non-Investment จะช่วยให้เปิดทางเลือกให้ลูกค้าได้มากขึ้น เช่น การทำธรรมนูญครอบครัว ที่เราจะแนะนำสำนักงานกฎหมายให้เพื่อการจัดตั้งกฎระเบียบต่าง จึงไม่ได้มีรายได้ทางตรง แต่จะเปิดทางให้เราสามารถให้คำแนะนำกับลูกค้าได้ในภาพรวม เช่น ผ่านทรัพย์สินที่ดิน พอร์ตการลงทุน หรือ การลงทุนต่างประเทศ


ปี 67 จังหวะปรับพอร์ตลงทุน หาโอกาสผ่านหุ้นนอกตลาด

    อดิศร เล่าต่อว่า ช่วงที่ผ่านมีผู้บาดเจ็บจากตลาดการลงทุนมามาก แม้ปีนี้จะมีความท้าทายต่างๆ เช่น ทิศทางอัตราดอกเบี้ยขาลงที่กำลังเริ่มต้น การเลือกตั้งสหรัฐที่จะส่งผลต่อ Global trend ไปจนถึงความไม่แน่นอนต่างๆ แต่ปี 2567 นี้เห็นทิศทางตลาดปรับตัวดีขึ้น ยิ่งเป็นจังหวะเหมาะในการปรับพอร์ตลงทุนให้พร้อมรับความท้าทายในระยะยาว

    ทั้งนี้ การจัดพอร์ตลงทุนยังขึ้นอยู่กับระดับความเสี่ยงที่รองรับได้ในแต่ละบุคคล แต่ยังต้องเน้นกลยุทธ์ Core & Satellite ที่กระจายความเสี่ยงในภาพรวม โดยส่วนตัวมองว่าส่วน Core ควรมีสัดส่วนที่ 70% เพื่อรับมือความไม่แน่นอนต่างๆ และ Satellite อีกราว 20-30% เพื่อลงทุนในส่วนที่สนใจ และมองว่าหลังจากนี้ในช่วงไตรมาส 4/67 หุ้นในเอเชียจะได้รับความสนใจมากขึ้น เพราะมีเม็ดเงินบาทส่วนไหลออกจากสหรัฐ

    ขณะเดียวกันยังมองว่า การลงทุนในสินทรัพย์นอกตลาดอย่าง Private Equity (PE) มีความน่าสนใจและเหมาะกับการลงทุนเพื่อหาผลตอบแทนในระยะยาว โดยในไตรมาส 4 นี้จะมีการออกผลิตภัณฑ์ใหม่เพิ่มเติม

    อย่างไรก็ตาม ปัจจุบัน KBank Private Banking มีฐานลูกค้าราว 12,000 ราย และมีสินทรัพย์ภายใต้การบริหาร (AUM) ของ KBank Private Banking มีอยู่ราว 900,000 ล้านบาท แบ่งเป็นเงินฝาก 500,000 ล้านบาท และส่วนการลงทุน 400,000 ล้านบาท



Photo by Vitalijs Barilo on Unsplash



เรื่องราวอื่นๆ ที่น่าสนใจ : CardX เผย ครึ่งแรกปี 67 ยอดสินเชื่อรวม 103,000 ล้านบาท คาดทั้งปียอดใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิตโต 5-8%

ไม่พลาดบทความและเรื่องราวน่าสนใจอื่นๆ ติดตามเราได้ที่เฟซบุ๊ก Forbes Thailand Magazine