O Shopping เป็นการร่วมทุนระหว่าง บริษัท จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ จำกัด (มหาชน) ที่ 51% และอีก 49% โดย CJ O Shopping หนึ่งในเครือ CJ Corporation (Cheil Jedang Corporation) ที่มีเครือข่ายธุรกิจ 4 ด้าน โดยมีแผนธุรกิจในระยะข้างหน้าของ O Shopping ที่วางไว้คือต้องการเป็นที่ 1 ในใจลูกค้าให้ได้ภายในปี 2560 ควบคู่กับที่มีส่วนในการพัฒนาตลาดร่วมกับผู้เล่นอื่นๆ ไปด้วยพร้อมกัน “เพราะสุดท้ายแล้วหากทำให้ตลาดรวมโตไปถึงกว่า 1 แสนล้านบาทได้ O Shopping ก็จะขยายอย่างมหาศาลตามไปด้วย” Jay ยืนยันถึงทิศทางในอนาคต
กระนั้นแม้เหตุผลที่ทั้งสองบริษัทตกลงปลงใจทำธุรกิจ นอกจากเพราะต่างมีองค์ประกอบของธุรกิจหลักคือสื่อและบันเทิงเช่นเดียวกันแล้ว ยังมีปรัชญาของการทำ TV home shopping ที่เหมือนกันคือไม่เร่งรีบที่จะขยายการเติบโตมาก ทว่าพอ O Shopping เข้าสู่ตลาดเต็มตัวก็เริ่มเห็นตัวเลขกำไรเมื่อตุลาคม 2556 หรือ 28 เดือนนับจากก่อตั้งเมื่อมิถุนายน 2555 ซึ่งนับว่าเร็วที่สุดเมื่อเทียบกับทุกเครือข่ายในแต่ละประเทศที่ CJ Corporation ไปเปิดธุรกิจ TV home shopping โดยช่วง 6 เดือนแรกจนถึงสิ้นปี 2555 บริษัทมียอดขายรวมที่ 80 ล้านบาท และเพิ่มเป็น 560 ล้านบาท ในปี 2556 ต่อมายอดขายยังทะยานขึ้นเป็น 1.138 พันล้านบาท ณ สิ้นปี 2557
“ผลสำเร็จมาจากการได้รับการสนับสนุนที่ดีมากจากฝั่ง GMM ที่รู้จักตลาดผู้บริโภคไทยดีอยู่แล้ว นอกจากนี้ยังเป็นเพราะลูกค้าเปิดใจรับกับ O Shopping ได้เร็วมาก ซึ่งเดิมเราคิดว่าทำ 60 เดือนแล้วค่อยมีกำไรก็เก่งแล้ว” Jay เล่าถึงปัจจัยที่ทำให้บริษัทถึงจุดคุ้มทุนเร็วมาก
รวมถึงจากรากฐานที่ผู้ร่วมทุนทั้งสองฝั่งต่างทำธุรกิจบันเทิงและสื่อโอเป็นธุรกิจหลักด้วย ดังนั้นการแนะนำสินค้าจึงเป็นไปในรูปแบบเน้นการให้ข้อมูลสินค้าอย่างละเอียด ที่เรียกว่า Shopfotainment (ช้อปโฟเทนเม้นท์) ซึ่งมาจาก shopping, informative และ entertainment โดยคัดสรรผลิตภัณฑ์ที่มีชื่อเสียงทั้งในประเทศและต่างประเทศ ซึ่งแบ่งได้ 7 หมวดหมู่ คือ เครื่องครัว อุปกรณ์ไอที สุขภาพและความงาม ของใช้ภายในบ้าน เครื่องใช้ไฟฟ้า แฟชั่น และไลฟ์สไตล์
โดยในช่วง 3 ปีที่ทำธุรกิจมาจำนวนลูกค้าที่เคยซื้อสินค้ากับ O Shopping อยู่ที่ 7 แสนคน เป็นลูกค้าที่ซื้อมาถึง 2 ครั้งแล้วราว 50% ของลูกค้าทั้งหมด และเป็นลูกค้าที่นับเป็น active customer หรือลูกค้าที่มีรายการซื้อเมื่อ 6 เดือนที่ผ่านมาอยู่ราว 38%
สำหรับจุดเด่นของ O Shopping นั้น Jay ย้ำว่า มี 3 ด้านหลัก คือ ด้านผลิตภัณฑ์หลากหลายมากเนื่องจากมีเครือข่ายในการค้นหาสินค้าจากแหล่งต่างๆ ที่แข็งแกร่งมาก จึงทำให้ “อย่างน้อยเราสามารถโชว์สินค้าใหม่ได้ 1 ชิ้นต่อวันหรือราวๆ 160 ชิ้นต่อเดือน” Jay เล่าถึงจุดเด่นอีกข้อ คือ รายการขายสินค้าจะไม่นำเสนอแบบเกินจริง แต่เหมือนกับเพื่อนมาเล่าให้ฟัง และเน้นให้ข้อมูลจากมุมมองของลูกค้าเป็นหลัก และจุดเด่นท้ายสุดคือ ด้านบริการที่สะดวกและไม่คิดค่าธรรมเนียมเพิ่ม ตามคำขวัญที่ว่า “ส่งฟรีทั่วไทย รับของก่อนจ่าย เปลี่ยนคืนได้ไม่ยุ่งยาก”
คลิกอ่าน "ค้าปลีกไทย: สวรรค์ ของ TV home shopping" ฉบับเต็ม ได้ที่ Forbes Thailand ฉบับ SEPTEMBER 2015