การแพร่ระบาดของโควิด-19 ยืดเยื้อกว่าที่คาดไว้ เมื่อมีธุรกิจที่ร่วง ก็ต้องมีธุรกิจที่รุ่งเป็นเรื่องธรรมดา ปฏิเสธไม่ได้ว่า "แพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซ" หรือ ธุรกิจออนไลน์ คือธุรกิจที่กำลังมาแรงในขณะนี้
iPrice Group คาดว่าแม้โลกจะปราศจากโควิดแล้ว แต่ด้วยความเคยชินในการมีไลฟ์สไตล์แบบออนไลน์ อาจทำให้ยุค New Normal หลังวิกฤติโควิดมีธุรกิจออนไลน์เป็นตัวขับเคลื่อนมากกว่าเดิม และเป็นเครื่องการันตีได้ว่าอุตสาหกรรม อีคอมเมิร์ซใน 6 ตลาดยักษ์ใหญ่ ได้แก่ อินโดนีเซีย, สิงคโปร์, มาเลเซีย, ฟิลิปปินส์, เวียดนาม และไทย จะมีมูลค่ารวมกันแตะ 1.72 แสนล้านดอลล่าห์สหรัฐ ได้ภายในปี 2025 ตามที่หลายฝ่ายคาดการณ์ไว้ iPrice Group บริษัทวิจัยตลาดได้ร่วมมือกับ SimilarWeb และ Appsflyer จัดทำงานวิจัยเรื่อง Map of E-commerce Yearend Report 2020 ขึ้น พบ ไฮไลท์ที่น่าสนใจ 3 ประเด็นหลักด้วยกัน ดังนี้ 10 อันดับแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซในอาเซียน จากข้อมูลพบว่า การเข้าใช้งานแพลตฟอร์มยักษ์ใหญ่ต่างๆ ในแต่ละประเทศต่างมีเปอร์เซ็นต์เพิ่มขึ้นทั้งนั้น เมื่อเปรียบเทียบกับปี 2019 โดยตลาดอีคอมเมิร์ซที่มีการเพิ่มขึ้นมากที่สุดถึง 35% คือตลาดสิงคโปร์ ตามด้วยตลาดฟิลิปปินส์ 21%, ตลาดเวียดนาม 19%, ตลาดมาเลเซีย 17%, ตลาดไทย 15% และตลาดอินโดนีเซีย 6% จากการจัดอันดับรายไตรมาสจะพบว่า อันดับ 1-5 ได้แก่ ร้านค้ายักษ์ใหญ่อย่าง Shopee และ Lazada ที่มีต้นกำเนิดจากสิงคโปร์, Tokopedia และ Bukalapak จากอินโดนีเซีย ตามด้วย The Gioi Di Dong จากเวียดนาม ร้านค้าอีคอมเมิร์ซเหล่านี้คือ 5 อันดับร้านค้ารักษาตำแหน่งได้เหนียวแน่นตั้งแต่ปี 2019 ส่วนแพลตฟอร์มที่มีการเปลี่ยนอันดับเล็กน้อยในไตรมาสที่ 4 คือ Tiki จากเวียดนาม และ Blibli จากอินโดนีเซีย โดยจากที่ Tiki ครองอันดับที่ 6 และ Blibli ครองอันดับ 7 ของภูมิภาคตั้งแต่ไตรมาสที่ 1 2020 แต่ในไตรมาสที่ 4 2020 Blibli สามารถก้าวขึ้นมาเป็นอันดับ 6 แทนที่ Tiki ได้ จากภาพรวมจะเห็นว่าตลาดอีคอมเมิร์ซที่มักจะมีชื่อติดอันดับ 1-10 ดูจะมีอยู่ด้วยกัน 3 ประเทศ ได้แก่ สิงคโปร์, อินโดนีเซีย และเวียดนาม ซึ่งจากค่าเฉลี่ยจำนวนผู้เข้าชมสินค้าผ่านทางแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซ พบว่า แม้ Shopee และ Lazada จะครองอันดับที่ 1-2 อยู่เสมอ นั่นเป็นเพราะมีแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซกระจายครอบคลุมถึง 6 ประเทศ ทำให้มีจำนวนเฉลี่ยผู้เข้าชมสินค้าโดยรวมสูงกว่าร้านค้าอีคอมเมิร์ซที่มีจำนวนแพลตฟอร์มกระจายอยู่น้อยกว่า ต่างจากตลาดอินโดนีเซีย (มีประชากรมากที่สุดทำให้จำนวนผู้เข้าชมเว็บไซต์สูงขึ้นตามไปด้วย) ที่เป็นต้นกำเนิดของ Tokopedia, Bukalapak และ Blibli สอดคล้องกับอีก 5 ร้านค้าอีคอมเมิร์ซยักษ์ใหญ่ในเวียดนามอย่าง The Gioi Di Dong, Tiki, Sendo, Bach Hua Xanh และ FPT shop ที่ต่างก็เติบโตโดยมีเพียงหนึ่งแพลตฟอร์มในประเทศของตนเท่านั้น จึงอาจกล่าวได้ว่าตลาดอีคอมเมิร์ซในประเทศเวียดนามซึ่งมีร้านค้าติด 1-10 ถึง 5 ร้านค้าด้วยกันดูจะเป็นตลาดอีคอมเมิร์ซที่กำลังเจริญเติบโตมากที่สุด เวียดนามตลาดโตเร็วในระยะเวลา 3 ปี นับตั้งแต่ปี 2018 ตลาดอีคอมเมิร์ซที่มีร้านค้าติดอันดับ 1-10 ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เรียงลำดับจากมากไปหาน้อยคือ ตลาดอินโดนีเซีย 4 ร้านค้า ได้แก่ Tokopedia, Bukalapk, Blibli และ JD ID ตามมาด้วยตลาดสิงคโปร์และเวียดนามซึ่งมีจำนวนร้านค้าติดอันดับเท่ากันที่ 3 ร้านค้า เริ่มจากสิงคโปร์ ได้แก่ Lazada, Shopee และ Qoo10 ส่วนร้านค้าที่ติดอันดับของตลาดเวียดนามจะได้แก่ Tiki, The Gioi Di Dong และ Sendo ปี 2019 ดูเหมือนจะเป็นปีที่ตลาดเวียดนามกำลังมาแรงด้านธุรกิจอีคอมเมิร์ซ เพราะมีร้านค้าติด 1-10 มากถึง 5 ร้านค้า ได้แก่ The Gioi Di Dong, Sendo, Tiki, Bach Hua Xanh และ FPT shop ตามมาด้วยตลาดอินโดนีเซีย ได้แก่ Tokopedia, Bukalapak และ Blibli รวม 3 ร้านค้า ปิดท้ายด้วยตลาดสิงคโปร์ที่มี Shopee และ Lazada เพียง 2 ร้านค้าเท่านั้น ขณะที่ปี 2020 แนวโน้มการเติบโตเป็นไปในทำนองเดียวกันกับปี 2019 ในแต่ละตลาดอีคอมเมิร์ซมีจำนวนร้านค้าติด 1-10 เท่ากัน ได้แก่ สิงคโปร์ 2 ร้านค้า, อินโดนีเซีย 3 ร้านค้า ซึ่งตลาดเวียดนามก็ยังคงครองแชมป์อยู่เช่นเดิมที่ 5 ร้านค้า การสั่งซื้อสินค้าอีคอมเมิร์ซเฉลี่ยเพิ่มขึ้น 19% จากการศึกษาข้อมูล พบว่า ร้านค้าอีคอมเมิร์ซที่ได้รับความนิยมช่วงการแพร่ระบาดของไวรัสโควิดคือร้านค้าอีคอมเมิร์ซทั่วไป ในขณะที่ร้านค้าแฟชั่น และอิเล็กทรอนิกส์มีจำนวนผู้เข้าชมสินค้าลดลง แม้สินค้าที่เลือกซื้อจากร้านค้าทั่วไปจะมีสินค้าประเภทแฟชั่น และอิเล็กทรอนิกส์รวมเป็นส่วนใหญ่ก็ตาม อาจเพราะโปรโมชั่นจากร้านค้าทั่วไปดึงดูดใจให้ซื้อสินค้าหลากหลายประเภทพร้อมๆ กันมากกว่า ซึ่งจากข้อมูลของ iPrice ที่รวบรวมจากแพลตฟอร์มใน 6 ประเทศ ได้แก่ อินโดนีเซีย, สิงคโปร์, มาเลเซีย, ฟิลิปปินส์, เวียดนาม และไทย พบข้อมูลเชิงลึกที่น่าสนใจ 2 ประเด็นด้วยกัน ดังนี้ อัตราการสั่งซื้อสินค้าในภูมิภาคเพิ่มขึ้นโดยเฉลี่ยถึง 19% และจำนวนการใช้จ่ายโดยเฉลี่ยสูงถึง 32 เหรียญฯ ต่อการสั่งซื้อ โดยตลาดอีคอมเมิร์ซที่มีอัตราการใช้จ่ายสูงสุดคือ สิงคโปร์ 62 เหรียญฯ Malaysia 41 เหรียญฯ ไทย 29 เหรียญฯ ฟิลิปปินส์ 23 ดอลลาร์ อินโดนีเซีย 21 เหรียญฯ และเวียดนาม 17 เหรียญฯ ตามลำดับจากมากไปหาน้อย แฟชั่น คือหมวดหมู่สินค้าที่มีอัตราการสั่งซื้อมากที่สุดโดยเฉลี่ย 46 เหรียญฯ ตามด้วยอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ 41 เหรียญฯ และสินค้าอุปกรณ์กีฬาและเพื่อการออกกำลังกาย 33 เหรียญฯ พร้อมยังสามารถแบ่งหมวดหมู่สินค้าที่ได้รับความนิยมในแต่ละประเทศได้ดังนี้ - หมวดหมู่สินค้าแฟชั่น: มีจำนวนการสั่งซื้อสูงสุดในตลาดมาเลเซีย, ฟิลิปปินส์ และสิงคโปร์ - หมวดหมู่สินค้าอิเล็กทรอนิกส์: มีจำนวนการสั่งซื้อสูงสุดในตลาดไทย และเวียดนาม - หมวดหมู่สินค้าอุปกรณ์กีฬาและเพื่อการออกกำลังกาย: มีจำนวนการสั่งซื้อสูงสุดในตลาดอินโดนีเซียเท่านั้น นอกเหนือจาก 6 ตลาดอีคอมเมิร์ซที่กล่าวมาข้างต้นแล้ว ตลาดฮ่องกงยังมีข้อมูลที่สอดคล้องกัน โดยจากการเปรียบเทียบข้อมูลระหว่างไตรมาสที่ 2-4 พบว่า ช่วงไตรมาสที่ 2 (การแพร่ระบาดสูงสุด) จำนวนผู้เข้าชมสินค้าผ่านทางร้านค้าอีคอมเมิร์ซสายแฟชั่นมีจำนวนลดลงอย่างน่าใจหาย คาดเพราะรัฐบาลประกาศให้ทำงานที่บ้านช่วงไตรมาสที่ 2 และพนักงานเริ่มทยอยกลับไปทำงานที่ออฟฟิศช่วงไตรมาสที่ 3 นั่นเอง อ่านเพิ่มเติม: ความย้อนแย้งของ “ดิจิทัล ทรานส์ฟอร์เมชัน”ไม่พลาดเรื่องราวน่าสนใจอื่นๆ ของเรา ติดตามเราได้ที่เฟซบุ๊ก Forbes Thailand Magazine