ความย้อนแย้งของ “ดิจิทัล ทรานส์ฟอร์เมชัน” - Forbes Thailand

ความย้อนแย้งของ “ดิจิทัล ทรานส์ฟอร์เมชัน”

FORBES THAILAND / ADMIN
05 Apr 2021 | 11:04 AM
READ 3673

เมื่อผมหมายมั่นจะเขียนบทความ ความย้อนแย้งของ “ดิจิทัล ทรานส์ฟอร์เมชัน” ให้ท่านผู้อ่าน “ในความอึกทึกยังมีความอ่อนโยนซ่อนอยู่” ข้อความโฆษณาอัลบัมหนึ่งของวงดนตรีร็อกอมตะวงหนึ่งของเมืองไทยที่ออกมาเมื่อหลายสิบปีที่แล้ว (ซึ่งผมอาจจะจำข้อความคลาดเคลื่อนไปบ้างนะครับ)

และข้อความนี้อธิบายชื่อวงได้ไม่มากก็น้อยสำหรับคำที่มีความหมายเข้าใจยากอย่างคำว่า “Paradox” ซึ่ง Oxford dictionary ให้ความหมายว่า “a person, thing or situation that has two opposite features and therefore seems strange” ซึ่งผมขอแปลง่ายๆ ว่า “ความย้อนแย้ง” นะครับ โดยส่วนตัวผมคิดว่าความย้อนแย้งคือความสวยงามในความเป็นมนุษย์ ที่มีทั้งด้านตรรกะและศิลปะให้ขบคิดในแต่ละเรื่องอยู่เรื่อยๆ แต่ในภาคธุรกิจที่ปัจจุบันต้องการทำดิจิทัล ทรานส์ฟอร์เมชันให้รวดเร็ว เห็นการเปลี่ยนแปลง เพื่อความอยู่รอดขององค์กรนั้น ความย้อนแย้งอาจไม่ใช่สิ่งที่น่าพิสมัยนัก เราคงไม่ต้องอธิบายความจำเป็นของคำว่าดิจิทัล ทรานส์ฟอร์เมชันอีกแล้ว มีผู้ใหญ่ที่ผมเคารพมากท่านหนึ่งเคยกล่าวไว้ว่า “ใครไม่พูดเรื่องนี้ในปีนี้ ถือว่าเป็นบาปมหันต์เลย” ซึ่งผมชอบมากครับ ผมเชื่อว่าทุกองค์กร ไม่ช้าก็เร็วคุณต้องทรานส์ฟอร์มและยิ่งโลกมีภาวะโควิด เรายิ่งเห็นความจำเป็นในการใช้ดิจิทัลมาพลิกโฉมองค์กรเพื่อความอยู่รอด หลายองค์กรกระทบหนัก ทั้งจากภาวะภายนอกที่ลูกค้ากำลังซื้อลดลง หรือการเกิดของผู้เล่นหน้าใหม่นอกเรดาร์ ที่มากินส่วนแบ่งตลาดจากการใช้ศักยภาพด้านดิจิทัล (Digital Capability) ที่เหนือชั้นกว่า และไม่น่าเอาตลาดกลับมาได้ด้วยซ้ำ แต่หากองค์กรใดยังไม่กระทบในวันนี้ ผมดีใจด้วยมากๆ แต่ถ้าวันนี้องค์กรไหนยังไม่เตรียมการ ความเปลี่ยนแปลงของโลกอาจไม่ให้โอกาสท่านอีกเลย ดิจิทัล ทรานส์ฟอร์เมชัน แล้วอะไรคือ ดิจิทัล ทรานส์ฟอร์เมชัน Paradox? ดิจิทัล ทรานส์ฟอร์เมชัน Paradox นั้นนอกจากจะหมายถึงการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้ในพลิกโฉมทางธุรกิจ การสร้างคุณค่าและประสบการณ์ที่เป็นเลิศให้ลูกค้าจนสามารถสร้างรายได้ใหม่ๆ ต่อเนื่องจนยั่งยืนได้นั้น การเปลี่ยนนี้ ต้องลงลึกในระดับ DNA กรอบความคิด การจัดการการเปลี่ยนแปลง ความรู้ความสามารถ ขององค์กร จึงส่งผลต่อคนทุกคนในองค์กรจริงๆ และเพราะตรงนี้เองที่นำพามาซึ่งสิ่งที่ผมเรียกว่าเป็น ดิจิทัล ทรานส์ฟอร์เมชัน Paradox ซึ่งเป็นความย้อนแย้งที่เป็นอุปสรรคสำคัญในการเดินทางสู่การเปลี่ยนแปลงนี้ โดยผมขอสรุปเป็น 5 เรื่องด้วยกัน แต่จะขอแชร์ในตอนนี้ไว้ 2 เรื่องก่อนครับ และจะมาต่ออีก 3 เรื่องในตอนหน้า 1.ดิจิทัล VS คน เรื่องนี้คือเรื่องย้อนแย้งสุดคลาสสิก บ่อยครั้งที่เรามักได้ยินผู้บริหารบอกว่า คน คือ สินทรัพย์ (asset) ที่สำคัญที่สุดขององค์กร ซึ่งก็อาจจะหมายความตามนั้น เพียงแต่ในทางปฏิบัติแล้ว งบประมาณที่ลงกับด้านคนก็มักจะถูกมองเป็น expense มากกว่า investment ถ้าองค์กรมีปัญหาก็ตัดรายจ่ายเรื่องพัฒนาคนก่อน ในเรื่องดิจิทัล ทรานส์ฟอร์เมชันก็ไม่ต่างกัน ในสองมุมมองความย้อนแย้ง หนึ่งคือ ชื่อ “ดิจิทัล” แต่จริงๆ แล้วเรื่องที่ยากและสำคัญที่สุดในการขับเคลื่อนเรื่องนี้ก็คือเรื่อง “คน” และสอง แม้จะให้ความสำคัญกับเรื่องคน ถ้าให้เลือก หลายองค์กรไปทำเรื่อง Digital Technology ก่อน ทั้งด้านงบประมาณกลยุทธ์และเป้าหมายดำเนินการ ซึ่งอาจไม่ใช่เรื่องผิด แต่ถ้าจะให้การเดินทางนี้สำเร็จได้เร็วในแต่ละหลักชัย ต้องไม่ลืมเรื่องการสร้างคน และผู้นำ ตั้งแต่ มายด์เซ็ต หลักการคิด ความรู้ ไปสู่พฤติกรรม ไปสู่นิสัย ศักยภาพ การสร้างผลลัพธ์ ไปสู่การเป็นวัฒนธรรมองค์กร ผมให้ตัววัดง่ายๆ ว่าวันนี้ คนของเรามีเรื่อง ดิจิทัลไหลเวียนอยู่ในกายแล้วถามตัวเองว่าจะสร้างคุณค่าให้ลูกค้าและรายได้ให้องค์กรจากงานที่ตัวเองทำได้อย่างไรแล้วรึยัง 2.“Me too” VS Strategy ในขณะที่ทุกคนรู้และพูดเสมอว่าเรื่องกลยุทธ์นั้นสำคัญ เป็นจุดเริ่มของชัยชนะในการแข่งขัน และต้องทำเป็นเรื่องแรกในการเปลี่ยนแปลง แต่บ่อยครั้งที่หลายองค์กรก็ “กระโดด” ข้ามการพินิจพิเคราะห์หากลยุทธ์ที่ใช่ ไปสู่การหาเทคโนโลยีที่องค์กรรอบข้างก็ทำ อะไรฮิต ก็ต้องมีบ้าง ใครทำอะไร ก็ต้องเริ่มหามาใช้บ้าง เพราะกลัวไม่ทันคู่แข่ง หรือไม่ทันใจลูกค้า หลายคนเรียกว่าเป็น “Digital Fashionista” ซึ่งก็ไม่ใช่เรื่องผิดแต่ต้องไม่ลืมว่า เทคโนโลยีเหล่านั้น จะเอาเข้ามาใช้ในองค์กรเพื่ออะไร? สร้างความเป็นหนึ่งได้อย่างไร?   สังเกตว่าผมไม่ใช้คำว่าความสามารถของการแข่งขันนะครับ เพราะกลยุทธ์ที่ดี กูรูด้านกลยุทธ์ของ Decision Processes International, Inc (DPI) อย่าง Mike Robert กล่าวไว้ว่า ต้องเปลี่ยนเกมการเล่นได้ เรียกว่าเราเขียนกฎให้ผู้อื่นมาเล่นในเกมที่เรากำหนดและควบคุมได้ ซึ่งก็สอดคล้องในสิ่งที่ Peter Thiel มหาเศรษฐี นักลงทุนใน Startup ชื่อดัง เจ้าของหนังสือ Zero to One ผู้มีส่วนปั้นทั้ง Facebook และ PayPal บอกไว้สั้นๆ แบบโหดๆว่า Competition is for Losers !! ตรงนี้ทำให้เราเห็นว่า กลยุทธ์ที่ดีนั้นสำคัญต่อการเป็นผู้ชนะมากๆ เมื่อจะทำ Digital Transform ก็ต้องเป็น “Best” ในเกมให้ได้ และการมีเทคโนโลยีแบบคนอื่น โดยไม่มีกลยุทธ์ว่าจะเอาเทคโนโลยีนั้นๆ มาใช้สร้างการเปลี่ยนแปลงให้ยืนหนึ่งได้อย่างไรนั้น เป็นอีกความย้อนแย้งที่อันตรายมากๆ บีม บัญชา ธรรมรุ่งเรือง CEO และ Co-Founder ของบริษัท AMPOS ที่เป็น The Most Innovative Cloud Company ใน China-APAC จาก Amazon Web Services (AWS) ได้เล่าเรื่องไว้น่าสนใจในการสัมมนาเรื่อง Accelerating Digital Transformation จัดโดย PacRim Group และ AMPOS ว่าจากประสบการณ์ที่ได้เป็นที่ปรึกษาทำ Digital Transformation Roadmap และ Blueprint ให้หลายองค์กร คุณบัญชาพบว่า หลายองค์กรไปตั้งต้นที่เทคโนโลยี แต่จริงๆ แล้วการทบทวนกลยุทธ์ว่าจะนำเทคโนโลยีนั้นๆ มาขับเคลื่อนธุรกิจให้เติบโตอย่างไรนั้นสำคัญกว่า และจะเป็นจุดตั้งต้นในพัฒนาคน วัฒนธรรมขององค์กรอย่างมีทิศทางและหางเสือด้วย ในเดือนหน้า ผมจะกลับมากลับอีก 3 เรื่องที่ย้อนแย้งพึงระวังในการจัดการ ดิจิทัล ทรานส์ฟอร์เมชันทั้งนี้ในวันที่ 18 พ.ค. นี้ ทาง PacRim Group ร่วมกับ AMPOS ผสานพลังของ Framework กลยุทธ์ระดับโลกจาก DPI ร่วมกับประสบการณ์การทำบริษัทพัฒนาเทคโนโลยี มาร่วมกันจัด Workshop ให้ผู้บริหารทำ Digital Strategy Review เพื่อ Reimagine Your Business ผู้สนใจสามารถติดต่อทาง PacRim ได้ ซึ่งน่าจะเป็นประโยชน์กับการทำ ดิจิทัล ทรานส์ฟอร์เมชัน ให้ขับเคลื่อนได้อย่างถูกทิศทาง ลดความสิ้นเปลือง สร้างผลลัพธ์ และเปลี่ยนแปลงได้รวดเร็วยิ่งขึ้น ซึ่งความเป็นสุดยอดเหล่านี้ เริ่มต้นจากการมีกลยุทธ์ที่ใช่ คำถามสำหรับผู้นำที่จะสร้างความชัดเจนจากเรื่องย้อนแย้ง คือ วันนี้เรามีกลยุทธ์ที่ใช่ในการเร่งการขับเคลื่อน ดิจิทัล ทรานส์ฟอร์เมชัน แล้วหรือไม่? เราขับเคลื่อนกลยุทธ์ผ่าน คน อย่างเหมาะสมแล้วหรือยัง? ติดตามอ่านเนื้อหาดีๆ จาก PacRim พาร์ทเนอร์ที่คุณไว้วางใจได้ ในการช่วยเร่งสปีดการ Transform และเพิ่มผลลัพธ์ให้กับธุรกิจ (Trusted Partner in Accelerating Transformation & Performance Improvement) ในวันจันทร์แรกของทุกเดือนทาง forbesthailand.com ครับ   บทความโดย อภิวัฒน์ ปุญญฤทธิ์ Consultant and Innovation Specialist Info@pacrimgroup.com
ไม่พลาดเรื่องราวน่าสนใจอื่นๆ ของเรา ติดตามเราได้ที่เฟซบุ๊ก Forbes Thailand Magazine