“ฮาคูโฮโด” เผยคนไทยหนีกรุง ย้ายกลับภูมิลำเนา - Forbes Thailand

“ฮาคูโฮโด” เผยคนไทยหนีกรุง ย้ายกลับภูมิลำเนา

“ฮาคูโฮโด” เผยพฤติกรรมผู้บริโภคเดือน ส.ค. มีความสุขน้อยลง แต่กลับใช้จ่ายมากขึ้น ภาคตะวันออกเฉียงเหนือเพิ่มสูงสุดร้อยละ 6 รับกลับบ้านยาว เน้นใช้จ่ายสินค้าจำเป็น ต่อเติมบ้าน ขณะที่เตรียมพร้อมทักษะด้านออนไลน์ แสวงหารายได้เพิ่มขึ้นรับเศรษฐกิจซึมยาว

สถาบันวิจัยความเป็นอยู่ฮาคูโฮโด อาเซียน (ประเทศไทย) ร่วมกับ บริษัท โซซิอัส จำกัด เปิดเผยผลสำรวจการคาดการณ์พฤติกรรมผู้บริโภคไทยประจำเดือนสิงหาคม 2564 พบว่า คนไทยมีความสุขลดลง ซึ่งมีผลกระทบมาจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ในระลอกที่สี่ ในขณะเดียวกัน มีการใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นสวนทางกับสภาวะเศรษฐกิจที่ฝืดเคือง ส่วนใหญ่เน้นใช้จ่ายในสิ่งที่จำเป็น รวมไปถึงการกักตุนอาหารเพื่อการดำรงชีพของตนเองและครอบครัวภายในบ้าน รวมถึงหาแนวทางในการปรับตัวและดำเนินชีวิตให้อยู่รอดในช่วงนี้ สำหรับคะแนนแนวโน้มการใช้จ่ายของผู้บริโภคในเดือนสิงหาคมอยู่ที่ 57 คะแนน เพิ่มขึ้นจากเดือนมิถุนายนที่ 54 คะแนน โดยแนวโน้มความต้องการใช้จ่ายของภาคตะวันออกเฉียงเหนืออยู่ที่ 60 คะแนน เพิ่มขึ้นสูงสุด เนื่องจากมีการย้ายถิ่นฐานกลับภูมิลำเนามากขึ้น จึงมีค่าใช้จ่ายด้านการเดินทาง ยานพาหนะ ขณะเดียวกันมีการวางแผนใช้ชีวิตระยะยาว เห็นได้จากการใช้จ่ายที่มากขึ้นเกี่ยวกับที่พักอาศัย การต่อเติมบ้านหรือตกแต่งบ้าน ขณะที่แนวโน้มการใช้จ่ายของภาคกลางลดลงต่ำสุดอยู่ที่ 55 คะแนน ลดลง 1 คะแนนจากการสำรวจครั้งก่อน ใช้จ่ายกักตุนสินค้าจำเป็น ชุติมา วิริยะมหากุล ผู้อำนวยการฝ่ายธุรกิจ สถาบันวิจัยความเป็นอยู่ฮาคูโฮโด อาเซียน (ประเทศไทย) เปิดเผยว่า ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่รุนแรงมากขึ้นในขณะนี้ ส่งผลให้ผู้บริโภคส่วนใหญ่ต้องใช้ชีวิตอยู่บ้านเป็นหลักโดยเฉพาะในพื้นที่ควบคุมสูงสุด และเพิ่มความรู้และทักษะในการหารายได้จากออนไลน์มากขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ จากการสำรวจพบว่าสังคมไทยส่วนใหญ่มีความวิตกกังวลอย่างเห็นได้ชัดว่า คนที่อาศัยอยู่ในกรุงเทพฯ และในจังหวัดพื้นที่สีแดงเข้ม มีความสุขลดลง 2% เมื่อเทียบจากผลสำรวจในช่วงเดือนมิถุนายน 2564 ที่ผ่านมา โดยมีข้อบ่งชี้สำคัญเกี่ยวกับพฤติกรรมการใช้จ่ายของผู้บริโภคอยู่ 2 ข้อ ได้แก่ 1.วางแผนการใช้เงินให้เกิดประโยชน์ และพัฒนาความสามารถในการหารายได้ คนไทยส่วนใหญ่ยังคงมีความระมัดระวังในการจับจ่ายใช้สอย โดยเน้นซื้อของที่คิดว่าจำเป็นก่อน เช่น ของใช้ในชีวิตประจำวัน และเครื่องใช้ภายในบ้าน รวมไปถึงมีการวางแผนใช้จ่ายล่วงหน้าพร้อมรับมือกับสถานการณ์โควิด ที่สำคัญคือ มีการปรับตัวในการดำรงชีพ ด้วยการเพิ่มความรู้และทักษะในการหารายได้ โดยโทรศัพท์มือถือและคอมพิวเตอร์ ยังคงเป็นสิ่งสำคัญมากสำหรับทุกอาชีพในตอนนี้ เพื่อใช้ในการเรียนรู้สิ่งต่างๆ จากออนไลน์ที่จะสามารถทำอะไรได้ด้วยตัวเองเพื่อความประหยัด 2.คนกรุงเทพเน้นการใช้จ่ายเพื่อใช้ชีวิตที่สะดวกในบ้าน ในขณะที่คนต่างจังหวัดอยากจับจ่ายนอกบ้านมากขึ้น ถึงแม้จะมีความอัดอั้นตึงเครียดต่อเนื่อง แต่ก็ต้องการให้ชีวิตมีความสะดวกสบายเพิ่มขึ้น คนกรุงเทพและจังหวัดข้างเคียงจึงเน้นการซื้อสิ่งอำนวยความสะดวกในบ้าน เช่น เครื่องนอน เครื่องใช้ไฟฟ้า ในขณะที่ภาคเหนือและภาคตะวันออก ผู้คนอยากออกไปใช้ชีวิตนอกบ้าน มากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการทานอาหารนอกบ้าน กิจกรรมกลางแจ้ง รวมไปถึงการท่องเที่ยว เพราะสถานการณ์โควิดในภูมิภาคนั้นไม่รุนแรงเท่า อีกปัจจัยหนึ่งในการใช้จ่ายก็คือ เทศกาลวันแม่ นอกจากมีโอกาสพาแม่ไปทานอาหาร แล้วผู้คนยังวางแผนซื้อกระเป๋า รองเท้า และเครื่องประดับเป็นของขวัญในวันแม่อีกด้วย ด้าน อานันท์ปภา ศิริวรรณ ผู้อำนวยการสายงานวางแผนกลยุทธ์ บริษัท โซซิอัส จำกัด กล่าวว่า จากผลวิจัยในครั้งนี้ สิ่งที่เห็นได้ชัดเจนที่สุดคือ ปัญหาปากท้องของประชาชน ที่มองว่าไม่มีอะไรเหมือนเดิมอีกต่อไปและต้องปรับตัวอย่างมากเพื่ออยู่รอด เมื่อดูจากพฤติกรรมผู้บริโภคทั้งในกลุ่มเสี่ยง (พื้นที่สีแดงเข้ม) และกลุ่มพื้นที่เสี่ยงในต่างจังหวัด (พื้นที่ควบคุม) หากแบ่งตามภูมิภาคจะพบว่า ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ หลังจากภาครัฐประกาศล็อกดาวน์ทำให้ผู้คนต่างกลับภูมิลำเนาและวางแผนอยู่แบบระยะยาว ส่งผลให้มีแนวโน้มการใช้จ่ายเพิ่มขึ้น ทั้งนอกจากเครื่องอุปโภคบริโภคที่มากขึ้นแล้ว ยังรวมถึงค่าน้ำมันและยานพาหนะ และใช้จ่ายเกี่ยวกับที่พักอาศัยไม่ว่าจะเป็นการต่อเติมหรือตกแต่งบ้าน หากจำแนกเป็นช่วงอายุ สำหรับวัย 20-39 ปี พบว่ามีความต้องการซื้อผลิตภัณฑ์ที่รองรับในช่วง Work from home เช่น ของตกแต่งบ้านและเฟอร์นิเจอร์ และในช่วงอายุ 50-59 ปี มีความต้องการสิ่งที่จำเป็นในชีวิตประจำวันเพื่อความสะดวกสบายและมีการใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นในเรื่องสุขภาพและความงาม จากข้อมูลพบว่า 5 กลุ่มผลิตภัณฑ์ที่คนไทยใช้จ่ายมากที่สุดในช่วงสถานการณ์ล็อกดาวน์ เป็นกลุ่มสินค้าที่เน้นอำนวยความสะดวกการใช้ชีวิตในบ้านเป็นหลัก ได้แก่อาหารร้อยละ 25 ของใช้เป็นในประจำวันร้อยละ โทรศัพท์มือถือและสมาร์ทโฟนร้อยละ อุปกรณ์คอมพิวเตอร์และแท็บเล็ตร้อยละ 6 เสื้อผ้าและเครื่องประดับร้อยละ 5 หาข่าวความช่วยเหลือ-เสี่ยงโชค ประเด็นข่าวร้อนที่คนไทยติดตามและถูกพูดถึงมากที่สุด 3 อันดับ ได้แก่ อันดับที่ 1 ข่าวประเด็นสังคมที่เกี่ยวกับสถานการณ์โควิด-19 คิดเป็นร้อยละ 40 รองลงมาอันดับที่ 2 ข่าวที่รัฐบาลดำเนินการจัดสรรวัคซีนโควิด-19 ซึ่งเป็นความหวังของประชาชน ร้อยละ 24 เนื่องจากตัวเลขผู้ติดเชื้อยังคงสูงขึ้นต่อเนื่อง ประชาชนมีความแคลงใจในประสิทธิภาพของวัคซีน และอันดับที่ 3 ข่าวกระแสสังคมการเมือง ร้อยละ 8 ที่หวังจะเห็นการทำงานที่มีความโปร่งใสของภาครัฐปรับเปลี่ยนไปในทิศทางที่ดีขึ้น ส่วนอันดับ 4 และ 5 ได้แก่ข่าวลุงพล-น้องชมพู่ และอุบัติเหตุรถ BMW Z4 และในอันดับที่ 6 ถึง 10 ยังคงเป็นข่าวเศรษฐกิจ การช่วยเหลือจากภาครัฐ หรือแม้กระทั่งการหารายได้ด้วยการเสี่ยงโชคจากหวยแม่น้ำหนึ่ง ที่จะช่วยเยียวยาสถานการณ์ด้านการเงิน รายจ่ายที่เพิ่มมากขึ้นของพวกเขาแทนการช่วยเหลือจากภาครัฐได้เบื้องต้น ชุติมา กล่าวว่า จากผลการสำรวจ มีข้อเสนอแนะสองส่วนคือ 1. การสื่อสารที่แตกต่างกันในพื้นที่เสี่ยง (โซนสีแดงเข้ม) เน้นสื่อสารแบบออนไลน์กับคนที่ต้องทำงาน รวมถึงการเรียนออนไลน์ที่บ้าน ส่วนในพื้นที่ควบคุม (โซนสีแดง-สีเหลือง-สีส้ม-สีเขียว) เน้นการสื่อสารทั้งแบบออนไลน์และออฟไลน์ ให้เข้าถึงประชาชนที่ยังต้องเดินทางและใช้ชีวิตนอกบ้าน 2. เน้นการสื่อสาร แบบแบ่งแยกตามกลุ่มที่มีความสนใจเน้นกิจกรรมในที่พักอาศัย การพัฒนาทักษะใหม่ ๆ เพื่อพึ่งพาและเพิ่มรายได้ให้กับตนเอง ซึ่งแบรนด์ยังคงสามารถช่วยเพิ่มความสุขให้กับประชาชนที่ต้องกักตัวอยู่ที่บ้านได้ สำหรับผลสำรวจครั้งล่าสุดในเดือนสิงหาคมนี้ ทางสถาบันวิจัยฯ ได้ทำการสำรวจทางออนไลน์ “การคาดการณ์พฤติกรรมการใช้จ่ายของผู้บริโภคในประเทศไทย” ทุก 2 เดือน ร่วมกันระหว่างสถาบันวิจัยความเป็นอยู่ฮาคูโฮโด อาเซียน (ประเทศไทย) กับบริษัทในเครือ มุ่งเน้นที่คาดการณ์แนวโน้มการบริโภคของคนไทยในอนาคต โดยผู้ร่วมตอบแบบสอบถามประกอบไปด้วยเพศชายและเพศหญิงจำนวน 1,200 คน อายุระหว่าง 20-59 ปี จาก 6 ภูมิภาคทั่วประเทศ อ่านเพิ่มเติม: อเมริกัน เอ็กซ์เพรส จับมือ ธนาคารกรุงเทพ ขยายเครือข่ายร้านค้า
ไม่พลาดเรื่องราวน่าสนใจอื่นๆ ของเรา ติดตามเราได้ที่เฟซบุ๊ก Forbes Thailand Magazine