วิธีการจัดการที่พักอาศัยที่แตกต่างในรายละเอียด สะท้อนให้เห็นถึงวัฒนธรรมรูปแบบการใช้ชีวิตที่ไม่เหมือนกัน Forbes Thailand ขอพาทุกท่านชมฟังก์ชันห้องชุดคอนโดมิเนียม การออกแบบภายในตั้งแต่เชิงโครงสร้างจนถึงรายละเอียดเล็กๆ ที่สะท้อนการอยู่อาศัยของครอบครัวคนญี่ปุ่น
จากการเทียบเชิญโดย
บริษัท ชินวะ เรียลเอสเตท (ไทยแลนด์) จำกัด Forbes Thailand ได้เข้าเยี่ยมชมห้องตัวอย่างของโครงการคอนโดฯ
Pressance Grand Koshien Gobancho ภายใต้การบริหารของ
Pressance Corporation บริษัทอสังหาฯ อันดับ 1 ด้านจำนวนยูนิตขายของภูมิภาค Kansai ซึ่งโครงการนี้จะสะท้อนให้เห็นถึงไอเดียการออกแบบห้องชุดที่แตกต่างตามวัฒนธรรมและกฎหมายควบคุมอาคารของแดนอาทิตย์อุทัย โดยมีทีมงานทั้งจากชินวะ เรียลเอสเตท (ไทยแลนด์) และ Pressance Corporation ร่วมให้ข้อมูล
โครงการ Pressance Grand Koshien Gobancho ตั้งอยู่ในย่าน Nishinomiya เมือง Osaka ประเทศญี่ปุ่น ซึ่งถือเป็นย่านระดับบนของเมือง Osaka ตัวโครงการตั้งอยู่ห่างจากสนามเบสบอล
Hanshin Koshien 600 เมตร และสถานีรถไฟฟ้า Koshien 500 เมตร อาคารก่อสร้างสูง 4 ชั้นตามกฎหมายผังเมืองของย่านที่อนุญาตให้ก่อสร้างได้สูงสุดเพียง 4 ชั้น และมียูนิตขาย 24 ยูนิตเท่านั้นซึ่งจำหน่ายหมดภายใน 10 เดือน ขณะนี้อยู่ระหว่างก่อสร้างมีกำหนดสร้างเสร็จเดือนพฤษภาคม 2562
คอนโดฯ แห่งนี้เน้นห้องชุดสำหรับอยู่เป็นครอบครัว พื้นที่ใช้สอยตั้งแต่ 55-110 ตร.ม. ราคาขายเฉลี่ยที่ 8.4 แสนเยนต่อตร.ม. (ประมาณ 2.48 แสนบาทต่อตร.ม.) ถือเป็นคอนโดฯ ระดับกลางของ Pressance ส่วนห้องตัวอย่างที่เปิดให้ชมเป็น
ห้องพื้นที่ใช้สอย 75 ตร.ม. ฟังก์ชัน 2 ห้องนอน 1 ห้องอาบน้ำ 1 ห้องน้ำ สนนราคาขาย 20-22 ล้านบาทต่อยูนิต
ต้อนรับด้วย "เกงกัง" และการใช้ "โทรทัศน์" เป็นศูนย์รวมครอบครัว
การจัดวางเลย์เอาท์ห้องของญี่ปุ่นจะมีความแตกต่างจากไทย เมื่อแรกเปิดประตูจะพบกับส่วนที่เรียกว่า
“เกงกัง” เป็นพื้นหินลดระดับไว้สำหรับถอดรองเท้าและมีห้องรองเท้าซ่อนอยู่ด้านข้างสำหรับใช้เก็บรองเท้าโดยเฉพาะ เพื่อไม่ให้เศษดินโคลนติดเปื้อนเข้ามาภายในบ้านและมีที่จัดเก็บเป็นระเบียบ บางแห่งอาจจะติดกระจกเงาไว้ด้วยเพื่อเป็นพื้นที่ตรวจสอบความเรียบร้อยของเสื้อผ้าก่อนออกจากบ้านนั่นเอง
เมื่อผ่านเกงกังมาแล้วจะเป็นโถงทางเดินยาวตรงกลางโดยยังไม่เห็นห้องนั่งเล่นหรือทานอาหารซึ่งเป็นการจัดวางที่คนไทยคุ้นตา ประตูสองบานแรกทางซ้ายกลับเป็นห้องนอนในทันทีซึ่งอาจขัดกับความรู้สึกของคนไทยที่มองว่าการจัดห้องนอนไว้ด้านหน้าจะรักษาความเป็นส่วนตัวไม่ได้มากนัก
เมื่อเดินตรงไปจนสุดทางจึงจะพบโถงห้องนั่งเล่น ครัว และโต๊ะทานอาหาร
พื้นที่ส่วนกลางของครอบครัวเหล่านี้กินเนื้อที่ 50% ของห้องชุด ครัวเป็นแบบไอส์แลนด์ มีซิงก์ล้างจานและเตาแก๊สตรงกลาง หันหน้าเข้าหาโต๊ะทานอาหาร โดยผู้นำชมบอกว่า ถือเป็นการวางเลย์เอาท์เพื่อเชื่อมต่อสัมพันธ์ระหว่างแม่บ้านที่กำลังทำอาหารกับคนอื่นๆ ในครอบครัว ทำให้แม่บ้านมองเห็นลูกๆ อยู่เสมอด้วยเพราะหันหน้าออกจากกำแพงบ้านแม้กำลังทำกับข้าว
มุมห้องนั่งเล่นมีสิ่งที่แตกต่างจากไทยเช่นกัน นั่นคือการจัดวางโทรทัศน์ไว้เยื้องจากโซฟาโดยไม่ได้เกิดจากข้อจำกัดของพื้นที่ ที่ปรึกษาชินวะ เรียลเอสเตท อธิบายให้ฟังว่า ในความคิดของชาวญี่ปุ่น
โทรทัศน์เป็นจุดศูนย์กลางของบ้าน และจะต้องตั้งไว้ตรงกลางห้องให้ทุกคนทั้งบนโซฟา อาร์มแชร์ โต๊ะทานข้าว จนถึงครัว สามารถมองเห็นโทรทัศน์ได้ทั้งหมด ไม่จำเป็นต้องตั้งตรงกับโซฟาเท่านั้น
ห้องนอนเล็ก-ห้องอาบน้ำแยกส่วน
มาต่อกันที่ห้องนอน ห้องนอนมาสเตอร์กับห้องนอนรองนั้นที่จริงแล้วขนาดแทบไม่แตกต่างกัน เห็นได้ว่า
ทั้งขนาดและฟังก์ชันในห้องนอนนั้นค่อนข้างน้อย ที่ชัดเจนคือ ไม่มีโทรทัศน์ เพราะคนญี่ปุ่นถือว่าห้องนอนมีไว้สำหรับนอนพักผ่อนเท่านั้น ส่วนกิจกรรมอื่นๆ จะทำร่วมกับครอบครัวบริเวณส่วนกลางของบ้าน
ที่แตกต่างอีกอย่างคือ
การแยกห้องอาบน้ำออกจากห้องน้ำ (หากมีพื้นที่เพียงพอ) ห้องอาบน้ำจะมีอ่างอาบน้ำตามความนิยมการแช่น้ำร้อนของคนญี่ปุ่น ในขณะที่โถสุขภัณฑ์จะแยกออกไปอยู่ในห้องน้ำเล็กๆ ต่างหากอีกห้องหนึ่ง ตัวห้องน้ำเองมักจะใช้ห้องน้ำสำเร็จรูปจากโรงงานมาประกอบเข้ากับห้องชุด ซึ่งปัจจุบันมีการพัฒนาวัสดุกรุผนังให้ดูคล้ายหินหรือไม้มากจนลบความรู้สึกของความเป็นห้องน้ำสำเร็จรูปแบบเดิมออกไป
ส่วนที่น่าสนใจอีกจุดหนึ่งคือ
“ระเบียง” ที่ญี่ปุ่นจะมีกฎหมายควบคุมอาคารให้ต้องมีระเบียงทุกห้องชุดโดยไม่นับเป็นพื้นที่ขาย พร้อมกับต้องติดตั้งทางหนีไฟไว้สำหรับกรณีฉุกเฉิน ระเบียงที่นี่จึงกว้างขวาง กะด้วยสายตากว้างราว 1 เมตรและยาว 5 เมตร เมื่อเป็นเช่นนั้น โครงการจึงมักจะ add-on ให้ลูกค้าด้วยราวตากผ้าสำเร็จรูปแบบพับเก็บได้ สร้างความสะดวกสบายให้การอยู่อาศัย
วิธีปูพื้นไม้ให้นุ่มเท้า
มาว่ากันที่วัสดุอุปกรณ์ พื้นที่ส่วนใหญ่ในห้องชุดนั้นจะเป็นพื้นไม้เอ็นจิเนียริ่งวู้ด แต่กลับให้ความรู้สึกแตกต่างจากการปูพื้นไม้ในไทย รู้สึกถึงความแน่นและนุ่มเมื่อเหยียบลงไป ไม่ส่งเสียงลั่นเอียดอาดหรือแข็งเท่าพื้นห้องของไทย สาเหตุที่เป็นเช่นนั้นเกิดจาก
เทกนิกการปูฐานใต้พื้นไม้เอ็นจิเนียริ่งวู้ด จะมีไม้และโฟมซ้อนถึง 3 ชั้นรองรับแรงกระแทก ซึ่งนอกจากทำให้พื้นนุ่มแน่นแล้วยังช่วยเก็บกักความอบอุ่นให้กับบ้านเมืองหนาวด้วย
ระบบดูดอากาศ เองก็มีความแตกต่าง โดยห้องญี่ปุ่นไม่ใช้พัดลมดูดอากาศไฟฟ้า แต่ใช้เพียงช่องระบายอากาศสองช่องที่เมื่อเปิดไว้พร้อมกัน ลมจะมีการหมุนเวียนเข้าออกอัตโนมัติ เป็นอุปกรณ์ที่ทำให้ประหยัดไฟ และไม่ต้องเปิดหน้าต่างทิ้งไว้ซึ่งอาจไม่ปลอดภัยต่อทรัพย์สิน
นอกจากนี้ โดยรวมจะสังเกตเห็นว่าห้องชุดญี่ปุ่นมีหน้าต่างค่อนข้างเล็กถ้าเทียบกับไทย บางส่วนใช้บล็อกแก้วในการรับแสงเข้ามาในห้องเพราะมีภูมิอากาศหนาวเย็นเป็นส่วนใหญ่จึงไม่ต้องการรับลม อีกทั้งยังสร้างห้องเพดานต่ำและวางเฟอร์นิเจอร์ทรงเตี้ย ตามรูปร่างของชาวญี่ปุ่นเองและความนิยมที่มีมานาน
Forbes Facts
- Pressance ให้ข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับธุรกิจอสังหาฯ ในญี่ปุ่นโดยข้อมูลปี 2560 พบว่าอสังหาฯ ที่เปิดขายในญี่ปุ่นมีทั้งหมด 77,363 ยูนิต เพิ่มขึ้น 5% และเป็นทิศทางเติบโตครั้งแรกในรอบ 4 ปี เฉพาะภูมิภาค Kinki (หมายถึง 7 จังหวัด ได้แก่ Osaka, Kyoto, Hyogo, Nara, Mie, Shiga และ Wakayama) เติบโตสูงสุดในประเทศที่ 4.7%
- ทั้งนี้ Pressance Corporation มีการร่วมลงทุนกับ ชินวะ เรียลเอสเตท (ไทยแลนด์) และบริษัท พรีบิลท์ จำกัด (มหาชน) ในโครงการ เร็น สุขุมวิท 39 ที่ประเทศไทย มูลค่าโครงการ 2,600 ล้านบาท ซึ่งคาดว่าจะเปิดตัวภายในปีนี้
- อ่านเพิ่มเติม พาชมเทคโนโลยี "ป้องกันแผ่นดินไหว" ใหม่ล่าสุดในญี่ปุ่น รองรับได้สูงสุดขนาด 7.0