พาชมเทคโนโลยี “ป้องกันแผ่นดินไหว” ใหม่ล่าสุดในญี่ปุ่น รองรับได้สูงสุดขนาด 7.0 - Forbes Thailand

พาชมเทคโนโลยี “ป้องกันแผ่นดินไหว” ใหม่ล่าสุดในญี่ปุ่น รองรับได้สูงสุดขนาด 7.0

ประเทศญี่ปุ่นเป็นประเทศเกาะกลางทะเลบนแนวเขตรอยเลื่อนแผ่นเปลือกโลก ซึ่งทำให้ญี่ปุ่นมีการสั่นสะเทือนจากแผ่นดินไหวทุกๆ 5 นาที ในจำนวนนั้น จะมีแผ่นดินไหวราว 2,000 ครั้งที่รุนแรงจนผู้คนสามารถรับรู้ถึงการสั่นสะเทือนได้ชัดเจน

ความเสี่ยงดังกล่าวทำให้อาคารในประเทศญี่ปุ่นมีกฎหมายบังคับติดตั้งระบบ ป้องกันแผ่นดินไหว เทคโนโลยีของบริษัทวิศวกรรมแดนปลาดิบจึงรุดไปในระดับแถวหน้าของโลก Forbes Thailand มีโอกาสเยี่ยมชมระบบป้องกันแผ่นดินไหวใหม่ล่าสุด จากการเทียบเชิญของ บริษัท ชินวะ เรียลเอสเตท (ไทยแลนด์) จำกัด ซึ่งนำชมระบบดังกล่าวในอาคารเซอร์วิส อะพาร์ทเมนท์ Splendid Hanaten ที่เมือง Osaka ประเทศญี่ปุ่น อาคารความสูง 14 ชั้นนี้ก่อสร้างและบริหารโดย Shinwa Group บริษัทแม่ของชินวะ เรียลเอสเตท (ไทยแลนด์) และมีการนำเทคโนโลยีระบบ NS-SSB ของบริษัท Shinnittetsu Sumikin Engineering มาใช้ ป้องกันแผ่นดินไหวในโครงการ วิชัย จุฬาโอฬารกุล กรรมการบริหาร บริษัท ชินวะ เรียลเอสเตท (ไทยแลนด์) จำกัด พร้อมด้วยทีมงานวิศวกรจาก Shinwa Group เป็นผู้นำชม โดยวิชัยกล่าวถึงระบบป้องกันแผ่นดินไหวแบบดั้งเดิมที่เรียกว่า Earthquake Resistant Structure ก่อนว่า ปกติแล้วระบบเดิมจะเป็นการสร้างฐานรากของตึกให้แข็งแรงมากที่สุดโดยการใช้ปริมาณเหล็กเส้นและคอนกรีตที่สูงกว่าอาคารทั่วไป ซึ่งทำให้รองรับความรุนแรงของแผ่นดินไหวได้ ตึกไม่ทรุดหรือแตกร้าว อย่างไรก็ตาม ปัญหาของระบบดั้งเดิมคือ แม้ว่าอาคารจะไม่ได้รับความเสียหาย แต่ตัวอาคารจะเคลื่อนตัวและเขย่าตามแรงสั่นสะเทือน ซึ่งทำให้สิ่งของในอาคารเลื่อนหล่นแตกหัก ส่งผลให้ผู้อยู่อาศัยสูญเสียทรัพย์สิน นอกจากนี้ แม้ว่าตึกจะไม่เสียหายแต่จะมีการเคลื่อนตัวออกไปจากจุดเดิมได้ Shinwa Group เปิดชั้นใต้ดินให้ชมฐานรากแบบใหม่ของการรองรับแผ่นดินไหวในอาคาร Splendid Hanaten โดยระบบ NS-SSB คือแนวคิดใหม่โดยการใช้หลักไจโรสโคปมาปรับใช้
วิศวกร Shinwa Group นำชมอุปกรณ์ Base Isolator แทรกตัวระหว่างเสาอาคารกับฐานราก
ระบบ NS-SSB จะใช้อุปกรณ์ที่เรียกว่า Base Isolator เป็นจานเหล็กสองแผ่นที่ประกบลูกบอลไว้ตรงกลาง จากนั้นนำอุปกรณ์นี้ไปวางแทรกไว้ระหว่างเสาหลักของอาคารกับเสาเข็มที่เจาะเป็นฐานรากใต้ดิน ในกรณีของอาคาร Splendid Hanaten มีเสาหลักทั้งหมด 12 ต้นจึงต้องใช้อุปกรณ์นี้ 12 ตัวเข้าคู่กับเสาแต่ละต้น วิศวกรจาก Shinwa Group กล่าวว่า อุปกรณ์ Base Isolator จะทำให้เสาอาคารแยกออกจากฐานราก เมื่อเกิดการสั่นสะเทือนตัวอาคารจะเคลื่อนตัวในแนวระนาบอย่างช้าๆ แทนการสะเทือนโดยตรงอย่างเดิม และเสาจะกลับสู่ศูนย์กลางในจุดเดิมเสมอ จึงไม่มีปัญหาอาคารเคลื่อนที่ อีกทั้งทำให้คนในอาคารไม่รู้สึกถึงแผ่นดินไหวและทรัพย์สินไม่เคลื่อนตัวหากความรุนแรงนั้นต่ำกว่า 5.0 ตามมาตราริกเตอร์ ในแง่การรักษาโครงสร้างอาคารสามารถรองรับได้ถึง 7.0 ตามมาตราริกเตอร์ อาคารจะไม่เกิดความเสียหาย
อุปกรณ์ Base Isolator ที่ใช้สำหรับ ป้องกันแผ่นดินไหว
นอกจากอุปกรณ์ Base Isolator แล้ว ในชั้นใต้ดินมีการติดตั้งเข็มสกัดเหล็กไว้เพื่อบันทึกการเคลื่อนตัวของแผ่นดินไหวสำหรับนำไปใช้วิเคราะห์การทำงานหลังแผ่นดินไหวสิ้นสุดด้วย โดยวิศวกร Shinwa Group กล่าวว่า ที่ต้องใช้ระบบแมนนวลอย่างเข็มสกัดแผ่นเหล็ก ไม่ใช่เครื่องมืออิเล็กทรอนิกส์ เป็นเพราะระหว่างเกิดแผ่นดินไหวมักจะมีเหตุไฟฟ้าดับ ทำให้ต้องใช้อุปกรณ์แมนนวล ทั้งยังมีการติดตั้งระบบท่อชั้นใต้ดินเหนือฐานรากด้วยท่ออ่อนเพื่อป้องกันการแตก รวมถึงสายไฟที่โยงใยในชั้นใต้ดินจะมีการเผื่อความยาวไว้มากเผื่อกรณีที่มีการสั่นสะเทือนจะทำให้สายไฟมีโอกาสขาดยากขึ้น
แท่นเข็มสกัดเหล็กที่จะทำงานเมื่อเกิดแรงสั่นสะเทือน
สำหรับเทคโนโลยี ป้องกันแผ่นดินไหว NS-SSB เริ่มมีการติดตั้งในญี่ปุ่นตั้งแต่ปี 2561 แม้ว่าจะเป็นเทคโนโลยีใหม่แต่ราคาสูงกว่าระบบเดิมเพียง 5% เนื่องจากตัวระบบดั้งเดิมเองต้องลงทุนสูงมากกับปริมาณเหล็กและคอนกรีตที่ใช้เสริมฐานราก ต้นทุนจึงไม่ต่างกันมากนัก หากเทียบกับความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของผู้อยู่อาศัยจึงคุ้มค่า และระบบป้องกันที่ดีกว่าย่อมทำให้ผู้อยู่อาศัยมั่นใจที่จะเลือกโครงการนั้นๆ มากกว่า จึงส่งผลต่อยอดขายหรืออัตราการเช่าของอาคาร วิชัย กล่าวปิดท้ายว่า สำหรับชินวะ เรียลเอสเตท (ประเทศไทย) ยังไม่มีการนำระบบป้องกันแผ่นดินไหวจากญี่ปุ่นเข้ามาใช้เนื่องจากสภาพภูมิศาสตร์ของไทยยังไม่มีความจำเป็นมากนัก แต่การนำชมนี้ต้องการสื่อสารถึงความต้องการพัฒนาเทคโนโลยีการก่อสร้างและอยู่อาศัยอย่างต่อเนื่องของ Shinwa Group