ธนวัฒน์ สุธรรมพันธุ์ ‘Good to Great’ โซลูชั่นใหม่ Microsoft ไทย - Forbes Thailand

ธนวัฒน์ สุธรรมพันธุ์ ‘Good to Great’ โซลูชั่นใหม่ Microsoft ไทย

ธนวัฒน์ สุธรรมพันธุ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ไมโครซอฟท์ (ประเทศไทย) จำกัด พบกับ Forbes Thailand ตามเวลานัดหมาย 11 โมงตรง ที่ Siwilai City Club เซ็นทรัลเอ็มบาสซี ก่อนที่ตารางถัดไปของเขาอีก 1 ชั่วโมงนิดๆ จะเป็นการขึ้นเวทีฉลองความสำเร็จพันธมิตรธุรกิจครั้งใหญ่ของบริษัทที่โรงแรม Park Hyatt Bangkok ซึ่งตั้งอยู่ติดกัน

บุคลิกกระฉับกระเฉง คล่องแคล่ว และการมีอารมณ์ขัน อาจเป็นเคล็ดลับที่ทำให้ ธนวัฒน์ดูอ่อนกว่าวัย 49 ปี หลังพลิกเมนูสักครู่ เขาก็เลือกจานหลักเป็นปลาเทราท์เสิร์ฟพร้อมขนมจีนน้ำยาแกงใต้ พร้อมชวนให้เราเลือกเมนูเพื่อรองท้องระหว่างการพูดคุย แม้เพิ่งเข้ามาเป็นเบอร์ 1 ขององค์กรเมื่อกลางปีที่ผ่านมา แต่ธนวัฒน์ก็ไม่ใช่คนหน้าใหม่ในวงการไอที เพราะเขาคลุกคลีกับองค์กรชั้นนำระดับโลกอย่าง IBM และ Hewlett-Packard มาแล้วกว่า 20 ปี

แกร่งธุรกิจไอที

ธนวัฒน์เป็นลูกคนเล็กของสมศักดิ์-จริยาพร สุธรรมพันธุ์ มีพี่สาวคือศุภจี (ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่ม บมจ.ดุสิตธานี) “ผมมีวีรกรรมใช้ได้เลย และน่าจะเป็นคนเดียวในห้องที่เอ็นทรานซ์ไม่ติด” ผู้บริหารหนุ่มย้อนความหลัง แต่เขาก็ถือเป็นเรื่องดีที่พลาด เพราะเป็นการฉีดวัคซีนความแกร่งให้ชีวิต เส้นทางต่อมาจึงเป็นการเรียนปริญญาตรี สาขาบัญชี ที่มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ ตามคำแนะนำของพี่สาว พอถึงภาคการศึกษาสุดท้ายก็ฝึกงานที่บริษัท ไอบีเอ็ม ประเทศไทย จำกัด ซึ่งศุภจีทำงานอยู่ จบแล้วก็สมัครเป็นพนักงานในแผนกบัญชี เมื่อเห็นงานประจำปีของ IBM ที่พนักงานขายซึ่งทำยอดได้ตามเป้าจะขึ้นไปยืนบน เวที Hundred Percent Club ท่ามกลางเสียงปรบมือ ชายหนุ่มก็อยากเป็นพนักงานขาย ด้วยความหวังว่าจะได้ยืนอยู่ตรงนั้นแม้หัวหน้าจะเสนอให้ขึ้นเป็นผู้จัดการในสายงานที่รับผิดชอบ แต่เขาก็ยังยืนยันคำเดิม ท้ายสุดทางออกคือเป็นพนักงานขายลีสซิ่ง “ผมคิดว่าอย่างน้อยก็ยังเป็นเซลด้านไฟแนนซ์ แต่ปีที่ 3 ก็ปรบมืออีกแล้วเพราะทำยอดไม่ได้ตามเป้า” เขาบอกกลั้วหัวเราะ เมื่อเจอความผิดหวัง ธนวัฒน์ จึงไปเรียนต่อ MBA ที่ California State University ประเทศสหรัฐอเมริกา เพื่อหาความรู้เพิ่มเติมเขากลับไทยในปี 2538 อยู่บริษัทการเงินแห่งหนึ่งได้สักพักก็ลาออก ประจวบเหมาะกับ ธันวา เลาหศิริวงศ์ กรรมการผู้จัดการ IBM ประเทศไทย ต้องการผู้ที่คุ้นเคยกับองค์กรและมีความรู้ด้านอุตสาหกรรมการเงินมาร่วมงาน ธนวัฒน์จึงเข้าทำงานในรั้วเดียวกับพี่สาวอีกครั้ง ฝีไม้ลายมือเขาเข้าตา Narinder Kapoor ผู้บริหารระดับสูงของ Hewlett-Packard เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งต้องการคนไทยมาเป็นกรรมการผู้จัดการ บริษัท ฮิวเลตต์-แพคการ์ด (ประเทศไทย) จำกัด ดูแลธุรกิจสำหรับลูกค้าองค์กรขนาดใหญ่ทั้งภาครัฐและเอกชนและกลุ่มลูกค้าทั่วไป ช่วงแรกธนวัฒน์ไม่สนใจเพราะมีความสุขกับสิ่งที่ทำอยู่ ท้ายที่สุดในปี 2554 ธนวัฒน์เข้าไปเป็นหัวเรือใหญ่ได้ 3 เดือน Hewlett-Packard ก็ปรับองค์กรครั้งใหญ่ ส่งผลให้แต่ละประเทศต้องลดบุคลากรเพื่อควบคุมค่าใช้จ่าย “ผมถูกให้เอาคนออก 30% ความรู้สึกของผมมี 2 อย่างคือ ใช่หรือเปล่า เพราะความตั้งใจของผมคือการเข้ามาสร้าง ไม่ใช่เข้ามาตัด แต่อยู่ดีๆ ก็ pop up ขึ้นมาว่านี่อาจเป็นโอกาสให้เราเรียนรู้อีกแบบหนึ่งเราช่วยในการสร้างสิ่งใหม่ๆ ขึ้นมาให้ใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ แต่ยังไม่เคยบริหารจัดการสิ่งที่กำลังลงและกำลังต้องตัด มันคงเป็นอะไรที่น่าลอง” ธนวัฒน์ยอมรับว่าเป็นเรื่องยากในการพูดกับพนักงานทีละคนเพื่อแจ้งเหตุผลที่จะให้ออก ขณะเดียวกันก็ต้องดูแลทีมงานที่ยังอยู่ สร้างความคุ้นเคยและความเชื่อมั่นระหว่างกันเพื่อการทำงานที่ราบรื่น ทั้งยังต้องใช้ความสามารถทุกอย่างจัดทัพภายในเพื่อฟื้นความสัมพันธ์อันดีระหว่างบริษัทกับลูกค้า

“โซลูชั่นใหม่” Microsoft ประเทศไทย

ราวปี 2558 ธนวัฒน์ได้รับการทาบทามจากผู้บริหารระดับสูงคนหนึ่งของ Microsoft ให้นั่งเก้าอี้กรรมการผู้จัดการ บริษัท ไมโครซอฟท์ (ประเทศไทย) จำกัด ซึ่งเขาให้คำตอบไปว่ายังไม่พร้อม เนื่องจากภารกิจที่ Hewlett-Packard ยังไม่เสร็จกระทั่งวันหนึ่ง Microsoft ไทย ต้องการผู้นำอย่างจริงจัง จึงพิจารณาผู้เข้าข่าย 3-4 คน และชักชวนเขาอีกรอบ โดยใช้วิธีพูดคุยกับผู้สนใจหลายๆ ครั้งแล้วค่อยตัดสินใจว่าจะเลือกใคร ความเป็นคนตรงและไม่ได้ตั้งใจจะย้ายไปไหน ทำให้ธนวัฒน์ตอบว่าจะพิจารณาอีกครั้งก็ต่อเมื่อเขาคือคนที่ถูกเลือกแล้วเท่านั้น ซึ่งสุดท้าย Microsoft ก็เลือกธนวัฒน์เขาเริ่มหาข้อมูลจากพาร์ทเนอร์และลูกค้าซึ่งพูดถึง Microsoft ในแง่ลบจำนวนไม่น้อยศึกษาเรื่องผู้นำในองค์กร และพบว่าผู้บริหารทุกคนมุ่งมั่นที่จะแก้ปัญหา ไม่ได้บริหารงานจากหอคอยดังภาพที่คนภายนอกวาดไว้พร้อมกับปรึกษาพี่สาวซึ่งให้คำแนะนำเรื่องการแสวงหาความท้าทายใหม่ “สมมติผมถามทุกคนแล้วได้คำตอบว่าองค์กรดีมาก แล้วผมจะเข้ามาทำอะไรได้แต่ถ้ายังมีจุดที่ต้องปรับแก้ ถ้าผมเข้ามาก็น่าจะทำอะไรให้เกิดประโยชน์ได้” เขาอธิบายถึงเหตุผลที่ตัดสินใจร่วมงานกับ Microsoft ตั้งแต่เดือนมิถุนายน ปี 2560

กลยุทธ์ “Good to Great”

แทนที่จะพุ่งเป้าไปที่ความสำเร็จขององค์กรเพียงอย่างเดียว Microsoft ไทยต้องมุ่งไปยังความสำเร็จของพาร์ทเนอร์และลูกค้าด้วย อาทิ การเสริมทักษะหรือกระตุ้นให้ผู้ใช้บริการได้รู้จักทั้ง 4 โซลูชั่นเพื่อเสริมการแข่งขันและโอกาสเชิงธุรกิจเพราะปัจจุบันพาร์ทเนอร์บางรายอาจรู้จักแค่เพียง 1 โซลูชั่น หรือวันนี้ลูกค้าซื้อผลิตภัณฑ์ไปแล้วแต่ใช้ไม่เต็มที่ ก็ต้องคิดวิธีช่วยให้ลูกค้านำไปประยุกต์ใช้ให้เกิดผลลัพธ์ดีที่สุด รวมถึงนำโซลูชั่นใหม่ๆ ไปช่วยเรื่อง digital transformation ซึ่งเป็นทิศทางขององค์กรยุคปัจจุบันความกระตือรือร้นของธนวัฒน์ฉายชัดผ่านแววตา ยามสนทนาถึงความท้าทายที่ Microsoft เมื่อถามว่าเขาจะให้เวลากับที่นี่นานเพียงใด เขาเลือกตอบเราด้วยรอยยิ้มและประโยคที่ว่า “วันแรกที่เข้ามาทำงาน เขาให้ผมไปเจอพนักงานทั้งหมด หนึ่งในสิ่งที่ผมบอกทุกคนคือ ‘ผมจะอยู่ที่นี่นานนะครับ”  
อ่านฉบับเต็ม "ธนวัฒน์ สุธรรมพันธุ์ ‘Good to Great’ โซลูชั่นใหม่ Microsoft ไทย" ได้ใน นิตยสาร Forbes Thailand ฉบับ มกราคม 2561 ในรูปแบบ E-Magazine