ศุภชัย เจียรวนนท์ เจ้าสัวทรานส์ฟอร์ม “New Economy” - Forbes Thailand

ศุภชัย เจียรวนนท์ เจ้าสัวทรานส์ฟอร์ม “New Economy”

“new economy” เศรษฐกิจพื้นฐานใหม่กำลังมาแต่จะมีสักกี่คนที่ศึกษาเรื่องนี้จริงจังและเข้าใจอย่างลึกซึ้ง เพราะมันคือบริบทใหม่ที่เร็วและแรง ขนาดยักษ์ใหญ่ ด้านอุตสาหกรรมการเกษตรอย่าง “เครือซีพี” ยังต้องเตรียมพร้อมปรับตัวรองรับในทุกอณูธุรกิจ

ราวบ่ายต้นๆ ของวันทำงานกลางสัปดาห์ช่วงต้นเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ทีมงาน Forbes Thailand มีนัดสัมภาษณ์กับ “เจ้าสัวน้อย” นิยามที่สื่อมักใช้เรียกขาน “ศุภชัย เจียรวนนท์” ประธานคณะผู้บริหาร (CEO) บริษัท เครือเจริญโภคภัณฑ์ จำกัด หรือ เครือซีพี เจ้าอาณาจักรอุตสาหกรรมการเกษตรรายใหญ่ของไทย ผู้ครองอันดับ 1 ในการจัดอันดับ 50 ตระกูลมหาเศรษฐีไทย ประจำปี 2562 โดยนิตยสาร Forbes ด้วยมูลค่าทรัพย์สินสุทธิ 2.95 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐฯ (9.41 แสนล้านบาท) ศุภชัยในวัย 53 ปี เป็นบุตรชายคนที่ 3 ของเจ้าสัวธนินท์ เจียรวนนท์ เขาก้าวขึ้นมารับตำแหน่งซีอีโอควบคู่กับพี่ชายคือ สุภกิต เจียรวนนท์ ประธานคณะกรรมการบริหารเครือซีพี บุตรชายคนโตของเจ้าสัวธนินท์ แต่ด้วยความที่ศุภชัยเติบโตมาในสายธุรกิจด้านโทรคมนาคม เป็นผู้ก่อตั้งและเป็นประธานกรรมการ บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่อินเทอร์เน็ต และอีกหลายบริการด้านดิจิทัลไลฟ์สไตล์ เขาจึงมีความพร้อมและมีวิชั่นที่ค่อนข้างชัดเจนสำหรับการ transform technology ปรับองค์กรเข้าสู่ยุคดิจิทัล ถนนสายที่ทุกคนต้องก้าวเดิน และปรับตัวให้เร็วเท่าทันเทคโนโลยีที่เปลี่ยนไป แน่นอนว่าธุรกิจหลักของเครือซีพียังคงเดินอยู่บนพื้นฐานธุรกิจการเกษตร-อาหาร และอุตสาหกรรมด้านการเกษตรเป็นสายธุรกิจที่มั่นคง เพราะเป็น 1 ในปัจจัย 4 ที่จำเป็นของมนุษย์ ถึงกระนั้นกระแสเทคโนโลยีที่ถาโถมเข้ามาก็ทำให้ อาณาจักรล้านล้านแห่งนี้ได้รับแรงกระเพื่อม ต้องเตรียมพร้อมปรับตัวไม่ต่างจากอุตสาหกรรมอื่น ด้วยสภาพแวดล้อมที่เริ่มเปลี่ยน ดูเหมือนผู้นำของเครือจะให้ความสำคัญเรื่องนี้ไม่น้อย เพราะไม่เพียงเตรียมแผนปรับองค์กรให้เท่าทันเทคโนโลยีแต่ “เจ้าสัวน้อย” ยังก้าวไปยืนแถวหน้าเป็นผู้นำการปรับตัวรับเทคโนโลยีใหม่ในฐานะ “ประธานสภาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งประเทศไทย” (DTC) เป็นหมวกใบที่ 2 ของ “ศุภชัย เจียรวนนท์” ที่วันนี้ก้าวมายืนข้างหน้าพร้อมนำการเปลี่ยนแปลงทั้งภายในองค์กรและทุกภาคส่วนของสังคม การพูดคุยระหว่างทีมงาน Forbes Thailand และศุภชัยในวันนั้น จึงไม่ได้เน้นไปที่เครือซีพีเป็นหลักเหมือนการสัมภาษณ์เจ้าของกิจการรายอื่นๆ ที่ผ่านมา เพราะสิ่งที่น่าสนใจในก้าวย่างสู่ new economy คือเรื่อง “การปรับตัวและการเปลี่ยนแปลงให้เท่าทันเทคโนโลยี” เป็นวิชั่นสำคัญจากแม่ทัพใหญ่เครือซีพีและประธานสภาดิจิทัลฯ ที่น่าจะเป็นแนวทางให้ทุกองค์กรนำไปใช้ประโยชน์ได้ในยุคเปลี่ยนผ่าน “เทคโนโลยีที่ดิสรัปต์ทั้งอุตสาหกรรมคือดิจิทัลเทคโนโลยี วันนี้เราพูดถึง new economy คือโครงสร้างพื้นฐานใหม่ที่ขี่อยู่บนโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัลอีกที ทำให้ globalization disruption เกิดขึ้น และมาพร้อมกับความเสี่ยงใหม่ๆ”   ศุภชัย เจียรวนนท์ เทคโนโลยีกับความเสี่ยง obsolete หรือล้าสมัย คือคำที่เจ้าสัวน้อยย้ำหลายรอบก่อนจะเปรียบเทียบว่า ถ้าเราไม่เปลี่ยนในขณะที่คนอื่นเปลี่ยนเราก็เสียโอกาส และหากเกิดธุรกิจใหม่ที่เป็น new economy ขึ้นมาก็จะสามารถทดแทนได้เลย โดยธุรกิจที่จะถูกทดแทนก่อน เช่น ธุรกิจที่เป็นคนกลาง ขณะเดียวกันเรียลเซกเตอร์บางตัวก็อาจถูกทดแทนได้ เช่น โรงเรียน หรือมหาวิทยาลัย ซึ่งแม้จะเป็นเรียลเซกเตอร์หลักแต่ต่อไปการเรียนออนไลน์จะมาแทนที่ และเป็นสิ่งที่กำลังจะเกิดขึ้น สถาบันการศึกษาต้องปรับตัว ถ้าไม่ปรับตัวได้รับผลกระทบแน่นอน “ต่อไปมหาวิทยาลัยที่ใหญ่ที่สุดในโลกอาจมีนักเรียนหลายล้านคนที่มาจากทั่วโลกโดยเรียนในระบบออนไลน์” ไม่เพียงธุรกิจคนกลาง แม้กระทั่งสำนักงานบัญชีต่อไปก็มีโอกาสถูกดิสรัปต์ได้ โดยปัญญาประดิษฐ์ (AI) เมื่อบริษัทเปิดเผย ข้อมูลมีเอไอในการตรวจสอบก็สามารถดิสรัปต์ได้เลย เป็นฐานความรู้ที่สามารถทดแทนได้ในหลายอุตสาหกรรม เช่นเดียวกับงานที่ใช้แรงงานจำนวนมากก็จะถูกทดแทนด้วยระบบออโตเมชั่นมากขึ้นเรื่อยๆ มีหลายพื้นที่ที่จะถูกดิสรัปต์ ซึ่งเจ้าสัวน้อยย้ำว่า “เทคโนโลยีจะดิสรัปต์ทุกอุตสาหกรรม อยู่ที่การปรับตัวของอุตสาหกรรมนั้นๆ ถ้าใครปรับตัวได้ก็ถือว่ามี adapt creation สามารถอยู่ต่อได้ท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้น” แต่ถึงกระนั้นเขายังเชื่อว่า ถึงแม้เทคโนโลยีจะทรานส์ฟอร์มไปอย่างไร การผลิตก็ยังคงมีความสำคัญ เพราะมนุษย์ยังคงต้องบริโภค “สายการผลิตไม่มีวันตาย มนุษย์ยังบริโภคสิ่งที่เป็น physical เช่น อาหาร เครื่องนุ่งห่ม ยารักษาโรค และอื่นๆ อีกมากมาย เพราะเราก็เป็น physical alignment แต่การบริโภคมันเริ่มมีแนวโน้มจะไปคอนซูม สิ่งที่เป็นดิจิทัลเบส จำเป็นต้องเข้าถึง ข้อมูลเข้าถึงตลาด ซึ่งหากอุตสาหกรรมไหนเปลี่ยนไม่ทันก็เป็นปัญหา”   ศุภชัย เจียรวนนท์ เจ้าสัวทรานส์ฟอร์ม “New Economy” สร้างคนพันธุ์ดิจิทัล อีกปัจจัยที่สำคัญคือการพัฒนาคน ควรส่งเสริมให้มีการเข้าคอร์สเรียนด้าน data and computer science ต้องมีแรงจูงใจ ด้วยว่าเรียนแล้วเขาได้อะไร เพราะหากปล่อยให้เป็นไปตามธรรมชาติอาจมีพนักงานราว 1-2% ไปเรียนเอง แต่อีก 90% มีคำถามว่า “เรียนแล้วฉันจะได้อะไร” ซึ่งถ้าตอบได้ว่า หากองค์กรไหนส่งเสริมให้พนักงานไปเรียนจะได้สิทธิประโยชน์ต่างๆ เช่น เงินกู้ดอกเบี้ยต่ำมาก ได้รับการยกเว้นภาษีโดยไม่ต้องขอ บีโอไอ ได้เข้าถึงข้อมูลที่รัฐมีอยู่จำนวนมาก ซึ่งสิ่งเหล่านี้เป็นทุนทั้งทางตรงและทางอ้อม หากมีแรงจูงใจก็อาจทำให้คนคิดส่งเสริมการเรียน หรือสำหรับนักศึกษามหาวิทยาลัยจัดให้ไปเทคคอร์สออนไลน์ต่างประเทศ 6 เดือนได้ใบประกาศกลับมา เด็กอาจคิดว่าได้อะไร แต่ถ้าเราบอกเงินเดือนจะเพิ่มขึ้น ก็มีแรงจูงใจไปเรียน “สิ่งเหล่านี้เป็นกลไกที่ทำคนเดียวไม่ได้ ตัวสภาดิจิทัลฯ ก็ดี สภาหอการค้าฯ ก็ดี สภาอุตสาหกรรมฯ ก็ดี สมาคมที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนภาครัฐ ต้องจับมือกันให้มันก้าวไปได้” ประธานสภาดิจิทัลฯ ยังกล่าวถึงเทคโนโลยี ที่กำลังมาล่าสุดคือ 5G ระบบการสื่อสารแบบไร้สายในยุคที่ 5 ซึ่งหลายคนรับรู้ว่าจะเข้ามาพลิกโฉมบริการดิจิทัลต่างๆ ให้รวดเร็วและทั่วถึงมากขึ้น เป็นปัจจัยพื้นฐานเทคโนโลยีที่เป็นบวกต่อการพัฒนา และการเปลี่ยนผ่านเทคโนโลยีต่างๆ “ผมคิดว่า 5G ในหลักการต่อความจุที่ได้ เราได้มาซึ่งถนนที่กว้างขึ้นมันย่อมถูกลง คลื่นความถี่ 5G ที่นำมาใช้ก็มีปริมาณมากกว่าคลื่นความถี่ 3G หรือ 4G เป็นคลื่นความถี่ที่สูงขึ้น เพราะฉะนั้นเราจะเห็นว่า 5G เอาความจุเอากำลังมหาศาลมาให้การลงทุนจะต่ำลง” ศุภชัยสรุปคร่าวๆ ถึงผลต่อเนื่องจากเทคโนโลยี 5G ที่เราเพิ่งเปิดใบอนุญาตไปเมื่อเร็วๆ นี้ โดยเขามองว่าทุกอย่างต้องสมดุล การจะพัฒนาเทคโนโลยีใหม่ต้องดูว่า ลงทุนเร็วไปหรือไม่ มากหรือน้อยไปหรือเปล่า เพราะหากลงทุนเร็วไปก็ขาดทุน ลงทุนช้าไปก็แข่งขันไม่ได้   จากแนวคิดย้อนกลับมาที่การปฏิบัติ ศุภชัยบอกว่าเขาได้ริเริ่มเรื่องการสร้างผู้นำรุ่นใหม่ โดยเปิดให้มีการ reskill มีเรื่องอีกมากมายที่ต้องเรียนรู้ จะทำอย่างไรให้คนรุ่นใหม่ไปช่วยสร้างการศึกษาใหม่ โดยเฉพาะคนรุ่นใหม่ ที่มีพื้นฐานด้าน data and computer science การที่ได้คนรุ่นใหม่ไปช่วยในการปรับตัว เด็กรุ่นใหม่มีศักยภาพอยู่แล้ว เอาคนเหล่านี้ไปช่วยรุ่นน้อง การเปลี่ยนผ่านสู่ยุคเทคโนโลยีก็จะราบรื่นขึ้นอย่างโครงการ “คอนเน็กซ์-อีดี” ซึ่งมาจากโครงการสานพลังประชารัฐที่มองว่าเด็กมหาวิทยาลัย 2 ล้านคน ต้องการ reskill, new skill สิ่งที่ประธานสภาดิจิทัลฯ อธิบายไม่ใช่แค่แนวคิดแต่ได้เริ่มดำเนินการแล้ว “วันนี้เราส่งน้องๆ ICT Talent เป็นโครงการนำร่องประมาณ 200 คน ไปช่วยโรงเรียนประชารัฐ โครงการนี้ได้สร้างผู้นำการเปลี่ยนแปลงขึ้นมา เพราะ 200 คนที่ลงพื้นที่ไปด้วยอัตรา 1:5 เท่ากับช่วยได้ 1,000 โรงเรียน แต่ตอนนี้ เรามี 3 หมื่นโรงเรียน ต้องมาคิดว่าจะทำอย่างไรให้ทั่วถึง”  
คลิกอ่านฉบับเต็ม ผู้จัดการสภาพคล่องในตลาดเครื่องดื่มของจีน ได้ที่ นิตยสาร Forbes Thailand ฉบับเดือนเมษายน 2563 ในรูปแบบ e-magazine