ธุรกิจพลังงานกำลังก้าวสู่การเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญ พลังงานทางเลือกเป็นกระแสการบริโภคใหม่ ผู้คนเริ่มมองหาพลังงานสะอาดจากแหล่งธรรมชาติมาผลิตไฟฟ้า และยานพาหนะก็เดินหน้าสู่ยนตรกรรมไฟฟ้า ทำให้ผู้ค้าปลีกน้ำมัน รวมไปถึง พิทักษ์ รัชกิจประการ ที่ต้องพร้อมปรับตัว แม้ความเร็วและแรงของการใช้พลังงานทางเลือกในไทยยังไม่มากนักก็ตาม
เดือนสิงหาคม ปี 2559 Forbes Thailand ได้นำเสนอบทสัมภาษณ์ผู้บริหาร PTG เจ้าของสถานีบริการน้ำมัน PT และอีกหลายธุรกิจในเครือ ครั้งนั้นเป็นการบอกเล่าเส้นทางการฝ่าฟันอุปสรรคในฐานะผู้ค้าปลีกน้ำมันของไทยที่กำลังไต่ระดับสู่ผู้ค้าปลีกรายกลางค่อนข้างใหญ่ ผ่านมา 5 ปี ก้าวย่างของ PTG แข็งแรงขึ้นทั้งโครงสร้างธุรกิจและการมองโอกาสเติบโตที่ชัดเจน โดยเฉพาะอย่างยิ่งโรดแมปที่ผู้ค้าปลีกน้ำมันต้องเตรียมพร้อม นั่นคือแนวทางการปรับตัวเพื่อนำพาธุรกิจจากค้าปลีกน้ำมันไปสู่ฐาน รายได้จากธุรกิจที่ไม่ใช่น้ำมัน (non-oil business) เพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงของตลาดที่แนวโน้มการบริโภคน้ำมันจะลดลงตามกระแสโลก ซึ่งคาดว่าจะเปลี่ยนแปลงชัดเจนภายใน 10 ปี พิทักษ์ รัชกิจประการ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท พีทีจี เอ็นเนอยี จำกัด (มหาชน) เคยกล่าวไว้ในบทสัมภาษณ์กับ Forbes Thailand เมื่อปี 2559 ว่า “3-5 ปีข้างหน้า เราต้องการเป็นเบอร์ 1 ด้านจำนวนปั๊มน้ำมันของประเทศ พร้อมคาดหวังจะเป็นเบอร์ 2 การขายน้ำมันสูงสุดผ่านปั๊ม” ผ่านมา 5 ปีเขาทำได้ตามเป้าที่วางไว้ ปัจจุบันสถานีบริการน้ำมัน PT ก้าวขึ้นเป็นอันดับ 1 ในแง่จำนวนสถานี โดยมีกว่า 2,114 แห่งทั่วประเทศ “ในด้านการขายปี 2563 PT มียอดขายน้ำมันกว่า 4.9 พันล้านลิตร และปีนี้คาดว่าจะทำได้กว่า 5 พันล้านลิตร เติบโตทั้งยอดขายและกำไร” แยก 2 ธุรกิจก๊าซ-ปาล์มเข้า SET ก้าวย่างสำคัญของบริษัทในเครือ ซึ่งกำลังเตรียมตัวแยกกิจการเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET) 2 บริษัท คือ บริษัท แอตลาส เอ็นเนอยี จำกัด (ATLAS) ในฐานะผู้ค้าปลีกก๊าซแอลพีจีทั้งครัวเรือนและอุตสาหกรรม จะยื่นไฟลิ่งต่อตลาดหลักทรัพย์ฯ ในเดือนพฤศจิกายนปี 2564 และคาดว่าจะเข้าเทรดในตลาดฯ ได้ราวต้นปี 2565 อีกกิจการในเครือที่กำลังเตรียมตัวเพื่อยื่นไฟลิ่งเข้าตลาดหลักทรัพย์ฯ (SET) เป็นลำดับต่อไปราวไตรมาส 3 ปี 2565 คือ ธุรกิจปาล์มคอมเพล็กซ์ หรือโครงการปาล์มน้ำมันครบวงจรที่พิทักษ์เผยว่า โครงการนี้ลงทุนกว่า 4 พันล้านบาท โดย PTG เป็นทั้งผู้ปลูกปาล์ม โรงหีบปาล์ม โรงกลั่นน้ำมันปาล์มและโรงงานไบโอดีเซล B100 ซึ่งเป็นโครงสร้างการผลิตต่อเนื่องครบ 3 ขั้นตอน และเมื่อวันที่ 23 กันยายนที่ผ่านมา PTG ยังได้ผลิตน้ำมันพืชเพื่อการบริโภคชื่อแบรนด์ “มีสุข” ออกสู่ตลาด นำร่องขายผ่านหน้าร้านสะดวกซื้อของ PTG คือ แมกซ์มาร์ท “ปาล์มเราทำครบมีโรงงานผลิตทั้ง 3 อย่าง ทำให้ได้ต้นทุนต่ำกำไรดีกว่าทุกคนในธุรกิจนี้” ซีอีโอวัย 57 ปีกล่าวอย่างมั่นใจ เพราะธุรกิจปาล์มถือเป็นธุรกิจหลักหนึ่งของครอบครัวรัชกิจประการ ซึ่งทำธุรกิจหลากหลายในจังหวัดภาคใต้ ทั้งสวนปาล์ม รังนก ฟาร์มกุ้ง และปั๊มน้ำมัน PT ด้วยความที่ PTG มีธุรกิจครบไลน์ ทำโลจิสติกส์ขนส่งน้ำมันของตัวเอง มีรถบรรทุก กว่า 500 คัน จัดส่งและกระจายน้ำมันด้วยต้นทุนที่ต่ำกว่าการจ้างขนส่งจากภายนอก ทำให้ผลกำไรค่อนข้างดี “เรามีกำไรที่ดี เพราะทำ supply chain ได้ดี PTG มีคลังน้ำมันทั่วประเทศในรัศมี 200 กม. รวมทั้งหมด 11 แห่งกระจายในหลายจังหวัดทั่วทุกภาค เรามีรถบรรทุกของตัวเองทำให้กระจายน้ำมันด้วยต้นทุน ที่ต่ำกว่าคู่แข่ง นอกจากนี้ เรามีฐานข้อมูล ลูกค้าที่ดีมาก” พิทักษ์อธิบาย ฐานลูกค้าที่ว่าคือ สมาชิกบัตรแมกซ์การ์ด (PT Max) ซึ่งปัจจุบันมีอยู่กว่า 16 ล้านใบ ในจำนวนนี้แอคทีฟ (ดูจากยอดการใช้เติม น้ำมันสม่ำเสมอ) ราว 20-25% หรือเกือบ 4 ล้านคน เป็นฐานข้อมูลขนาดใหญ่ที่สามารถนำมาวิเคราะห์และพัฒนาสินค้า-บริการ ให้ตรงกับความต้องการผู้บริโภคได้เป็นอย่างดี “เราทำ Max Card เมื่อปี 2555 ตอนนั้นมีสมาชิก 50,000 ใบ ผ่านมาปีนี้เพิ่มเป็น 16 ล้านใบ และจะครบ 17 ล้านใบภายในสิ้นปีนและยังขยายต่อไปได้เรื่อยๆ เนื่องจาก PT มีบริการครอบคลุมทั้งน้ำมันเชื้อเพลิง ก๊าซ LPG ทั้งเพื่ออุตสาหกรรม ยานยนต์ และครัวเรือน มีร้านค้าในเครือประกอบด้วยร้านสะดวกซื้อ Max Mart, ร้านกาแฟพันธุ์ไทย ร้านอาหารและเครื่องดื่ม Coffee World, ร้าน New York 5th Av. Deli, ร้าน Thai Chef Express และร้านไอศกรีม Cream & Fudge นอกจากนี้ ยังจำหน่ายน้ำมันเครื่อง PT Maxnitron ด้วยบริการที่หลากหลายสามารถจัดโปรโมชั่นร่วมกัน สร้างการเติบโตและเพิ่มจำนวนผู้ใช้บัตรได้จากหลายช่องทาง” พัฒนาสินค้า-บริการด้วยดาต้า ซีอีโอ PTG บอกว่า สิ่งที่เขาจะทำนับจากนี้ไป คือ data driven business ไม่ใช่ขับเคลื่อนองค์กรอย่างเดียว แต่จะใช้เพื่อการสร้างธุรกิจใหม่ๆ ซึ่งในอนาคตบัตรแมกซ์การ์ดจะพัฒนาเป็น “แมกซ์เวิลด์” คือ โลกของเมมเบอร์ที่จะมีสินค้าและบริการหลากหลายให้เลือกใช้และเชื่อมโยงสิทธิประโยชน์ร่วมกัน ลูกค้าที่เติมน้ำมันกับ PT ก็มีทั้งบุคคลและองค์กร ร้านค้า ร้านอาหารจำนวนมาก เติมน้ำมัน PT และใช้ก๊าซ ATLAS พร้อมสิทธิประโยชน์ในเครือข่ายบัตร Max Card ที่มีทั้งร้านสะดวกซื้อ ศูนย์ออโต้เซอร์วิส (Autobacs) ซื้อผลิตภัณฑ์น้ำมันเครื่อง (PT Maxnitron) และอื่นๆ ซึ่งธุรกิจของ PTG เน้นทำ supply chain ของตัวเอง ทำให้ต้นทุนต่ำ ทำราคาและกำไรได้ดี “อนาคตปั๊มน้ำมันจะไม่ได้เป็นเพียง oil station แต่จะเป็น service station รองรับการเปลี่ยนรถใช้น้ำมันเป็นรถ EV (Electric Vehicle) โดยภายใน 3 ปีคาดว่ารถไฟฟ้าจะมีสัดส่วน 15% อีก 6 ปีเพิ่มเป็น 50% และคาดว่าในปี 2574 รถใหม่จะไม่มีเครื่องยนต์แบบเก่า ปรับเป็น EV ทั้งหมด” ซีอีโอ PTG มองว่า อีก 10 ปีจะเห็นการเปลี่ยนแปลงที่ชัดเจน เมื่อถึงตอนนั้นสถานีบริการน้ำมันจะต้องเปลี่ยนเป็นสถานีให้บริการอำนวยความสะดวกต่างๆ ให้กับลูกค้า โควิดเร่งการปรับตัวเร็วขึ้น แผนขยายธุรกิจเดินหน้าแม้ที่ผ่านมาสถานการณ์โควิด-19 ส่งผลกระทบต่อภาพรวมเศรษฐกิจและการบริโภคน้ำมัน ซึ่งบทวิเคราะห์ผลประกอบการไตรมาส 1/2564 ของ PTG สรุปว่า การระบาดของโควิด-19 ในช่วงปลายปี 2563 ถึงต้นปี 2564 ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจทำให้การใช้น้ำมันภาพรวมของประเทศลดลงร้อยละ 0.6 จากไตรมาสเดียวกันของปีที่แล้ว และลดลงร้อยละ 4.5 จากไตรมาสก่อนหน้า อย่างไรก็ตามปริมาณการจำหน่ายน้ำมันของ PTG ยังคงเติบโตอยู่ที่ 1,336 ล้านลิตร หรือเติบโตร้อยละ 9.7 จากไตรมาสเดียวกันของปีก่อน และเติบโตร้อยละ 2.4 จากไตรมาสที่แล้ว โดยช่องทางการขายหลักยังคงมาจากการขายผ่านสถานีบริการที่ครอบคลุมทั้งประเทศทั่วทุกภาค ด้วยสัดส่วนการขายที่มากถึงร้อยละ 94.4 และมีการขยายสถานีบริการอย่างต่อเนื่อง สามารถส่งมอบการบริการที่ดีและการสร้างความรับรู้ในแบรนด์ได้มากขึ้น ทำให้ปริมาณการจำหน่ายน้ำมันของสถานีบริการ PT ยังคงเพิ่มขึ้นร้อยละ 3.8 จากปีที่แล้ว “โควิด-19 บอกอะไรเรา โควิดกระตุ้นเราเตือนเราให้ระมัดระวังมากขึ้น การเกิดโควิดทำให้เราสื่อสารกันได้ง่ายและเร็วขึ้น เพราะทุกคนรับรู้ถึงความเดือดร้อน ทำให้การพูดคุยเรื่องต่างๆ ง่ายขึ้น ทดสอบอะไรคุยกันรู้เรื่องทำให้มีโอกาสมากขึ้น คนมองเห็นโอกาสในวิกฤต อย่างที่ใครๆ มักพูดเสมอทุกวิกฤตมีโอกาส” แม่ทัพ PTG อธิบายแนวทางบริหารท่ามกลางวิกฤตในช่วงที่สถานการณ์จะย่ำแย่ทำให้คนตื่นตัวรับรู้ รับฟัง และปรับตัวกันมากขึ้น เพราะทุกคนต่างรับรู้ผลกระทบ ตอบโจทย์ชีวิต “อยู่ดี มีสุข” จากแนวคิดสู่แนวทางปฏิบัติ โดยในช่วงต้นปีที่ผ่านมา PTG ได้เปลี่ยนวิสัยทัศน์ของบริษัทจาก “ผู้นำด้านบริการในธุรกิจพลังงานครบวงจรของประเทศ” มาเป็นการเชื่อมให้ทุกคนได้มีโอกาสเข้าถึงชีวิตที่ “อยู่ดี มีสุข” ในทุกด้านของช่วงชีวิต โดยเน้นให้บริการในธุรกิจ non-oil เป็นตัวขับเคลื่อนการเติบโตของบริษัทฯ ในอนาคต พิทักษ์เผยว่า อีกธุรกิจที่ PTG กำลังเตรียมเข้าไปช่วงชิงส่วนแบ่งตลาดจะเป็นธุรกิจต่อเนื่องจากแมกซ์การ์ดคือ การทำธุรกิจ e-wallet หรือกระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์ โดยอยู่ระหว่างยื่นขออนุญาตจากธนาคารแห่งประเทศไทยในการเป็นผู้ให้บริการด้านการเงินอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งเป็นการต่อยอดจากฐานข้อมูลสมาชิกบัตรแมกซ์การ์ด โดยคาดว่าปลายไตรมาส 4 ปีนี้จะได้รับใบอนุญาต “สมาชิกเราเยอะขึ้นเรื่อยๆ ยิ่งเราเชื่อมโยงร้านค้า ปรับปรุงเพิ่มเติม ให้ใช้แมกซ์ฟินเป็นส่วนหนึ่งของแมกซ์เวิลด์ มีโอกาสไปได้สูง เพราะสมาชิก Max Card ในปี 2569 คาดว่าจะมีมากถึง 30 ล้านสมาชิก” พิทักษ์เผยธุรกิจใหม่ที่กำลังรุกเปิดตัวต่อยอดจากฐานข้อมูลเดิมอย่างไม่หยุดนิ่ง “ที่ผ่านมาคนจีนจำนวนมากอยู่ในอี-คอมเมิร์ซ Alibaba นำข้อมูลไปใช้ประโยชน์ได้มาก เราอยากให้โมเดลแบบนี้เกิดกับเมืองไทย ฐานข้อมูลขนาดใหญ่ขับเคลื่อนธุรกิจ” นั่นคือที่มาของไอเดีย ซึ่งไม่ได้หยุดนิ่งแค่สิ่งใกล้ตัว ซีอีโอ PTG ยังมองถึงการทำแมกซ์บุกกิ้ง แมกซ์สตาร์ ต่อยอดไปเรื่อยๆ ภาพ: กิตติเดช เจริญพร และ PTGคลิกอ่านฉบับเต็ม และบทความทางด้านธุรกิจได้ที่นิตยสาร Forbes Thailand ฉบับเดือนตุลาคม 2564 ในรูปแบบ e-magazine