เมื่ออุตสาหกรรมท่องเที่ยวกลายเป็นพระเอกในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ในยามที่ส่งออกชะลอตัวและเศรษฐกิจโลกผันผวน กอบกาญจน์ วัฒนวรางกูร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงท่องเที่ยวและกีฬา จึงต้องรับ “บทหนัก” เข็นท่องเที่ยวโกยรายได้เข้าประเทศ ซึ่งเธอสู้สุดใจในการพิสูจน์ฝีมือ
ชีวิตที่เปลี่ยนไปของ กอบกาญจน์ วัฒนวรางกูร สตรีวัย 55 เธอออกเดินทางไปแล้วกว่า 30 ประเทศทั่วโลกในฐานะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงท่องเที่ยวและกีฬาของประเทศไทย เร่งสร้างความเชื่อมั่นและส่งเสริมการท่องเที่ยวในช่วงที่ประเทศอยู่ภายใต้การปกครองของรัฐบาลทหารในสายตาประชาคมโลก เธอบินไกลไปถึงทวีปอเมริกาใต้ เพื่อร่วมประชุมองค์การการท่องเที่ยวโลก (UNWTO) ณ ประเทศโคลอมเบีย หลังการประชุมเสร็จสิ้นไม่นาน เธอรีบกระโดดขึ้นเครื่องบินไปยังประเทศรัสเซีย เพื่อร่วมงานท่องเที่ยว หรือแม้แต่วันนัดถ่ายภาพกับ Forbes Thailand ตารางงานของกอบกาญจน์ก็อัดแน่นไปด้วยโปรแกรมการประชุม ถึงแม้เธอเพิ่งจะเดินทางกลับมาจากประเทศอินเดียก็ตาม นี่คือส่วนหนึ่งของชีวิตรัฐมนตรีหญิงในแต่ละวัน เจ้าหน้าที่กระทรวงการท่องเที่ยวฯ ผู้ร่วมงานกับเธอบอกกับ Forbes Thailand ว่า เธอเป็นรัฐมนตรีที่ขยัน อดทน คล่องแคล่ว กระฉับกระเฉง ไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อย ยอมเดินทางไปทุกที่ที่สามารถช่วยสนับสนุนการท่องเที่ยวของประเทศได้ ความขยันของเธอทำให้ชนะใจภาคเอกชนในอุตสาหกรรมนี้ “ในช่วงที่ผ่านมา พอใจผลงานตัวเองในระดับหนึ่ง ยังไม่ถึง 50%...เราพยายามสร้างความร่วมมือเป็นงานบูรณการ หลายเรื่องเราเป็นเจ้าภาพ แต่เราไม่มี authority ร้อยเปอร์เซ็นต์ในการตัดสินใจ เราต้องบากบั่นไปคุยกับทุกคน ทุกกรม ทุกกระทรวง” กอบกาญจน์ กล่าว กอบกาญจน์ เป็นบุตรคนที่ 2 ของ ดร.กร และ ท่านผู้หญิงนิรมล สุริยสัตย์ จากจำนวนพี่น้อง 4 คน จบปริญญาตรีด้านสถาปัตยกรรมศาสตร์ จาก Rhode Island School of Design ประเทศสหรัฐฯ แม่ของกอบกาญจน์เลี้ยงเธอให้เป็นตัวของตัวเอง ไม่เคยบังคับว่าจะให้เรียนสาขาใด หรือแม้แต่บอกให้เธอกลับมาสืบสานธุรกิจผลิตและจำหน่ายสินค้าเครื่องใช้ไฟฟ้าภายใต้แบรนด์โตชิบาของครอบครัว ภายใต้ บริษัท โตชิบา ไทยแลนด์ จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทร่วมทุนกับโตชิบาจากประเทศญี่ปุ่น ที่ถือกำเนิดขึ้นในปี 2512 และท่านผู้หญิงนิรมล เป็นผู้มีอิทธิพลกับลูกสาวคนนี้ในด้านต่างๆ แม่สอนให้เห็นความสำคัญของ “หน้าที่” ทุกคนเกิดมามีหน้าหน้าที่ ไม่ต้องให้ใครบอกหน้าที่ของเรา และหากได้รับมอบหมายสิ่งใดมา ก็ต้องทำให้ดีที่สุด กอบกาญจน์เริ่มงานเป็นผู้จัดการโฆษณาโตชิบา ไทยแลนด์ ปี 2529 จากนั้นค่อยๆ เรียนรู้และเติบโตเป็นผู้จัดการแผนกโฆษณาและส่งเสริมการขาย ผู้จัดการประสานงานอาวุโส รองประธาน และก้าวขึ้นเป็นประธานกรรมการบริหารในปี 2547 ตามลำดับ พร้อมกันนั้นเธอยังเป็นประธานกรรมบริหารในอีก 4 บริษัท คือ บริษัท ไทยโตชิบาอุตสาหกรรม จำกัด บริษัท ไทยโตชิบาท์ติ้ง จำกัด บริษัท ไทยโตชิบา ฟลูออเรสเซ่นท์แลมป์ จำกัด และบริษัท สวนอุตสาหกรรมบางกะดี จำกัด เธอได้อำลาตำแหน่งทางธุรกิจเข้าสู่โลกการเมือง หลังถูกทาบทามจาก พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชาหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติและนายกรัฐมนตรี ซึ่งเธอยอมรับว่า “งง” เพราะทั้งชีวิตเคยขายแต่เครื่องใช้ไฟฟ้า แต่ก็เดาว่า คงได้รับเครดิตมาจากพ่อ ซึ่งนายกฯ รู้จักเป็นอย่างดี อีกด้านก็คาดว่า นายกฯ คงเห็นว่าตน เป็นคนสู้งาน โดยเฉพาะระหว่างน้ำท่วมใหญ่ปี 2554 ที่ต้องทำงานหนักแก้ปัญหาโรงงานโตชิบา ที่ถูกน้ำท่วม “การเมืองไม่เลยไม่เคยสนใจ ปัจจุบันอินกับสิ่งที่ทำมากกว่า เพราะประเทศเราไม่ควรกลับไปอยู่ที่จุดเดิมที่เราเคยเป็น” รัฐมนตรีหญิงคนแรกแห่งกระทรวงการท่องเที่ยวฯ กล่าว ภารกิจที่ต้องเร่งทำคือ กู้ภาพลักษณ์ของประเทศหลังเกิดรัฐประหาร และร่างแผนเรียก “ความเชื่อมั่น”จากนักท่องเที่ยวต่างชาติให้กลับมาให้เร็วที่สุด การเข้าดูแลกระทรวงฯ กอบกาญจน์ประกาศนโยบายชัด ว่าด้วยเรื่องการสร้างอุตสาหกรรมท่องเที่ยวให้ยั่งยืนเนื่องจากการทำงานของกระทรวงท่องเที่ยวฯ ต้องเกี่ยวข้องกับอีก 9 กระทรวง ไม่สามารถตัดสินใจทำอะไรได้ทั้งหมด ดังนั้น เธอจึงพยายาม “บูรณาการ”หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้การทำงานเกิดประสิทธิผลสูงสุด นอกจากนั้น เธอมองว่า การท่องเที่ยวยังเป็นการช่วยการกระจายรายได้ สามารถลดช่องว่างระหว่างคนจนและคนรวย ด้วยเหตุนี้ เธอจึงสนับสนุน โครงการท่องเที่ยววิถีไทย “12 เมืองห้ามพลาด” อย่างเต็มที่ เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจในระดับท้องถิ่น สร้างรายได้ให้กับชุมชน โดยทำไปควบคู่กับการสร้างคน เน้นปลูกจิตสำนึกให้คนรุ่นใหม่กลับบ้านเกิด เพื่อพัฒนาถิ่นฐานการท่องเที่ยวของตัวเอง ถือเป็นการสร้าง “ผู้ประกอบการ” หน้าใหม่ให้วงจรเศรษฐกิจของประเทศ “ไม่จำเป็นต้องสร้างมาใหม่ ถ้างั้นก็เหมือนผู้ว่าคนใหม่ ทิ้งของเก่าหมด แล้วใส่ signature ของตัวเอง ไม่ได้เป็นคนอย่างนั้น...หลายอย่างเป็นของดี แล้วเราทำต่อ ทำไปครึ่งๆ ที่ผ่านมา อย่าง 8 clusters ถือว่าดี แต่เราจะทำอย่างไรให้ เวิร์ค” เธอกล่าว เพื่อดึงเม็ดเงินต่างชาติเข้าประเทศได้อย่างเต็มที่ รัฐมนตรีหญิงคนนี้จึงอัด “สินค้า” การท่องเที่ยว และกิจกรรมต่างๆ ไปพร้อมๆ กัน ที่เน้นหนักมากคือ การท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ การท่องเที่ยวเชิงกีฬา การท่องเที่ยวเชิงนิเวศน์ การจัดประชุมและการท่องเที่ยวเป็นรางวัลหรือตลาด MICE การท่องเที่ยวทางทะเลโดยเฉพาะเรือสำราญ อาหารฮาลาลเพื่อรองรับตลาดมุสลิม และการเชื่อมโยงในตลาดอาเซียน หรือ ASEAN Connect รายได้ของอุตสาหกรรมท่องเที่ยวคิดเป็นราว 14% ของจีดีพีของประเทศ ในปี 2558 รายได้จากการท่องเที่ยวทั้งหมดมีมูลค่าราว 2.23 ล้านล้านบาท โดยมาจากรายได้นักท่องเที่ยวชาวต่างชาติราว 1.45 ล้านล้านบาท จากจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติทั้งหมดราว 29.88 ล้านคน กอบกาญจน์ตั้งเป้าหมายรายได้ปีนี้ว่าจะได้ 2.3 ล้านล้านบาท ซึ่งเธอยอมรับว่า “ยากมาก” ในภาวะเช่นนี้ ขณะนี้การท่องเที่ยวไทยต้องเผชิญหน้ากับการแข่งขันมาก หลังจากการเปิด AEC ในปลายปีที่ผ่านมา แต่กอบกาญจน์ก็เชื่อมั่นว่า ประเทศไทยยังเป็นจุดหมายการเดินทางท่องเที่ยวของนักท่องเที่ยวต่างชาติในภูมิภาคนี้ เนื่องจากมีความพร้อมในหลายๆ ด้าน โดยเฉพาะเรื่องของที่พัก การบริการ และสถานที่ท่องเที่ยวที่หลากหลาย ขณะที่จุดขายเด่นมากที่สุดคือ Thainess หรือวิถีของความเป็นไทย ซึ่งเปี่ยมไปด้วยความเป็นมิตรและรอยยิ้ม ที่หาไม่ได้ในประเทศอื่นๆ ในภูมิภาคนี้ “มันไม่ใช่แค่รายได้ แต่ทำให้คนรักประเทศไทย ตรงนี้สำคัญมาก วิกฤตกลับมาเกิดกับประเทศไทยได้เสมอ อย่างเช่นเหตุการณ์ราชประสงค์ หรืออะไรก็แล้วแต่ แต่ทำไมกลับมาได้เร็ว เพราะอะไร เพราะเขารักเรา” ก่อนจะจบการพูดคุยในวันนั้น พวกเราถามถึงเส้นทางการเมืองในอนาคตของเธอ เธอบอกว่า “คงไม่”แล้ว เหตุผลคือ ยังมีคนเก่งอีกมาก การได้รับความไว้วางใจเข้ามาทำงานตำแหน่งนี้ เธอก็ทำอย่างเต็มที่ที่สุดเพื่อ “นำสิ่งที่ดีสู่ชีวิต” ให้กับอุตสาหกรรมท่องเที่ยวไทย เธอกล่าวทิ้งท้าย เรื่อง: บำรุง อำนาจเจริญฤทธิ์ ภาพ: ชัยสิทธิ์ จุนเจือดีคลิ๊กอ่าน "กอบกาญจน์ วัฒนวรางกูร นายหญิงกระทรวงท่องเที่ยวและกีฬา สู้สุดใจ ขาย Thainess ดันเศรษฐกิจ" ฉบับเต็มได้ที่ Forbes Thailand ฉบับ APRIL 2016 ในรูปแบบ E-Magazine