ในปัจจุบันที่เศรษฐกิจโลกกำลังผันผวน เงินบาทแข็งค่า และความสัมพันธ์ทางการค้าของมหาอำนาจยังคงไม่ราบรื่น คำถามที่เกิดขึ้นคือ ประเทศไทยจะคงความแข็งแกร่งไว้ได้อย่างไร
ภาคการก่อสร้างไทยถือเป็นหนึ่งในฟันเฟืองที่สำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและพัฒนาการของประเทศ โดยในช่วงปี 2552-2560 มูลค่าการลงทุนของอุตสาหกรรม ก่อสร้างไทย คิดเป็นสัดส่วน 8.4% ของจีดีพี วงการก่อสร้างไทยติดอันดับที่ 32 ของโลก ในการจัดอันดับดัชนีวัดประสิทธิภาพของระบบโลจิสติกส์โดยธนาคารโลก ทั้งยังครองอันดับที่ 2 ของอาเซียนและอันดับที่ 9 ของโลกในการจัดอันดับดัชนีความสามารถทางการแข่งขันในหมวดโครงสร้างพื้นฐาน โดยสภาเศรษฐกิจโลก
สมาคมอุตสาหกรรมก่อสร้างไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ ก้าวสู่ทศวรรษที่ 10 ในฐานะส่วนหนึ่งของพัฒนาการแห่งวงการก่อสร้างของไทย ไม่ว่าจะเป็นการทำหน้าที่สถาบันกลางของผู้ประกอบการก่อสร้าง การประสานงานภาครัฐ การสร้างความร่วมมือระหว่างประเทศ เพื่อเพิ่มขีดความสามารถและความรู้ด้านเทคโนโลยี ยกระดับทักษะฝีมือแรงงานและมาตรฐานการก่อสร้างในกลุ่มประเทศอาเซียนและเอเชียแปซิฟิก ด้วยการเข้าร่วมเป็นสมาชิกในสมาพันธ์ผู้ประกอบการก่อสร้าง ได้แก่ The ASEAN Constructors Federation และ International Federation of Asian and Western Pacific Contractors’ Associations การจัดงาน INTERMAT ASEAN งานแสดงสินค้าและการประชุมสัมมนาระดับนานาชาติด้านอุตสาหกรรมก่อสร้างและโครงสร้างพื้นฐาน และการลงนามข้อตกลงกับองค์การยูนิเซฟ ประเทศไทย เพื่อยกระดับการดูแลสิทธิเด็กในกลุ่มบุตรหลานของแรงงานก่อสร้างในประเทศ
โดยสมาคมฯ ได้น้อมเอาเป้าหมายเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน 17 ประการ ขององค์การสหประชาชาติ ซึ่งมีแนวคิด “ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง” มาเป็นหลักในการปฏิบัติหน้าที่ โดยมองว่าภาคการ ก่อสร้างไทย จำเป็นที่จะต้องปรับตัว ดังต่อไปนี้
ยุติปัญหาความขาดแคลนแรงงานที่มีทักษะระดับสูง ตอบโจทย์ค่าแรงอย่างสมเหตุสมผล และพัฒนาระบบบริหารจัดการทรัพยากรมนุษย์ ให้เข้าถึงแรงงานที่มีศักยภาพสูง และสร้างวงจรการทำงานที่เอื้อต่อการเติบโตขององค์กรในระยะยาว
ยกระดับบทบาทของภาครัฐ ทั้งในเชิงนโยบาย การควบคุมราคากลางระเบียบการจัดซื้อจัดจ้าง มาตรการด้านแรงงาน การส่งเสริมการลงทุนในต่างประเทศ และการควบคุมการแสวงหาผลประโยชน์โดยต่างชาติ
ปรับใช้นวัตกรรม เร่งยกระดับสายการผลิตและการบริหารจัดการให้มีประสิทธิภาพ แม่นยำ ประหยัดต้นทุนและเวลา เพื่อให้สามารถ “ใช้น้อย แต่ได้มาก” ลดการพึ่งพาต่างชาติ และสร้างสมดุลของเศรษฐกิจในประเทศ
อุตสาหกรรมก่อสร้างไทยในปี 2562 มีแนวโน้มขยายตัว 6.5% จากปีก่อนหน้า เป็นแรงส่งจากภาครัฐ 9% และภาคเอกชน 3.5% ทั้งนี้ สมาคมฯ เล็งเห็นศักยภาพของภาครัฐ ซึ่งจะเป็นผู้นำในการขับเคลื่อนภาคการก่อสร้างของไทยให้ก้าวต่อไปได้อย่างมั่นคง โดยคาดหวังว่าภาครัฐจะเดินหน้าลงทุนด้านระบบโครงสร้างพื้นฐาน การบริหารจัดการและการยกระดับ ระบบสาธารณูปโภคต่างๆ ยกระดับระบบการจัดการน้ำ พัฒนาระบบขนส่ง ทั้งระบบราง ระบบถนนเมืองหลัก เมืองรอง รวมถึงท่าเรือ ให้ได้มาตรฐานสากลและทั่วถึง
เมื่อภาครัฐลงทุน ภาคเอกชนจะเกิดความเชื่อมั่น นำไปสู่พัฒนาการทางเศรษฐกิจและสังคมในรูปแบบระลอกคลื่น ดังเช่นโครงการรถไฟฟ้า ที่นำมาซึ่งการสร้างคอนโดฯ หรือห้างสรรพสินค้า การสร้างงาน การกระจายรายได้ ความสะดวกสบายของประชาชน ความคล่องตัวของผู้ประกอบการ และเศรษฐกิจในประเทศที่สะพัด
สมาคมอุตสาหกรรมก่อสร้างไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ ได้ตั้งปณิธานที่จะผลักดันวงการก่อสร้างไทย เศรษฐกิจ และสังคม ของบ้านเมืองเราสู่ความยั่งยืน ดังที่องค์การสหประชาชาติได้หมายมั่นไว้หากทุกภาคส่วนจักให้ความร่วมมือ เราก็จะบรรลุเป้าหมายนั้นได้เร็ววันขึ้น
อ่านเพิ่มเติม อังสุรัสมิ์ อารีกุล นายกสมาคมอุตสาหกรรมก่อสร้างไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์คลิกอ่านบทความทางธุรกิจอื่นๆ ได้ที่ นิตยสาร Forbes Thailand ฉบับเดือนมกราคม 2563 ได้ในรูปแบบ e-Magazine