ย้อนกลับไปเมื่อหลายสิบปีก่อน ทฤษฎี Peak Oil เคยเป็นที่พูดถึงกันอย่างมาก โดยทฤษฏีดังกล่าวว่าด้วยการทำนาย “จุดพีค” ของปริมาณการผลิตน้ำมันโลก ซึ่งตั้งอยู่บนสมมติฐานว่าแหล่งน้ำมันดิบจะหายากขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งจะทำให้ต้นทุนการขุดเจาะพุ่งสูงขึ้น จนผู้บริโภคไม่สามารถจ่ายไหว และทำให้ปริมาณการผลิตน้ำมันดิบลดลงในที่สุด
โดยในช่วงทศวรรษที่แล้วมีการคาดการณ์กันอย่างมากว่า Peak Oil จะเกิดขึ้นในช่วงปลายทศวรรษ ท่ามกลางราคาน้ำมันดิบที่พุ่งสูงถึง 140 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อบาร์เรลในปี 2008 ก่อนจะเกิดวิกฤต Subprime ในสหรัฐฯ แต่พัฒนาการเทคโนโลยีด้านการขุดเจาะน้ำมันได้ทำให้คำทำนาย Peak Oil ล้มเหลวอย่างไม่เป็นท่า โดยในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา เทคโนโลยีการขุดเจาะน้ำมันจากชั้นหินดินดาน (Shale Oil) ส่งผลให้ตลาดน้ำมันดิบโลกมีอุปทานส่วนเกินเป็นอย่างมาก และกดดันให้ราคาลดลงต่ำกว่าครึ่งเมื่อเทียบกับเมื่อ 10 ปีที่แล้ว อย่างไรก็ดี Peak Oil อาจกำลังจะมาถึงจริงๆ ในอนาคตอันใกล้นี้ แม้ครั้งนี้จะไม่ได้เกิดจากต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้นอย่างที่เคยคาดกัน แต่จะมาจากความต้องการที่ลดลงท่ามกลางแรงกดดันจากหลายปัจจัย เช่น หนึ่ง การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมหลัง COVID-19 ซึ่งทำให้มีการ Work from Home และการประชุมทางไกลมากขึ้น จึงทำให้ความต้องใช้น้ำมันในการเดินทางลดลง สอง การพัฒนาประสิทธิภาพของเครื่องยนต์และการปรับเปลี่ยนไปใช้รถยนต์ไฟฟ้า และ สาม นโยบายด้านสิ่งแวดล้อม เช่น ข้อตกลง Paris Agreement ซึ่งนานาชาติตกลงลดปริมาณก๊าซเรือนกระจก รวมถึงการสนับสนุนพลังงานสะอาดจากภาครัฐ เช่น แผนการลงทุนส่งเสริมพลังงานสะอาด ของ EU Recovery Fund จำนวน 1 ล้านล้านยูโร และนโยบายของนาย Joe Biden ผู้ท้าชิงตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ซึ่งตั้งงบส่งเสริมพลังงานสะอาดไว้สูงถึงราว 5 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ซึ่งจะผลักดันให้มีการเปลี่ยนไปใช้พลังงานสะอาดมากขึ้นและลดการใช้น้ำมันลงในอนาคต รายงาน World Oil Outlook ประจำปี 2020 ซึ่งจัดทำโดย OPEC คาดว่าความต้องการน้ำมันดิบโลกจะเพิ่มขึ้นจาก 99.7 ล้านบาร์เรลต่อวันในปี 2019 ไปทำจุดสูงสุดที่ราว 109 ล้านบาร์เรลต่อวันในช่วงปี 2035-2040 ก่อนจะเริ่มปรับตัวลดลงหลังจากนั้น คาดการณ์ดังกล่าวชี้ว่าความต้องการน้ำมันดิบจะเติบโตในอัตราที่ชะลอตัวลงเรื่อยๆ โดยขยายตัวในอัตราเฉลี่ย 0.7 บาร์เรลต่อวันต่อปี ในช่วงปี 2025-2030 และชะลอตัวลงเหลือ 0.34 บาร์เรลต่อวันต่อปี ในช่วงปี 2030-2035 ซึ่งอัตราการเติบโตดังกล่าวนับว่าต่ำมากเมื่อเทียบกับในอดีตซึ่งขยายตัวในอัตราเฉลี่ย 1.2 ล้านบาร์เรลต่อวันต่อปี ในช่วงปี 2000-2019 OPEC ไม่ใช่องค์กรเดียวที่ทำนายว่าดีมานด์น้ำมันนั้นใกล้จะพีค ก่อนหน้านี้บริษัทน้ำมัน BP ได้ออกรายงาน Energy Outlook 2020 ซึ่งสะท้อนมุมมองเชิงลบต่อความต้องการน้ำมันมากกว่ารายงานของ OPEC โดยในกรณีดีสุด (Business-as-usual) BP มองว่าความต้องการน้ำมันดิบโลกได้ทำจุดสูงสุดไปแล้วในปี 2019 (OPEC คาด Demand จะ Peak ปี 2040) และจะทรงตัวที่ราว 100 ล้านบาร์เรลต่อวัน (OPEC คาด Demand จะ Peak ที่ 109 ล้านบาร์เรลต่อวัน) ไปจนถึงปี 2040 ก่อนจะทยอยลดลงมาอยู่ที่ 96 ล้านบาร์เรลต่อวันในปี 2045 (OPEC คาด 109.1 บาร์เรลต่อวัน) ส่วนในกรณี Rapid และ Net Zero ที่ตั้งอยู่บนสมมติฐานว่านโยบายด้านสิ่งแวดล้อมจะมีความเข้มงวดมากขึ้นและเร่งให้เกิดการปรับเปลี่ยนไปใช้พลังงานสะอาดอย่างรวดเร็วในอนาคต ความต้องการน้ำมันดิบจะเริ่มลดลงอย่างเห็นได้ชัดตั้งแต่ปี 2025 เป็นต้นไป และลดลงมาเหลือเพียง 55 ล้านบาร์เรลต่อวัน และ 30 ล้านบาร์เรลต่อวัน ในปี 2045 ตามลำดับ Peak Oilหรือจุดสูงสุดความต้องการน้ำมันโลกอาจไม่ใช้เรื่องไกลตัวอีกต่อไป ซึ่งนั่นอาจทำอุตสาหกรรมสำรวจและขุดเจาะน้ำมันอยู่ในช่วงขาลงจนกลายเป็น Sunset Industry ดังที่ราคาหุ้นของหลายบริษัทกำลังสะท้อนอยู่ในปัจจุบัน บทความโดย คมศร ประกอบผล หัวหน้าศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจและกลยุทธ์ทิสโก้ (TISCO ESU)ไม่พลาดบทความด้านกลยุทธ์องค์กรและธุรกิจ ติดตามเราได้ที่ เพจเฟซบุ๊ก Forbes Thailand Magazine และ ทวิตเตอร์ Forbes Thailand