โลกไอทีวิถีใหม่เริ่มต้นที่ “Open Source” - Forbes Thailand

โลกไอทีวิถีใหม่เริ่มต้นที่ “Open Source”

FORBES THAILAND / ADMIN
11 Aug 2022 | 08:01 PM
READ 3529

ช่วงเวลา 2 ปีที่ผ่านมาเรามักจะให้ความสำคัญกับประเด็นที่ว่า “เราทุกคนผ่านอะไรกันมาบ้าง” ในความเป็นจริงเราควรมองในมุมที่ว่า “เราทำอะไรสำเร็จไปแล้วบ้าง”

เราได้เห็นอุตสาหกรรมเกือบทุกประเภททั่วโลกใช้วิธีการทำงานจากระยะไกล 100% ในชั่วข้ามคืน องค์กรทุกขนาดไม่ว่าจะใหญ่หรือเล็กได้เรียนรู้การทำงานแบบเสมือน (virtual) ผ่านระบบดิจิทัล และทำงานตามความต้องการในรูปแบบออนดีมานด์ บริษัทต่างๆ จัดส่งสินค้าและบริการให้แก่ลูกค้าโดยไม่มีการเปิดหน้าร้าน และได้เกิดศูนย์กลางทางเทคโนโลยีใหม่ๆ ในสถานที่ที่ไม่น่าจะเป็นไปได้ ทั้งหมดนี้เนื่องมาจากบุคลากรไม่จำเป็นต้องทำงานประจำอยู่ตามเมืองใหญ่อีกต่อไป พนักงานที่ได้ทำงานจากระยะไกลได้เริ่มตระหนักว่าตนเองไม่จำเป็นต้องผูกติดอยู่กับอาคารสำนักงาน อีกทั้งองค์กรต่างๆ ยังว่าจ้างบุคลากรที่มีความสามารถพิเศษโดยคำนึงถึงทักษะไม่ใช่ถิ่นที่อยู่อีกต่อไป สิ่งที่กล่าวมานี้นับเป็นความสำเร็จที่มีนัยสำคัญ และแม้วิธีการทำงานรูปแบบใหม่นี้ อาจเป็นสิ่งไม่ปกติสำหรับหลายๆ คนที่ถูกบังคับให้ต้องปรับตัวในระหว่างการระบาดของโควิด-19 แต่สำหรับโลกของโอเพ่นซอร์สแล้ว การทำงานแบบนี้เป็นรูปแบบการทำงานปกติของเรา “โอเพ่นซอร์ส” เป็นคำที่แต่เดิมสื่อถึงซอฟต์แวร์โอเพ่นซอร์ส (Open Source Software: OSS) ซึ่งคือโค้ดที่ได้รับการสร้างและออกแบบมาให้เข้าถึงและนำมาใช้งานได้แบบสาธารณะ ทุกคนสามารถดู แก้ไข และนำไปใช้ได้ ซอฟต์แวร์โอเพ่นซอร์สได้รับการพัฒนาในรูปแบบการกระจายและการทำงานร่วมกัน โดยอาศัยการตรวจสอบประสิทธิภาพของซอฟต์แวร์หนึ่งๆ จากทุกคนที่อยู่ในชุมชนโอเพ่นซอร์ส ปัจจุบันโอเพ่นซอร์สได้กลายเป็นความเคลื่อนไหวและแนวทางการทำงานที่มากไปกว่าการผลิตซอฟต์แวร์ แต่เป็นการใช้คุณค่าและรูปแบบการผลิตซอฟต์แวร์แบบกระจายศูนย์เพื่อหาแนวทางใหม่ๆ ในการแก้ความท้าทายด้านเทคโนโลยีสารสนเทศให้กับคอมมูนิตี้และธุรกิจในอุตสาหกรรมต่างๆ และยังเป็นการแลกเปลี่ยนความคิดกันอย่างอิสระ ซึ่งสามารถปลดล็อกศักยภาพด้านเทคโนโลยีสารสนเทศได้อย่างดียิ่ง โครงการโอเพ่นซอร์สทุกโครงการเป็นการทำงานจากที่ใดก็ได้มาตั้งแต่แรกเริ่ม เช่น Linux Foundation ซึ่งสนับสนุนโครงการต่างๆ มากกว่า 2,300 โครงการ มีผู้เข้าร่วมกว่า 28,000 คนที่ทำงานร่วมกันในโครงการเหล่านี้ในช่วงปี 2564 และมีการเขียนโค้ดกว่า 29 ล้านบรรทัดในแต่ละสัปดาห์ โดยผู้เข้าร่วมมาจากเกือบทุกประเทศทั่วโลก และส่วนใหญ่ไม่เคยรู้จักกันมาก่อน แต่ก็ยังคงร่วมกันขับเคลื่อนเทคโนโลยีแบบเปิดรุ่นใหม่ๆ อย่างต่อเนื่อง ความสำเร็จขององค์กรต่างๆ ในช่วงการระบาดใหญ่นี้ ทำให้เราเข้าใกล้การทำงานในรูปแบบของโอเพ่นซอร์สมากขึ้นไม่ว่าเราจะรู้ตัวหรือไม่ก็ตาม และนี่คือเหตุผลว่า ทำไมนวัตกรรมด้านโอเพ่นซอร์สกำลังเป็นตัวขับเคลื่อนโลกของซอฟต์แวร์มากมายในปัจจุบัน การทำงานรูปแบบใหม่นี้ทำให้องค์กรได้เห็นแหล่งรายได้ใหม่ๆ ได้พบวิธีการเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานรูปแบบใหม่ และค้นพบแนวทางใหม่ที่จะช่วยให้องค์กรมีส่วนร่วมกับลูกค้าขององค์กรมากขึ้น  

- “ความปกติใหม่” หลังโควิด -

สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 เริ่มคลี่คลายและอาจยุติลงในไม่ช้า จึงถึงเวลาแล้วที่องค์กรจะต้องรีบเร่งดำเนินการด้านต่างๆ โดยนำบทเรียนที่ผ่านมาประยุกต์ใช้เพื่อปรับเปลี่ยนการดำเนินงานสู่ดิจิทัลอย่างสมบูรณ์ ควบคู่กับการปรับปรุงธุรกิจ วัฒนธรรมองค์กร และชุมชนทั่วโลก ปัจจุบันคำว่า “ความปกติใหม่” (new normal) หรือรูปแบบการดำเนินชีวิตและธุรกิจแบบใหม่ที่กลายเป็นเรื่องปกติ ถูกใช้ในลักษณะที่มีการกำหนดไว้ตายตัว แต่ในความเป็นจริงแล้วไม่ใช่เช่นนั้น องค์กรทุกแห่งจะต้องให้คำนิยามคำว่า new normal ของแต่ละองค์กรเอง โดยพิจารณาประเด็นต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง เช่น องค์กรต้องการให้ธุรกิจมีลักษณะอย่างไร ต้องการนำเทคโนโลยีสารสนเทศรุ่นใหม่มาใช้ในรูปแบบใด และจะขับเคลื่อนกลยุทธ์ทางเทคโนโลยีอย่างไรเพื่อส่งเสริมการสร้างสรรค์นวัตกรรมให้กับองค์กร การนำเทคโนโลยีที่ได้รับการพัฒนาในรูปแบบของโอเพ่นซอร์สมาใช้เป็นเพียงวิธีเดียวที่จะช่วยให้องค์กรเข้าใกล้นวัตกรรม และใช้นวัตกรรมดังกล่าวเพื่อก้าวให้ทันความต้องการที่เปลี่ยนแปลง ซึ่งเป็นการขับเคลื่อนองค์กรสู่ new normal อย่างแท้จริง โค้ดที่ได้รับการพัฒนาในรูปแบบโอเพ่นซอร์สถือเป็นรากฐานของการสร้างสรรค์นวัตกรรมที่ขับเคลื่อนอนาคตด้านเทคโนโลยีสารสนเทศไม่ใช่ซอฟต์แวร์แบบมีลิขสิทธิ์ (proprietary software) หรือโอเพ่นคอร์ (open core) และมีเพียงวิธีเดียวที่จะสร้างและปรับให้สอดรับกับนวัตกรรมเหล่านี้ นั่นคือจะต้องใช้เทคโนโลยีที่ได้รับการพัฒนาในแบบโอเพ่นซอร์ส เมื่อ 8 ปีที่แล้วซึ่งฟังดูเหมือนเป็นช่วงเวลาที่ยาวนานในมุมของเทคโนโลยีสารสนเทศ เราพบว่า 90% ของบริษัทที่เราพูดคุยด้วยมีแผนที่จะหันไปใช้บริการจากผู้ให้บริการคลาวด์รายเดียว ไม่ว่าจะเป็นเพราะต้องการพัฒนาองค์กรให้ก้าวล้ำเหนือคู่แข่งหรือเพราะได้รับแรงกดดันในเรื่องอื่นๆ ผู้บริหารฝ่ายสารสนเทศจำนวนมากได้นำแพลตฟอร์มคลาวด์มาใช้โดยปราศจากแผนงานที่เป็นรูปธรรม และปัจจุบันเมื่อเวลาผ่านไปเกือบ 1 ทศวรรษผู้บริหารกลุ่มเดียวกันนี้พบว่า การตัดสินใจดังกล่าวไม่ใช่ทางเลือกที่ดีที่สุด ทั้งในแง่ของงบประมาณ เวิร์กโหลด และกลยุทธ์โดยรวม เหตุผลที่ทางเลือกดังกล่าวไม่ใช่ทางเลือกที่ดีที่สุดก็คือ องค์กรเหล่านี้จะไม่มีโอกาสได้เลือกใช้ hybrid cloud ซึ่งเป็นเทคโนโลยีที่กำลังมีบทบาทต่อการทำธุรกิจอย่างมาก ไม่ว่าองค์กรเหล่านี้จะพร้อมหรือไม่ก็ตาม แม้ public cloud จะมีประโยชน์มากต่อแอปพลิเคชันบางแอป แต่ไม่ใช่ว่าทุกแอปควรทำงานบน public cloud แอปพลิเคชันบางประเภทเหมาะที่จะทำงานบนคลาวด์ประเภทหนึ่ง บางประเภทอาจจำเป็นต้องทำงานอยู่บนระบบที่อยู่ภายในองค์กรแต่ใช้บริการต่างๆ ในรูปแบบของคลาวด์ และนั่นคือคุณสมบัติโดดเด่นของ hybrid cloud แอปพลิเคชัน เวิร์กโหลด และโครงสร้างพื้นฐานด้านไอทีขององค์กรควรจะทำงานและอยู่ในระบบที่องค์กรนั้นๆ ต้องการ ซึ่งอาจจะเป็นในดาต้าเซ็นเตอร์บน public cloud 1 ระบบหรือหลายๆ ระบบ หรืออยู่ ณ เอดจ์ (edge) ซึ่งเป็นจุดนอกสุดของเครือข่าย เป็นจุดที่เกิดการปฏิสัมพันธ์และเข้าออกของข้อมูล ทั้งนี้ทรัพยากรต่างๆ ที่ใช้ประมวลผลจะต้องอยู่ใกล้กับข้อมูลขององค์กรมากที่สุด คลาวด์ระบบที่ 5 (the fifth cloud) ไม่ใช่ดาต้าเซ็นเตอร์ แต่เป็นตัวเชื่อมต่อหรือ connector ที่เชื่อมโยงสภาพแวดล้อมคลาวด์ อุปกรณ์ และเวิร์กโหลดต่างๆ เข้าด้วยกันบนมาตรฐานเปิดที่รองรับการใช้งานร่วมกัน   Paul Cormier ประธานและหัวหน้าเจ้าหน้าที่ฝ่ายบริหาร Red Hat   อ่านเพิ่มเติม:
คลิกอ่านฉบับเต็มและบทความทางด้านธุรกิจได้ที่นิตยสาร Forbes Thailand ฉบับเดือนกรกฎาคม 2565 ในรูปแบบ e-magazine