ความฉลาดของแคนาดา กับนักการเงินหัวสร้างสรรค์ "Som Seif" - Forbes Thailand

ความฉลาดของแคนาดา กับนักการเงินหัวสร้างสรรค์ "Som Seif"

ผู้บริหารความมั่งคั่งในฝั่งอเมริกาสามารถเรียนบางสิ่งบางอย่างได้จาก Som Seif นักการเงินหัวสร้างสรรค์จากแคนาดา ซึ่งเป็นประเทศที่หน่วยงานกำกับดูแลเปิดใจกว้างรับฟังแนวคิดใหม่ๆ


    แคนาดาเป็นประเทศที่ขึ้นชื่อลือชาเรื่องความเปิดกว้างในการออกตราสารทางการเงินที่แปลกใหม่ ซึ่งบางครั้งเลยเถิดไปจนถึงขั้นประหลาดล้ำ ยกตัวอย่างเช่น กองทุน ETF (exchange-traded fund) ที่ถือเงินฝากธนาคาร, กองทุน ETF บิตคอยน์ที่ถือเหรียญ (coin) แทนที่จะถืออนุพันธ์ ผลิตภัณฑ์ทางการเงินที่ดูคล้ายๆ กับหุ้นของ Amazon หรือ Tesla แต่ว่ามีการจ่ายเงินปันผลหรือประกันชีวิตประเภทบำนาญแบบตลอดชีพที่สามารถขอเงินคืนได้ 

    นวัตกรรมทางการเงินเหล่านี้ยังไม่เคยมีใครพยายามขายในสหรัฐฯ มาก่อน หรือไม่ก็อาจจะถูกสั่งห้ามไปแต่แรก แต่เครื่องมือใหม่ๆ เหล่านี้มีขายที่ Purpose Unlimited บริษัทบริหารจัดการกองทุนใน Toronto ที่มี Som Seif เป็นหัวเรือใหญ่

    ปัจจุบัน Seif มีอายุ 47 ปี เขาเริ่มก่อตั้ง Purpose เมื่อปี 2013 และบริษัทก็เติบโตขึ้นมาเรื่อยๆ จนขณะนี้มีสินทรัพย์ในพอร์ตที่อยู่ภายใต้การบริหารถึง 1.26 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐฯ บวกกับอีก 4.6 พันล้านเหรียญที่บริษัททำหน้าที่เป็นหลังบ้าน ให้กับบรรดาที่ปรึกษาทางการเงินในแคนาดา (ตัวเลขเหล่านี้และตัวเลขอื่นๆ ได้แปลงจากเหรียญแคนาดาเป็นเงินเหรียญสหรัฐฯ)

    ธุรกิจของ Purpose ต้องแข่งกับคู่แข่งรุ่นใหญ่อย่าง BlackRock, Vanguard และ Fidelity ไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง ซึ่งแต่ละเจ้าบริหารพอร์ตในหลักล้านล้านเหรียญ “นี่ไม่ใช่ธุรกิจประเภทที่ผู้ชนะกวาดเรียบ” Seif กล่าว และเสริมว่า “มันเป็นธุรกิจที่มีการแยกย่อยมากที่สุดในโลก”

    และยังเป็นธุรกิจประเภทที่บางครั้งผู้เล่นรายเล็กก็ล้ำหน้ารายใหญ่ด้วย ยกตัวอย่างเช่น กองทุน ETF บิตคอยน์เป็นอะไรที่ BlackRock และผู้เล่นอีกหลายๆ รายอยากขายในสหรัฐฯ ใจจะขาด แต่คณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) สหรัฐฯ ไม่อนุญาตให้ออกขายกองทุน ETF ที่เข้าไปถือเหรียญโดยตรง แต่ยอมให้ถือผ่านอนุพันธ์ของเหรียญได้ ซึ่งเป็นการเพิ่มคนกลางเข้าไปคั่นระหว่างนักเก็งกำไรกับเหรียญอีกชั้นหนึ่ง

    Purpose บอกว่า กองทุน ETF บิตคอยน์ของบริษัทผ่านการอนุมัติจากทางการแคนาดาเมื่อปี 2021 ซึ่งนับเป็นกองแรกของโลก โดยกองทุน ETF สกุลเงินคริปโตกองต่างๆ ของบริษัทมีมูลค่ารวมกันสูงถึงกว่า 1 พันล้านเหรียญ ซึ่ง Sief บอกว่า “เป็น 1 พันล้านเหรียญที่ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับ FTX หรือกลโกงต้มตุ๋นอื่นๆ” 

    เมื่อตอนที่ Seif อายุ 28 ปี เขาถูกมอบหมายให้ก่อตั้งกิจการกองทุน ETF ของ Claymore  ในประเทศแคนาดา ซึ่งปรากฏว่าภายในเวลาเพียง 7 ปี เขาสามารถปั้นกิจการจากศูนย์จนมีสินทรัพย์ภายใต้การบริหารถึง 5.8 พันล้านเหรียญ ดังนั้น เมื่อมีการขายกิจการนี้ออกไปให้กับ BlackRock เมื่อปี 2012 Seif จึงได้เครดิตจากงานนี้ไปเต็มๆ และยังได้เงิน (ซึ่งเขาไม่บอกว่าเท่าไร) ติดกระเป๋าไปตั้งบริษัทของตัวเองในปีถัดมาด้วย

    วัตถุประสงค์ของ Seif คือ ต้องหาจุดที่เป็นความพิเศษเฉพาะให้ได้ ดังนั้น เขาจึงสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ขึ้นมาเพื่อตอบโจทย์ดังกล่าว อย่างเช่น ETF ของเงินฝากธนาคาร ซึ่งปัจจุบันให้ผลตอบแทนที่ 5% เพื่อดึงความสนใจของลูกค้าออกมาจากสถาบันการเงินที่ไม่ยอมจ่ายดอกเบี้ยเงินฝากเผื่อเรียกตามอัตราดอกเบี้ยในตลาด นอกจากนี้ Seif ยังสร้างกองทุน ETF สำหรับหุ้นรายตัวในแบบฉบับของเขาเอง โดยอิงจากหุ้นอย่าง  Alphabet, Amazon, Apple, Berkshire Hathaway และ Tesla แต่ความพิเศษอยู่ที่มีการจ่ายเงินปันผลเพื่อตอบสนองความต้องการของนักลงทุนประเภทที่หิวผลตอบแทน โดยมีทั้งการก่อหนี้และขายคอลออปชั่นของหุ้นบางส่วนที่ถืออยู่ นอกจากนี้ กองทุนทองแท่งของเขาก็แข่งกับกองทุนทองคำ SPDR (SPDR Gold Shares) ด้วยการเปิดโอกาสให้นักลงทุนสามารถเริ่มลงทุนได้ตั้งแต่ 62,000 เหรียญ สำหรับทองคำแท่งหนัก 1 กิโลกรัม ในขณะที่การจะเข้าลงทุนในผลิตภัณฑ์ของ SPDR ต้องใช้เงินไม่น้อยกว่า 17.9 ล้านเหรียญ

แต่ผลิตภัณฑ์ที่ถือว่าแปลกใหม่ที่สุดในบรรดาผลิตภัณฑ์ใหม่ทั้งหลายของ Sief คือ  Purpose Longevity ซึ่งเป็นกองทุนประกันชีวิตประเภทบำนาญแบบตลอดชีพที่สามารถขอเงินคืนได้ โดยมีการจัดโครงสร้างเป็นกองทุนรวม ซึ่งแตกต่างไปจากกองทุนประเภทเดียวกันทั่วไป 

ยกตัวอย่างเช่น ถ้าคุณเกษียณอายุแล้วนำเงินเข้าไปลงทุน 100,000 เหรียญเพื่อรอรับเงินบำนาญเป็นรายปี ซึ่งปัจจุบันกำหนดไว้ที่เกือบๆ 7% สำหรับคนที่อายุ 65 ปี เงินของคุณจะถูกนำไปลงทุนในพอร์ตการลงทุนที่มีความเสี่ยงปานกลาง ซึ่งส่วนใหญ่เป็นหุ้นและพันธบัตร ณ จุดนี้ ถ้าหากคุณลงทุนในกองทุนรวมผสมของ Vanguard และสั่งให้ Vanguard จ่ายเงินคืนให้กับคุณ 7% ของมูลค่าเงินลงทุนที่เหลืออยู่ นั่นหมายความว่า เงินที่คุณด้วยรับจะน้อยกว่า 7% ถ้าหากกองทุนทำเงินได้น้อยกว่า 7%

แต่ถ้าคุณซื้อกองทุน Purpose Longevity คุณมีโอกาสมากขึ้นที่ผลตอบแทนจากการลงทุนของคุณจะโตทันเงินเฟ้อ โดยที่คุณ (หรือทายาทของคุณ) สามารถถอนการลงทุนออกมาตอนไหนก็ได้ โดยจะได้รับเงินคืนเท่ากับต้นทุนทางบัญชีที่เหลืออยู่หรือมูลค่าปัจจุบันของจำนวนหน่วยที่ถืออยู่ในกองทุน (อิงตามจำนวนจะต่ำกว่า) ดังนั้น ถ้าคุณเลือกถอนทุนหรือเสียชีวิตหลังจากช่วงตลาดขาขึ้นหมายความว่า คุณทิ้งเงินบางส่วนเอาไว้ในกองทุน ซึ่งจะตกเป็นของผู้ถือหน่วยลงทุนที่ยังมีชีวิตอยู่ และยังไม่ได้ถอนทุนออกไป ทั้งนี้นักคณิตศาสตร์ประกันภัยที่ช่วย Purpose ออกแบบผลิตภัณฑ์นี้คำนวณออกมาว่าเงินที่ถูกทิ้งไว้แบบนี้ รวมๆ กันแล้วจะทำให้ผลตอบแทนรายปีของพอร์ตเพิ่มขึ้นอีกร้อยละ 1.5

ถึงแม้ว่าที่ผ่านมา Purpose จะจำกัดตัวเองอยู่ในตลาดเล็กๆ ของประเทศแคนาดา แต่มันก็ยังสร้างผลตอบแทนให้ Sief อย่างเป็นกอบเป็นกำ ซึ่งจากการประเมินมูลค่ารอบล่าสุด Purpose มีมูลค่า 700 ล้านเหรียญ โดย Allianz ซึ่งเป็นบริษัทประกันเจ้าใหญ่จากเยอรมนีได้เข้ามาลงทุน 60 ล้านเหรียญใน Purpose เพื่อใช้ขยายธุรกิจ แต่ Seif ยังคงสัดส่วนการถือหุ้นของตัวเองเอาไว้มากกว่า 1 ใน 4

Purpose ยังมีโอกาสจะโตได้อีกมากถ้าเดินตามรอยของ Royal Bank ที่นำร่องบุกตลาดอเมริกาไปก่อนหน้าแล้ว ว่าแต่ว่าคนอเมริกันต้องรอไปอีกนานแค่ไหนถึงจะสามารถเข้าลงทุนในกองทุน Longevity ได้?  Seif บอกใบ้ว่า ใกล้จะมีข่าวดีแล้ว แต่ยังเปิดเผยตอนนี้ไม่ได้ สำหรับในส่วนของกองทุนคริปโตนั้น Fidelity Investment อนุญาตให้ทำการซื้อขายในกองทุน ETF ของแคนาดาได้แล้ว แต่นักลงทุนส่วนใหญ่ในสหรัฐยังต้องสวดภาวนาต่อไปให้ ก.ล.ต. ของสหรัฐฯ เปิดหูรับฟังเสียงเรียกร้องจากผู้เล่นในตลาดบ้าง



เรื่องราวอื่นๆ ที่น่าสนใจ : กุญแจสู่การเติบโตในโลกยุคใหม่ เพื่อขับเคลื่อนองค์กรก้าวสู่ความสำเร็จ

​​คลิกอ่านบทความฉบับเต็มและเรื่องราวธุรกิจอื่นๆ ที่น่าสนใจได้ที่นิตยสาร Forbes Thailand ฉบับเดือนตุลาคม 2566 ในรูปแบบ e-magazine