จับตาปัจจัยกำหนดทิศราคาทอง - Forbes Thailand

จับตาปัจจัยกำหนดทิศราคาทอง

ภาพรวมราคาทองคำในไตรมาสแรกปี 2566 อาจเริ่มได้เห็นความชัดเจนถึงการเปลี่ยนแปลงของนโยบายการเงินหลังจากปี 2565 เพราะบรรดาธนาคารกลางทั่วโลก โดยเฉพาะธนาคารกลางสหรัฐ (Fed) ได้เร่งปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอย่างแข็งกร้าวเพื่อสกัดเงินเฟ้อที่พุ่งขึ้นร้อนแรงทั่วโลก


    อย่างไรก็ตามความเสี่ยงจากภาวะเศรษฐกิจถดถอยเริ่มชัดเจนมากขึ้น ขณะที่อัตราเงินเฟ้อเริ่มชะลอตัวลงจนอาจเป็นจุดเปลี่ยนที่ทำให้ธนาคารกลางทั่วโลก “ชะลอ” การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย ซึ่งถือว่าเป็นปัจจัยหลักที่จะกำหนดทิศทางราคาทองคำ

    สำหรับแนวโน้มทางเทคนิคพบว่า ราคาทองคำในระยะกลาง-ยาวมีความเป็นกลาง-ลบมากขึ้น หลังจากราคาในปี 2565 ทำระดับต่ำสุดที่ต่ำกว่าฐานของราคาทองคำในปี 2564 บริเวณ 1,680-1,675 เหรียญสหรัฐฯ ต่อออนซ์ ดังนั้น YLG จึงขยับกรอบฐานแรกในระยะยาวมาเป็นบริเวณ 1,614-1,598 เหรียญต่อออนซ์ หากยืนได้ราคาทองคำยังมีโอกาสดีดตัวขึ้นได้

    แต่หากหลุดเหรียญต่อออนซ์จะทำให้ทิศทางราคาในระยะยาวเปลี่ยนเป็นลบมากขึ้นอย่างชัดเจน โดยมีโอกาสปรับฐานในรูปแบบที่ลึกและมีเป้าแนวรับถัดไปจะอยู่ในโซน 1,530 เหรียญต่อออนซ์ (ฐานของราคาทองคำในปี 2555) และ 1,488 เหรียญต่อออนซ์ตามลำดับ ขณะที่แนวต้านแรกของทองคำอยู่บริเวณ 1,807 เหรียญต่อออนซ์ โดยมีกรอบแนวต้านถัดไปบริเวณ 1,916-1,879 เหรียญต่อออนซ์

    ส่วนปัจจัยที่ต้องจับตามีหลากหลายปัจจัยที่นักลงทุนทองคำต้องติดตามอย่างใกล้ชิดในช่วงไตรมาสแรกของปี 2565 แต่ยังคงให้น้ำหนักการดำเนินนโยบายการเงินของธนาคารกลางทั่วโลกโดยเฉพาะธนาคารกลางสหรัฐ (Fed) เป็นประเด็นหลักที่ต้องจับตาไปพร้อมๆ กับพัฒนาการทางเศรษฐกิจ ปัจจัยภูมิรัฐศาสตร์ และความไม่แน่นอนทางการเมือง รวมถึงความเชื่อมั่นต่อการลงทุนทองคำที่สะท้อนผ่านการลงทุนในภาค ETF ทองคำ ซึ่ง YLG ได้คัด 4 ปัจจัยพื้นฐานหลักที่ต้องการให้นักลงทุนทองคำจับตาอย่างใกล้ชิด ได้แก่


- การชะลอการปรับขึ้นดอกเบี้ย -

    หลังจากธนาคารกลางสหรัฐ (Fed) เริ่มคุมเข้มนโยบายการเงินด้วยการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 25 bps ในการประชุมเดือนมีนาคมปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีก 50 bps ในเดือนพฤษภาคม และอีก 75 bps ในเดือนมิถุนายน กรกฎาคม และกันยายน ทำให้อัตราดอกเบี้ย Fed เพิ่มขึ้นสู่ระดับ 3.00-3.25% นอกจากนี้ ตลาดยังคาดการณ์อีกว่า Fed จะขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีก 75 bps ในการประชุมนโยบายการเงินเดือนพฤศจิกายน


    อย่างไรก็ตามตลาดเริ่มเกิดการคาดการณ์ว่า Fed จะชะลอการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในการประชุมนัดสุดท้ายของปี 2565 สะท้อนจาก FedWatch Tool ของ CME Group บ่งชี้ว่า นักลงทุนให้น้ำหนักเพียง 49.5% ที่ Fed จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.75% ในการประชุมวันที่ 13-14 ธันวาคมลดลงจากเดิมที่เคยให้น้ำหนักมากถึง 75%

    ขณะเดียวกันในปี 2565 ตลาดคาดว่า Fed จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีก 50 bps และทำให้อัตราดอกเบี้ยสูงสุด (terminal rate) แตะระดับ 4.75-5.00% ภายในไตรมาสแรกของปี 2566 ก่อนที่จะคงอัตราขณะเดียวกันในปี 2565 ตลาดคาดว่า Fed จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีก 50 bps และทำให้อัตราดอกเบี้ยสูงสุด (terminal rate) แตะระดับ 4.75-5.00% ภายในไตรมาสแรกของปี 2566 ก่อนที่จะคงอัตรา

    ดังนั้น ช่วงไตรมาส 1 ของปี 2566 อาจเป็นจุดเปลี่ยนด้านนโยบายการเงินของ Fed หาก Fed “ชะลอ” การคุมเข้มนโยบายการเงินจริงดังที่ตลาดคาดการณ์ในปัจจุบันจะส่งผลบวกต่อราคาทองคำได้ กลับกันหาก Fed ยังคงดำเนินการอย่างแข็งกร้าวต่อไป จะเป็นปัจจัยกดดันให้ราคาทองคำดิ่งลงต่อได้เช่นกัน


- Soft Landing VS. Hard Landing -

    หนึ่งในปัจจัยที่ต้องจับตาคือ เศรษฐกิจของสหรัฐอเมริกาจะเข้าสู่สภาวะถดถอยหรือไม่ โดยธนาคารกลางสหรัฐจะใช้นโยบายในลักษณะ soft landing หรือ hard landing เมื่อเริ่มเกิดความวิตกกังวลเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ว่า การที่ Fed เร่งปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอย่างแข็งกร้าวเพื่อสกัดเงินเฟ้ออาจส่งผลให้เศรษฐกิจสหรัฐฯ ชะลอตัวลงและอาจเลวร้ายถึงขนาดเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอย (recession) ภายในปี 2566

    นอกจากนั้น ราคาทองคำจะปรับตัวหรือไม่และอย่างไรขึ้นอยู่กับว่าเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอยรุนแรงมากน้อยเพียงใด จะเป็นภาวะถดถอยที่ไม่รุนแรง (mild recession) หรือภาวะเศรษฐกิจถดถอยรุนแรง (deep recession) และ Fed ตอบสนองต่อภาวะเศรษฐกิจถดถอยอย่างไร

    หากภาวะเศรษฐกิจถดถอยเป็นไปในลักษณะ “mild recession” หรือ ภาวะถดถอยทางเศรษฐกิจที่ไม่รุนแรง เชื่อว่า Fed จะยังคงใช้นโยบายการเงินแบบตึงตัวต่อไปโดยมีจุดยืนสำคัญเป็นอันดับแรกคือ การทำให้เงินเฟ้อลดลงสู่เป้าหมายของ Fed ที่ 2% ซึ่งเคสนี้จะทำให้สินทรัพย์เสี่ยงปรับตัวลงและกระตุ้นแรงซื้อสินทรัพย์ปลอดภัย

    อย่างไรก็ตาม ในภาวะดังกล่าวเชื่อว่าสินทรัพย์ปลอดภัยที่นักลงทุนเลือกเป็นอันดับแรกมีแนวโน้มจะเป็นเหรียญสหรัฐฯ ซึ่งกรณีนี้อาจส่งผลเชิงบวกต่อทองคำจำกัด และอาจกดดันทองคำได้หากกระแสเงินทุนไหลเข้าเงินเหรียญสหรัฐฯ นั้นมีปริมาณมาก

    ในทางกลับกันภาวะ deep recession หรือภาวะเศรษฐกิจถดถอยรุนแรงจะส่งผลให้ Fed ต้องชะลอการคุมเข้มนโยบายการเงิน และอาจจะกลายเป็น pivot ที่ทำให้ Fed กลับมาผ่อนคลายนโยบายการเงินในที่สุด รวมถึงกระตุ้นแรงซื้อทองคำในฐานะสินทรัพย์ปลอดภัยซึ่งจะเป็นปัจจัยหนุนราคาทองคำได้อย่างมาก


- ปัจจัยภูมิรัฐศาสตร์และความขัดแย้ง -

    ความตึงเครียดทางด้านภูมิรัฐศาสตร์ระหว่างจีนและสหรัฐฯ โดยเฉพาะในประเด็นไต้หวันทวีความรุนแรงขึ้น ขณะที่ความตึงเครียดระหว่างรัสเซียและชาติตะวันตกยังคงดำเนินต่อไปเช่นกัน ซึ่งความสัมพันธ์ระหว่างประเทศที่ถดถอยลง รวมไปถึงความไม่แน่นอนทางการเมืองในสหรัฐฯ จะช่วยสร้างฐานให้แก่ราคาทองคำในฐานะสินทรัพย์ปลอดภัย



- กระแสเงินทุนในกองทุน ETF ทองคำ -

    ปัจจัยกระแสเงินทุนที่ไหลเข้า-ออกกองทุน ETFs ทองคำถือเป็นหนึ่งในปัจจัยที่นักลงทุนควรติดตามอยู่เสมอ เพราะนอกจากจะเป็นส่วนสำคัญในตลาดทองคำที่อาจส่งผลในเชิงจิตวิทยาต่อการลงทุนทองคำแล้ว ยังทำให้นักลงทุนได้เห็นมุมมองของนักลงทุนรายใหญ่ที่มีต่อตลาดทองคำ เนื่องจากนักลงทุนสถาบันและนักลงทุนรายใหญ่ในต่างประเทศมักจะใช้กองทุน ETFs ทองคำเพื่อเป็นเครื่องมือหนึ่งในการบริหารพอร์ตการลงทุน ดังนั้น ราคาทองคำเคลื่อนไหวสอดคล้องกับการถือครองทองคำของ ETF

    ขณะที่ในปี 2565 กองทุน SPDR ถือครองทองคำลดลงในเดือนพฤษภาคม มิถุนายน กรกฎาคม สิงหาคม และกันยายนถึง 5 เดือนติดต่อกันจำนวน -26.19, -18.05, -44.44, -32.5 และ -33.67 ตันตามลำดับ รวม 154.85 ตันช่วง 5 เดือนที่ผ่าน ทำให้นับตั้งแต่ต้นปีจนถึงวันที่ 30 กันยายน กองทุน SPDR ถือครองทองคำลดลงแล้วทั้งสิ้น -35.96 ตัน

    ดังนั้น หาก SPDR ลดการถือครองทองคำต่อเนื่องจะเป็นปัจจัยที่นักลงทุนต้องระมัดระวัง แต่การที่ SPDR เริ่มชะลอแรงขายจะสะท้อนว่านักลงทุนยังคงถือครองทองคำ ยิ่งหากกลับมาเพิ่มการถือครองทองคำต่อไปจะสะท้อนความเชื่อมั่นในการลงทุนทองคำซึ่งเป็นสัญญาณเชิงบวกที่ช่วยหนุนราคาทองคำ


- แนะกลยุทธ์ลงทุนทอง -

    คำแนะนำการลงทุนสำหรับผู้ที่มีทองคำในมือเป็นจำนวนมาก YLG แนะนำให้ขายทองคำเมื่อราคาปรับตัวขึ้นไม่ผ่าน 1,707-1,703 เหรียญต่อออนซ์ ซึ่งเป็นกรอบบนของ downtrend สีน้ำเงินในระยะสั้น หลังจากนั้นรอการอ่อนตัวลงของราคาจึงกลับเข้าซื้อบริเวณแนวรับด้านล่าง แต่หากราคาผ่าน 1,707-1,703 เหรียญต่อออนซ์สามารถชะลอขายไปยังแนวต้าน 1,735 เหรียญต่อออนซ์ซึ่งเป็นกรอบบนของ downtrend สีแดงในระยะกลาง

    ส่วนสำหรับผู้ที่ไม่มีทองคำอยู่ในมือ YLG ประเมินว่า การปรับตัวลงของราคาทองคำยังคงเป็นโอกาสในการเข้าซื้อ แต่เนื่องจากทิศทางยังเป็นลบจึงทำให้ต้องแบ่งไม้เข้าซื้อ โดยไม่เข้าซื้อที่แนวรับใดแนวรับหนึ่งเต็ม 100% ของพอร์ต และเป็นการทำรอบในระยะสั้นจนกว่าราคาทองคำจะ breakout กรอบบนของ downtrend ในระยะสั้นและกลางได้ การเข้าซื้ออาจรอดูการตั้งฐานของราคาบริเวณ 1,654-1,638 เหรียญต่อออนซ์ แต่หากหลุด 1,638 เหรียญแนะนำชะลอการเข้าซื้อไปยังแนวรับถัดไปบริเวณ 1,621 เหรียญต่อออนซ์



    นอกจากนั้น DCA ในทองคำอีกหนึ่งทางเลือกในการลงทุนทอง Dollar Cost Averaging (DCA) เป็นวิธีการลงทุนที่ใช้วินัยแทนอารมณ์ เรียกได้ว่าช่วยลดความเครียดทางอารมณ์ที่มาพร้อมกับการลงทุน ช่วยให้สามารถประหยัดเวลาและขจัดความยุ่งยากในการวิเคราะห์ตลาดเพื่อหาราคาที่ดีที่สุดทั้งในการซื้อและขาย

    หากพิจารณาถึงผลตอบแทนจากการซื้อทองคำเฉลี่ยรายเดือนด้วยวิธีการ DCA ทั้งในแง่ของราคาทองคำในตลาดโลกและราคาทองคำในประเทศพบว่า การลงทุน DCA ในทองคำในระยะยาว 5-10 ปีนั้นถือว่า “ดี” เนื่องจากให้ผลตอบแทนสูงกว่าฝากประจำหรือออมทรัพย์หลายเท่าตัว และ “ดี” อย่างยิ่งสำหรับผู้ที่มีความสนใจจะลงทุนทองคำเพื่อสร้างความมั่งคั่งแต่ยังไม่มีความรู้เรื่องการจับจังหวะตลาดที่มากพอ ไม่มีเวลาในการติดตามราคา และอาจจะยังไม่พร้อมที่จะลงทุนด้วยเงินก้อนใหญ่



ฐิภา นววัฒนทรัพย์

ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท วายแอลจี บูลเลี่ยน แอนด์ ฟิวเจอร์ส จำกัด (YLG)


อ่านเพิ่มเติม:

>> ศ.ดร.นพ.ประสิทธิ์ วัฒนาภา เมื่อ "ความสุข" ขึ้นกับปริมาณงานที่ทำ

>> ธรรศพลฐ์ แบเลเว็ลด์ ประคอง Thai AirAsia ยืนหยัดสู้วิกฤต (Video)


คลิกอ่านฉบับเต็มและบทความทางด้านธุรกิจได้ที่นิตยสาร Forbes Thailand ฉบับเดือนธันวาคม 2565 ในรูปแบบ e-magazine