ศ.ดร.นพ.ประสิทธิ์ วัฒนาภา เมื่อ "ความสุข" ขึ้นกับปริมาณงานที่ทำ - Forbes Thailand

ศ.ดร.นพ.ประสิทธิ์ วัฒนาภา เมื่อ "ความสุข" ขึ้นกับปริมาณงานที่ทำ

การระบาดของโควิด-19 ในช่วงแรกที่เริ่มจากเมือง Wuhan เมื่อต้นปี 2563 สร้างความตระหนกให้กับผู้คน ด้วยจำนวนผู้ป่วยเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ และมีแนวโน้มว่าจะล้นทะลักเกินศักยภาพโรงพยาบาล ผู้บริหารคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาลจึงคิดยุทธศาสตร์ต้นน้ำเพื่อลดจำนวนผู้ป่วย โดยให้ความรู้ผ่านสื่อออนไลน์ และกลายเป็นอินฟลูเอนเซอร์ผู้เชี่ยวชาญเรื่องโควิด


    ระยะ 3 ปีที่ผ่านมาผู้คนคงรู้สึกคุ้นเคยกับ ศ.ดร.นพ.ประสิทธิ์ วัฒนาภา ในฐานะคณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล ซึ่งออกมาให้ความรู้ อัปเดตสถานการณ์อย่างต่อเนื่องผ่าน Facebook Live และสื่อต่างๆ โดยแต่ละครั้งจะมีข้อมูลตัวเลขประกอบอย่างชัดเจน ทั้งในระดับโลกและระดับประเทศ

    “มันเป็นยุทธศาสตร์ศิริราช ผมออกไปชวนคนใส่หน้ากาก อยู่บ้าน เป็นการจับประเด็นทางสังคมๆ จะเชื่อเมื่อเห็นตัวเลข และคนพูดต้องไม่ take side ผมใช้ benefit จากการมีเครือข่ายโซเชียลกับมหาวิทยาลัยทุกครั้งที่พูดกับคนศิริราชและมหิดล แต่จริงๆ ต้องการให้คนติดตาม ผมออกตามจังหวะที่เหมาะสม monitor ทุกครั้งว่ามีคนฟังกี่คน ดูกี่คน กดไลก์กี่คน สังคมตื่นกับเรื่องนี้อย่างไร...”

    ช่วงที่สถานการณ์พีกสุดๆ ศ.ดร.นพ.ประสิทธิ์ ตื่นตี 4 ติดต่อกัน 365 วัน เพื่อใช้เวลาช่วงเช้าก่อนมาทำงานเช็กข้อมูลจากเว็บไซต์ Worldometers ซึ่งทุกประเทศรายงานข้อมูลให้กับองค์การอนามัยโลกทำสรุปเสร็จตอนตี 5 และส่งให้เพื่อนฝูงคนรู้จักในแอปไลน์ 43 กลุ่ม ผลจากการศึกษาอย่างต่อเนื่องในครั้งนั้นนอกจากจะทราบถึงภาพรวมสถานการณ์ระดับโลกแล้ว ยังทำให้ได้เรียนรู้นิสัยของไวรัสด้วย

    ศ.ดร.นพ.ประสิทธิ์ วัฒนาภา ให้สัมภาษณ์ Forbes Thailand ปลายเดือนกันยายน ปี 2565 ก่อนหมดวาระจากตำแหน่งคณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาลเพียงไม่กี่วัน แต่ตารางงานยังแน่นเหมือนเดิม ระหว่างการให้สัมภาษณ์มีช่วงหนึ่งที่ต้องหยุดชั่วคราวเพื่อเข้าประชุมทาง Zoom


- ประสบการณ์สู่ความสำเร็จ -

    ศ.ดร.นพ.ประสิทธิ์กล่าวอย่างถ่อมตนว่าส่วนตัวไม่ใช่คนเด่น หากว่าประสบการณ์ของตนจะทำให้คนที่ท้อแท้มีกำลังใจฮึดสู้ก็ยินดีแบ่งปัน

    “ชีวิตผมล้มมาเยอะ เชื่อว่าล้มมากกว่าหลายคน แต่ถ้าล้มแล้วกองอยู่กับที่ก็ไม่ได้มาแบบนี้ ล้มแล้วต้องกลับมายืนให้ได้ และทำอย่างไรจะไม่ล้มอีก ความผิดพลาด ความล้มเหลวไม่สำเร็จ มีโอกาสเกิดขึ้น ถ้าเราจมกับสิ่งเหล่านี้ไม่มีทางไปสู่ความสำเร็จ ล้มได้ พลาดได้ เรียนรู้ไปและพร้อมล้มใหม่ทุกครั้งที่ล้มเราจะเก่งขึ้น รู้ว่าทำอย่างไรจะไม่ล้ม หากทำอย่างนี้ได้ชีวิตมีแต่จะพัฒนาไปเรื่อยๆ

    “อย่าจมปลักกับความล้มเหลวที่เคยมี เพราะไม่เคยมีใครไม่ล้มเหลว อย่าหลงกับความสำเร็จของตัวเอง ระยะเวลาสั้นๆ ความสำเร็จก็ล้าหลังไปแล้ว หมั่นคิดอะไรใหม่ๆ” เป็นคำพูดของ Albert Einstein ที่บอกว่า 

    “การใช้ความรู้หรือทักษะแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นในเวลาเดียวกันมันแก้ไม่ได้หมายความว่าปัญหาเกิดขึ้น เอาความรู้ที่เกิดขึ้นในเวลานั้นมาแก้ปัญหาไม่ได้หรอก ถ้าแก้ได้ปัญหาไม่เกิด มันต้องเป็นอีก level หนึ่งของความรู้ หมั่นคิดอะไรหลุดจากกรอบเดิมบ้าง ยังย้ำคิดแบบเดิม แก้แบบเดิม แก้ไม่ได้หรอก ต้องคิดนอกกรอบเลย เป็นอีก level หนึ่ง”

    คงมีน้อยคนที่จะทราบว่าตอนไปเรียนต่อต่างประเทศ ศ.ดร.นพ.ประสิทธิ์เคยคิดจะเดินทางกลับประเทศไทยหลังไปถึงเพียง 2 สัปดาห์

    “คนส่วนใหญ่มองว่าผมเป็นเด็กเรียนเก่งตอนไปเรียนที่อังกฤษถูกคาดหวังให้ทำปริญญาเอกและทำบอร์ดผ่าตัดด้วย จนถึงเดี๋ยวนี้ก็มีคนเดียวที่บ้าพอจะทำ เพราะสองอย่างเป็นคนละเรื่องกันและต้องใช้เวลาทั้งคู่ กว่าจะได้เป็นบอร์ด ของ UK ต้องสอบครั้งที่ 3 จึงจะผ่านได้ Fellow of the Royal College of Surgeons of Edinburgh

    “เราเป็นอาจารย์โรงเรียนแพทย์ มั่นใจกับความรู้มาก สอบตกทีก็เสียความรู้สึกตอนสอบครั้งที่ 2 ผมคาดว่าสอบได้แน่นอน (แต่ไม่ได้) ผมนั่งรถไฟจาก Edinburgh กลับเข้า London น้ำตาคลอ นั่งฝั่งที่เห็นพระอาทิตย์ตกด้วย...ตอนไปเรียนอายุ 29 ปี ผมตั้งคำถามกับตัวเองว่ามาลำบากทำไมได้เป็นอาจารย์ในศิริราช เป็นบอร์ดผ่าตัดของประเทศไทย ทำไมต้องหาจากต่างประเทศและทำปริญญาเอกอีก หมอผ่าตัดไม่ทำปริญญาเอกแบบนี้...


ศ.ดร.นพ.ประสิทธิ์ วัฒนาภา


    “ผมอยู่ที่นั่น 3 ปี 4 เดือน เขียนไดอารี่ทุกวัน จำได้ว่าวันศุกร์ 4 ทุ่ม ผมนั่งน้ำตาไหลในห้องคนเดียว ตอนนั้นเพิ่งไปถึงได้ 2 อาทิตย์ ผมหยิบกระเป๋าเดินทาง คิดๆ อยู่ว่าจะกลับไหม ถามตัวเองว่ามาทำไม เหนื่อยก็เหนื่อย หนาวก็หนาว เงินที่ได้จากประเทศไทยไม่เยอะนัก ดีว่าสัก 5 ทุ่มผมมีคำถามเกิดขึ้น 2 คำถาม ถ้ากลับมาจะอยู่ศิริราชต่อไปได้ไหม ได้คำตอบว่าคงอยู่ไม่ได้ อาย...อันที่ 2 หนักกว่านั้นอีก พ่อตาคาดหวังเยอะ ผมจะเข้าหน้าพ่อตาได้หรือ คงลำบากแน่ทั้งครอบครัวและที่ทำงาน สุดท้ายก็ไปต่อ”

    ศ.ดร.นพ.ประสิทธิ์เอ่ยถึงตนเองว่าเป็นคนมีวินัย หากตั้งใจทำเรื่องใดต้องทำให้สำเร็จ ทำไม่ได้จริงๆ จึงจะยอม และตั้งเป้าหมายว่าต้องเป็นศาสตราจารย์ก่อนอายุ 40 ปี ได้ซี 11 ก่อนอายุ 45 ปี ซึ่งสำเร็จทั้งสองเรื่อง หลังจากนั้นรู้สึกว่าพอแล้ว

    “ผมมาเกินกว่าที่เคยคิดตอนเด็ก ไม่เคยคิดว่าจะเป็นอาจารย์ในศิริราช หรือถวายการดูแลรักษา (รัชกาลที่ 9) มัน beyond เกินตัวผมไปเรียบร้อยแล้ว ตอนนี้ตั้งใจว่า 1 ใน 3 ของชีวิตเป็นช่วงที่คืนให้กับสังคมก็จะมีไปบรรยายให้องค์กรต่างๆ และทำกิจกรรมเพื่อสังคม การบริหารโรงพยาบาลศิริราชเป็นส่วนหนึ่งที่ผมชอบ มันตอบโจทย์การทำงานเพื่อสังคมไปในตัว”


- เรื่องใหม่ๆ ในรั้ว รพ. -

    ระหว่างรับตำแหน่งคณบดีตั้งแต่มกราคม ปี 2558 ถึงกันยายน ปี 2565 เป็นเวลา 7 ปี 8 เดือน ทำให้โรงพยาบาลศิริราชมีเรื่องราวใหม่ๆ ไม่ว่าจะปรับมายด์เซ็ตชาวศิริราชว่า “ยากแปลว่าทำได้ เป็นความท้าทายที่จะทำ ส่วนเรื่องง่ายๆ ให้คนอื่นทำ”

    การเป็น smart hospital โดยนำเทคโนโลยีการสื่อสาร 5G มาใช้ในการรักษาคนไข้เป็นโรงพยาบาลแห่งแรกๆ ของโลก ขณะนี้อยู่ในเฟสที่ 2 โดยเฟสแรกได้รับการสนับสนุนงบฯ จาก กสทช. 200 ล้านบาท

    “ตัวอย่างเช่น ต่อไปคนไทยมีการ์ด 1 ใบ ไม่ว่าเจ็บป่วยที่ไหนรวมทั้งต่างประเทศสามารถเข้าถึงข้อมูลโรงพยาบาลเดิม รู้ว่าเป็นโรคอะไร แพ้ยาอะไร ตอนนี้เรากำลังทดสอบในโรงพยาบาล 3 แห่งคือ ศิริราช ศิริราชปิยมหาราชการุณย์ และศูนย์การแพทย์กาญจนาภิเษก ถ้าทำได้ก็ขยายวงทั้งประเทศ”

    แม้ว่าประเทศไทยเพิ่งเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างสมบูรณ์ในปีนี้ ทว่าคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาลได้เตรียมความพร้อมไว้นานแล้ว โดยส่งอาจารย์แพทย์ไปศึกษาด้านเวชศาสตร์ผู้สูงอายุ รวมทั้งจัดตั้ง “ศูนย์วิทยาการเวชศาสตร์ผู้สูงอายุระดับชาติ” ที่จังหวัดสมุทรสาคร ทำหน้าที่ให้บริการดูแลรักษา เป็นศูนย์ศึกษาและผลิตงานวิจัยประยุกต์ใช้ด้านส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรคผู้สูงอายุ และเป็นแนวทางให้กับสถานบริการสุขภาพของกระทรวงสาธารณสุข โดยใช้งบประมาณก่อสร้าง 3.2 พันล้านบาท ได้รับจัดสรรงบประมาณแล้ว 889.90 ล้านบาท คาดว่าจะเปิดดำเนินการเฟสแรกในช่วงต้นปี 2566



    นับตั้งแต่ปี 2547 ภาครัฐให้ความสำคัญกับการที่ประเทศไทยเป็น Medical hub of Asia โดยจัดทำแผนยุทธศาสตร์ของประเทศ รวมทั้งมีแผนพัฒนาประเทศไทยให้เป็นศูนย์กลางสุขภาพนานาชาติ Medical Hub (ปี 2559-2568) ด้วยจุดเด่นว่าโรงพยาบาลได้มาตรฐาน บุคลากรมีความรู้ความเชี่ยวชาญ บริการที่ดี และอัตราค่าบริการไม่สูงมากนัก ทำให้แต่ละปีมีชาวต่างชาติมาใช้บริการโรงพยาบาลเอกชนจำนวนมาก ประเด็นคือ ค่าตอบแทนที่ดีกว่าจะทำให้แพทย์ย้ายไปทำงานโรงพยาบาลเอกชน ส่งผลให้แพทย์ในโรงพยาบาลรัฐไม่เพียงพอหรือไม่คำตอบคือ

    “แพทย์ส่วนใหญ่ยังอยู่ในภาครัฐ แต่กระทรวงฯ มีการเตรียมความพร้อมด้านนี้ ผมเป็นประธานคณะกรรมการผลิตแพทย์เพิ่ม เราต้องการแพทย์ 1 คน ดูแลประชากรไม่เกิน 1,200 คน ตัวเลขตอนนี้ถ้าแพทย์อยู่อีสานดูแล 3,000 คน ในกรุงเทพฯ 1 ต่อ 500-600 คน มัน drain มาในเมืองใหญ่ไม่ใช่ภาคเอกชนอย่างเดียว ผมคิดว่าประเทศต้องมีการปรับอะไรบางอย่าง เช่น แพทย์จะไม่ไปภาคเอกชนถ้าค่าตอบแทน reasonable ใน 5 ปีที่ผ่านมามีค่าตอบแทนให้แพทย์ภาครัฐเยอะขึ้นมากทีเดียว สิ่งที่หายไปคือ สวัสดิการข้าราชการ...

    “มีคณะกรรมการคำนวณอัตรากำลังสุขภาพภาครัฐ ปัจจุบันกรรมการชุดนี้สลายไปแล้ว ผมทำงานให้กลุ่มสถาบันผลิตแพทย์ แห่งประเทศไทย หน้าที่คือคำนวณว่าต้องมีอัตรากำลังคนเท่าไร เรามีการวางแผนล่วงหน้า...โครงการผลิตแพทย์เพิ่มรันถึงปี 2570 ต้องผลิตแพทย์ให้ได้ 3,100 คนต่อปี

    “หลักการคือ เราคิดว่าโรงพยาบาลเอกชนเป็นส่วนหนึ่งของระบบการบริการสุขภาพเราคิดเผื่อภาครัฐและเอกชน ชุดสุดท้าย (เรียน) จบปี 2570 ถึงจุดนั้นแพทย์ 1 คน ดูแลประชากร 1,500 คน เราเริ่มผลิตแพทย์เพิ่มมา 7-8 ปีแล้ว กำลังเข้าเฟส 3 ปัญหาอยู่ที่แพทย์ทำงานเยอะ ตั้งเป้า 80 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ โดยเวลาราชการไม่เกิน 35-40 ชั่วโมง สัปดาห์ละ 5 วัน แต่ปัจจุบันทำงานเกือบ 100 ชั่วโมงรวมนอกเวลาราชการ”


- มุมสงบ -

    ด้วยตำแหน่งหน้าที่ที่รับผิดชอบทั้งงานประจำและงานทางสังคมที่มากมาย บางครั้งมีเรื่องคิดไม่ตก ศ.ดร.นพ.ประสิทธิ์จะใช้เวลาอยู่กับตัวเอง ซึ่งในศิริราชมี 2 แห่งคือ อาคารเฉลิมพระเกียรติฯ และห้องคณบดี

    แม้จะมีงานรัดตัว แต่สิ่งหนึ่งที่ทำเป็นกิจวัตรประจำวันคือ ต้องเดินหรือวิ่งให้ได้วันละ 16,000 ก้าว คิดเป็นระยะทาง 12 กม.

    เมื่ออยู่ที่ทำงานก็จะเดินขึ้นลงบันไดแทนการใช้ลิฟต์ หากวันนั้นๆ ยังไม่ครบก็จะกลับไปทำต่อที่บ้าน รวมทั้งยังเป็นนักวิ่งมินิมาราธอนและไม่เคยพลาดกิจกรรมวิ่งประเภทต่างๆ ของโรงพยาบาลศิริราช โดยเริ่มวิ่งครั้งแรกในปี 2558 เพื่อรณรงค์ป้องกันโรคหลอดเลือดสมอง เนื่องจากต้องการให้ผู้เข้าร่วมงานเห็นความสำคัญของการออกกำลังกาย ผลจากการวิ่งครั้งแรกก็ลุกเดินแทบไม่ไหว แต่รู้สึกว่าตนเองทำได้ หลังจากนั้นจึงฝึกซ้อมและลงวิ่งแข่งอีกหลายครั้ง


    หลังทำสถิติมินิมาราธอนระยะทาง 10.5 กม. จนได้ถ้วยรางวัลมา 1 ใบ ศ.ดร.นพ.ประสิทธิ์บอกว่า ตอนนี้วิ่งเพื่อออกกำลังไม่ได้แข่งขันแล้ว

    นอกจากนี้ ยังให้ความสำคัญกับการรับประทานอาหาร อาจแตกต่างจากคนทั่วไป เพราะเมนูมื้อกลางวันคือสลัดผัก (ไม่มีน้ำสลัด) และกินคาร์โบไฮเดรตมื้อเย็นเพราะเป็น family meal “สิ่งที่ผม keep ตลอดเวลาคือสุขภาพ ถ้าสุขภาพไม่ดีทุกอย่างเสียหมด ผมมีวินัยดูแลการออกกำลังกายของตนเอง สิ่งเดียวที่ยังไม่ดีคือการพักผ่อนยังไม่เพียงพอ” ศ.ดร.นพ.ประสิทธิ์กล่าวในตอนท้าย


ภาพ: วรัชญ์ แพทยานันท์

อ่านเพิ่มเติม:

>> บิสกิต โซลูชั่น หนุนองค์กรท้องถิ่นประยุกต์ใช้ AI

>> กรณ์ ชินสวนานนท์ นำทัพ “Rabbit Life” เข้าถึงง่าย เจาะรายย่อย


คลิกอ่านฉบับเต็มและบทความทางด้านธุรกิจได้ที่นิตยสาร Forbes Thailand ฉบับเดือนพฤศจิกายน 2565 ในรูปแบบ e-magazine