เพิ่มสวัสดิการสุขภาพจิตติดอาวุธองค์กร - Forbes Thailand

เพิ่มสวัสดิการสุขภาพจิตติดอาวุธองค์กร

FORBES THAILAND / ADMIN
26 Sep 2024 | 09:30 AM
READ 690

ข้อมูลสุขภาพของกระทรวงสาธารณสุขชี้ให้เห็นถึงผู้ป่วยด้านสุขภาพจิตในประเทศไทยมีจำนวนเพิ่มมากขึ้นอย่างมีนัยสำคัญในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ป่วยภาวะซึมเศร้าที่มีจำนวนเพิ่มขึ้นจาก 1,156,734 คนในปี 2564 เป็น 1,240,729 คน ซึ่งในปี 2566 ประเทศไทยมีผู้ป่วยด้านสุขภาพจิตจำนวน 4.4 ล้านคน คิดเป็น 6.44% ของประชากรไทยทั้งหมด เพิ่มขึ้นเป็น 2 เท่าจาก 2.5 ล้านคนในปี 2565


    นอกจากนี้ ข้อมูลจาก Mental Health Check-in ของกรมสุขภาพจิตยังระบุชัดเจนเกี่ยวกับสถานการณ์สุขภาพจิตของคนไทยที่เกิดขึ้นในทุกช่วงอายุระหว่างปี 2563-2567 โดยมีความเครียดสูงคิดเป็นสัดส่วน 7.87% จากผู้ตอบแบบประเมินทั้งหมด 5.28 ล้านคน และภาวะเสี่ยงซึมเศร้า 9.25% รวมถึงมีความเสี่ยงฆ่าตัวตาย 5.26%

    ดังนั้น เรื่องการดูแลสุขภาพจิตของพนักงานจึงเป็นสิ่งสำคัญสำหรับองค์กรในการกำหนดกลยุทธ์ด้านสุขภาพจิตเพื่อช่วยรักษาพนักงานให้ทำงานในองค์กรได้อย่างยาวนาน และร่วมขับเคลื่อนสร้างการเติบโตทางธุรกิจท่ามกลางภาวะการแข่งขันที่ทวีความรุนแรง


ค้นต้นเหตุความเครียด

    รายงานการจ้างงาน ผลตอบแทนและสวัสดิการปี 2567 ของ Jobsdb by SEEK ได้ทำการสำรวจเกี่ยวกับสุขภาพจิตในสถานที่ทำงานซึ่งครอบคลุมถึงความท้าทายที่องค์กรและพนักงานต้องเผชิญจากปัจจัยด้านสุขภาพจิตด้วยการรวบรวมข้อมูลจากบริษัทหลากหลายอุตสาหกรรมจำนวน 685 บริษัท และตำแหน่งงานในประเทศไทย เพื่อให้เข้าใจปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพจิตของพนักงาน ระดับความเครียด สาเหตุของความเครียด และแนะนำกลยุทธ์ในการรักษาพนักงานที่มีความสามารถไว้

    สำหรับผลสำรวจระดับความเครียดในสถานที่ทำงานเริ่มตั้งแต่ 0 หรือไม่มีความเครียดเลยจนถึง 10 คะแนน โดยเฉลี่ยระดับความเครียดของทุกบริษัทอยู่ที่ 4.9 และบริษัทส่วนใหญ่ประมาณ 69% ให้คะแนนองค์กรมีความเครียดอยู่ในระดับปานกลาง หรือช่วงระหว่าง 3-7 ซึ่งความเครียดสูงสุดอยู่ที่ระดับ 5 คิดเป็น 26%

    จากผลการสำรวจดังกล่าวสะท้อนได้ว่า พนักงานบริษัทส่วนใหญ่มีความเครียดอยู่ในระดับประมาณค่าเฉลี่ย โดยช่วงความเครียดต่ำ (0-3) คิดเป็น 18% ซึ่งส่วนใหญ่อยู่ในอุตสาหกรรมบริการลูกค้า ขณะที่ช่วงความเครียดสูง (8-10) ประมาณ 14% อยู่ในอุตสาหกรรมบริการทางธุรกิจเป็นหลัก

    เมื่อสำรวจลึกลงไปถึงสาเหตุความเครียดในองค์กรพบหลายปัจจัยที่เกี่ยวข้อง โดยส่วนใหญ่ประมาณ 43% หรือเกือบครึ่งมีความเครียดจากภาระงานที่หนักหรือความรับผิดชอบในการทำงานที่มากจนไม่สามารถบริหารเวลาได้ทัน ตามมาด้วยทรัพยากรไม่เพียงพอไม่ว่าจะเป็นจำนวนพนักงาน งบประมาณที่ได้รับ และอื่นๆ 26% ตามด้วยปัจจัยด้านแรงกดดันจากผู้บริหารที่มีความคาดหวังสูง หรือการทำงานที่ต้องรวดเร็วแข่งกับเวลาคิดเป็นสัดส่วนประมาณ 24%

    นอกจากนี้ ความเครียดของพนักงานยังเกิดจากสาเหตุอื่นๆ เช่น องค์กรขาดการสนับสนุนการพัฒนาทักษะความรู้ในการทำงาน การขาดโอกาสการเติบโต การยอมรับในผลงาน อัตราการลาออกในที่ทำงานสูง อคติหรือการเลือกปฏิบัติที่แสดงถึงความไม่เป็นธรรมในองค์กร ชั่วโมงการทำงานที่ยาวนานมากเกินไป ค่าตอบแทนที่ได้รับจากการทำงานน้อยเมื่อเทียบกับภาระงานหรือไม่เป็นไปตามความคาดหวัง งานเสี่ยงภัยหรือความกังวลกับอันตรายในการปฏิบัติงาน ความไม่มั่นคงทางอาชีพ อุตสาหกรรมมีผลประกอบการลดลง หรือแม้แต่บริษัทที่เติบโตอย่างรวดเร็ว เช่น สตาร์ทอัพ ก็อาจจะทำให้พนักงานเกิดความเครียดได้

    ขณะที่บริษัทที่อยู่ในช่วงความเครียดสูงควรให้ความสำคัญเป็นพิเศษกับสาเหตุที่พนักงานจะเกิดความเครียดเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง เพราะอาจจะทำให้เกิดปัญหาต่างๆ ตามมาได้ โดยส่วนใหญ่สาเหตุหลักมักเกิดจากการทำงานหนัก แรงกดดันที่ได้รับจากทีมผู้บริหาร และการทำงานที่ต้องแข่งกับเวลา รวมถึงอัตราการลาออกสูง และการเลือกปฏิบัติที่ทำให้รู้สึกถึงความไม่เท่าเทียมกัน ตลอดจนการทำงานที่ไม่เคยได้รับคำชื่นชมหรือการยอมรับในผลงาน ค่าตอบแทนต่ำ และลำดับขั้นในองค์กรมากเกินไปจนเป็นอุปสรรคในการทำงาน เป็นต้น


แนะจัดสมดุลชีวิตและการทำงาน

    แม้ปัจจัยที่ทำให้เกิดความเครียดจะเกิดได้จากหลายสาเหตุและยากในการบริหารจัดการ แต่ผลสำรวจแนวโน้มในอนาคตเกี่ยวกับสวัสดิการด้านความสมดุลของชีวิตและการทำงานได้สะท้อนให้เห็นถึงองค์กรที่ให้ควมสำคัญกับสภาพจิตใจของพนักงานมากขึ้นคิดเป็นสัดส่วน 43% เช่น การริเริ่มจัดกิจกรรมต่างๆ การกำหนดวันหยุดเพื่อดูแลรักษาสุขภาพจิต และการให้คำปรึกษาด้านการดูแลสุขภาพ สายด่วน/การสื่อสาร/การให้คำปรึกษาเพื่อสนับสนุนพนักงานที่มีความเครียด

    สำหรับในปีที่ผ่านมาบริษัทที่ทำการสำรวจในข้อมูลรายงานการจ้างงาน ผลตอบแทนและสวัสดิการได้มีการจัดการพูดคุยเกี่ยวกับสุขภาพจิต หรือการดูแลสุขภาพเฉลี่ย 4.6 ครั้งต่อปี และมีจำนวนบริษัทที่จัดสวัสดิการให้พนักงานได้พูดคุยด้านสุขภาพจิตมากกว่า 6 ครั้งคิดเป็น
32% ซึ่งสะท้อนถึงการให้ความสำคัญของบริษัทในการให้สวัสดิการเกี่ยวกับสุขภาพจิตที่มากขึ้นจนเป็นเรื่องปกติ

    นอกจากนั้น องค์กรในปัจจุบันยังมีสวัสดิการอีกหลากหลายรูปแบบที่น่าสนใจซึ่งครอบคลุมทั้งด้านการดูแลสุขภาพจิตของพนักงานและการสร้างสมดุลให้ชีวิตเพื่อให้พนักงานรู้สึกผ่อนคลายในการทำงานมากขึ้น ได้แก่ กิจกรรมขององค์กรอย่าง การจัดทริปท่องเที่ยวของบริษัท คอร์สวิชาเรียนที่มีความน่าสนใจ การกำหนดวันและเวลาทำงานที่ยืดหยุ่น การทำงานนอกสถานที่ไม่จำกัดเฉพาะบ้านหรือที่ทำงาน การแต่งชุดลำลองบางวันสำหรับพนักงานที่ต้องแต่งชุดยูนิฟอร์ม การจัดหาอาหาร-ว่าง เครื่องดื่ม และผลไม้ให้พนักงานได้รับประทานระหว่างวัน การลาหยุดก่อนช่วงเทศกาลต่างๆ ความบันเทิง/กิจกรรมออกกำลังกายที่สำนักงาน เช่น การจัดชั่วโมงออกกำลังกายพร้อมเทรนเนอร์ในที่ทำงาน เป็นต้น

    สำหรับผู้ประกอบการที่สนใจเพิ่มศักยภาพองค์กรให้สามารถเติบโตได้อย่างยั่งยืนในระยะยาวจากพนักงานที่มีความสุขและความสมดุลในการทำงานสามารถนำสวัสดิการเพิ่มเติมเหล่านี้ไปปรับใช้กับบุคลากร ซึ่งเป็นการสร้างความสัมพันธ์อันดีระหว่างองค์กรและตัวบุคลากรให้สามารถทำงานร่วมกันได้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่ให้ความสำคัญกับองค์กรที่มีสวัสดิการสนับสนุนการสร้างความสุขและความสมดุลในชีวิต

    ทั้งนี้รายงานจากกรมสุขภาพจิตที่ชี้ว่าแนวโน้มความเครียดของพนักงานมีอัตราสูงขึ้นทุกปีทำให้การสนับสนุนและสร้างขวัญกำลังใจให้พนักงาน รวมถึงการผ่อนคลายความตึงเครียดในองค์กรจึงเป็นหนึ่งในเทรนด์สำคัญที่ผู้ประกอบการไม่ควรมองข้าม ต้องพร้อมช่วยเหลือมากขึ้นด้วยแนวทางการพัฒนาสวัสดิการด้านสุขภาพจิตที่สามารถเพิ่มเติมได้มากขึ้นในอนาคต


เรื่องราวอื่นๆ ที่น่าสนใจ : ‘Virtual Bank’ ธนาคารไร้สาขา โอกาสของทุนใหญ่หรือคนไทยจะเข้าถึงสินเชื่อมากขึ้น

คลิกอ่านบทความฉบับเต็มและเรื่องราวธุรกิจอื่นๆ ที่น่าสนใจได้ที่นิตยสาร Forbes Thailand ฉบับเดือนสิงหาคม 2567 ในรูปแบบ e-magazine