ปี 2573 ยุคทองของ “การขนส่งทางราง” - Forbes Thailand

ปี 2573 ยุคทองของ “การขนส่งทางราง”

FORBES THAILAND / ADMIN
22 May 2023 | 07:30 AM
READ 2090

การประชุม COP27 ที่เมือง Sharm El Sheikh เมื่อเร็วๆ นี้ได้ส่งสัญญาณให้เห็นว่า ชีวิตของเรากำลังจะเปลี่ยนแปลงไปจากที่เป็นอยู่ในปัจจุบันเป็นอย่างมาก โดยเอกสาร Breakthrough Agenda ระบุว่า จะมีโครงการความร่วมมือใหม่ๆ อีก 25 โครงการที่ต้องนำาเสนอความก้าวหน้าตามแผนในการประชุม COP28 เพื่อเร่งการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ใน 5 อุตสาหกรรมสำคัญ ได้แก่ พลังงานการขนส่งทางถนน เหล็ก ไฮโดรเจน และการเกษตร รวมทั้งในที่ประชุมยังมุ่งหาวิธีการจัดการรถยนต์ที่ขับเคลื่อนด้วยน้ำมันเชิงเพลิงเป็นหลัก

    กลุ่ม First Movers Coalition เพื่อขับเคลื่อนกระบวนการลดคาร์บอนในอุตสาหกรรมได้ร่วมลงทุนเป็นเงินกว่า 1.2 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐฯ ในเทคโนโลยีไร้คาร์บอน เพื่อลดปริมาณคาร์บอนในภาคอุตสาหกรรมหนักและภาคการขนส่งทางไกล ซึ่งทั้งสองอุตสาหกรรมปล่อยคาร์บอนกว่า 30% ของการปล่อยคาร์บอนทั่วโลก

    ด้วยเหตุนี้จึงแทบไม่มีข้อสงสัยเลยว่าในโลกใบใหม่ของความเป็นกลางทางคาร์บอน บทบาทของการขนส่งทางรางจะทวีความสำคัญมากขึ้นในการเคลื่อนย้ายผู้คนและสินค้า ดังที่ Henri Poupart Lafarge ซีอีโอบริษัท Alstom ได้ชี้ให้เห็นในพอดแคสต์ของ InnoTrans ว่า รถไฟจะกลายเป็นแกนหลักของระบบขนส่งโลกโดยได้รับการสนับสนุนจากนวัตกรรมโซลูชันที่ครอบคลุมจนถึงการขนส่งขั้นสุดท้าย (last-mile solution)


อุดมคติของการเดินทางโดยรถไฟ


    ผู้บริหาร Alstom ได้แสดงมุมมองไว้ว่า การขนส่งทางรางจะกลายเป็นประสบการณ์การเดินทางอันน่าพึงพอใจและก่อให้เกิดประสิทธิภาพแก่ตัวผู้โดยสารซึ่งมิใช่แค่การใช้รถไฟเพื่อความจำเป็นเท่านั้น แต่การเดินทางจะกลายเป็นเรื่องสนุก ใช้เวลาอย่างมีประโยชน์และปลอดภัยผู้โดยสารจะสามารถเชื่อมต่อได้อย่างเต็มรูปแบบกับเครือข่ายข้อมูลและความบันเทิงที่ต้องการ

    ข้อมูลจากธนาคารพัฒนาเอเชีย (ADB) แสดงให้เห็นว่า ประชากรอาเซียนมากกว่าครึ่งหนึ่งอาศัยอยู่ในเขตเมือง อีกทั้งมีการคาดการณ์ว่าเมืองใหญ่ในภูมิภาคนี้จะต้องรับมือกับประชากรอีกกว่า 70 ล้านคนภายในปี 2568 ด้วยเหตุนี้การสร้างเมืองให้เกิดความยั่งยืนและครบวงจรจึงเป็นประเด็นที่มีความสำคัญสูงสุดในภูมิภาคนี้

    หลายปีที่ผ่านมาการเติบโตของภาคการขนส่งส่งผลดีต่อความก้าวหน้าทางเศรษฐกิจและสังคม ปัจจุบันการขนส่งเป็นภาคอุตสาหกรรมที่ทำให้เกิดวิกฤตสภาพภูมิอากาศ องค์กรพลังงานระหว่างประเทศ (IEA) รายงานว่า ในช่วงเวลาหลังจากการแพร่ระบาดอัตราการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) จากภาคการขนส่งทั่วโลกทะยานขึ้นเป็นเกือบ 7.7 GtCO2 จาก 7.1 GtCO2 ในปี 2563

    ทั้งโลกกำลังตื่นตัวกับภาวะโลกร้อนและตอนนี้เราต้องถือว่ารูปแบบการขนส่งแบบเดิมได้กลายเป็นตัวก่อปัญหาให้การดำเนินชีวิต และยังส่งผลต่อความอยู่รอดของโลกด้วย แต่ด้วยความชาญฉลาดของมนุษย์เรากำลังค้นหาวธิ ีแก้ปัญหาที่อาจเป็นยุคทองของการขนส่งทางรางครั้งใหม่ ช่วงเวลานี้จึงเป็นเวลาอันน่าตื่นเต้นที่จะต้องกลับมาคิดว่าการขนส่งทางรางจะมีบทบาทอย่างไรทั่วเอเชียภายในปี 2573

    แม้จะมีการพัฒนาการเดินทางทางอากาศและทางทะเลที่ก่อมลพิษน้อยกว่ารวมถึงยานยนต์ไฟฟ้าที่ทันสมัยแต่โซลูชันการขนส่งข้ามพรมแดนที่สามารถเข้าถึงภูมิภาคต่างๆ ได้ก็ยังคงมีความจำเป็นการขนส่งผู้คนจากชานเมืองเข้าสู่ใจกลางเมือง และพาผู้คนหลายล้านคนไปยังจุดหมายปลายทางได้อย่างยั่งยืน แน่นอนว่าวิธีแก้ปัญหาคือรถไฟพลังงานไฟฟ้าซึ่งมีมาเกือบ 100 ปีแล้วและยังคงพัฒนาต่อไปในขณะที่การขนส่งรูปแบบอื่นต่างก่อมลพิษมากขึ้นแต่รถไฟที่ขับเคลื่อนด้วยไฟฟ้าจะปล่อยมลพิษน้อยลง

    ในรายงานของคณะกรรมาธิการเศรษฐกิจและสังคมแห่งเอเชียและแปซิฟิก (ESCAP) ในปี 2564 เผยให้เห็นว่า จำนวนยานพาหนะที่จดทะเบียน (ต่อประชากร 1,000 คน) ในประเทศต่างๆ เช่น ไทยและมาเลเซียเพิ่มขึ้นเกือบ 2 เท่าระหว่างปี 2548-2562 และภายในปี 2578 คาดว่าประเทศจีนจะมีรถยนต์ส่วนตัวกว่า 350 ล้านคัน ซึ่งมากกว่าจำนวนรถยนต์ในปี 2551 ถึง 10 เท่า ในรายงานของ UN ESCAP ยังระบุว่า การขนส่งหลายรูปแบบร่วมกัน (intermodality) สามารถเพิ่มความยั่งยืนในการเชื่อมโยงโครงข่ายการขนส่งได้ โดยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนที่เกิดขึ้นจากการขนส่ง รวมไปถึงปัญหาการจราจรบนท้องถนน

    วิสัยทัศน์ของการขนส่งในปี 2573 การขนส่งหลายรูปแบบร่วมกัน (intermodality) จะกลายเป็นรูปแบบการขนส่งหลัก โดยผู้โดยสารจะเดินทางระหว่างเมืองด้วยรถไฟระบบอัตโนมัติ จากนั้นเปลี่ยนไปใช้รถไฟฟ้าขนส่งมวลชน รถรางไฟฟ้า หรือรถประจำทางไร้คนขับโดยไม่ขาดการเชื่อมต่อไวไฟ และจะเปลี่ยนไปใช้จักรยานหรือสกูตเตอร์ สำหรับการเดินทางขั้นสุดท้าย

    นับตั้งแต่มีการสร้างเครือข่ายรางรถไฟข้ามทวีปเอเชีย (Trans Asian) ซึ่งเริ่มมาตั้งแต่ปี 2552 ในประเทศต่างๆ Global Data ประมาณการว่า ระหว่างปี 2563-2567 เมื่อทุกโครงการประสบความสำเร็จ เครือข่ายระบบรางรถไฟในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกจะมีระยะทางเดินรถเพิ่มขึ้นอีก 81,000 กม. โดยเป็นระบบรางของรถไฟโดยสารความเร็วปกติ 43,400 กม. และความเร็วสูง 22,000 กม. สำหรับการเดินทางในเมืองโดยหลายเมืองกำลังเร่งพัฒนาโครงการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชน เช่น เครือข่าย MRT ของสิงคโปร์จะมีระยะทางเพิ่มเป็น 2 เท่า จาก 178 กม. เป็น 360 กม. ภายในปี 2573

    ในไทยการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) มุ่งมั่นที่จะพัฒนาโครงข่ายรถไฟที่เชื่อมโยงทุกการเดินทาง ประหยัดเวลาพลังงาน และค่าใช้จ่าย โดยดำเนินการในหลายโครงการ รวมถึงโครงการรถไฟชานเมืองสายสีแดง และโครงการก่อสร้างทางรถไฟรางคู่เพิ่มเติม พร้อมทั้งรถไฟความเร็วสูงที่วิ่งระหว่างสนามบินดอนเมืองสุวรรณภูมิและอู่ตะเภา ที่จะเชื่อมต่อกรุงเทพฯ เข้ากับเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออกภายใน 1 ชั่วโมง

    นอกจากนี้ ยังสนับสนุนการเชื่อมโยงทางรถไฟข้ามพรมแดนผ่านแผนการเร่งการเชื่อมต่อระหว่างทางรถไฟจีน-ลาว กับเครือข่ายรถไฟของประเทศไทย สำหรับการลงทุนระบบรางในเมืองการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทยได้สร้างรถไฟฟ้าสายสีส้มส่วนตะวันออกเสร็จแล้วด้วยงบ 6.8 ล้านเหรียญ และยังขยายรถไฟฟ้า สายสีม่วง (เตาปูน-ราษฎร์บูรณะ) ด้วยงบ2.4 ล้านเหรียญ เริ่มก่อสร้างในปี 2565


เทคโนโลยีการขนส่งทางรางภายในปี 2573


    ผู้โดยสารและผู้ให้บริการระบบรางในทวีปเอเชียจะได้รับประโยชน์อย่างเต็มที่จากเทคโนโลยีที่ช่วยเพิ่มประสบการณ์การเดินทาง ระบบวิเคราะห์ข้อมูลอัตโนมัติจะช่วยอำนวยความสะดวกทุกอย่างตั้งแต่การบำรุงรักษาเชิงคาดการณ์ซึ่งช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายและเพิ่มประสิทธิภาพไปจนถึงระบบข้อมูลผู้โดยสารที่ขจัดความไม่แน่นอนในการเดินทาง

    คาดว่าเครือข่ายรถไฟจะเปลี่ยนเป็นดิจิทัลอย่างสมบูรณ์แบบภายในอีก 10 ปี ซึ่งการเปลี่ยนแปลงนี้จะส่งผลให้มีการปรับใช้ระบบอาณัติสัญญาณขั้นสูง ที่สามารถทำให้การขนส่งทางรางเป็นการเดินทางที่ปลอดภัย รวดเร็ว และมีความถี่มากขึ้นอีกทั้งผู้โดยสารยังสามารถเชื่อมต่อกับไวไฟได้ตลอดการเดินทาง ยิ่งไปกว่านั้นยังเห็นการใช้รถไฟไร้คนขับซึ่งปัจจุบันพบได้ในระบบขนส่งมวลชนในเมืองแบบปิด แต่ถ้าในระบบรางสายหลักรถไฟไร้คนขับจะลดการใช้พลังงานลง 20-30% ช่วยเพิ่มอัตราบรรทุก โดยรถไฟอัตโนมัติต้นแบบจะเริ่มใช้งานในปี 2566

    ในอีก 10 ปีข้างหน้าการขนส่งทั่วทั้งภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกจะต้องพบกับการเปลี่ยนผ่านครั้งใหญ่เพื่อให้ทันกับการเปลี่ยนแปลงของจำนวนประชากรที่เพิ่มขึ้นเป็นกฎหมายทางเศรษฐกิจและภัยคุกคามทางสิ่งแวดล้อม

บทความโดย
Toby Tiberghien
กรรมการผู้จัดการประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออก
Alstom


คลิกอ่านบทสัมภาษณ์และบทความทางด้านธุรกิจได้ที่นิตยสาร Forbes Thailand ฉบับเดือนเมษายน 2566 ในรูปแบบ e-magazine