Cameron Adams หนึ่งในผู้ให้กำเนิด Canva - Forbes Thailand

Cameron Adams หนึ่งในผู้ให้กำเนิด Canva

FORBES THAILAND / ADMIN
12 Sep 2024 | 09:00 AM
READ 658

นานมาแล้วก่อนที่ Cameron Adams จะร่วมก่อตั้ง Canva กับ Melanie Perkins และ Cliff Obrecht สามีของเธอ เขาคือ “ร็อกสตาร์” แห่งโลกเวิลด์ไวด์เว็บ เวลานี้เขากับทีมงานกำลังมุ่งหน้าสู่เทคโนโลยีขั้นสูงเพื่อพายักษ์ใหญ่แห่งวงการออกแบบของประเทศออสเตรเลียขึ้นเป็นจ่าฝูง


    เรื่องราวกล่าวขานถึง Melanie Perkins ผู้ร่วมก่อตั้ง Canva นั้นมีอยู่ว่า ครั้งหนึ่งขณะเธอกำลังเสนอไอเดียเครื่องมือออกแบบออนไลน์ที่ใช้งานง่ายแสนง่ายต่อหน้า Bill Tai ผู้ร่วมลงทุนแห่ง Silicon Valley อยู่นั้น (เขาอยู่ระหว่างเดินทางเยือน Perth บ้านเกิดของ Perkins ทางตะวันตกของออสเตรเลียเพื่อร่วมงานสัมมนาด้านเทคโนโลยีและเล่นไคต์เซิร์ฟ) เธอเห็นเขาก้มหน้าก้มตาพิมพ์โทรศัพท์จึงคิดไปว่า เธอทำเขาหลุดมือไปเสียแล้ว

    อันที่จริง Tai กำลังส่งข้อความหา Lars ผู้ร่วมก่อตั้ง Google Maps ซึ่งต่อมา Rasmussen เปิดเผยผ่านวิดีโอคอลว่า Tai ส่งข้อความมา 2 บรรทัด “Lars ช่วยหาทีมไอทีให้ที ถ้าหาทีมให้ได้ฉันจะลงทุนเอง” Rasmussen ชอบใจแนวคิดของ Perkins ที่ต้องการให้ใครก็ตามสามารถสร้างงานออกแบบได้ แต่ตลอดระยะเวลาอีก 18 เดือนต่อมากลับไม่มีผู้นำสายเทคที่ได้รับการเสนอชื่อคนใดจะสามารถทำได้ดีพอ “ถ้าอยากจะลุยต่อคุณต้องมีคนเก่งที่สุดในบรรดายอดฝีมือทั้งหลาย” Rasmussen บอกกับ Perkins

    ดูเหมือนว่า Canva กำลังเผชิญชะตากรรมเช่นเดียวกับไอเดียอันยิ่งใหญ่มากมายเสียแล้ว กระทั่งการเข้ามาของ Cameron Adams

    Adams เป็นชาว Melbourne แต่กำเนิด เขาเป็นที่รู้จักในโลกที่ข้ามกันไปมาระหว่างการเขียนโค้ด การออกแบบเว็บไซต์ และธุรกิจสตาร์ทอัพ ในปี 2012 เขาตัดสินร่วมงานกับ Perkins (อดีตสมาชิกทำเนียบ 30 Under 30 Asia) และ Cliff Obrecht สามีของเธอ แม้ว่าเครดิตส่วนใหญ่จะตกเป็นของสองสามีภรรยาในการพัฒนาซอฟต์แวร์รูปแบบ “ฟรีเมียม” ที่ช่วยให้ผู้ใช้สามารถสร้างสรรค์และแบ่งปันงานกราฟิก เว็บไซต์ โพสต์ทาง Instagram และอื่นๆ ได้อีกมากมายเพียงการ “ลากและวาง” นั้น

    แต่ Adams และทีมวิศวกรของเขาคือหัวใจสำคัญของงานเทคโนโลยีให้กับบริษัทจาก Sydney แห่งนี้ เวลานี้พวกเขามีลูกเล่นต่างๆ ที่ขับเคลื่อนด้วยปัญญาประดิษฐ์ (AI) ซึ่งหวังว่าจะเป็นเครื่องมือผลักดันการเติบโตในอนาคต

    “ตอนนี้มันง่ายที่จะจินตนาการโลกที่เราอยู่ทุกวันนี้” Adams วัย 44 ปี ในชุดกางเกงยีนส์กับเสื้อยืดลำลองเท่ๆ กล่าวไว้เมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมา ณ สำนักงานใหญ่ของ Canva ที่ Sydney “แต่นี่คือโลกที่เราใช้เวลาตลอด 10 ปีที่ผ่านมาสร้างมันขึ้นมา ทำให้มันเป็นจริง และทำให้ทุกคนได้รู้จัก”

    Forbes ประเมินว่า Adams ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายผลิตภัณฑ์ของ Canva มีมูลค่าทรัพย์สิน 2.2 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ ขณะที่ Perkins ซีอีโอ และ Obrecht ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายปฏิบัติการมีทรัพย์สินรวมกัน 8.8 พันล้านเหรียญ

    ในรอบปีที่ผ่านมา Canva เปิดตัวผลิตภัณฑ์โดยเน้นการขยายประสบการณ์ generative AI เป็นหลัก ไม่ว่าจะเป็นการจัดทำพรีเซนเทชันภาษาตากาล็อกจากเรียงความภาษาอังกฤษความยาว 5,000 คำด้วยการคลิกเพียงไม่กี่ครั้ง การสร้างวิดีโอสั้นๆ จากรูปภาพเพียง 1 รูป หรือการเปลี่ยนมือให้กลายเป็นอุ้งเท้าแมวเสมือนจริง

    Canva บอกว่า ณ สิ้นปี 2023 พวกเขามีผู้ใช้งานในแต่ละเดือนกว่า 170 ล้านคนจาก 190 ประเทศทั่วโลก เพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้านั้น 50% ซึ่งผลิตภัณฑ์ AI ใหม่มีการใช้งานกว่า 4 พันล้านครั้ง

    รายงานระบุว่า จำนวนผู้ใช้ที่เติบโตแบบก้าวกระโดดทำให้ Canva มีรายได้ประจำต่อปีแตะหลัก 2 พันล้านเหรียญในปี 2023 หรือคิดเป็นเท่าตัวจากปีก่อนหน้านั้น โดยมากแล้วมาจากการสมัครสมาชิกรายเดือน


จุดเริ่มต้นของ Adams

    ที่ University of Melbourne เขาเรียนนิติศาสตร์และวิทยาศาสตร์คอมพิวเตอร์ และยังได้ฝึกทักษะการผลิตสิ่งพิมพ์จากการทำหนังสือพิมพ์นักศึกษา กระทั่งเขาเริ่มทำบล็อกด้านเทคโนโลยีในปี 2003 โดยใช้ชื่อว่า The Man in Blue

    เมื่อจบการศึกษาเขา “ลืมไปเสียสนิท” ว่าต้องสมัครงานสายกฎหมาย ขณะเดียวกันการทำบล็อกทำให้ Adams ได้พบกับนักเขียนโค้ดมากมายจากทั่วโลก จนเขาได้เข้าไปมีส่วนร่วมในการวางมาตรฐานเว็บไซต์ที่มีขึ้นหลังวิกฤตฟองสบู่ดอทคอม

    Andrew Green เป็นแฟนคลับคนหนึ่งของ A Man in Blue เขาเคยทำงานให้กับ Eclipse บริษัทตัวแทนด้านการออกแบบที่ Melbourne ปัจจุบันดำรงตำแหน่งหัวหน้าส่วนงานออกแบบของ Canva ซึ่งทำหน้าที่ป้อนงานให้กับ Adams “ถ้าบรีฟไอเดียงานแอนิเมชันให้เขาตอน 5 โมงเย็น คุณจะได้อีเมลต้นแบบ Java-Script สำหรับเสนอให้ลูกค้าตอนตี 5 เมื่อถึงเวลาพักเที่ยงเขาจะตื่นนอนและพร้อมที่จะปรับแก้งานแล้ว”

    Adams เริ่มออกตระเวนบรรยายไปทั่วโลก ในปี 2006 เขาเข้าร่วมงานสัมมนา South by Southwest ใน Texas ซึ่งในสัปดาห์สำคัญนี้เขาได้เข้าทำสัญญาเขียนหนังสือและยังได้พบกับ Lisa Miller นักสัตววิทยาชาวออสเตรเลียที่ผันตัวมาเป็นผู้สร้างเว็บไซต์และกลายเป็นภรรยาของเขาในเวลาต่อมา ซึ่งทำให้เขาได้ย้ายมา Sydney นั่นเอง

    ขณะเดียวกันหลังจากที่ 2 พี่น้อง Lars และ Jens Rasmussen จัดการให้ Google Maps (ซึ่งก่อตั้งขึ้นที่ Sydney) สามารถใช้งานได้เป็นปกติแล้ว พวกเขายังประสบความสำเร็จในการเสนอไอเดียต่อ Larry Page, Sergey Brin และ Eric Schmidt 3 นายใหญ่แห่ง Google เพื่อกำหนดแนวคิดใหม่ในการส่งข้อความแบบเรียลไทม์ผ่านแพลตฟอร์มที่มีการประสานงานกันอย่าง Google Wave

    “เรามีวิศวกรเก่งๆ มากมาย แต่ไม่มีนักออกแบบ UI (ส่วนต่อประสานกับผู้ใช้)” Rasmussen กล่าวถึงเหตุการณ์ในตอนนั้น จนเขาได้มาเจอบล็อกของ Adams และประทับใจการผสมผสานระหว่างงานออกแบบและงานเขียนโปรแกรม แม้ Rasmussen จะไม่สามารถชวน Adams มาทำงานด้วยกันแบบเต็มเวลาได้ แต่ก็ทำสัญญาให้ Adams รับหน้าที่พัฒนาต้นแบบ

    เมื่อ Rasmussen นำต้นแบบดังกล่าวไปเสนอต่อนายใหญ่ Google ในอีก 6 เดือนต่อมา Schmidt ถามว่า ใครรับผิดชอบส่วน UI Rasmussen ตอบว่า “พนักงานสัญญาจ้าง” Schmidt บอกว่า “จ้างเขา ให้เขามาทำงานกับเราเต็มเวลา”

    Google Wave เปิดตัวในปี 2010 แต่ด้วยจำนวนผู้ใช้งานที่มีความเคลื่อนไหวราวครึ่งล้านคนนั้นยังไม่เป็นไปตามเป้าหมาย Google Wave จึงถูกปิดตัวลง Rasmussen ลาออกมาร่วมงานกับ Facebook (ปัจจุบันคือ Meta) ขณะที่ Adams กลับมารวมทีมงานต่างๆ เพื่อออกตระเวนทัวร์ทั่วโลกอีกครั้งแม้เขาจะได้รับอนุญาตให้ย้ายไปเข้าร่วมส่วนงานใดก็ตามใน Google ก็ได้

    เขาใช้เวลา 1 เดือนอยู่ที่สำนักงานใหญ่ของ Google ใน Silicon Valley โดยเข้าร่วมโครงการพัฒนา Google+ ซึ่งล้มเหลวอย่างสิ้นเชิง จากนั้น Adams และ Dhanji Prasanna วิศวกรประจำโครงการ Google Wave (ปัจจุบันดำรงตำแหน่งประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายเทคโนโลยีให้กับ Block แพลตฟอร์มบริการชำระเงินในสหรัฐฯ) ลาออกจาก Google มาเปิดตัวบริการอีเมลด้วยกัน โดยใช้ชื่อว่า Fluent

    เวลาเดียวกันนี้เอง Rasmussen ได้รับข้อความจาก Tai และเขาคิดว่า Adams คือตัวเลือกที่เหมาะสมไร้ที่ติ Rasmussen รู้ดีว่า Adams ยังคงง่วนอยู่กับ Fluent แต่ก็รู้ด้วยว่าเขากำลังมีปัญหา ในเดือนมีนาคม ปี 2012 Rasmussen ขอให้ Adams แวะไปหา Perkins และ Obrecht ซึ่งย้ายจาก Perth ไปอยู่ Sydney แล้ว Rasmussen เล่าให้ฟังว่า เขาบอกกับ Adams ว่า “พวกเขาไม่ค่อยรู้เรื่องเทคโนโลยีเท่าไร ลองไปคุยกับพวกเขาดูว่ามีอะไรให้ทำได้บ้าง”


    Perkins และ Obrecht มีผลิตภัณฑ์อยู่แล้วอย่างหนึ่งคือ Fusion Books ซึ่งผู้ให้บริการในประเทศอินเดียสร้างขึ้นสำหรับใช้ทำหนังสือรุ่นระดับชั้นมัธยม “ผมเดินเข้าประตูไปและได้คุยกับ Perkins” Adams กล่าว “‘คุณมารับงานนักพัฒนาเว็บไซต์หรือเปล่า’ ‘เปล่าครับ ผมมาเพื่อบอกวิธีบริหารธุรกิจ’” Perkins เล่าแนวคิดของ Canva ให้ Adams ว่า เธอต้องการให้เป็นมากกว่าหนังสือรุ่นและทำให้การออกแบบเป็นเรื่องง่ายสำหรับทุกคน แม้จะฟังดูน่าสนใจ แต่ Adams ยังคงวุ่นวายอยู่กับ Fluent เขาขึ้นเครื่องบินไป San Francisco ในความพยายามระดมทุนครั้งที่ 2

    Perkins ส่งอีเมลเพื่อเสนอตำแหน่งงานให้กับ Adams ซึ่งยังคงอยู่ที่ San Francisco “จู่ๆ ก็คิดขึ้นมาว่าคุณกับทีมงานสนใจจะเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของทีมก่อตั้ง Canva และนำเทคโนโลยีอันงดงามที่คุณได้พัฒนาขึ้นเข้ามาร่วมงานกับเราหรือไม่” เธอเขียนในอีเมล “ถ้าเราร่วมมือกัน เราทั้งสองคนจะแข็งแกร่งกว่านี้มาก” Adams เขียนอีเมลตอบกลับไปอย่างสุภาพและปฏิเสธข้อเสนอของเธอ

    ไม่นานนักความจริงก็ถล่มลงตรงหน้า เมื่อ Fluent ไม่มีนักลงทุนเข้ามาเลย พวกเขาเริ่มหางานทำในต่างประเทศ Miller แนะนำให้ Adams ติดต่อกลับไปหา “คู่สามีภรรยาที่มีบริษัทหนังสือรุ่น” Adams เชื่อเธอ และ Perkins กับ Obrecht ก็เสนอทั้งตำแหน่งผู้ร่วมก่อตั้งและหุ้นส่วนน้อยให้กับ Adams

    เมื่อได้ Adams มาร่วมทีมแล้ว ทั้งสามยังชักจูงให้ Dave Hearnden วิศวกรอาวุโสจาก Google หันหลังให้กับงานรายได้ดีเพื่อมาร่วมงานกับพวกเขาในตำแหน่งประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายเทคนิคได้อีกด้วย Rasmussen ติดต่อ Tai กลับไป “รับคำท้า ภารกิจสำเร็จแล้ว” Tai เข้าลงทุนทันที อีกทั้งยังพาเพื่อนๆ มาร่วมลงทุนด้วยกัน หนึ่งในนั้นคือ Rick Baker ผู้ร่วมก่อตั้ง Blackbird Ventures บริษัทใน Sydney

    Tai ซึ่งยังเป็นผู้ลงทุนให้กับ Twitter และ Zoom ด้วยนั้นไม่เคยขายหุ้นใน Canva ออกไปเลย ซ้ำยังซื้อเติมเข้ามาอยู่เรื่อยๆ เขาให้สัมภาษณ์ทางอีเมลว่า “Canva เป็นหนึ่งในบริษัทแรกๆ ที่ใช้ Open AI ในการสร้างและเปิดตัว Canva GPT พวกเขานำคนอื่นไปหลายก้าว”



บทความนี้ดัดแปลงมาจาก Forbes Australia ฉบับภายใต้ลิขสิทธิ์ในการตีพิมพ์จาก Forbes Media



เรื่องราวอื่นๆ ที่น่าสนใจ: Vinted สตาร์ทอัพธุรกิจ ‘เสื้อผ้ามือสอง’ ที่มียอดขายกว่า 600 ล้านเหรียญต่อปี

คลิกอ่านบทความฉบับเต็มและเรื่องราวธุรกิจอื่นๆ ที่น่าสนใจได้ที่นิตยสาร Forbes Thailand ฉบับเดือนสิงหาคม 2567 ในรูปแบบ e-magazine

TAGGED ON