ดาวพุธ ดาวดวงที่เล็กและใกล้กับดวงอาทิตย์มากที่สุดในระบบสุริยะ อาจมีความลับมูลค่ามหาศาลซ่อนอยู่ก็เป็นได้ แต่การนำสิ่งมีค่าเหล่านั้นกลับมายังโลกจะคงเป็นเรื่องที่ไม่มีคำตอบแน่นอนนัก
ดาวพุธ ปกคลุมไปด้วยเพชรจริงหรือไม่ ดูเหมือนว่าคำตอบจะอยู่ในงานวิจัยใหม่ที่เปิดให้ทุกคนได้ทราบไปเล็กน้อยในงาน Lunar and Planetary Science Conference (LPSC) ณ เมือง Houston รัฐเท็กซัสเมื่อสัปดาห์ก่อน โดยงานวิจัยนั้นเสนอว่าดาวเคราะห์ที่เต็มไปด้วยหลุมดวงนี้อาจมีเพชรซ่อนอยู่ถึง 16 พันล้านล้านตันเลยก็เป็นได้
“นั่นคือตัวเลขที่แบบจำลองของผมสามารถคำนวนออกมาได้สำหรับเปลือกทั้งเปลือกของดาวพุธ แต่มีเพียงส่วนเล็กๆ ของสสารบนพื้นผิวเท่านั้นที่น่าจะเป็นเพชร” Kevin Cannon ผู้ช่วยศาสตราจารย์แห่งภาควิชาธรณีวิทยา และวิศวกรรมธรณี/ทรัพยากรอวกาศ ณ Colorado School of Mines กล่าว “มากสุดอาจจะอยู่ที่ร้อยละ 1 ถึง 2”
ดาวพุธถูกปกคลุมไปด้วยแกรไฟต์ ซึ่งเป็นคาร์บอนบริสุทธิ์ซึ่งอาจะแปรสถาพกลายเป็นเพชรได้หลังได้รับแรงกระทบจากอุกกาบาต ดาวเคราะห์น้อย และดาวหาง
เป็นที่รู้กันว่า ดาวพุธนั้นได้รับความเสียหายจากการระดมชนหนักครั้งหลัง หรือที่เรียกว่า Late Heavy Bombardment อย่างมาก โดยเหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นในช่วงแรกๆ ของระบบสุริยะราวๆ 4.1 ถึง 3.8 พันล้านปีก่อน ซึ่งเป็นช่วงเวลาเดียวกันที่ทำให้ดวงจันทร์เต็มไปดด้วยหลุมอุกกาบาต
อย่างไรก็ตาม ดาวพุธมีหลุมเหล่านั้นมากกว่าดวงจันทร์เสียอีก ซึ่งนั่นก็หมายความว่าดาวดวงนี้ก็ได้รับผลกระทบอันก่อให้เกิดเพชรมากกว่าเช่นกัน
“เราคิดว่าดาวพุธเริ่มมาจากการเป็นดาวที่มีแกรไฟต์บางๆ ห่อหุ้มอยู่ซึ่งเกิดจากมหาสมุทรแมกมาบนดาวดวงนั้นเย็นตัวลง” Cannon กล่าว “ดาวเคราะห์น้อย และดาวหางที่พุ่งชนเปลือกดาวนี้ในความเร็วสิบกว่าไมล์ต่อวินาทีทำให้เกิดแรงดันมากพอที่จะแปรให้แกรไฟต์กลายเป็นเพชร”
ถึงจะอย่างนั้นก็ตาม เพชรเหล่านี้ แม้อาจจะอยู่ค่อนข้างใกล้กับพื้นผิว ก็ดูไม่ออกว่าเป็นอัญมณีในตอนแรก “พวกมันคงไม่ได้ดูเหมือนอัญมณีก้อนโตที่มองทะลุได้ที่เรานำมาเจียระไนและทำจิวเวอรี่” Cannon กล่าว “ถ้าจะเทียบให้ดีกว่าคือ พวกมันเป็นเพชรก้อนเล็กที่ขุ่นมัวที่ถูกใช้ในอุตสาหกรรมในฐานะตัวขัดเหลา อาจจะเป็นการผสมผสานกันอย่างไม่ลงตัวมากนักระหว่างแกรไฟต์และคาร์บอนรูปแบบอื่นๆ”
“การทำเหมืองแร่อวกาศ” มันยากกว่าที่คิดเสมอ แต่การทำเช่นนั้นบนดาวพุธ ยากเสียยิ่งกว่าอีก “มันค่อนข้างยากที่จะโคจรอยู่รอบๆ ดาวพุธและลงจอดเนื่องด้วยเหตุผลทางกลศาสตร์วงโคจร” Cannon กล่าว
หากมองในแง่ทฤษฎีแล้ว เป็นไปได้หรือไม่ที่เราจะทำเหมืองเพชรบนดาวพุธ “เป็นไปได้อยู่แล้ว แต่สภาพเศรษฐกิจมันไม่ค่อยดี เราสามารถสังเคราะห์เพชรที่ใช้ในอุตสาหกรรมขึ้นมาในห้องทดลองได้ ดังนั้นบางทีพวกมันอาจจะมีมูลค่ามากกว่ามนรูปแบบของคาร์บอนจำนวนมากๆ ก็ได้” Cannon กล่าว
ภารกิจ BepiColumbo ของทาง European Space Agency ที่กำลังเกิดขึ้นจะวาดแผนที่ดาวพุธในความยาวคลื่นที่ต่างออกไปหลังจากที่ไปถึงดาวดวงนั้นในวันที่ 5 ธันวาคม ปี 1014 และพวกเขาก็อาจจะค้นหาเพชรแห่งดาวพุธเจอก็เป็นได้ “ในทางทฤษฎีแล้ว ภารกิจ BepiColumbo ที่กำลังจะเกิดขึ้นนี้ อาจจะสามารถตรวจพบเพชรในสสารพื้นผิวได้” Cannon กล่าว “พวกเขามีเครื่องตรวจวัดที่ใช้กับเครื่องตรวจวัดแบบที่ใช้ในภารกิจ MESSENGER ของ NASA ได้ดี และเครื่องมือของพวกเขาก็สามารถตรวจจับแร่ธาตุบางอย่างที่คล้ายกับแร่ธาตุแบบนี้ได้ดีกว่า” MESSENGER ทำแผนที่ดาวพุธไว้เมื่อช่วงปี 2008 ถึง 2015
ยานขนส่งทั้ง 12 ของ BepiColombo ทั้ง ESA Mercury Planetary Orbiter (MPO) และ JAXA Mercury Magnetospheric Orbiter (MMO) จะศึกษาที่มาและวิวัฒนาการของดาวพุธไปด้วยกัน รวมไปถึงศึกษาโครงสร้างภายใน ธรณีวิทยา ส่วนประกอบ หลุม ชั้นบรรยากาศ แม็กนีโตสเฟียร์ (รวมไปถึงศึกษาว่าสนามแม่เหล็กดังกล่าวมีปฏิกิริยากับลมสุริยะอย่างไร) และที่มาของสนามแม่เหล็กดาวพุธ นอกจากนี้ ภารกิจนี้ยังจะสำรวจการทับถมกันของสสารบริเวณขั้วของดาวดวงนี้ด้วย
BepiColumbo ไม่ใช่ภารกิจสู่ดาวพุธเดียวที่กำลังเกิดขึ้น
ณ ตอนนี้ 2023–2032 Planetary Science and Astrobiology Decadal Survey ก็กำลังดูๆ คอนเซ็ปต์ภารกิจ “Mercury Lander” ซึ่งจะลงจอดในด้านที่อากาศเย็นและเป็นตอนกลางคืนของดาวพุธในปี 2045 โดยดาวเคราะห์ดวงนี้เป็นดาวดวงเดียวที่ไม่มีหุ่นยนต์ตัวไหนได้สำรวจพื้นผิวเลย “ผมสนับสนุนมากเลย ตามประวัติศาสตร์แล้วเราทำตามเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นตามลำดับโดยเริ่มจากบินผ่าน โคจร ลงจอด เดินไปเดินมา และนำตัวอย่างกลับมา” Cannon กล่าว “เราสามารถได้ข้อมูลจากการโคจรรอบดาวพุธเยอะก็จริง แต่ไม่มีอะไรเทียบกับการลงจอดบนพื้นผิว และวิเคราะห์ก้อนหินและดินดังที่เราทำสำเร็จบนดาวอังคาร และดวงจันทร์ได้”
นอกจากดาวพุธแล้ว ดาวเคราะห์ดวงอื่นในระบบสุริยะนี้ ก็อาจจะมีเพชรซ่อนอยู่เช่นกัน “โอกาสที่น่าจะเป็นไปได้คือมันน่าจะซ่อนอยู่ในชั้นลึกๆ ของดาวเคราะห์น้ำแข็งดวงโจอย่างดาวเนปจูนและยูเรนัส” Cannon กล่าว
แปลและเรียบเรียงจากบทความ There Could Be 16 Quadrillion Tons Of Diamonds On The Planet Mercury Suggests New Research เผยแพร่บน Forbes.com
อ่านเพิ่มเติม: HermesFit เพราะการออกกำลังกายสง่างามได้เสมอ
ไม่พลาดบทความและเรื่องราวน่าสนใจอื่นๆ ติดตามเราได้ที่เฟซบุ๊ก Forbes Thailand Magazine