Ryan Breslow ผู้ร่วมก่อตั้ง Bolt ติดจรวดให้มูลค่ากิจการฟินเทคของเขาพุ่งไปถึงดวงจันทร์ด้วยการสัญญาว่าจะช่วยให้ร้านค้าปลีกออนไลน์อิสระหลายล้านรายมีระบบชำระเงินสไตล์เดียวกับ Amazon
ตอนนี้เศรษฐีพันล้านหน้าใหม่เอี่ยม Ryan Breslow ก็ยังวิพากษ์วิจารณ์อะไรหลายอย่าง และสร้างศัตรูผู้ทรงพลังกลุ่มหนึ่งด้วยการท้าทายวัฒนธรรมและค่านิยมของวงการเทค แต่เมื่อบริษัทได้มูลค่าประเมินถึง 1.1 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐฯ ท่ามกลางความกังขาของคนมากมาย Breslow จึงมุ่งมั่นจะพิสูจน์ให้ได้ว่า Bolt ไม่ใช่แค่ความสำเร็จชั่ววูบ และตัวเขาไม่ใช่แค่สายล่อฟ้า
ณ สถานที่อันห่างไกลจากปาร์ตี้เพลงตื๊ดริมสระว่ายน้ำใน South Beach และชุมชน เศรษฐีใหญ่ที่กระจายอยู่รอบอ่าว Biscayne Ryan Breslow ซึ่งเป็นหนึ่งในผู้อยู่อาศัยที่รวยที่สุดของเมือง Miami และเป็นหนึ่งในเศรษฐีพันล้านอายุน้อยที่สุดในโลกด้วยวัย 27 ปี กำลังนั่งขัดสมาธิทรงตัวอยู่บน หมอนรองนั่งบีนแบ็กสีน้ำเงินในบ้านบังกะโล 3 ห้องนอนที่ดูสมถะตรงชายขอบของย่าน Little Haiti
Breslow ใช้เวลาส่วนใหญ่อยู่คนเดียวที่บ้าน เต้นเพลงแนว “เฮ้าส์ดิสโก้” บนพื้นหญ้าเทียม AstroTurf ในสนามหลังบ้าน เขานั่งสมาธิท่ามกลางหมู่ปาล์มสูงชะลูดกับพระพุทธรูปสีขาวและเสียงหึ่งของเครื่องปรับอากาศ และใช้โต๊ะทำงานแบบมีสายพานเดินออกกำลัง ซึ่งมีกลองพิธีของชนเผ่าพื้นเมืองตั้งอยู่ใกล้ๆ
และอยู่ในห้องรับแดดเป็นที่บริหาร Bolt สตาร์ทอัพสายเทคโนโลยีการเงินที่มีมูลค่าประเมิน 1.1 หมื่นล้านเหรียญ และมีพนักงาน 700 คน บริษัทนี้มีเป้าหมายคือ การช่วยให้ร้านค้าออนไลน์หลายล้านรายมีบริการชำระค่าสินค้าที่ไร้แรงต้านแบบคลิกเดียวจบเหมือนของ Amazon
“ผมใช้ชีวิตแบบพระสงฆ์ เราจะทำเรื่องน่าอัศจรรย์ได้ถ้าตัดสิ่งรบกวนสมาธิออกไป” Breslow กล่าว เขาแต่งตัวสีฉูดฉาด เหมือนปืนยิงพลุกระดาษด้วยเสื้อยืดพิมพ์ลายตัวการ์ตูนซูเปอร์ฮีโร่สีม่วงชื่อ Bolt กางเกงวิ่งขาสั้นสาดสีรุ้ง และรองเท้า Nike สีไซคีเดลิกมีกากเพชรที่พื้นรองเท้า
ในช่วงว่างระหว่างการประชุมผ่าน Zoom กับห้องเรียนโยคะออนไลน์ Breslow ผู้มีทรัพย์สิน 2 พันล้านเหรียญจากการถือหุ้นใน Bolt จะกินอาหารกลางวันแบบมังสวิรัติที่ทำจากวัตถุดิบ ในท้องถิ่นอย่างเงียบๆ เพียงลำพัง เขาแทบไม่กินอะไรต่อหน้าคนอื่น เขาไม่กินเนื้อสัตว์และกลูเตน ไม่ดื่มกาเฟอีนและแอลกอฮอล์ และไม่กินอาหารเสริมหรือใช้สารเสพติดด้วย
กิจวัตรประจำวันที่เคร่งครัดเช่นนี้เป็นส่วนหนึ่งของสิ่งที่เขาเรียกว่า “การทำงานอย่างราชสีห์” ซึ่งเป็นปรัชญาที่เน้นการทำงานโดยมีสมาธิสูงมากและเข้มข้นมากในช่วงสั้นๆ คล้ายการล่าเหยื่อของสิงโต “คนเราเล่นละครในที่ทำงานกันเยอะไป ต้องหาอะไรมาทำแก้ขัดให้ดูไม่ว่าง” Breslow กล่าว
เมื่อไม่นานมานี้เขาก็เพิ่งประกาศให้ Bolt เปลี่ยนมาทำงานสัปดาห์ละ 4 วัน “ผมอยากให้คุณมีวันหยุดไปใส่ใจสุขภาพ ความเป็นอยู่และครอบครัวกันมากกว่า พอมาทำงานก็จะได้ทำเต็มที่”
หลังพระอาทิตย์ตกเขาจะเลี่ยงแสงจากไฟฟ้าและหน้าจอเพราะมันรบกวนการนอนหลับ แต่จะจุดเทียนและเล่นกลองหนังควายแทน (เขาทำกลองเองโดยให้ชนพื้นเมืองในท้องถิ่นช่วยสอน) เพื่อผ่อนคลายก่อนเข้านอน
“คนส่วนใหญ่พอรวยขึ้นมาก็อยากจะเข้าร่วมสมาคมคนชั้นสูงแต่ผมไม่เอาด้วย ผมอาจจะเป็นหนึ่งในเศรษฐีพันล้านไม่กี่คนที่รู้สึกแบบนี้” Breslow กล่าวด้วยรอยยิ้มเยาะ “ผมไม่อยากเข้าชมรมของพวกเขา กลุ่มของพวกเขา ปาร์ตี้ของพวกเขา”
แต่ดูเหมือน Breslow ผู้ชอบอยู่กับเหย้าเฝ้ากับเรือนและอ้างว่ารังเกียจสังคมแบบ Silicon Valley กลับโผล่ไปทุกหนแห่งในวงการเทควันนี้ เขาระดมทุนจากนักร่วมลงทุนไปแล้วรวม 1 พันล้านเหรียญ ซึ่ง 873 ล้านเหรียญในจำนวนนี้ได้มาตั้งแต่ปี 2020 นี้เอง โดยมาจากนักลงทุนระดับบลูชิปอย่าง General Atlantic, BlackRock, WestCap และ H.I.G. Growth
เขาติดเทอร์โบจนมูลค่าประเมินของ Bolt วิ่งไปถึง 1.1 หมื่นล้านเหรียญ ซึ่งเป็นตัวเลขที่คนในโลกการลงทุนพากันเกาหัวเพราะบริษัทนี้ทำยอดขายได้แค่ 40 ล้านเหรียญในปี 2021 แต่จำนวนนักช็อปที่ใช้ซอฟต์แวร์ของ Bolt โตระเบิดจาก 800,000 คนเมื่อต้นปี 2020 มาเป็นกว่า 12 ล้านคน
ในวันนี้ Breslow เซ็นสัญญากับ Adobe, Forever 21 และ Fanatics แล้ว และคนวงในบอกมาว่า Bolt ยังมีข้อตกลงธุรกิจกับสื่อโซเชียลรายใหญ่และห้างสรรพสินค้าใหญ่ที่สุดเจ้าหนึ่งของอเมริกาที่จะประกาศในเร็วๆ นี้ด้วย นอกจากงานบริษัทแล้ว Breslow ยังออกหนังสือที่เขาจัดพิมพ์เองอีก 2 เล่ม (Fundraising และ Recruiting) และเปิดองค์กรไม่แสวงหากำไรอีก 2 แห่งคือ Conscious.org ซึ่งเผยแพร่คำสอนเรื่อง “การทำงานอย่างราชสีห์” ของเขา และ Movement ซึ่งเปิดคลาสสอนเต้นฟรีใน Miami, Los Angeles และ New York
นอกจากนี้ เขายังสร้างความงงงวยและจุดประเด็นถกเถียงไปทั่ววงการอีกด้วย เมื่อเดือนมกราคมเขาก้าวลงจากตำแหน่งซีอีโอของ Bolt มาเป็นประธานกรรมการบริหาร ซึ่งเป็นเรื่องเหนือความคาดหมายอย่างสุดกู่สำหรับผู้ประกอบการหนุ่มที่เพิ่งปิดรอบการระดมทุนโดยได้เงินไป 355 ล้านเหรียญ
เขาป่าวประกาศเรื่องแผนให้เงินกู้สำหรับพนักงานที่อยากใช้สิทธิซื้อหุ้นของบริษัท ซึ่งกลายเป็นประเด็นร้อนเพราะเขาบอกว่า เขากล้าทำสิ่งใหม่ แต่เหล่าผู้คร่ำหวอดในวงการซึ่งมีแผลเป็นท่วมตัวมาจากยุคเว็บ 1.0 บอกว่า เขาแค่บ้าระห่ำ และเมื่อไม่นานมานี้เขาก็เข้า Twitter ไปเหวี่ยงหมัด 280 ตัวอักษรใส่หน้าบรรดาผู้เล่นรายใหญ่ที่สุดของ Silicon Valley ด้วย
เปิดศึก
เมื่อเดือนมกราคม Breslow ทวีตร่ายยาวหลายข้อความเพื่อซัดว่า Stripe บริษัทระบบชำระเงินมูลค่าประเมิน 9.5 หมื่นล้าน เหรียญซึ่งเป็นสุดที่รักของวงการ กับ Y Combinator นักบ่มเพาะสตาร์ทอัพชั้นนำ คือ “หัวหน้ามาเฟีย” ที่รวมหัวกันขยี้คู่แข่งในสายฟินเทค ศึกนี้เป็นทั้งเรื่องธุรกิจและเรื่องส่วนตัวสำหรับ Breslow เพราะ Stripe เป็นคู่แข่ง ส่วน Y Combinator เคยปฏิเสธเขา
และเมื่อเดือนกุมภาพันธ์เขาเขียนว่า Shopify บริษัทอี-คอมเมิร์ซมูลค่า 9 หมื่นล้านเหรียญซึ่งเสนอเครื่องมือไฮเทคให้กิจการเล็กใช้กำลังกัดกินระบบนิเวศของตัวเองด้วยการขโมยไอเดียที่ดีที่สุดจากชุมชนนักพัฒนาของบริษัท แต่ทั้ง Stripe และ Shopify รวมทั้ง Patrick Collison และ Tobias Lütke ซีอีโอพันล้านของสองบริษัทนี้ไม่ออกมาตอบโต้การยั่วยุของ Breslow ต่อหน้าสาธารณชน
“ผมไม่กลัวการกวนโมโหพวกผู้มีอำนาจ ถ้าผมไม่ปูดเรื่องดำมืดที่ผมเห็นใน Silicon Valley แล้วใครจะกล้า” Breslow กล่าว “ผมเชื่อว่านอกจากเราควรจะแบ่งปันความรู้แล้ว เรายังควรแชร์เรื่องความลำบากด้วย เพราะสิ่งที่ผมเกลียดที่สุดเกี่ยวกับ Silicon Valley ก็คือ ทุกคนเล่าแต่เทพนิยายขายฝัน”
แน่นอนว่าการแชร์เรื่องความลำบากก็เป็นแผนการตลาดที่ดีด้วย เพราะ Bolt สตาร์ทอัพระบบชำระค่าสินค้าดิจิทัลที่ธุรกิจยังไม่มั่นคงรายนี้ยังห่างไกลจากการเป็นชื่อติดปากลูกค้า และยังต้องหาผู้สมัครใช้งานอีกหลายล้านรายโดยเร็ว การปะทะคารมใน Twitter กับคู่แข่งที่มีชื่อเสียงในจังหวะเหมาะๆ จึงถือเป็นวิธีประหยัดที่ดึงดูดความสนใจและสร้างความตื่นเต้นได้
Breslow กล่าวว่า พายุทวีตของเขาต่างจากเรื่องบ่นบ้าประสา Trump รอบดึกอย่างมาก เพราะก่อนโพสต์ข้อความเขาจะนั่งสมาธิไตร่ตรองสิ่งที่จะเขียน และถามความเห็นจากทีมผู้บริหารของเขา ซึ่งปัจจุบันประกอบด้วยมือเก๋าจาก Amazon, Twitter และ Pinterest และทั้งผู้บริหาร นักลงทุน และลูกค้าก็โอเคกับสไตล์ขวานผ่าซากของเขา
“นี่แหละ Ryan เขาเป็นผู้ประกอบการเจน Z ที่ไม่พอใจกับระบอบของโลกนี้ และเขาอยากเปลี่ยนมัน” Maju Kuruvilla ซีอีโอของ Bolt กล่าว เขาเป็นอดีตผู้บริหารของ Amazon ซึ่งดูแลเรื่องงานโลจิสติกส์ทั่วโลกและการเก็บ-แพ็ก-ส่งสินค้าสำหรับ Amazon Prime “คนประสบความสำเร็จส่วนใหญ่ไม่ชอบกวนน้ำให้ขุ่น แต่ Ryan ใจถึงกว่านั้น”
Brent Bellm ซีอีโอของ BigCommerce ซึ่งเป็นลูกค้าที่นำซอฟต์แวร์ของ Bolt มาใช้กับร้านค้าออนไลน์กว่า 60,000 ร้านเป็นแฟนตัวยงของเขา “ผมชอบมากเวลามีใครใช้เสรีภาพในการพูดเพื่อพูดสิ่งที่กระตุกความคิดและน่าสนใจ แทนที่จะทำตัวเฉยๆ หรือเอาใจทุกฝ่าย แบบนี้สิเยี่ยม”
Bolt มีแนวคิดเรียบง่ายคือ การช่วยให้ผู้ค้าหลายล้านรายและนักช็อปหลายร้อยล้านคนมีระบบชำระเงินดิจิทัลไร้รอยต่อแบบคลิกเดียวจบ ถ้า Amazon มีระบบนี้มาหลายปีแล้ว เช่นเดียวกับ Shopify แล้วทำไมร้านของชำท้องถิ่น ร้านค้าปลีกขนาดกลาง หรือเครืออู่ซ่อมรถจะมีบ้างไม่ได้ ซึ่ง Bolt มีเป้าหมายจะยึดพื้นที่ตรงกลางขนาดมหึมาส่วนนี้
“พวกเขาอยู่ในตลาดใหญ่มากและมีโอกาสเยอะมาก ภายใน 5-10 ปีพวกเขาอาจจะช่วยขับเคลื่อนร้านค้าร้อยละ 20 ในตลาดค้าปลีก” Dennis Cong ผู้ก่อตั้ง CE Innovation Capital ซึ่งลงทุนในการระดมทุนรอบซีรีส์ E ของ Bolt กล่าว ในปี 2021 Amazon ขายสินค้าได้ประมาณ 6 แสนล้านเหรียญ และเครือข่ายร้านค้าของ Shopify กว่า 1 ล้านรายขายสินค้าได้ 1.75 แสนล้านเหรียญ ส่วน Bolt กำลังตามจับตลาดผู้ค้าส่วนที่เหลือทั่วโลกซึ่ง Statista รายงานว่า มียอดขายสินค้าออนไลน์ประมาณ 4.9 ล้านล้านเหรียญในปี 2021
สำหรับผู้ซื้อ Bolt ช่วยให้คุณไม่ต้องกรอกแบบฟอร์ม ควานหาเลขบัตรเครดิต และท่องจำพาสเวิร์ดอีกชุด คุณเข้าร่วมในเครือข่ายช็อปปิ้งของ Bolt ได้โดยแค่ติ๊กถูกในช่องเมื่อชำระเงินในร้านค้าที่เป็นพาร์ตเนอร์ หลังจากนั้นเมื่อคุณเข้าเว็บไซต์ที่ใช้ระบบของ Bolt ร้านค้าก็จะรู้จักคุณ คุณจะสามารถล็อกอินและซื้อสินค้าได้ด้วยการคลิกปุ่มเดียวร่วมกับการใช้รหัสที่ส่งถึงคุณทางเมสเสจหรืออีเมล
สำหรับผู้ขาย การลดแรงเสียดทานด้วยระบบชำระเงินแบบคลิกเดียวจบหมายถึงการขายได้มากขึ้นและบ่อยขึ้น เพราะทุกวันนี้มีสินค้าถึงร้อยละ 70 ถูกปล่อยคาไว้ในตะกร้าออนไลน์ Bolt จะได้เงินก็ต่อเมื่อร้านค้าขายของได้ โดยคิดเงินประมาณร้อยละ 2 ของมูลค่าธุรกรรมแต่ละครั้ง ซึ่งใกล้เคียงกับที่ Shopify ชาร์จจากลูกค้าที่ไม่ใช้ซอฟต์แวร์ชำระเงินภายในของบริษัท Amazon จัดการทุกอย่างให้ลูกค้าแต่เก็บค่าธรรมเนียมก้อนใหญ่จากผู้ขายที่ไม่ใช่ผู้ผลิต ตั้งแต่ร้อยละ 8-45 ของราคาขายปลีก ส่วนร้านค้าของ Bolt จะรับผิดชอบจ่ายค่าขนส่งและค่าธรรมเนียมบัตรเครดิตเอง
ถ้ามองแค่ผิวเผินงานชำระเงินค่าสินค้าเป็นเรื่องเรียบง่าย น่าเบื่อ แต่ความท้าทายด้านเทคโนโลยีและกฎข้อบังคับนั้นกลับโหดเอาเรื่อง เว็บไซต์ค้าปลีกแต่ละแห่งต้องรับมือทั้งการจ่ายเงิน ภาษีการขาย รายการสินค้า ค่าขนส่ง ที่อยู่จัดส่ง และรหัสคูปอง ขณะเดียวกันก็ต้องตาไวพอจะจับกลโกงด้วย
“ผมต้องสร้างระบบที่ทำงานร่วมกัน 30 อย่างกว่าจะยืนยันการชำระเงิน 1 ครั้งได้ ซอฟต์แวร์มันยุ่งเหยิงมาก ระบบนิเวศของร้านค้าจำนวนมากก็สร้างมาด้วยวิธีปะตรงนั้นต่อตรงนี้” Breslow กล่าว “นี่แหละเหตุผลว่าทำไมหน้าชำระเงินของเว็บไซต์ส่วนใหญ่ถึงดูเหมือนเกิดก่อนส่วนอื่นๆ เป็น 10 ปี และเราก็ต้องทำสิ่งที่ยากกว่านั้นมาก นั่นคือการสร้างกรอบการทำงานกว้างๆ ที่เอาไปติดตั้งเข้ากับเว็บไซต์ไหนก็ได้”
Peter Krukovsky นักวิเคราะห์อาวุโสด้านเทคโนโลยีการเงินของ Moody กล่าวว่า ผู้เข้าแข่งขันในวงการที่แออัดนี้ต้องมีอะไรมานำเสนอมากกว่าความเร็วถึงจะชนะใจลูกค้าได้ Amazon มีขนาด ความน่าเชื่อถือ และบริการส่งของฟรี PayPal คุณปู่แห่งสายงานประมวลผลการชำระเงินออนไลน์ซึ่งเป็นที่ยอมรับของเว็บไซต์ร้อยละ 80 ในกลุ่มเว็บใหญ่ที่สุด 500 อันดับแรกของสหรัฐฯ เสนอบริการคุ้มครองลูกค้าจากการฉ้อโกง การจ่ายเงินจากบุคคลสู่บุคคล และบัตรเดบิต
Apple Pay มีติดตั้งอยู่ใน iPhone กว่า 110 ล้านเครื่อง ถ้านับเฉพาะในอเมริกา และใช้งานได้ดีทั้งใน App Store และร้านกาแฟท้องถิ่น ส่วนบริษัทฟินเทคอย่าง Affirm, Afterpay และ Klarna ออกสินเชื่อทันใจให้ผู้ใช้งาน และแม้แต่เว็บเบราว์เซอร์บ้านๆ ก็ยังช่วยเติมที่อยู่จัดส่งและเลขบัตรเครดิตเพื่อให้ลูกค้าชำระเงินได้ง่ายขึ้น
แต่ก็มีความพยายามครั้งใหญ่ที่ล้มเหลวไปเยอะแล้วเช่นกัน Visa, Chase, American Express, Google, Samsung และ Walmart ต่างพากันทำปุ่ม “ซื้อทันที” ออกมา แต่ก็ดับหมด แม้แต่ Amazon ซึ่งเป็นต้นกำเนิดของการช็อปแบบคลิกเดียวจบก็ยังต้องชะลอแคมเปญนำาปุ่มเหลืองซื้อสินค้าไปติดตั้งในเว็บไซต์ภายนอก “วงการนี้ลงหลุมกันมาเยอะแล้ว” Lisa Ellis กรรมการผู้จัดการอาวุโสของบริษัทวิจัย MoffettNathanson กล่าว “มีหลายสิบบริษัทที่เหมือนจะเริ่มต้นดี เจาะกลุ่มร้านค้าได้สักร้อยละ 10 แต่แล้วก็ไม่รอดเพราะหาลูกค้าได้ไม่เยอะพอ”
Breslow เชื่อว่า Bolt จะโกงความตายได้ และทำผลงานได้คู่ควรกับมูลค่าประเมินอันสวยหรู 1.1 หมื่นล้านเหรียญ ด้วยการคิดไปให้ไกลกว่าแค่ปุ่มซื้อด่วน ปล่อยให้บริษัทอื่นๆ แย่งชิงกันไปว่าปุ่มของใครจะได้ทำเลดีที่สุดบนหน้าเว็บไซต์ แต่ Bolt ขอทำตัวเป็นสะพานขับเคลื่อนธุรกรรมอยู่หลังฉาก ล
องนึกเทียบเป็นสโลแกน “Intel Inside” สำหรับร้านค้าปลีกก็ได้ ซึ่งในโลกของฟินเทคที่แบ่งกันเป็นก๊กเป็นเหล่า แนวคิดแบบนี้อาจสร้างความแตกต่างได้จริง Bolt อยากเป็นสวิตเซอร์แลนด์ ซอฟต์แวร์ตัวกลางของบริษัทพร้อมจะทำงานกับผู้ประมวลผลการชำระเงินรายใดก็ได้ ภาษาเขียนโปรแกรมและวิธีซื้อสินค้าแบบใดก็ได้ ใช้กับบัตรเครดิตและเดบิต ใช้กับ Apple Pay, Google Pay, PayPal และบริษัทประเภทซื้อก่อนผ่อนทีหลัง และในไม่ช้าก็จะรับเงินคริปโตด้วย
เมื่อ Bolt ไม่ผูกมัดตัวเองกับบัตรเครดิต ธนาคาร บริษัทโทรคมนาคม สื่อโซเชียลยักษ์ใหญ่ หรือแบรนด์อี-คอมเมิร์ซรายใด Bolt จึงทำงานกับใครก็ได้
การที่นักลงทุนไม่ใส่ใจเรื่อง Bolt ทำยอดขายทั้งปีได้น้อยนิดแค่ 40 ล้านเหรียญ ส่วนหนึ่งเป็นเพราะกว่าที่ร้านค้าปลีกพันธมิตรขนาดใหญ่ซึ่ง Breslow เซ็นสัญญาเข้ามาใหม่เป็นโขยงจะเริ่มใช้งานเครือข่ายได้ก็กินเวลาหลายเดือน พวกเขาจึงเชื่อว่ารายได้และจำนวนผู้ใช้งานจะพุ่งพรวดในช่วงครึ่งหลังของปี 2022
“เรามองหาบริษัทที่มีส่วนผสมของผู้ก่อตั้งและทีมที่ยอดเยี่ยม แนวคิดที่ถูกต้อง ผลิตภัณฑ์ที่น่าสนใจ และการยอมรับที่ดีมากจากลูกค้า ซึ่ง Bolt มีทุกอย่างที่ว่ามา” Howard Han นักลงทุนจาก LionTree กล่าว “การทำข้อตกลงธุรกิจกับลูกค้าระดับกิจการ ต้องเผื่อช่วงเวลารับรู้รายได้ตั้งแต่เซ็นสัญญาและเริ่มนำลูกค้าเข้าสู่บริการ เราจึงดูสิ่งที่อยู่ในแผนงานมากกว่าอย่างอื่น เช่น ใครใช้ผลิตภัณฑ์ และเป็นผู้ชนะในธุรกิจประเภทใด”
ระดับของศักยภาพคือ สิ่งที่ทำให้ผู้สนับสนุนแห่กันมาลงทุนด้วยราคาระดับเดคาคอร์น “จริงอยู่ที่ทุกคนมองว่ามูลค่าประเมิน มันบ้าไปแล้วในช่วง 12 เดือนที่ผ่านมา” Neeraj Chandra ผู้ก่อตั้ง Untitled Investments และอดีตหุ้นส่วนของ Tiger Global กล่าว “แต่ Bolt ก็กำลังเซ็นข้อตกลงกับพวกร้านค้าที่ทำยอดธุรกรรมขั้นต้นได้ปีละ 100 ล้านเหรียญ ซึ่งเรามองว่า นั่นแหละตัวขับเคลื่อนสำคัญ”
เปิดเครื่อง
Breslow ออกเดินบนเส้นทางสู่เงินหลายพันล้านโดยเริ่มจากสนามไดรฟ์กอล์ฟ ไม่ใช่ห้องแล็บคอมพิวเตอร์ เขาโตในเมือง North Miami Beach ในครอบครัวเจ้าของธุรกิจขนาดเล็กที่กระตือรือร้น
ปู่ของเขาเคยมีร้านกางเกงยีนส์ สำนักงานบัญชีเล็กๆ และตลาดขายอาหารทะเล ส่วนพ่อแม่ของเขามีสนามไดรฟ์กอล์ฟชื่อ Aqua Golf ที่คนท้องถิ่นชื่นชอบ และมีเหล่าแฮกเกอร์มาหวดลูกกอล์ฟลงทะเลสาบ (ที่นี่กลายเป็นจุดดึงดูดนักท่องเที่ยวอยู่ระยะหนึ่งในช่วงปลายทศวรรษ 90 หลังจากพี่น้อง Farrelly มาถ่ายหนังเรื่อง There’s Something About Mary) ในวัยเด็ก Breslow ต้องช่วยเช็ดไม้กอล์ฟ เป็นแคชเชียร์ และทอดแหเก็บลูกกอล์ฟ “ผมอายุ 13 ปีแต่ดูแลงานได้ทั้งร้าน” เขาเล่า “พ่อสอนผมให้รู้ค่าของเงินมาตั้งแต่เด็ก”
เขาเรียนมัธยมที่โรงเรียน Dr. Michael Krop Senior High ซึ่งเป็นโรงเรียนรัฐบาลที่มีนักเรียน 2,500 คน และเด็กเกินครึ่งมีฐานะเข้าข่ายยากจน เขาเรียนหนัก ลงวิชาปรับพื้นฐานเตรียมเข้ามหาวิทยาลัยเยอะที่สุดเท่าที่ลงไหว และเรียนเก็บหน่วยกิตออนไลน์เพิ่มไปพร้อมกัน
เขาหัดเขียนโปรแกรมด้วยตัวเองจากสื่อสอนออนไลน์และ YouTube เขาเปิดบริษัทขายที่นอนออนไลน์ชื่อ Memory Foam Doctor และสร้างเว็บไซต์ให้ Bal Harbour ห้างสรรพสินค้าหรูและ UNKNWN แบรนด์เสื้อผ้าแนวสตรีตแวร์ที่ LeBron James ร่วมลงทุน “ผมได้เงินจากแต่ละงานประมาณ 1,000 เหรียญ มันไม่มากมายก็จริง แต่ก็เยอะกว่าที่เพื่อนๆ ผมหาได้”
ผลการเรียนที่ดีและกิจกรรมแบบผู้ประกอบการช่วยได้ เขาได้เข้าเรียนที่ Stanford ในปี 2012 แต่เมือง Palo Alto กลับกลายเป็นเรื่องช็อกสำหรับเขาเมื่อแคชเชียร์ในสนามไดรฟ์กอล์ฟต้องมาเป็นเพื่อนร่วมรุ่นกับพวกชนชั้นคันทรีคลับ “ผมไม่เคยเจอเด็กรวยระดับนี้มาก่อน พ่อแม่พวกเขาเป็นผู้ก่อตั้งบริษัทและเป็นซีอีโอของกลุ่มบริษัท” เขาเล่า “พ่อแม่พวกนี้ส่งลูกเรียนเขียนโปรแกรมตั้งแต่อายุ 12”
ถ้าเขาจะแอบผวาบ้างเขาก็ไม่ปล่อยให้ใครรู้ เขาเรียนวิทยาศาสตร์คอมพิวเตอร์ หัดเต้นเบรกแดนซ์ เปิดสมาคม Alpha Epsilon Pi สาขา Stanford ขึ้นมาอีกครั้ง (เป็นสมาคมนักศึกษายิวที่เน้นเรื่องความเป็นผู้ประกอบการ) และร่วมก่อตั้งชมรมบิตคอยน์ใน Stanford ช่วงเรียนปี 2 เขากับเพื่อนร่วมชั้นอีกคนเริ่มออกแบบกระเป๋าเงินดิจิทัลที่ให้ซื้อบิตคอยน์จำนวนน้อยสำหรับใช้จ่ายในชีวิตประจำวันได้ โดยมีผู้คร่ำหวอดในวงการเทคของ Silicon Valley ช่วยลงทุนก้อนแรก แล้วทั้งสองก็เริ่มทำงาน
ต่อมาไม่นานผู้ร่วมก่อตั้งกลับหมดความสนใจและผู้สนับสนุนก็ถอนตัว ในช่วงเดียวกันปู่ของ Breslow ซึ่งเป็นเหมือนเพื่อนรักของเขาเสียชีวิต และหมอวินิจฉัยว่าแม่ของเขาเป็นมะเร็ง “มันเหมือนจักรวาลมีแผนอยู่ ผมเลยพูดว่า ‘ช่างหัวมัน’ แล้วหยุดการเรียนที่ Stanford มาตั้งบริษัทเองคนเดียว”
เขาไม่ได้เรียนที่นั่นแล้วแต่แอบปั๊มกุญแจห้องไว้และยังอาศัยอยู่ในหอพักต่อไป ในเทอมนั้น Eric Feldman เพื่อนที่ Stanford เข้ามาร่วมก่อตั้งบริษัทด้วย จากนั้นในเดือนกุมภาพันธ์ ปี 2014 เพื่อนร่วมชั้นชื่อ Armaan Ali ซึ่งปัจจุบันเป็นผู้บริหารบริษัทร่วมลงทุน Human Capital เขียนเช็คเงินลงทุนก้อนเล็กๆ ให้เป็นก้อนแรก และ Jay Borenstein ผู้ประกอบการเทคและอาจารย์ที่ Stanford ก็เขียนเช็คเงินก้อนใหญ่กว่าเดิมให้อีกใบ Breslow จึงเช่าอะพาร์ตเมนต์ได้
เขากับ Feldman ใช้เวลา 1 ปีเรียนรู้เรื่องข้อบังคับด้านการเงินงานกำกับดูแลกฎเรื่องการฟอกเงิน และการป้องกันการฉ้อโกง แต่ยังมีปัญหาใหญ่อีกอย่างคือ บิตคอยน์เป็นสกุลเงินที่แย่มากสำหรับการจับจ่ายใช้สอยประจำวัน ธุรกรรมทำช้า ค่าธรรมเนียมแพง และร้านค้าปลีกไม่อยากรับสกุลเงินที่มูลค่าครึ่งหนึ่งอาจหายไปในชั่วข้ามคืน พวกเขาจึงต้องรีบเปลี่ยนทิศทาง “วันหนึ่งผมก็คิดได้แบบสายฟ้าแลบว่า Amazon มีบริการชำระเงินแบบคลิกเดียวจบมาตั้งแต่ปี 1999 แต่ร้านอื่นๆ ในโลกนี้ยังไม่มี” เขาเล่า “ยิ่งหาข้อมูลผมก็ยิ่งตระหนักว่าธุรกิจนี้มันจะใหญ่ขนาดไหน”
เขายังต้องกล่อมคนอีกเยอะ หน้า Twitter ของเขาเต็มไปด้วยสารโต้ตอบอย่างโกรธเคืองจากเหล่าผู้บริหารรุ่นลายครามของวงการเทคและนักร่วมลงทุนอารมณ์บูดที่เกลียดคำวิจารณ์ Silicon Valley ของเขา เกลียดแนวทางจ่ายค่าตอบแทนพนักงานของเขา และเกลียดที่มูลค่าประเมินของ Bolt พุ่งกระฉูด
แต่ Breslow ไม่แคร์ เขายังจิกกัด Stripe และ Shopify ต่อไป และยืนหยัดจะทำโครงการใหม่ของ Bolt ที่ให้พนักงานยืมเงินสดเพื่อใช้ซื้อหุ้นที่บริษัทให้ ถือเป็นส่วนหนึ่งในการจ่ายค่าตอบแทนของบริษัท
Breslow เรียกนโยบายนี้ว่า “การกล้าทำสิ่งใหม่” และ “โครงการทางเลือกที่เป็นมิตรกับพนักงานที่สุดเท่าที่จะหาได้” แต่ปัญหาคือ ไอเดียนี้ไม่ใช่เรื่องใหม่และอาจไม่ใช่ความคิดที่ดี เพราะวิธีเพิ่มผลตอบแทนด้วยการออกเงินกู้ให้พนักงานนำมาซื้อหุ้นของบริษัทนั้นเป็นวิธีที่ทำกันทั่วไปในยุค 90 และจบลงด้วยหายนะ เมื่อฟองสบู่เทคแตกรอบแรกทางเลือกเหล่านั้นก็หมดค่าผู้คนตกงานกลางอากาศ...แล้ววันชำระหนี้เงินกู้ก็ตามมา
Breslow ไม่กลัวการเอาคำพูดเกินจริงหรือการพูดเรื่องจริง ในบางครั้งมาเติมให้เรื่องราวของเขาน่าสนใจ เมื่อเดือนกุมภาพันธ์เขาคุยอวดกับ Forbes ว่า เขาเป็นคนนอกผู้ไม่เคยรับเงินสักแดง จากชาว Sand Hill Road (ซึ่งหมายถึงกลุ่มนักร่วมลงทุนใน Silicon Valley) แต่รายชื่อนักลงทุนในบริษัทของเขากลับมีพวกบริษัทในแถบ Bay Area อย่าง Tribe Capital, Soma Capital, Ridge Ventures และ Sand Hill Angels อยู่ด้วย
อดีตพนักงานคนหนึ่งของ Bolt เล่าว่า ในช่วงแรกๆ มีทีมฝ่ายขายบางคนปั้นตัวเลขรายได้และมูลค่าธุรกรรมเพื่อเพิ่มค่าคอมมิชชั่น ซึ่งเรื่องนี้ Breslow ยอมรับ “พนักงานขายบางคนและร้านค้าบางร้านเพิ่มตัวเลขจริง แต่เราจัดการเรื่องนี้แบบเร็วสุดๆ เราหยุดใช้ระบบเขียนรายงานเอง และตั้งคณะกรรมการสอบบัญชีขึ้นมาตรวจสอบข้อมูลกับตัวเลข เราไม่เคยเอาตัวเลขปลอมไปเสนอนักลงทุนหรือใช้ระดมทุน”
ที่จริง Breslow ก็เล่นมุกเก่า นั่นคือการตีเนียนไปเรื่อยๆ จนกว่าจะทำได้จริง ซึ่งนิยมทำกันในวงการนี้ที่เต็มไปด้วยคำกล่าวอ้างเลิศหรู ปรัชญาหลุดโลก คนทำตัวประหลาดๆ และลัทธิคลั่งไคล้ผู้นำ ถึงอย่างไรเสียวงการนี้ก็เป็นแหล่งกำเนิดของวิชาแฮกร่างกาย การพี้ยาแบบพอหอมปากหอมคอ ความสัมพันธ์แบบมีโลกหลายใบ และงาน Burning Man ดังนั้น ถ้าเทียบกับเพื่อนร่วมวงการอีกหลายคนแล้ว ก็ต้องถือว่า Breslow เป็นเด็กดีใช้ได้
เมื่อมีซีอีโอคนใหม่มาดูแลงานทั่วไปของ Bolt Breslow ก็จะได้มุ่งสนใจเรื่องการปิดข้อตกลงธุรกิจใหญ่ๆ แหล่งข่าวกล่าวว่า ตอนนี้เขากำลังระดมทุนเพิ่มด้วยมูลค่าประเมิน 1.4 หมื่นล้านเหรียญ ดึงนักเขียนโค้ดดาวเด่นมาร่วมงาน และแน่นอนว่าเขาจะส่งเสียงดังกว่าเดิม เขายังไม่มีแผนจะอยู่เงียบๆ แน่นอน “ถ้าคุณฟังผมพูดความจริงแล้วรับไม่ได้ งั้นก็รู้ไว้นะว่า ผมไม่หยุดแค่นี้หรอก บางทีคุณคงไม่เหมาะจะลงทุนกับผมมั้ง”
อ่านเพิ่มเติม:- ไทยตกอันดับ ขาดบุคลากรที่เชี่ยวชาญ “ทักษะดิจิทัล”
- ปรับกลยุทธ์สินเชื่อสร้างโอกาสรับความท้าทาย
- นับถอยหลังสู่ RECESSION
คลิกอ่านฉบับเต็มและบทความทางด้านธุรกิจได้ที่นิตยสาร Forbes Thailand ฉบับเดือนกรกฎาคม 2565 ในรูปแบบ e-magazine