Olympus กับการเปลี่ยนโฟกัสเพื่ออนาคต - Forbes Thailand

Olympus กับการเปลี่ยนโฟกัสเพื่ออนาคต

FORBES THAILAND / ADMIN
12 Feb 2022 | 09:44 AM
READ 3145

ซีอีโอ Yasuo Takeuchi คือ ผู้นำการพลิกโฉมธุรกิจครั้งใหญ่ของ Olympus โดยมุ่งพัฒนาสู่การเป็นบริษัทด้านเทคโนโลยีการแพทย์หลังจากที่ต้องยอมสละกิจการกล้องถ่ายรูป

เมื่อเอ่ยชื่อ Olympus Corp. ก็ชวนให้นึกถึงกล้องถ่ายรูปสัญชาติญี่ปุ่น จากการให้กำเนิดกล้องถ่ายรูปตัวแรกของตนเองเมื่อปี 1936 บริษัทสัญชาติญี่ปุ่นแห่งนี้ ได้สร้างชื่อเสียงด้านนวัตกรรมและคุณภาพอย่างเช่น รุ่น 35DC เมื่อปี 1971 ซึ่งเป็นกล้องถ่ายรูประบบแฟลชอัตโนมัติตัวแรกของโลก

เรื่องราวระดับตำนานดำเนินมาถึงตอนจบในเดือนมกราคม ปี 2021 เมื่อ Olympus ขายธุรกิจกล้องถ่ายรูปและเครื่องบันทึกเสียงให้กับ Industrial Partners ไพรเวทอิควิตี้ใน Tokyo โดยไม่เปิดเผยราคาผมใฝ่ฝันมาตลอดว่าจะต้องเปลี่ยนแปลงบริษัทนี้ให้จงได้ Yasuo Takeuchi กรรมการผู้จัดการใหญ่และซีอีโอกล่าวระหว่างการให้สัมภาษณ์ที่สำนักงานใหญ่ใน Tokyo

การปลดระวางธุรกิจอันเป็นเอกลักษณ์ของบริษัทและมีการพัฒนาอย่างต่อเนื่องตลอดระยะเวลากว่า 80 ปีต้องใช้ความกล้าหาญอย่างมาก เมื่อไม่มีกล้องถ่ายรูปอีกต่อไป ก้าวต่อไปของพวกเขาจะเป็นอย่างไร

เรามีธุรกิจที่ดีอยู่ในวงการแพทย์ Takeuchi กล่าว ในเวลานี้เขารับหน้าที่ดูแลการพลิกโฉมองค์กรครั้งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ 102 ปีของ Olympus โดยมีเป้าหมายที่จะสร้างตัวเองขึ้นเป็นบริษัทยักษ์ใหญ่ที่มุ่งดำเนินธุรกิจเทคโนโลยีการแพทย์แต่เพียงอย่างเดียว

เป้าหมายดังกล่าวพา Olympus ย้อนเวลาสู่จุดเริ่มต้น เดิมทีบริษัทแห่งนี้มีประวัติศาสตร์อันยาวนานด้านเทคโนโลยีทางการแพทย์อยู่ก่อนแล้ว โดยอาศัยความเชี่ยวชาญด้านการมองเห็นภาพมาผลิตกล้องจุลทรรศน์และกล้องเอนโดสโคป

บริษัทแห่งนี้มีประวัติศาสตร์อันยาวนานด้านเทคโนโลยีทางการแพทย์ โดยอาศัยความเชี่ยวชาญด้านการมองเห็นภาพมาผลิตกล้องจุลทรรศน์และกล้องเอนโดสโคป

อันที่จริงผลิตภัณฑ์ชิ้นแรกของบริษัทแห่งนี้คือ กล้องจุลทรรศน์ ซึ่งเปิดตัวหลังจากก่อตั้งบริษัทเมื่อปี 1919 ได้เพียง 6 เดือน ต่อมาในปี 1950 ก็ได้สร้างกล้องเอนโดสโคป หรือเรียกอีกชื่อหนึ่งว่ากล้องถ่ายภาพกระเพาะอาหารและกลายเป็นพื้นฐานสู่การพัฒนากล้องเอนโดปยุคใหม่

จากความเชี่ยวชาญนี้เองบริษัทสัญชาติญี่ปุ่นแห่งนี้บอกว่า พวกเขาคือ ผู้ผลิตกล้องเอนโดสโคปสำหรับถ่ายภาพทางเดินอาหารรายใหญ่ที่สุดในโลกด้วยส่วนแบ่งร้อยละ 70 ในตลาดโลกที่มีมูลค่า 3.3 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ ในปีงบประมาณ 2020 (สิ้นสุดเดือนมีนาคม ปี 2020) บริษัทมีรายได้รวม 7.97 แสนล้านเยน (7.3 พันล้านเหรียญ) โดยร้อยละ 80 มาจากส่วนงานเทคโนโลยีการแพทย์ทั้งสองส่วน ขณะที่ส่วนงานภาพถ่าย (กล้องถ่ายรูป)

ทำยอดขายคิดเป็นเพียงร้อยละ 6 และขาดทุนถึงกว่า 1 พันล้านเหรียญตลอดทศวรรษที่แล้ว หลังจากที่ Takeuchi ตัดขาดกิจการกล้องถ่ายรูปแล้ว แผนกกล้องจุลทรรศน์อาจเป็นรายต่อไป โดยจะกลายเป็นบริษัทย่อยที่มีบริษัทเข้าถือหุ้นทั้งหมดในปี 2022 สำหรับในภาพรวมนั้นภารกิจของ Takeuchi ในการสร้าง Olympus ยุคใหม่ที่ให้ความสำคัญกับกล้องเอนโดสโคป การบำบัดโรค และเทคโนโลยีการผ่าตัด กำลังจะเสร็จสมบูรณ์ไม่เกินปี 2022

เหตุผลของการเปลี่ยนแปลงในครั้งนี้เดาได้ไม่ยาก กล้องในโทรศัพท์สมาร์ทโฟนทุบตลาดกล้องถ่ายรูปลงราบคาบ จนทำให้กล้องถ่ายรูปแต่เพียงอย่างเดียวไม่เป็นที่ต้องการอีกต่อไป ส่วนกล้องจุลทรรศน์นั้นเมื่อไม่มีการถ่ายภาพแล้วจึงกลายเป็นส่วนธุรกิจที่เล็กที่สุดในบริษัท คิดเป็นร้อยละ 13 ของรายได้รวม 7.31 แสนล้านเยนในปีงบประมาณล่าสุดซึ่งสิ้นสุดเมื่อวันที่ 31 มีนาคม ปี 2021

ผู้อยู่หลังเลนส์

Takeuchi วัย 64 ปี เดินตามธรรมเนียมปฏิบัติของชาวญี่ปุ่นจำนวนมาก นั่นคือการทำงานให้กับบริษัทเดียวทั้งชีวิต

Takeuchi เข้ามาร่วมงานกับ Olympus ในปี 1980 ในฐานะบัณฑิตสาขาธุรกิจวัย 23 ปีที่เพิ่งจบการศึกษาจาก Chuo University ในประเทศญี่ปุ่นมาหมาดๆ เขาเลื่อนตำแหน่งขึ้นมาเรื่อยๆ และใช้เวลาทำงานนอกประเทศญี่ปุ่นถึง 16 ปีเพื่อช่วยบริหารกิจการของทางบริษัทในทวีปยุโรปและสหรัฐฯ ก่อนเดินทางกลับประเทศในปี 2015 เพื่อรับตำแหน่งหัวหน้าสำนักงานบริหาร

อีก 1 ปีต่อมาก็กลายเป็นประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายการเงิน จนกระทั่งก้าวขึ้นสู่เก้าอี้ซีอีโอในเดือนเมษายน ปี 2019 หรือเพียงไม่กี่เดือนก่อนวันครบรอบ 100 ปีแห่งการก่อตั้งบริษัทเมื่อเดือนตุลาคม ปี 1919 เวลานี้ความท้าทายของเขาคือ การนำบริษัทก้าวเข้าสู่ศตวรรษที่ 2 ในฐานะผู้นำองค์กรที่แตกต่างจากที่เขาเคยร่วมงานมายาวนานถึง 4 ทศวรรษอย่างสิ้นเชิง

การปรับโครงสร้างองค์กรบริษัทเริ่มส่งสัญญาณความสำเร็จนับจากวันที่ Takeuchi ประกาศแผน “ทรานส์ฟอร์มโอลิมปัส” เมื่อเดือนมกราคมปี 2019 จนถึงปี 2021 หุ้นของบริษัทซึ่งจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ Tokyo มีราคาทะยานถึงเท่าตัว จนล่าสุดขึ้นมาอยู่ในระดับราว 2,200 เยน

ในไตรมาสที่ 1 ของปีงบประมาณปี 2021 ซึ่งเริ่มต้นขึ้นเมื่อวันที่ 1 เมษายน บริษัททำรายได้ 1.915 แสนล้านเยน (1.8 พันล้านเหรียญ) เพิ่มขึ้นร้อยละ 40 จากปี 2020 และทำกำไรสุทธิ 1.87 หมื่นล้านเยน จากที่เคยขาดทุน 2.7 พันล้านเยนเมื่อปี 2020 ฝ่ายบริหารคาดการณ์ผลกำไรตลอดทั้งปี 2021 ไว้ที่ 1.01 แสนล้านเยน หากทำได้สำเร็จจะเป็นการบันทึกกำไรสูงสุดในประวัติศาสตร์บริษัทเลยทีเดียว

แม้วิกฤตโรคระบาดจะส่งผลกระทบต่อขั้นตอนการปรับโครงสร้างองค์กรเพียงเล็กน้อย แต่ความต้องการอุปกรณ์ทางการแพทย์ของบริษัทกลับลดลง เนื่องจากการเติบโตของเศรษฐกิจชะลอตัวในตลาดหลายกลุ่มทำให้หลายคนเลื่อนกระบวนการทางการแพทย์ที่ไม่เร่งด่วนออกไป เช่น การตรวจสุขภาพ (ทางบริษัทไม่มีผลิตภัณฑ์สำหรับรักษาโรคโควิด-19)

อย่างไรก็ตามทางบริษัทเริ่มเห็นสัญญาณการฟื้นตัว ในปีงบประมาณซึ่งสิ้นสุดลงเมื่อเดือนมีนาคมในปี 2021 โรคโควิด-19 ทำให้เราต้องเผชิญกับความท้าทายอย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน แต่เมื่อกำลังจะเข้าสู่ช่วงครึ่งปีหลัง รายได้ก็กลับมาฟื้นตัวอย่างมีนัยสำคัญ Takeuchi กล่าวระหว่างประชุมทางไกลร่วมกับบรรดานักวิเคราะห์เมื่อเดือนพฤษภาคม

ว่ากันว่าการปรับโครงสร้างของ Olympus มาจากกองทุนแนว activist ของสหรัฐฯ ที่มีชื่อว่า ValueAct Capital บริษัทที่ตั้งอยู่ใน San Francisco ซึ่งรายงานระบุว่า มีสินทรัพย์ภายใต้การบริหาร 1.6 หมื่นล้านเหรียญ และได้ริเริ่มมาตรการต่อบริษัทอย่าง Microsoft และ Rolls-Royce

ในปี 2018 ValueAct เข้ามาเป็นผู้ถือหุ้นร้อยละ 5 ใน Olympus นับเป็นสัญญาณเตือนสำคัญ บริษัทจึงต้องโต้กลับด้วยการจ้างที่ปรึกษา พวกเขาแนะนำให้ Takeuchi ซึ่งดำรงตำแหน่งประธานเจ้าหน้าที่ทางการเงินในเวลานั้นงดเจรจากับกองทุนเฮดจ์ฟันด์แห่งนี้ แต่ Takeuchi ไม่เห็นด้วยสัญชาตญาณบอกผมว่า พวกเขาน่าจะเป็นหุ้นส่วนที่ดีมากๆ

Takeuchi ปฏิเสธคำแนะนำจากที่ปรึกษา อีกทั้งยังกลายเป็นผู้ประสานงานระหว่างบริษัทกับ ValueAct สื่อมวลชนรายงานว่า ในเดือนธันวาคม ปี 2018 ValueAct ขู่ว่า จะเรียกประชุมผู้ถือหุ้นฉุกเฉินเพื่อแต่งตั้งกรรมการบริษัทชุดใหม่ หากบริษัทไม่ยอมให้ชาวต่างชาติเข้าเป็นกรรมการได้ 3 คน แต่ในเวลานั้นกองทุนได้ออกมาปฏิเสธ

อย่างไรก็ตามในเดือนมกราคม ปี 2019 Olympus ประกาศว่า Robert Hale หุ้นส่วนของ ValueAct จะเข้ามานั่งเป็นกรรมการบริษัทร่วมกับ Jimmy Beasley ที่ปรึกษาของ ValueAct และทั้งคู่ยังคงเป็นกรรมการชาวต่างชาติ 2 ใน 3 คนของบริษัทจนถึงทุกวันนี้ (ValueAct ปฏิเสธที่จะแสดงความคิดเห็นต่อรายงานข่าวดังกล่าว)

อย่างไรก็ตาม Takeuchi ไม่ใส่ใจกับคำถามว่า เขาได้รับแรงกดดันจากภายนอก แต่กล่าวว่า ข้อเสนอแนะของ ValueAct เป็นการสนับสนุนแผนการที่เขากับผู้บริหารคนอื่นๆ วางไว้ร่วมกันมาตั้งแต่ 5 ปีก่อนหน้านั้น ซึ่งรวมถึง Hiroyuki Sasa อดีตซีอีโอ

ผมว่ามันไม่จริงเสียทีเดียว Sasa กล่าวเมื่อถูกถามถึงแรงกดดันเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงบอร์ดบริหาร เขายังบอกด้วยว่า ความไม่ลงตัวเล็กๆ น้อยๆ เกิดขึ้นเพียงช่วงเริ่มต้นความร่วมมือกันเท่านั้นพวกเขาไม่รู้ว่า เราเป็นใคร เราจะบริหารบริษัทนี้อย่างไร และเราจะมีปฏิกริยาต่อวิธีการในแบบพวกเขาอย่างไรในเดือนมกราคม ปี 2021 หรือ 2 ปีหลังจากที่ Olympus ประกาศแผนการปฏิรูปองค์กร กองทุนก็ขายการลงทุนออกไปบางส่วนจนเหลือหุ้นร้อยละ 4 ในเวลานี้

เติบโตต่อไป

Masahiro Nakanomyo นักวิเคราะห์ประจำ Tokyo จาก Jefferies กลุ่มบริษัทด้านการเงินในสหรัฐฯ ประเมินว่า การเปลี่ยนแปลงน่าจะเกิดขึ้นอยู่ดีต่อให้ไม่มี ValueAct มาเกี่ยวข้อง เพราะ Takeuchi ตัดสินใจแล้วว่าจะให้ความสำคัญกับธุรกิจทางการแพทย์ ซึ่งแตกต่างจากผู้ดำรงตำแหน่งคนก่อนๆ ที่ไม่ค่อยกล้าปล่อยธุรกิจตำนานของบริษัทอย่างกล้องถ่ายรูปต่อให้ไม่มีแรงกดดันจากต่างชาติ พวกเขาก็คงต้องปล่อยธุรกิจกล้องถ่ายรูปออกไป Nakanomyo กล่าวคุณ Takeuchi กับ ValueAct มีวิสัยทัศน์ไปในทิศทางเดียวกันจึงไม่ได้มีความขัดแย้งอะไร

Takeuchi ยังเปลี่ยนแปลงบอร์ดบริหารด้วยตนเอง โดยให้มีกรรมการจากภายนอกบริษัทได้ 9 คน จากคณะกรรมการทั้งสิ้น 12 คน (จากเดิมที่เคยมีกรรมการจากนอกองค์กรได้ 6 คนจากจำนวนกรรมการทั้งสิ้น 11 คน) พร้อมจัดตั้งคณะกรรมการต่างๆ ขึ้นมารับผิดชอบด้านการสรรหา ค่าตอบแทน และการกำกับดูแล โดยให้กรรมการจากภายนอกเข้ามาดำรงตำแหน่งประธานคณะกรรมการเหล่านี้

แนวทาง “ทรานส์ฟอร์มโอลิมปัส” ยังก่อให้เกิดการจัดตั้งคณะกรรมการบริหารระดับโลกที่มีสมาชิก 5 คน นำโดย Takeuchi และยังมี Stefan Kaufmann ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายธุรการของ Olympus ชาวเยอรมันที่ร่วมงานกับบริษัทมาตั้งแต่ปี 2003 โดยเขาได้รับมอบหมายให้ดูแลการนำแผนการไปปฏิบัติ

นอกจากนี้ Takeuchi ยังปรับปรุงขั้นตอนการตัดสินใจ โดยก่อนหน้านี้การตัดสินใจหลักๆ ของบริษัทอาจต้องมีคนมาเกี่ยวข้องด้วยถึง 15 คน ไม่ว่าจะเป็นกรรมการและผู้บริหารอาวุโส จนกลายเป็นอุปสรรคและทำให้กระบวนการต่างๆ เกิดความล่าช้า ยกตัวอย่าง กล้องเอนโดสโคป X1 ที่เปิดตัวไปเมื่อปีที่ผ่านมาซึ่งใช้เวลาในการพัฒนา 8 ปี หรือมากกว่าคู่แข่งในอุตสาหกรรมเดียวกันถึง 2 เท่า Kaufmann บอกว่า 8 ปีเป็นเวลาที่นานเกินไป

Kaufmann (ซ้าย) พูดถึงการปรับโครงสร้างองค์กรภายใต้การนำาของ Takeuchi: “เวลานี้เรามีโอกาสมากกว่าเดิมที่จะทุ่มเทให้กับการพัฒนาเป็นบริษัทเทคโนโลยีการแพทย์ชั้นนำาของโลกให้ได้อย่างที่ต้องการ”

Takeuchi บอกว่า ในปัจจุบันมีการกระจายอำนาจให้แก่หัวหน้าฝ่ายต่างๆ และผู้นำด้านผลิตภัณฑ์มากขึ้น จากที่เคยให้ผู้บริหารในต่างประเทศต้องดำเนินกระบวนการตัดสินใจผ่านผู้บริหารในประเทศญี่ปุ่น แต่ขณะนี้มีการแบ่งส่วนงานออกตามการทำหน้าที่แทนการแบ่งตามพื้นที่ ซึ่ง Kaufmann บอกว่าทำให้เกิดความคล่องตัวเพิ่มขึ้นมากขณะที่ Nacho Abia ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายปฏิบัติการบอกว่า Olympus ยังสนับสนุนกระบวนการตัดสินใจตามแนวคิด “2 หัวดีกว่าหัวเดียวประกอบไปด้วยชาวญี่ปุ่น 1 คน และชาวต่างชาติอีก 1 คน Abia ซึ่งมีภูมิลำเนาอยู่ที่สเปน แต่ปฏิบัติงานอยู่ที่ Marlborough ใน Massachusetts กล่าวว่าการตัดสินใจมีประสิทธิภาพดีกว่าแต่ก่อนมาก

การเปลี่ยนแปลงอีกส่วนหนึ่งเกิดขึ้นในกระบวนการวิจัยและพัฒนา Kaufmann เผยว่า บริษัทไม่ได้ให้ความสำคัญเฉพาะงานวิจัยของตนเองอีกต่อไป แต่ยังยินดีเข้าซื้อกิจการเพื่อเร่งเครื่องการพัฒนาในระยะเวลาไม่กี่ปีที่ผ่านมาพวกเขาเข้าซื้อกิจการมาแล้วหลายแห่ง ซึ่งรวมถึงบริษัทในฝรั่งเศส อิสราเอล และสหรัฐฯ

Tomoko Yoshihara นักวิเคราะห์จาก Daiwa Securities เขียนบันทึกไว้เมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมาว่า การปรับโครงสร้างองค์กรทำให้นักวิเคราะห์หลายรายปรับการให้คะแนนความน่าเชื่อถือของ Olympus ประกอบกับความก้าวหน้าในการฉีดวัคซีนในสหรัฐฯ ยุโรป และจีน ยังส่งผลให้ยอดขายอุปกรณ์ทางการแพทย์ฟื้นตัว

Daiwa Securities ซึ่งเป็นบริษัทนายหน้าใน Tokyo ยังคาดการณ์ว่า กำไรสุทธิของ Olympus จะเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 1.43 แสนล้านเยนจากรายได้ 9.59 แสนล้านเยนในปีงบประมาณซึ่งสิ้นสุดในเดือนมีนาคม ปี 2025 หรือสูงกว่าประมาณการของบริษัทเองถึงร้อยละ 42 ตราบใดที่บริษัทมุ่งมั่นที่จะพัฒนารูปแบบการดำเนินธุรกิจผ่านแผน ‘ทรานส์ฟอร์มโอลิมปัส’ บริษัทก็น่าสร้างกำไรที่สามารถเติบโตได้อย่างยั่งยืน Yoshihara ระบุไว้ในบันทึก

จีนจะกลายเป็นแหล่งผลิตความต้องการแห่งใหม่และอาจจะก้าวขึ้นมาเป็นลูกค้ารายใหญ่เป็นอันดับ 2 ของบริษัทแทนที่ยุโรปได้ในเร็วๆ นี้ (โดยทวีปอเมริกาเหนือยังเป็นตลาดใหญ่ที่สุด) ในรอบหลายปีที่ผ่านมาจีนเติบโตเป็นตัวเลขกว่า 2 หลัก และมีแนวโน้มว่าจะเติบโตต่อไปเรื่อยๆ Takeuchi กล่าวประเทศอย่างอินเดียก็เหมือนกับอีกหลายๆ ประเทศในเอเชียที่มีประชากรจำนวนมาก คือยังคงขาดการพัฒนาอย่างสิ้นเชิงในแง่ของการดูแลสุขภาพและตลาด

ขณะที่ Kaufmann มองการพัฒนาของบริษัทว่าเวลานี้เรามีโอกาสมากกว่าเดิมที่จะได้ทุ่มเทให้กับการพัฒนาเป็นบริษัทเทคโนโลยีการแพทย์ชั้นนำของโลกให้ได้อย่างที่ต้องการ

เรื่อง: JAMES SIMMS เรียบเรียง: รัน-รัน ภาพ: SHUNICHI ODA, COURTESY OF OLYMPUS อ่านเพิ่มเติม:
คลิกอ่านฉบับเต็ม และบทความทางด้านธุรกิจได้ที่นิตยสาร Forbes Thailand ฉบับเดือนมกราคม 2565 ในรูปแบบ e-magazine